วันนี้ (10 ตุลาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44-45 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว วันที่ 2 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน, การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้, การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น และการประชุมสุดยอดอาเซียน+3
รวมถึงการหารือทวิภาคีกับผู้นำองค์กรและประเทศต่างๆ เช่น ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, นายกรัฐมนตรีแคนาดา, นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประธานสภาเศรษฐกิจโลก
โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงย้ำความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยเน้นย้ำความร่วมมือ 3 ประการ ดังนี้
- การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง การเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-จีน 3.0 ซึ่งอาเซียนและจีนควรใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนการรวบรวมสมาชิกใหม่ที่รวมไปถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ต้องเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคีของประชาชนในประชาคมอาเซียนกว่า 700 ล้านคน โดยจะดำเนินมาตรการยกเว้นวีซ่าอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และขยายโอกาสในการรับทุนการศึกษา
- ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง ในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และยาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์
“ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเราขึ้นอยู่กับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นสาเหตุของความกังวลร่วมกัน ซึ่งจุดยืนตามหลักการของประเทศไทยคือการยุติข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการทูต การเจรจา และตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยต้องดำเนินความร่วมมือแบบวิน-วินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น”
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อฉันทมติ 5 ข้อ เพื่อช่วยเมียนมาหาทางออกอย่างสันติที่นำโดยเมียนมาและเป็นของเมียนมาเอง ซึ่งไทยชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมถึงจีนในการมุ่งสู่เป้าหมายนี้
ชูวิสัยทัศน์ ABC บนเวทีอาเซียน-เกาหลีใต้
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างผู้นำอาเซียนกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 25 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ประสาน (Coordinator) และกล่าวในนามประเทศไทยว่า ตลอดเวลาอาเซียนกับเกาหลีใต้มีความร่วมมือที่ลึกซึ้ง วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาทใหม่ของความสัมพันธ์ด้วยการจัดตั้งหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP)
ด้านการเมือง อาเซียนสนับสนุนความร่วมมือในการจัดการปัญหาความมั่นคงที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม รวมถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล
ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนสนับสนุน RCEP และหวังว่าจะเริ่มการเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-เกาหลีในปี 2026 ส่วนทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรม รวมถึงการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพแรงงาน
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแถลงการณ์ของประเทศไทย โดยได้หยิบยกวิสัยทัศน์ ‘ABC’ ในการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน (CSP) กับเกาหลีใต้ ทั้งการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาที่สมดุล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เพิ่มความร่วมมือ ดิจิทัล-พลังงานสีเขียว-นวัตกรรม อาเซียน-ญี่ปุ่น
จากนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนระหว่างผู้นำอาเซียนกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 27 นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต่อ ชิเกรุ อิชิบะ ในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยญี่ปุ่นนับเป็นพันธมิตรที่อาเซียนเชื่อถือไว้วางใจ มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
อาเซียนและญี่ปุ่นจะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 3 ประการคือ การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว การผลิตพลังงานสะอาด และยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค และการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าท้องถิ่น
ตั้งเป้าเจรจา EPA ไทย-เกาหลีใต้ ภายในปี 68
จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เน้นย้ำว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ พร้อมยกระดับความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทั้งสองประเทศยินดีที่มีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยตั้งเป้าสรุปการเจรจาภายในปลายปี 2025 รวมทั้งยังมีโครงการลงทุนร่วมกันหลายโครงการ
ส่วนอุตสาหกรรมคอนเทนต์และซอฟต์พาวเวอร์นั้น รัฐบาลไทยกำลังจัดตั้งหน่วยงาน Thailand Creative Culture Agency (THACCA) โดยหวังที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของ KOCCA ของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
นอกจากนี้ไทยสนใจที่จะร่วมมือกับเกาหลีใต้ในด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยเริ่มจากการศึกษาเทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) และแนวทางการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน อย่างไรก็ตามไทยพร้อมสำหรับการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริด (HEV) นักลงทุนเกาหลีใต้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้และเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นได้
หารืออาเซียน+3 สร้างเสถียรภาพทางการเงิน
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three: APT) ครั้งที่ 27 โดยมีผู้นำประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่ง APT จะยังคงมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
และเน้นย้ำถึงการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และเจริญรุ่งเรือง ด้วยการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ผู้บริหารยุคดิจิทัลสมัยใหม่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับยุคดิจิทัล เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดตั้ง Rapid Financing Facility ภายใต้มาตรการริเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทยไปสู่การเป็นพหุภาคี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน ตลอดจนการสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น
นอกจากนี้ในปี 2025 ประเทศไทยจะเป็นประธานกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ซึ่งมีประเทศอาเซียน+3 เป็นสมาชิกทั้งหมด โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเจรจาและความร่วมมือทางการเงินภายใต้กรอบ ACD เพื่อผลักดันการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาของสหประชาชาติต่อไป
หารือประธานสภาเศรษฐกิจโลก
นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ซึ่งได้เชิญนายกรัฐมนตรีไปดาวอส เพื่อใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์และแสดงถึงศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ รวมถึงหารือถึงความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์ที่ประเทศไทย ซึ่ง WEF ชื่นชมประเทศไทยและเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีโอกาส
นายกฯ แคนาดาชมไทย ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรีหารือกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงศักยภาพในความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและแคนาดา โดยเฉพาะด้านการศึกษาและอาชีวะ รวมทั้งไทยยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการเดินทางให้มากขึ้น และยังมุ่งหวังว่าการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียนและแคนาดาที่ดำเนินอยู่จะเป็นไปด้วยดี
ขณะที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างยิ่ง โดยประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกในอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ อีกต่อไป
คุยผู้นำมาเลเซียเดินหน้าโครงการ ‘6 ประเทศ 1 จุดหมาย’
ส่วนการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เชื่อมต่อการพัฒนาชายแดน ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล
การสร้างสะพานเชื่อมสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการค้าขาย สามารถยกระดับศักยภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศมากขึ้น
โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังชื่นชมศักยภาพในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย รวมทั้งชื่นชมคนไทยและแรงงานไทยกว่า 150,000 คนที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมาเลเซียด้วย
ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันในการผลักดันการท่องเที่ยวระหว่างกัน และไทยขอบคุณมาเลเซียที่สนับสนุนโครงการ ‘6 ประเทศ 1 จุดหมาย’ โดยจะมีการหารือรายละเอียดการดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต และไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้าด้วย
สหรัฐฯ พร้อมจับมือนำเทคโนโลยีปราบยาเสพติด-ป้องกันภัยพิบัติ
นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับ แอนโทนี เจ. บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนาของรัฐบาลไทยที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เรื่องยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาภัยพิบัติต่างๆ
ส่วนความร่วมมือทางด้านความมั่นคง ประเทศไทยมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป ในความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศโดยเฉพาะการฝึกร่วม เช่น คอบร้าโกลด์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันทางการทหารและการศึกษา รวมถึงการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเพิ่มเทคโนโลยีและอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับองค์กรค้ายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ เพิ่มเทคโนโลยีช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติ รวมถึงการหลอกลวงทางออนไลน์
ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อมเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก และพร้อมให้การสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสันติภาพและยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ในขณะนี้