วันนี้ (27 กันยายน) ที่รัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 แถลงสรุปรายละเอียดโครงการดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ของสภาผู้แทนราษฎรว่า สรุปค่าใช้จ่ายจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 1,493,800 บาท ใช้จริงไป 917,009.51 บาท ถือว่าเราใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 500,000 บาท ในเรื่องของงบรับรองตั้งไว้ 200,000 บาท ใช้จริงไป 61,742 บาท ส่งคืนคลังจำนวน 138,257 บาท ซึ่งรายละเอียดในการใช้จ่ายหมดไปกับการรับรองใน 2 งานหลัก คือ งานเลี้ยงรับรองนักศึกษาและคนทำงานไทยในสิงคโปร์ ที่ได้เชิญมาหารือกันในสถานทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรับรอง สส. สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ
ในส่วนของรายละเอียดงานอยู่ระหว่างการรวบรวมรายงาน สิ่งที่พบมี 3 ประเด็น ประเด็นแรก เราต้องเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในอนาคต โดยตนได้พบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแบตเตอรี พบว่าหากประเทศไทยไม่เตรียมโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยจะเป็นไปไม่ได้ เช่น เรายังไม่มีการตกลงกันเรื่องเบ้าชาร์จรถไฟฟ้า ทุกคนอยากมีรถไฟฟ้าแต่ยังไม่ตกลงเรื่องกระบวนการชาร์จ ยังไม่ตกลงกันเรื่องรูปแบบของตัวถังที่จะมีการใช้แบตเตอรี่ของทุกค่ายผู้ผลิต ซึ่งทั้งหมดต้องใช้มาตรการที่ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายที่เตรียมไว้ก่อน ผู้ประกอบการจึงจะสามารถลงทุนและดำเนินการได้ ตนจะส่งให้พรรคการเมืองและรัฐบาลพิจารณาต่อไป
ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องปัญหาความท้าทายของคนไทยที่ทำงานในระดับโลกอยู่ที่สิงคโปร์ ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม ยังไม่ดึงดูดชาวต่างชาติมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการทางภาษีในการสนับสนุน และปัญหา Open Data ยังมีไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทมาลงทุนในประเทศไทยได้
ประเด็นที่ 3 เรื่องแรงงานไทยในสิงคโปร์ ตนได้มีโอกาสไปเยี่ยมพบว่า ในขณะที่เราได้ยินการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แรงงานไทยเต็มใจและตั้งใจที่จะอยู่สิงคโปร์ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น และต้องการการสนับสนุนจากการที่แรงงานไทยจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นและมีลักษณะที่ดีขึ้น เพื่อทำให้เราแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นได้
ส่วนการพัฒนาสภาให้ก้าวหน้าและโปร่งใส ปดิพัทธ์กล่าวว่า ในสภาสิงคโปร์มีระบบที่ต่างกับประเทศไทยมาก ประเทศสิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของสภาสูงมาก พบว่าสภาสิงคโปร์มีขนาดเล็กเนื่องจากประเทศเล็ก มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อยคน แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากให้คุณภาพกับการประชุมสูงมาก
“ประชุมเต็มที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วัน ประชาชนสามารถนั่งในสภาได้ทั้งวัน เพื่อดูเรื่องการดีเบต การเสนอญัตติ และการตัดสินใจต่างๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น ในสภาชุดนี้ผมจะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนสามารถมานั่งชมการอภิปรายงบประมาณ รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้”
ปดิพัทธ์ย้ำว่า เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ เราไม่สามารถทำ Open Parliament ได้ถ้ายังไม่มีนโยบายคลาวด์ ข้อมูลที่อยู่ในสำนักประชุมไม่สามารถเปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ทันสมัยขึ้นได้ เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการ ICT ของรัฐสภา เพราะว่าการลงทุนในระบบคลาวด์จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันสมัยที่สุด และสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมากมายของสภาได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด
ปดิพัทธ์ยังกล่าวถึงข้อครหาในการดูงานว่า ในส่วนของคนที่ไปก็จะมีสมาชิกที่ตามไปและกลับก่อน สมาชิกที่ตามไป ได้แก่ วรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจากติดโควิด ส่วนสมาชิกที่กลับก่อนมี 2 คน ได้แก่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส. เลย พรรคเพื่อไทย ที่ทั้งคู่ติดภารกิจ แต่ได้มีการปรับตารางดูงานแล้ว
ส่วนเรื่องภาพการดื่มเบียร์ ปดิพัทธ์กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดว่าตนไปในช่วงเทศกาลคราฟต์เบียร์ ตนยืนยันว่าเราไม่ได้ไป เราไปแคมป์คนงานและได้พบคนงานกว่า 30 คน เราพูดคุยกันเรียบร้อย แล้วมีการเชิญชวนกันไปดูสถานที่ในหอพัก พวกเขากินอยู่อย่างไร เราได้ไปเยี่ยมสอบถามสารทุกข์สุขดิบ จึงเกิดภาพแบบที่เห็นขึ้นมา และไม่ได้เป็นภาพในร้านอาหาร แต่เป็นภาพในโรงอาหารในไซต์คนงานอยู่แล้ว
“ผมถือกระป๋องเบียร์และก็ชนในวงต่างๆ ทำให้พวกเขากล้าที่จะพูดคุยกับผมมากขึ้น กล้าที่จะพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ ทำให้เกิดบรรยากาศแลกเปลี่ยน” ปดิพัทธ์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีคนมองว่าไม่เหมาะสมเพราะเป็นช่วงเวลาของการดูงานอยู่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของตนต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน ตนไม่สามารถแก้ตัวได้เพราะตนก็ดื่ม แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เลิกงาน ชีวิตส่วนตัวของตนพร้อมถูกตรวจสอบและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เรื่องดังกล่าวจะถูกตรวจสอบเพื่อนำไปสู่อะไร เหตุผลของการตรวจสอบเป็นอย่างไร และตรวจสอบทุกหน่วยงานเท่าเทียมกันหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ตนต้องถามกลับไปยังผู้ที่ต้องการตรวจสอบ แต่หากภาพลักษณ์ของตนทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ทำงานในสภาฯ แล้วไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ตนก็พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์
ปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ตนเคยกล่าวไว้ก่อนไปว่าจะไปในฐานะทูต แล้วเกิดภาพดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ตนคิดว่าการชนแก้วในทุกวาระโอกาส ตนได้เข้าพบกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวมถึงพบกับ สส. ของประเทศสิงคโปร์ ก็มีการดื่มไวน์กัน ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรี ซึ่งตนดื่มไวน์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง และดื่มแอลกอฮอล์กับคนไทยที่ไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ได้มีผลต่อภาพลักษณ์แต่อย่างใด