วันนี้ (10 ตุลาคม) ที่รัฐสภา เวลา 10.00 น. ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 แถลงเข้าเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ร่วมกับ ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค
ปดิพัทธ์กล่าวว่า หลังจากที่อดีตพรรคของตนได้มีมติให้ตนออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ตนเองก็ได้หารือและกล่าวในวันนี้ให้ชัดเจนว่าตนตัดสินใจเข้าพรรคเป็นธรรม เพราะอุดมการณ์และแนวทางใกล้เคียงกันมากที่สุดกับตอนที่ตนอยู่กับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล
ตนเองขอบพระคุณทั้ง ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ตนรู้ดีว่าการทำงานของตนจะต้องเผชิญกับความเสียดทานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสภาให้โปร่งใส การผลักดันวาระก้าวหน้า หรือนโยบายที่ตนได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร ตอนที่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภา ซึ่งเลขาธิการและหัวหน้าพรรคเป็นธรรมก็ยินดีสนับสนุนหลักการนี้
ปดิพัทธ์ย้ำว่า วันนี้ยังไม่มีการสมัครสมาชิกพรรคในทางกฎหมาย ยังรอหนังสือยืนยันการพ้นสภาพ สส. ก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาในเร็วๆ นี้ และจะสมัครสมาชิกพรรคเป็นลำดับถัดไป วันนี้ไม่ได้ถือฤกษ์อะไร เป็นวันดี เพราะพรุ่งนี้ก็มีความชัดเจน ตนจะทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีสังกัดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริง
ขณะที่ ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่มีนิมิตหมายอันดีของพรรคเป็นธรรม ที่เรามีความภูมิใจและได้รับเกียรติอย่างสูงที่ได้ปดิพัทธ์มาร่วมงาน พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจน ได้แก่ ประชาธิปไตย ประเทศชาติ และประชาชนด้วยความเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อทำงานร่วมกันตนก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้เป็นต้นไปจะมีบริบทในการบริหารกิจการสภาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงงานของฝ่ายค้านซึ่งเป็นอีกบริบทหนึ่ง
กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการทำงานร่วมกันกับปดิพัทธ์ในฐานะ สส. ใหม่ โดยระบุว่า เรื่องนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีปดิพัทธ์มาร่วมพรรคเป็นธรรมของเรา การทำงานของเราชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่บิดเบี้ยว เราจะสร้างให้ทุกคนเห็นว่าต่อไปนี้ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถปักหลักปักธงในประเทศไทยได้
เราจะได้เห็นปดิพัทธ์ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 จะไม่เห็นความขัดแย้งต่างๆ เพราะในตำแหน่งทั้งประธานและรองประธานสภาต้องมีความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นธรรม การทำงานต่างๆ ต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทุกคนยืนยันจากการทำงานของปดิพัทธ์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีอะไรมาขัดขวางการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้
“การทำงานจะเป็นรูปแบบพรรคร่วมฝ่ายค้านเชิงรุก ได้เห็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดิน จะไม่ค้านทุกอย่าง แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารแผ่นดินมีมากขึ้น เป็นความมุ่งหวังที่อยากเห็นต่อไป” กัณวีร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคสาขาสองของพรรคก้าวไกลหรือไม่
กัณวีร์กล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลและพรรคเป็นธรรมล้วนต่อสู้กันมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะร่วมอุดมการณ์กันแต่การทำงานทางด้านการเมืองพรรคเป็นธรรมมีจุดยืนของเราอย่างชัดเจนว่า เราทำงานเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับพี่น้องประชาชน เราจะเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย และมองว่าประชาชนน่าจะมีความภาคภูมิใจในการทำงานของพวกเรา คำว่าพรรคสาขาสองไม่น่าจะเป็นคำถามที่ออกมาจากเสียงของประชาชน
ปดิพัทธ์กล่าวเสริมถึงแนวทางการทำงานว่า มีการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า ประธานสภาและรองประธานสภาต้องเป็นกลาง ทั้งการบรรจุกฎหมาย การพิจารณาร่างกฎหมาย รวมถึงกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชน จะอำนวยความสะดวกให้กับทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นแม้ตนเองจะสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่งก็ไม่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในรัฐสภา โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับประธานสภาและรองประธานสภามากกว่า
ปดิพัทธ์กล่าวถึงการถูกจับจ้องว่า ปฏิเสธไม่ได้ เป็นเรื่องที่เกิดก่อนที่ตนเองจะย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมแล้ว ซึ่งตนเองมองว่าจะได้รับแรงเสียดทานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรับอาคารรัฐสภา เป็นมหากาพย์ที่รออยู่ รวมถึงยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องดำเนินการให้มีความโปร่งใส รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่รออยู่ แต่ตนเองคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่สร้างเงื่อนไขให้จำเป็นต้องย้ายพรรค เพราะกำหนดไว้ว่าพรรคที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่มี สส. รับตำแหน่งประธานสภาและรองประธานสภา ควรมีการปรับแก้เงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแรกของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เคยมีการเสนอให้ประธานสภา 3 ท่าน มี 1 เก้าอี้ที่มาจากฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นบทเรียนทางการเมืองทั้งสิ้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร
“ต้องเป็นหน้าที่ของกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสังคมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกันกับ สสร. ส่วนจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร คงจะตัดสินในตอนนี้ไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลาครบสมัย 4 ปี ในการพิสูจน์ว่าเรื่องนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร” ปดิพัทธ์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการเลือกตั้งคราวหน้า ปดิพัทธ์จะยังลงเลือกตั้งในนามพรรคเป็นธรรมต่อไปหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนเองยังไม่มีการตัดสินใจในระยะยาว ขณะนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพราะตนเองต้องสังกัดพรรคการเมืองให้ได้ภายใน 30 วัน และพรรคเป็นธรรมมีความจริงใจและเปิดรับมากที่สุด ส่วนเรื่องอนาคตก็เป็นเอกสิทธิ์ของตนเองและพรรคเป็นธรรม
“ตอนนี้เดินตลาดพิษณุโลก คำพูดที่ทักทายไม่ใช่คำว่า สวัสดี มีแต่บอกว่า อย่าออก เพราะชาวพิษณุโลกต้องการให้คนพิษณุโลกดำรงตำแหน่งรองประธานสภานี้มาก แต่สิ่งที่ผมทำนั้นขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ ได้รับเสียงตอบรับจากคนพิษณุโลก มั่นใจว่ามีแรงสนับสนุนแน่นอน ส่วนคำวิพากษ์วิจารณ์ก็มาจากคนที่ไม่ต้องการให้ผมอยู่ในตำแหน่งนี้ จึงคิดว่ามีแรงสนับสนุนมากพอสมควร” ปดิพัทธ์กล่าว