วันนี้ (21 กันยายน) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แถลงถึงการตรวจรับอาคารรัฐสภาว่า อาคารรัฐสภาไม่แล้วเสร็จตามสัญญาในปี 2563 และเกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงการแก้ไขสัญญาหลายจุด ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อให้กรรมการตรวจรับ โดยไทม์ไลน์จะต้องตรวจรับเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ทำให้ต้องได้ข้อมูลความเห็นแย้งก่อน โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้
ส่วนข้อกังวลที่ว่าอาคารรัฐสภาสมบูรณ์พอที่จะตรวจสอบหรือไม่ ตรงตามเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่นั้น ปดิพัทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจการจ้าง ฝ่ายเลขาธิการสภา เป็นผู้รับผิดชอบ หากใครยังเห็นว่าอาคารรัฐสภาแห่งนี้ยังมีจุดต้องสงสัยหรือคาดว่าเป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจรับได้ ก็สามารถส่งเรื่องมายังตนเองได้ จะได้ทำการตรวจสอบร่วมกัน
สำหรับเรื่องค่าปรับที่ส่งมอบอาคารล่าช้า ซึ่งผ่านหลายห้วงเวลาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และมีมาตราเกี่ยวโยงกับ ครม. นั้น ปดิพัทธ์กล่าวว่าจะรวบรวมข้อเท็จจริงส่วนนี้แล้วเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับความโปร่งใสที่ต้องให้สังคมรับทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับภาษีของประชาชนที่ทำให้รัฐสภาแห่งนี้ไม่สามารถตรวจรับได้ตามเวลา รวมถึงมีใครได้ ใครเสีย ใครต้องรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง หากสามารถดำเนินการทุกอย่างและตรวจรับได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ก็จะได้เปิดใช้อาคารรัฐสภาได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรื่องค่าปรับนี้ในเงื่อนไขของ ครม. และสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มอาจจะต้องจ่ายน้อยลงหรืออาจจะไม่ต้องจ่าย แต่ขอศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ก่อน
ปดิพัทธ์ยังกล่าวถึงเรื่องฟ้องร้องข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างรัฐสภาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าเรื่องนี้สามารถแยกออกจากการตรวจรับได้ คือเมื่อตรวจรับเรียบร้อยก็ยังอยู่ในประกัน 2 ปี ส่วนเรื่องที่อยู่ใน ป.ป.ช. ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และก็พร้อมให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบทุจริต ตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้จ้างหรือผู้รับจ้าง แต่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในการตรวจสอบเรื่องนี้ให้โปร่งใสมากที่สุด
รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ยังระบุว่า เหตุผลที่ยังไม่สามารถตรวจรับได้นั้นเพราะยังไม่มีความสมบูรณ์ตามแบบ และยังมี 3 ส่วนที่ต้องรับผิดชอบ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะรับผิดชอบเป็นหลัก และมีกรมศิลปากร รวมถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตรวจรับด้วย
ส่วนกรณีที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเกษียณอายุนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสรรหาเลขาธิการฯ คนใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งอาคารรัฐสภาก็ผ่านเลขาธิการฯ มาหลายคน ดังนั้นหน้าที่ของตนเองและคณะคือต้องติดตามทุกอย่างไม่ให้การส่งมอบอาคารมีข้อบกพร่อง