×

ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าเองใกล้เป็นความจริง! กกพ. สนับสนุนการทดสอบซื้อขายไฟฟ้า P2P ในจุฬาฯ ทำได้จริง เพิ่มความมั่นใจให้ฝ่ายนโยบายก่อนขยายผล

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2025
  • LOADING...
ไฟฟ้า

HIGHLIGHTS

4 min read
  • ระบบไฟฟ้าของไทยวันนี้ยังเป็นแบบรวมศูนย์ (Single Buyer) ที่ให้ กฟผ. เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว ทั้งที่โลกกำลังก้าวสู่พลังงานหมุนเวียนและการผลิตกระจายศูนย์
  • P2P Energy Trading คือคำตอบใหม่ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย (Prosumer) ซื้อขายกันเองผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยไม่ต้องขายไฟคืนให้รัฐเท่านั้น
  • ประโยชน์ของ P2P ได้แก่ ลดค่าไฟ กระจายอำนาจ เพิ่มพลังงานสะอาด และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับชุมชน
  • โครงการทดสอบที่จุฬาฯ ภายใต้ ERC Sandbox พิสูจน์ว่า P2P ทำได้จริงในเชิงเทคนิค ไม่มีปัญหาแรงดันไฟ แม้ไฟฟ้าจะไหลย้อนผ่านโครงข่าย กฟน.
  • ผลการทดลองแสดงถึงศักยภาพของตลาดไฟฟ้าแบบใหม่ ที่มีการแข่งขัน โปร่งใส และตอบโจทย์ความยั่งยืนได้มากกว่าระบบเดิม

ถ้าถามว่าไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มาจากไหน คำตอบก็คงเป็น “การไฟฟ้าฯ” 

 

หน่วยงานรัฐในประเทศที่อยู่เบื้องหลัง คือระบบขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รวมศูนย์ไว้ และมีหน้าที่ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตทุกราย แล้วขายต่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อกระจายไปถึงบ้านเรือนและโรงงานทั่วประเทศ

 

นี่คือระบบที่เรียกว่า Enhanced Single Buyer Model (ESB) ซึ่งมีข้อดีเรื่องความมั่นคงของพลังงาน แต่ในวันที่พลังงานหมุนเวียนกำลังมาแรง และคนธรรมดาเริ่มผลิตไฟฟ้าเองได้มากขึ้น ระบบแบบรวมศูนย์ก็เริ่มแสดงข้อจำกัดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตพลังงานสะอาด

 

ไม่ว่าจะเป็นความยืดหยุ่นของราคาและการผลิต การรองรับการมาของพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ แต่นั่นก็ทำให้เกิดแนวคิดและทางเลือกใหม่ที่ปรากฏขึ้น คือ P2P Energy Trading 

 

P2P คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ

 

P2P ย่อมาจาก Peer-to-Peer Energy Trading เป็นระบบที่ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยหรือที่เรียกว่า “Prosumer (ผู้ใช้และขายไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กัน)” สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับผู้ใช้อื่นได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องขายกลับให้กับการไฟฟ้าเท่านั้น

 

ข้อดีของ P2P คือ

 

  • ลดการสูญเสียพลังงานจากการส่งไฟฟ้าระยะไกล
  • สนับสนุนพลังงานสะอาดที่ผลิตใกล้บ้าน
  • เพิ่มความมั่นคงในระดับชุมชน
  • สร้างตลาดใหม่ กระตุ้นนวัตกรรม และการลงทุน

 

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต่ำลงมาก ผู้คนและธุรกิจจำนวนมากเริ่มลงทุนติดตั้งแผงผลิตไฟไว้บนหลังคาและกลายเป็น “ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย” พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ใช้ไฟเอง แต่ต้องการ “จัดการไฟที่ผลิตได้” อย่างมีอิสระ ทั้งใช้เอง แบ่งให้เพื่อนบ้าน หรือขายให้โรงงานใกล้เคียง

 

ความต้องการที่มากขึ้นนี้ ทำให้ภาครัฐได้เริ่มมีการทดลองโมเดลนี้ เกิดขึ้นในรูปแบบของ Sandbox ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. กับโครงการ ERC Sandbox

 

ทดลองใช้ P2P จริงในจุฬาฯ

 

โครงการ ERC Sandbox เป็นการทดลอง P2P Energy Trading ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน กกพ. ซึ่งให้พื้นที่ทดลองพิเศษที่ยืดหยุ่นกว่ากฎเกณฑ์ทั่วไป

 

โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้า ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ตามมาตรา 97(4) ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีการติดตั้งแผงโซลาร์บน 6 อาคาร ทำหน้าที่เป็นฝั่งขาย และอีก 10 อาคาร เป็นฝั่งซื้อ

 

ไฟฟ้า

Solar Rooftop บนอาคารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

กระแสไฟฟ้าไหลผ่านโครงข่ายจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกห้ามให้เกิดไฟฟ้าไหลย้อนกลับ แต่ใน Sandbox นี้ กกพ. อนุญาตให้ทดลองเชื่อมต่อ พร้อมคำนวณค่าใช้บริการโครงข่าย (Wheeling Charges) อย่างเหมาะสม

 

ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to- Peer ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หัวใจของระบบคือแพลตฟอร์มกลาง ที่ให้อาคารฝั่งขายเสนอราคาขายไฟ และอาคารฝั่งซื้อเลือกซื้อจากผู้เสนอราคาที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น

 

การทดลองนี้ดำเนินการเป็นเวลา 2 เดือน โดยกำหนดราคาระหว่าง 2-5 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าราคาขายปลีกโดยทั่วไป และเป็นการพิสูจน์ว่าระบบซื้อขายแบบนี้ “ทำได้จริงในทางเทคนิค”

 

ภาพรวมมูลค่าการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผลทดลองสำเร็จ ความกังวลคลี่คลาย

 

รศ.ดร.กุลยศ  อุดมวงศ์เสรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดูแลโครงการ ระบุว่า ตลอดระยะเวลาทดลอง ไม่มีปัญหาแรงดันไฟตกหรือเกิน ไม่มีผลกระทบต่อระบบของ กฟน. แม้มีไฟไหลย้อนจากอาคารหนึ่งสู่อีกอาคารหนึ่ง

 

รศ.ดร.กุลยศ  อุดมวงศ์เสรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ข้อกังวลเรื่องความเสถียรของระบบจึงถูกคลายลง และกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐสามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณานโยบาย มากไปกว่านั้น โครงการยังแสดงให้เห็นว่า การมีตลาดซื้อขายกลางที่แข่งขันด้านราคากันจริง ๆ นั้น สามารถออกแบบและใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องผูกขาดระบบไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

 

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจทำให้การเปิดเสรีตลาดไฟฟ้าเป็นไปได้จริงในอนาคต

 

P2P ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่คือการปฏิรูป

 

P2P ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดทางเทคนิคหรือทางธุรกิจเท่านั้น แต่มันคือความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะทำให้ระบบพลังงานของไทย “มีทางเลือก มีการแข่งขัน และมีความเป็นธรรมมากขึ้น”

 

ในวันที่พลังงานหมุนเวียนกำลังเป็นทางรอดของโลก แต่ระบบรวมศูนย์แบบเดิมกลับเป็นอุปสรรค P2P คือคำตอบที่สมเหตุสมผล และเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า “ทำได้จริง”

 

สิ่งที่ต้องการในวันนี้จึงไม่ใช่เทคโนโลยีเพิ่ม แต่คือ “การตัดสินใจเชิงนโยบาย” ที่จะยอมให้ระบบนี้เติบโต เปิดทางให้ prosumer เข้ามามีบทบาทในระบบ และยกระดับความยั่งยืนของประเทศผ่านโครงสร้างที่เปิดกว้าง

 

ถึงเวลาปล่อยให้ไฟฟ้าไม่ต้องไหลทางเดียวอีกต่อไปแล้ว

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising