เมื่อวานนี้ (29 กันยายน) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับศูนย์วิจัยชีวการแพทย์ด้านสุขภาพของออกซ์ฟอร์ด (BRC) และสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health Research: NIHR) ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยรายงานผลการศึกษาวิจัยล่าสุด พบว่า ผู้ป่วยโควิดราว 37% หรือกว่า 1 ใน 3 จะเกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือมีอาการในระยะยาวอย่างน้อย 1 อย่าง หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วนาน 3-6 เดือน
โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเผยว่า ได้ทำการวิจัยและตรวจสอบอาการในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่กำลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อมากกว่า 270,000 คน ซึ่งพบว่าอาการระยะยาวหลังติดโควิดที่พบบ่อยที่สุด 9 อย่าง ได้แก่
- หายใจผิดปกติหรือหายใจลำบาก 8%
- อาการที่เกี่ยวกับบริเวณท้อง เช่น ปวดท้อง 8%
- วิตกกังวลและหดหู่ 15%
- เจ็บคอหรือหน้าอก 6%
- ภาวะสมองล้า 4%
- เหนื่อยล้า 6%
- ปวดศีรษะ 5%
- ปวดกล้ามเนื้อ 1.5%
- ปวดส่วนอื่นๆ 7%
ทั้งนี้ งานวิจัยไม่ได้เผยรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุแน่ชัดที่ก่อให้เกิดภาวะลองโควิด ตลอดจนความรุนแรงของอาการ หรืออาการคงอยู่นานแค่ไหน
โดยอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อ รวมถึงอายุและเพศของผู้ป่วยโควิด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มในการเกิดภาวะลองโควิด ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้ป่วยโควิดที่อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลจะเกิดอาการป่วยในระยะยาวมากกว่า และผู้หญิงจะเกิดภาวะลองโควิดมากกว่าผู้ชาย
ปัจจัยเหล่านี้ยังส่งผลต่ออาการในระยะยาวที่เกิดกับผู้ป่วย เช่น ผู้สูงอายุและผู้ชายจะมีปัญหาหายใจลำบากและภาวะสมองล้ามากกว่า ส่วนผู้หญิงและหนุ่มสาวที่อายุน้อยมักจะมีอาการปวดศีรษะ อาการที่บริเวณท้อง และเกิดความวิตกกังวลหรือหดหู่มากกว่า
ขณะที่งานวิจัยยังชี้ว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการในระยะยาวมากกว่า 1 อาการ และอาการมักจะเกิดร่วมกันมากขึ้นเมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ด้าน ศ.พอล แฮร์ริสัน ของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ผู้นำในการศึกษาวิจัยดังกล่าว ระบุว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยโควิดทุกคนไม่สามารถฟื้นตัวเป็นปกติได้โดยเร็วหลังผ่านพ้นการติดเชื้อ และต้องตรวจสอบกลไกที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ป่วยโควิดที่รอดชีวิต
“เราจำเป็นต้องตรวจสอบกลไกที่เป็นสาเหตุของอาการต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อผู้รอดชีวิต ข้อมูลนี้จะมีความสำคัญ หากผลลัพธ์ด้านสุขภาพในระยะยาวจากโควิดได้รับการป้องกันหรือรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.แฮร์ริสันกล่าว
ภาพ: Photo by Arturo Holmes/Getty Images
อ้างอิง: