Oxfam องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดำเนินพันธกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมให้กับพลเมืองโลกได้เปิดเผยวันนี้ (25 มกราคม) ว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมีผลในการเพิ่มความถ่างของปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้มีรอยแยกกว้างขึ้นระหว่างคนที่มีฐานะร่ำรวยและยากจนอย่างชัดเจน
จากการศึกษาของ Oxfam International ที่เปิดเผยออกมาในวันแรกของงาน World Economic Forum: ‘The Davos Agenda 2021’ พบว่า มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 1,000 รายใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้นในการพลิกสถานการณ์ให้ตัวเองกลับมามีรายได้ชดเชยเทียบเท่ารายได้ที่ตัวเองสูญเสียไปจากโควิด-19 ในขณะที่คนจนที่มีฐานะยากจนนั้นอาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่าหลายสิบปีกว่าที่จะพลิกฟื้นฐานะการเงินของตัวเองให้กลับมาฟื้นตัวได้
ซึ่งเมื่อเทียบเป็นช่วงเวลาแล้ว Oxfam พบว่า โควิด-19 ส่งผลให้คนที่มีฐานะยากจนต้องใช้เวลานานกว่าอภิมหาเศรษฐี 1,000 อันดับโลกอย่างน้อย 14 เท่า ในการที่จะพาตัวเองกลับมามีสภาพคล่องทางการเงินเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดได้ (Pre-pandemic) ที่สำคัญมีแนวโน้มที่กลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยซึ่งเป็นเพศชายผิวขาว (White Male) จะกลับมามีฐานะทางการเงินฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ
ที่สำคัญ Oxfam ยังได้ดำเนินการประเมินและคาดการณ์ว่า เมื่อนำสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดของเหล่าอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลกมารวมกัน ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ ก็จะพบว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าที่มากเพียงพอจะใช้จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนทุกคนบนโลก
ในขณะเดียวกันวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี ส่งผลให้คนกว่าหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ไม่มีงานทำ และตกงาน
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป โดยประชากร ‘เพศหญิง’ เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจ่ายค่าจ้าง ‘ต่ำ’ กว่าที่พวกเขาหรือเธอควรจะได้รับ ซึ่งมีการประเมินกันว่าหากพวกเขาหรือเธอได้รับค่าจ้างเทียบเท่าหรืออยู่ในอัตราเดียวกันกับแรงงานผู้ชาย (ในตำแหน่งงานและขอบเขตหน้าที่เดียวกัน) ทั้งหมดจะทำให้ผู้หญิงกว่า 112 ล้านคนทั่วโลกไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงในการตกงานหรือขาดรายได้
Oxfam ยังได้เสนอการแก้ปัญหาด้วยการยกระดับ ‘เศรษฐกิจเท่าเทียมและเป็นธรรมกว่า’ ซึ่งมองว่าวิธีการนี้จะเป็นกุญแจสำคัญให้โลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเสนอการจัดเก็บภาษีพิเศษ ‘ชั่วคราว’ จากกำไรส่วนเกินของบริษัทมากกว่า 32 แห่งที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงโควิด-19 ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้จะมีมูลค่าสูงกว่า 104,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 และมากพอจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานที่ไม่มีงานทำ และยังช่วยสนับสนุนปัญหาด้านการเงินให้กับเด็กๆ และผู้สูงอายุในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง
กาเบรียลา บุชเชอร์ (Gabriela Bucher) กรรมการบริหาร Oxfam International กล่าวว่า “เรายืนหยัดเพื่อเป็นสักขีพยานในการเพิ่มขึ้นของปัญหา ‘ความไม่เท่าเทียม’ กันตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติต่างๆ เอาไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความแตกแยกที่ชัดเจนระหว่างคนรวยและคนจน และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลกระทบของมันร้ายแรงพอๆ กับไวรัส
“ผู้หญิง กลุ่มชาติพันธุ์ และคนชายขอบกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะถูกผลักออกไปยังความยากจน และมีแนวโน้มที่จะอดอยากมากขึ้นและถูกกีดกันจากการได้รับการดูแลด้านสุขภาพ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- DAVOS 2021: เลขาฯ UN ออกโรงเตือน โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่จริง ทั้งต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม
- DAVOS 2021: ECB ห่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นช้า ย้ำ ‘ยูโรโซน’ กำลังสู้กับโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- สรุป Key Takeaways จากการประชุม Davos 2023 ภายใต้ธีม ‘ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก’
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: