Oxfam (อ็อกซ์แฟม) องค์กรการกุศลในอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้บรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) จ่ายเงินชดเชยให้กับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอยู่ทางซีกโลกทางใต้ หรือ Global South คิดเป็นมูลค่ารวม 13 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในปี 2009 ว่าจะโอนเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2020-2025 ให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ Oxfam กล่าวว่า กลุ่มประเทศ G7 เป็นหนี้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่ยังไม่ได้ชำระแก่ประเทศยากจน ในการสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้มีกำลังในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม แทนที่จะปฏิบัติตามพันธกรณี แต่ G7 และสถาบันการเงินชั้นนำ กลับเรียกร้องให้ชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้ชำระหนี้มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์ต่อวัน
Amitabh Behar ผู้อำนวยการบริหารชั่วคราวของ Oxfam กล่าวในแถลงการณ์ว่า กลุ่มประเทศ G7 ที่มั่งคั่งชอบที่จะหลอกตัวเองว่าเป็นผู้กอบกู้ แต่สิ่งที่พวกเขากำลังดำเนินอยู่ คือปฏิบัติการสองมาตรฐานที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิต โดยขณะที่ G7 กำหนดกรอบกติกาในการดำเนินการร่วมกัน แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและเป็นอดีตอาณานิคมของ G7 กลับได้รับการปฏิบัติหรือทำตามกรอบกติกาที่แตกต่างออกไป
Behar ชี้ว่า แทนที่จะบอกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจนเป็นหนี้ประเทศร่ำรวย ต้องบอกว่าชาติร่ำรวยต่างหากที่เป็นหนี้ประเทศยากจน โดยเงินดังกล่าวเป็นความช่วยเหลือที่ G7 สัญญาไว้เมื่อปี 2009 แต่ไม่เคยให้ ค่าใช้จ่ายมหาศาลจากความเสียหายจากสภาพอากาศที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยไม่บันยะบันยังของ G7 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นความมั่งคั่งมหาศาลที่สร้างขึ้นจากการเอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาและยากจน
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนที่บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ จะมารวมตัวกันเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการพบปะกันในครั้งนี้ก็คือการให้คำมั่นต่อแนวทางดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่เคยตกลงไว้ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ทั้งนี้ บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายยอมรับว่าชาติของตนต้องการการสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ มิฉะนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้
โอโนะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการสิ่งแวดล้อมโลกของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น กล่าวยืนยันว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงโตเกียวเริ่มทยอยจ่ายเงิน 70,000 ล้านดอลลาร์ที่มุ่งมั่นในการจัดหาเงินทุนทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น ทุกประเทศควรทำตามแบบอย่างที่ดีของญี่ปุ่น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์ ตามที่เคยได้ให้คำมั่นสัญญากันไว้
Oxfam ชี้ว่า เหล่าผู้นำ G7 กำลังประชุมกันในขณะที่พนักงานหลายพันล้านคนต้องเผชิญกับการลดค่าจ้าง การไล่ออก และปัญหาค่าครองชีพที่ให้สินค้าและบริการมีราคาสูงลิ่ว ไม่สอดคล้องกับรายได้ โดย Oxfam ชี้ว่า ขณะนี้ความอดอยากทั่วโลกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว ขณะที่จำนวนของกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด และกลุ่มที่ยากจนที่สุดก็เพิ่มขึ้นพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แสดงให้เห็นภาพการเติบโตที่ขูดรีดมาจากประเทศกำลังพัฒนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
อ้างอิง: