เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance และนวัตกรรมอันก้าวไกลของระบบขนส่งมวลชน เชื้อเชิญให้เราออกเดินทางไปดูโลกกันมากขึ้น เราไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น โลกเราแคบลง นั่งเครื่องบินเพียงอึดใจก็ถึงที่หมายโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเป็นวันๆ เฉกเช่นอดีต จากสถิติปี 2017 ของ UNWTO หรือองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า มีประชากรโลกเดินทางท่องเที่ยวมากถึง 1.3 พันล้านคน ตีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของ GDP โลก ก่อให้เกิดการจ้างงานถึงร้อยละ 9.9 ของตำแหน่งงานทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มเฉลี่ยต่อเนื่องร้อยละ 3.3 ต่อปี ไปจนถึงปี 2030
แต่ใครจะรู้ว่าตัวเลขน่าปรีดาเหล่านี้ กลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียตัวตนของจุดหมายปลายทางหลายแห่ง บางแห่งถูกย่ำยีจนแทบไม่เหลือความงามดั้งเดิม บางแห่งก็รบกวนคนพื้นที่จนไม่สามารถรับมือได้ กระแสความนิยมที่ได้รับกำลังส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมกลายเป็น ‘เหยื่อ’ การตลาด จนหลายฝ่ายต้องทบทวนกันว่าเราควรจะเที่ยวอย่างไร และจัดการอย่างไรในภาวะที่ ‘นักท่องเที่ยวล้นเมือง’ (Overtourism)
ฉันเป็นดอกไม้กลางหมู่ภมรจริงหรือ
ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง หรือ Overtourism นั้นสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือชนบท โดยเฉพาะตาม City Destination ที่นักท่องเที่ยวนิยมปักหมุด เมืองที่ผู้คนต่างแห่แหนกันไปเยือน อาทิ ปารีส บาร์เซโลนา นิวยอร์ก เวนิส ฯลฯ การเข้ามาในจำนวนมหาศาลเกินรับไหว ทำให้จุดหมายปลายทางเหล่านั้นถูกย่ำยีจนไม่เหลือเสน่ห์ มีแต่ความวุ่นวาย และปัญหาต่างๆ มากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางเสียง การจราจร ขยะล้นเมือง ฯลฯ กลบข้อดีของเม็ดเงิน และการสร้างงานในพื้นที่จนหมดสิ้น
อ่าวมาหยา กับหาดทรายที่คลาคล่ำไปด้วยฝูงชน
ตัวอย่างใกล้ตัวที่ดีที่สุดคือ อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อ่าวสวรรค์ของคนรักสายลม แสงแดด ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างมุ่งหมายมายล ภาพยนตร์เรื่อง The Beach (2000) นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ สร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกยกโขยงกันมาเที่ยวมาหยา จนมีสภาพสะบักสะบอม เต็มไปด้วยผู้คนชนิดเห็นหัวทองหัวดำมากกว่าหาดทรายเสียอีก ปะการังใต้ทะเลเหลือแต่ซาก ความเงียบสงบสูญหาย ระบบนิเวศน์พังทลาย ในที่สุดเมื่อถึงจุดเกินรับไหว รัฐบาลจำต้องประกาศปิดอ่าวมาหยาชั่วคราว เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ถูกทำลายไป ผลปรากฏว่า เพียงแค่ 4 เดือนแรก ธรรมชาติก็ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาอย่างไม่น่าเชื่อ
ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ประสบปัญหา Overtourism เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมืองกลางน้ำที่มีประชากรดั้งเดิมเพียง 55,000 คน แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 20 ล้านคนต่อปี จนทำให้ประชาชนชาวเวนิสใช้ชีวิตลำบาก เดินทางสัญจรไม่ได้ เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่นักท่องเที่ยว จนทางการออกกฎหมายจำกัดจำนวนเรือสำราญที่เข้ามาเทียบท่า เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยว และหาเส้นทางการสัญจรใหม่ให้คนท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น ยังคิดค่าปรับราคาแพงแก่นักท่องเที่ยวที่เสียงดังและทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่สุดท้ายมาตรฐานทั้งหลายก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
มาชูปิกชู ประเทศเปรู
ลองไปดูอีกฟากของโลก เมืองโบราณมาชูปิกชู ประเทศเปรู เส้นทางอินคากำลังประสบปัญหาถนนทรุดโทรม ขยะทับถม จุดกางเต็นท์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากปัญหานักท่องเที่ยวมากเกินไป แม้ทางการจะแก้ปัญหาด้วยการจำกัดจำนวนการขึ้น และปิดซ่อมแซมครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทว่า ปัจจุบันก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเกินจำนวนที่ยูเนสโกแนะนำวันละ 2,500 คนอยู่ดี
จากสถานที่สวยงามทรงคุณค่าเหล่านั้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรุดโทรม เพียงใช้เวลาไม่ถึงช่วงอายุคน
“เราควรถามตัวเองว่า ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวในทิศทางใด ส่งผลกระทบทางตรงอย่างไร ทางอ้อมอย่างไร บวกลบแค่ไหน นักท่องเที่ยวแบบใดที่จุดหมายปลายทางต้องการ ที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอแก่คนท้องถิ่น ก่อนเผื่อแผ่ไปสู่นักท่องเที่ยว และจะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อคนท้องถิ่น”
– มาโต ฟรังโควิก นายกเทศมนตรีเมืองดูบรอฟนิก
Overtourism กับการรับมือทั่วโลก
แม้ปัญหา Overtourism จะมักเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ หรือจุดหมายปลายทางสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าตามเมืองเล็ก หรือ Unseen Destination จะไม่เกิด ทุกแห่งล้วนมีเอกลักษณ์และความท้าทายเฉพาะตัว หากเมืองใดรู้สึกว่าระบบสาธารณูปโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการ ระบบการจัดการท่องเที่ยวรับไม่ไหว นั่นก็แปลว่า จุดหมายปลายทางนั้นกำลังเกิดปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองเข้าแล้ว ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาก็ไม่มีกฎเกณฑ์ใดตายตัว ต้องเข้าใจ เข้าถึง และนำไปพัฒนาต่อ เพราะในเมื่อไม่มีหลักการตายตัว แล้วจุดหมายปลายทางทั่วโลกเขารับมือกันอย่างไร
- การจัดการนักท่องเที่ยวเข้าออก
เมื่อมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การจัดระเบียบคนเข้าออก ซึ่งวิธีการนี้มีหลายเมืองนำมาใช้ เช่น เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เริ่มจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2016 เมืองดูบรอฟนิก ประเทศโครเอเชีย ที่จำกัดคนเข้าชมเมืองต่อวัน เพื่อรักษาสภาพเมืองมรดกโลกนับตั้งแต่เป็นฉากถ่ายทำในซีรีส์ดังอย่าง Game of Thrones หรือมาชูปิกชู ที่นำเทคโนโลยีมาจัดการด้วยระบบการจองล่วงหน้า หรือเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้แอปพลิเคชันแจ้งเตือนเมื่อมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
ส่วนของไทยเราก็ไม่น้อยหน้า มีนโยบาย ‘วันธรรมดาน่าเที่ยว’ กระจายนักท่องเที่ยวออกจากวันหยุด ด้วยการลดราคาในวันธรรมดา และ ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ผ่านมาตรการภาษี
เวนิสในอิตาลี
นอกจากกำหนดจำนวนคนเข้าออก หลายจุดหมายปลายทางเลือกจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวด้วยการควบคุมผู้ประกอบการ เช่น การควบคุมจำนวนโรงแรมในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน การจำกัดจำนวนเที่ยวบินหรือเรือสำราญของเวนิส และประเทศไอซ์แลนด์ เป็นต้น
- กลไกราคา
ตามหลักของเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์และอุปทานจะเป็นตัวกำหนดสมดุลซึ่งกันและกัน เมื่อใดก็ตามราคาสินค้าและภาษีสูง แรงจูงใจในการเที่ยวก็จะลดลง มีหลายแห่งนำหลักการนี้มาใช้ เช่น เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่เก็บภาษีเที่ยวเมืองเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับการร้องเรียนเรื่องจากชาวเมืองว่ามีนักท่องเที่ยวมากเกินไป ใช้ระบบขนส่งมวลชนลำบาก ไม่สามารถจองร้านอาหารท้องถิ่นกินได้เลย เนื่องจากรองรับนักท่องเที่ยวหมด ทางการเกียวโตจึงเก็บภาษีเมืองและภาษีห้องพัก เพื่อนำรายได้มาพัฒนาเมือง ขณะเดียวกันก็สามารถลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่พักในเมืองลงได้ แม้ไม่มากแต่ก็ช่วยในระดับหนึ่ง
ด้านปารีสก็ไม่ต่าง มีการขึ้นราคาค่าขึ้นชมไอเฟลร้อยละ 50 เพื่อลดความต้องการการขึ้นชมหอไอเฟลให้น้อยลง หรือหมู่เกาะ Balearic ของประเทศสเปน ประกาศเพิ่มภาษีนักท่องเที่ยว เพื่อหารายได้ไปพัฒนาด้านการจัดการขยะและความปลอดภัย
- พัฒนาสินค้าท่องเที่ยว
วิธีการนี้มาในรูปแบบของการต่อยอดหรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมที่แตกต่างเพื่อความหลากหลาย ไม่ใช่ให้ดึงดูดแต่นักท่องเที่ยวกระแสหลักเพียงกลุ่มเดียว เช่น แคมเปญ Amazing Thailand Luxury ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ประชาสัมพันธ์การเที่ยวแบบหรูหรา เพื่อรองรับลูกค้ากระเป๋าหนัก ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า แต่ใช้จ่ายเยอะกว่า โดยหวังเอามาทดแทนนักท่องเที่ยวทัวร์ทั่วไป ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าในเรื่องปริมาณ
- ปิดแหล่งท่องเที่ยว
ในกรณีที่สาหัสสากรรจ์ พูดไม่รู้ฟัง พยายามแก้แล้วแต่ไม่รอด หนทางสุดท้ายสำหรับการจัดการปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองคือ ปิดจุดหมายปลายทางนั้นไปเสียเลย ปิดประตูใส่กลอน งดรับแขกทุกประเภท เคสนี้คนไทยเราคุ้นเคยดี เช่น กรณีปิดอ่าวมาหยานั่นเอง โดยหลังจากปิดฟื้นฟูเพียง 4 เดือน ธรรมชาติก็กลับมาดีขึ้นผิดหูผิดตา อันเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อย และนอกจากไทย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็ประกาศปิดเกาะโบราไกย์ เป็นต้น
เกาะโบราไกย์ ประเทศฟิลิปปินส์
เมื่อรายได้จากทางการท่องเที่ยวมาพร้อมกับผลกระทบทางลบ หากปราศจากการจัดการที่ดี ย่อมเกิดผลเสียแก่คนท้องถิ่น นายมาโต ฟรังโควิก นายกเทศมนตรีเมืองดูบรอฟนิก กล่าวว่า การเปิดเมืองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้น คือการบอกชาวโลกว่า เราเป็น Open City ดังนั้นในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรที่ต้องการจัดการระบบ เราควรถามตัวเองว่า ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวในทิศทางใด ส่งผลกระทบทางตรงอย่างไร ทางอ้อมอย่างไร บวกลบแค่ไหน นักท่องเที่ยวแบบใดที่จุดหมายปลายทางต้องการ ที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอแก่คนท้องถิ่น ก่อนเผื่อแผ่ไปสู่นักท่องเที่ยว และจะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อคนท้องถิ่น ซึ่งเราควรคำนึงเป็นอันดับต้นๆ
อันที่จริงปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวเอ่อล้นยังสามารถเจาะลงไปในระดับสเกลเล็ก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตนได้ ด้วยการปลูกจิตสำนึกและตอบแทนท้องถิ่น อย่าให้เม็ดเงินนำมาซึ่งการทำลายสถานที่สำคัญของชาติและของโลก การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและความยั่งยืน สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ หากแต่เราต้องร่วมมือและจัดการให้เหมาะสมทั้งภาครัฐและเอกชน
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bbc.com/thai/international-45184725
- www.tatreviewmagazine.com/article/overtourism-and-a-stairway-to-sustainability
- www.scbeic.com/th/detail/product/4877
- www.japantimes.co.jp/news/2017/11/02/national/kyoto-tourists-will-face-new-lodging-tax-next-year-stays-hotels-guest-houses/#.Wf_dStOGOlF
- www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Southern/ReasearchPaper/Overtourism.pdf
มีหลายประเทศทำแคมเปญการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ
- เม็กซิโก: แคมเปญเงินกู้ระยะยาว (Long Term Loan) และรับประกันความเสี่ยงร่วมกัน (Public Guarantee) ในการลงทุนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงแรม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
- อังกฤษ: แคมเปญการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Investing) ในการเปลี่ยนอาคารสำนักงานที่ไม่ใช้แล้วให้กลายเป็น Green Hotel โดยใช้ผ้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล
- สเปน: ออกแคมเปญ Eco Tax ในหมู่เกาะบาลียาริก ที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายภาษี 2 ยูโรต่อคืน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะ
- ออสเตรเลีย: Reef Fund Program สนับสนุนธุรกิจเพื่อพลังงานสะอาด การสร้างพาหนะลดมลพิษ และการปรับปรุงอาคารหรือที่พักเก่า
- นิวซีแลนด์: Tourism Infrastructure Fund ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อการท่องเที่ยวและช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว