×

เปิดข้อเท็จจริง! ‘พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560’ และข้อยกเว้น

06.09.2024
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

HIGHLIGHTS

5 min read
  • พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560’ กำหนดให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • เรื่องที่ ‘เจ้าหนี้’ ต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำแบบไหนที่เข้าข่ายฝ่าฝืน หากทำผิดสัญญาจะตกเป็นโมฆะจริงหรือไม่ และระยะเวลาของอายุความคือเท่าไร
  • เปิด ‘ข้อยกเว้น’ ที่ไม่อยู่ใน พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 จึงสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี

ทุกวันนี้คดีความฟ้องร้องเจ้าหนี้ปล่อยกู้เกินอัตรา หรือข่าวที่ฝ่ายเจ้าหนี้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงด้านกฎหมายเพื่อคัดง้างให้กับความชอบธรรมของตนยังคงมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ

 

ใครผิด ใครถูก คงต้องชี้วัดกันไปเป็นกรณี แต่ภายใต้ข้อขัดแย้งซ้ำเดิมเรื่อง ‘การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา’ หากมองให้ครบทุกมุมจะพบว่า ทั้งฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างก็เสียเปรียบคนละเกม

 

หากมองจากมุมลูกหนี้ ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเสียเปรียบทางข้อกฎหมาย เป็นเพราะลูกหนี้ไม่รู้ว่ามี ‘พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560’ ฉบับล่าสุด เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

แต่ก็ใช่ว่าลูกหนี้ทุกรายจะกล้าฟ้องร้อง อาจเพราะเกรงกลัวผู้ให้กู้ หรือเกรงว่าหากฟ้องร้องแล้วเกิดวันหนึ่งต้องหยิบยืมอีกจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก

 

ฟากเจ้าหนี้เองก็มีประเด็นที่น่าเห็นใจ โดยเฉพาะผู้ให้กู้ที่กฎหมายระบุ ‘ข้อยกเว้น’ ให้ผู้กู้เหล้านี้สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เกินกว่า 15% ต่อปี แต่ข้อมูลและความเข้าใจในเรื่องนี้ยังไม่ถูกนำเสนอให้กับประชาชนได้รับรู้เป็นวงกว้าง จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกิดเป็นกรณีฟ้องร้องอย่างที่เห็น

 

“กฎหมายจึงเป็นเครื่องมืออำนวยความยุติธรรมให้กับคู่สัญญาทุกฝ่าย” ทัศนะส่วนหนึ่งจากบทความ ‘การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากับความเป็นธรรมในสังคมไทย’ ของ ศ. ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

จริงๆ แล้วในประเทศไทยมีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ก่อนจะปรับปรุงและใช้ ‘พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560’ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการได้ เพราะกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการกู้หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ อีกทั้งบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที

 

ในบทความดังกล่าวของ ศ. ดร.เสาวนีย์ ยังชี้แจงให้เข้าใจถึงเรื่องที่ ‘เจ้าหนี้’ ต้องรู้ ไปจนถึงเรื่องที่ ‘ลูกหนี้’ ต้องรู้เพิ่ม เพื่อจะได้รู้ทันข้อกำหนดกฎหมายก่อนกู้เงิน

 

 

เจ้าหนี้ต้องรู้อะไรบ้าง?

 

ตาม ‘พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560’ หากเจ้าหนี้หรือผู้ปล่อยเงินกู้กระทำการใดๆ เข้าข่าย 3 ข้อนี้ต่อไปนี้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี
  2. เขียนจำนวนเงินหรือข้อความเท็จในสัญญาที่กู้ยืมเงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
  3. เรียกเอาประโยชน์อื่นๆ นอกจากดอกเบี้ยมากกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา เช่น เงิน สิ่งของ อย่าง แหวน ต่างหู พระเครื่อง หรือวิธีการอื่นๆ เช่น ให้ชำระหนี้ที่เจ้าหนี้เป็นหนี้กับบุคคลอื่น

 

นอกจากโทษที่เพิ่มขึ้น หากพบว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กฎหมายทางแพ่งมีผลให้ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่จำนวนเงินต้นที่มีการกู้ยืมยังสมบูรณ์ ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องคืนได้ เพราะโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยที่เรียกเกินเท่านั้น

 

ในส่วนของอายุความ เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพิ่มโทษมากขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ทำให้อายุความในการฟ้องคดีอาญาเพิ่มขึ้นไปด้วย คือต้องฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับจากวันกระทำความผิด

 

ขณะเดียวกัน ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะรับโอนสิทธิเรียกร้องโดยมีค่าตอบแทนในการรับโอน หรือเป็นการให้เปล่า ที่เรียกว่าให้โดยเสน่หา ก็อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ผู้โอนสิทธิเรียกร้อง เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ให้กู้หลีกเลี่ยงช่องโหว่ทางกฎหมาย

 

พ.ร.บ. ดอกเบี้ย

 

ลูกหนี้ต้องรู้อะไรเพิ่ม?

 

สำหรับคนที่กำลังจะเซ็นสัญญากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ นอกจากข้อกฎหมายที่ต้องรู้เพื่อเอาผิดเจ้าหนี้ที่ละเมิดข้อกำหนด เรื่องที่ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีคือเรื่องของ ‘ข้อยกเว้น’

 

‘ข้อยกเว้น’ ดังกล่าวระบุผู้ให้กู้ใน 3 กรณี สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติอนุญาตไว้ให้คิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือเป็นกรณีที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เนื่องจากไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมเงิน

 

  1. การให้กู้ยืมเงินโดยสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ผู้ให้กู้สามารถเรียกดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

 

นอกจากนั้น ผู้ประกอบกิจการสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับอนุมัติ (Non-Bank) ก็สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเช่นกัน เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะคือ ประกาศกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นการให้กู้ยืมเงินกับผู้กู้เงินจำนวนไม่สูงนัก ซึ่งไม่มีหลักประกัน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้จะไม่ได้รับเงินคืน จึงต้องมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (อัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม)

 

  1. การจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ การกู้ยืมโดยมี ‘ทรัพย์สิน’ เป็นหลักประกัน หรือที่เรียกว่า ‘จำนำ’ จะยืดตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 17 โดยให้โรงรับจำนวนมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี

 

เช่น หากเงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท ให้คิดดอกเบี้ยได้ร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือร้อยละ 24 ต่อปี และเงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท ให้คิดดอกเบี้ยได้ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือร้อยละ 15 ต่อปี

 

  1. การเรียกเก็บดอกเบี้ยโดยใช้หลักกฎหมายเรื่องอื่นที่ไม่เป็นการกู้ยืม เช่น สัญญาเช่าซื้อ หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน อย่างในกรณีของสัญญาธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะถูกควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ซึ่งจะบังคับใช้เฉพาะสัญญาเช่าซื้อที่ทำตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาที่ควบคุมรถบรรทุกและเครื่องจักรกล คู่สัญญาสามารถตกลงเรื่องดอกเบี้ยให้แตกต่างจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ เช่น การเรียกเก็บดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งสามารถเรียกเก็บได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งเป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 982-986

 

 

ศ. ดร.เสาวนีย์ ยังกล่าวสรุปในบทความนี้ว่า แม้ตัวกฎหมายจะอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ก็อาจยังมีความเป็นไปได้ที่ลูกหนี้ไม่กล้าดำเนินคดี หรือผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องสมยอมกันและทุกฝ่ายได้ประโยชน์

 

การเพิ่มมาตรการช่วยเหลือและป้องกันอื่นๆ เช่น มาตรการทางบริหาร หรือแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่สำคัญนอกจากการให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ประชาชน ยังควรให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ข้อบังคับทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ยิ่งประชาชนมีความเข้าใจข้อกฎหมาย โดยเฉพาะ ‘ข้อยกเว้น’ ทางกฎหมายมากเท่าไร จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำไปช่วยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ก่อนตัดสินใจกู้ยืมได้ดีมากขึ้น แน่นอนว่าในระยะยาวบรรดาปัญหาหนี้เสียที่สถาบันการเงินต้องแบกรับก็อาจเบาบางลงตามไปด้วย

 

อ้างอิง:

  • บทความ ‘การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากับความเป็นธรรมในสังคมไทย’ ของ ศ. ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X