×

Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์

09.02.2021
  • LOADING...
Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า การเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของ ‘Oumuamua นั้น น่าจะเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซจากพื้นผิวของมัน เพราะมันพุ่งเข้าไปเฉียดใกล้กับดวงอาทิตย์ ก็เลยอาจเกิดปฏิกิริยาอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แล้วก๊าซนี้ก็ไป ‘ผลัก’ ให้ ‘Oumuamua เปลี่ยนวิถี พร้อมกับเร่งความเร็วมากขึ้น
  • สำหรับ เอวี โลเอ็บ คำอธิบายการเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua ที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ ‘Oumuamua เป็นยานอวกาศ ซึ่งถ้าดูจากความเร็วแล้ว การเดินทางจากเวก้ามายังระบบสุริยะต้องใช้เวลาราวหกแสนปี เขาจึงเสนอด้วยว่า เป็นไปได้ที่ ‘Oumuamua จะมาจากอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว
  • โลเอ็บมองว่า ข้อถกเถียงเรื่อง ‘Oumuamua ไม่ใช่แค่การเถียงกันว่า ‘Oumuamua คืออะไรเท่านั้น แต่มันยังเป็นต้นแบบของการถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กระบวนการทางวิทยาศาสตร์’ (Scientific Process) ด้วย เขาบอกกับ The Guardian ว่า เหตุผลหนึ่งที่เขา ‘กล้า’ ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เพราะมีหลายคนบอกเขาว่า วิถีของ ‘Oumuamua นั้นประหลาดจริงๆ แต่คนเหล่านั้นไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ เพราะเกรงกลัวคนจะหาว่าบ้า แต่ตัวเขาไม่กลัว

เมื่อเร็วๆ นี้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากฮาร์วาร์ดคนหนึ่งให้สัมภาษณ์เรื่องที่น่าสนใจมาก นั่นคือเป็นไปได้อย่างยิ่ง – ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน จะมี ‘ยานอวกาศ’ จากกาแล็กซีอื่นผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเรา

 

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเขาเขียนร่างบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters กันเลยทีเดียว (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) โดยบทความนั้นตั้งชื่อว่า Could Solar Radiation Pressure Explain ‘Oumuamua’s Peculiar Acceleration? ซึ่งอาจจะฟังแล้วงงๆ อยู่สักหน่อย ว่ามันเกี่ยวอะไรกับ ‘ยานอวกาศ’ ต่างกาแล็กซีที่ว่ามาข้างต้น

 

เริ่มจากคำว่า ‘Oumuamua กันเสียก่อน

 

คำนี้เป็นภาษาฮาวาย แปลว่า Scout ซึ่งมีคำแปลได้หลายอย่าง เช่น การออกไปสังเกตการณ์ การลาดตระเวน การสอดแนม การตรวจสอบ การค้นหา โดย ‘Oumuamua ถือเป็น ‘วัตถุระหว่างดาราจักร’ หรือ Interstellar Object ชิ้นแรกที่มนุษย์เราเคยตรวจพบว่ามันพุ่งผ่านระบบสุริยะของเรามา โดยผู้ค้นพบคือ โรเบิร์ต เวิร์ก (Robert Weryk) เขาใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นพบมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 40 วัน หลังจากที่เจ้า ‘Oumuamua พุ่งเฉียดผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ตอนค้นพบนั้น มันอยู่ห่างจากโลกราวๆ 33 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 85 เท่า ของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และกำลังมุ่งหน้าหนีห่างออกไปจากดวงอาทิตย์แล้ว

 

‘Oumuamua เป็นเทหวัตถุที่มีขนาดเล็ก คือมีขนาดระหว่าง 100-1,000 เมตร รูปร่างของมันเหมือนเป็นซิการ์ยาวๆ ส่วนกว้างที่สุด ประมาณว่าน่าจะกว้างระหว่าง 35-167 เมตร 

 

แรกทีเดียว นักดาราศาสตร์คิดว่ามันคือดาวหาง แต่ถ้าเป็นดาวหาง มันก็ต้องมี ‘หาง’ ซึ่งก็คือก๊าซที่ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์เผาทำให้เกิดการระเหย (หรือระเหิด) ออกมา แต่เจ้า ‘Oumuamua นี่ไม่มีหาง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ดาวหาง

 

แล้วถ้าอย่างนั้น มันจะเป็นดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) ได้ไหม ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็ประหลาดใจกันอีก เพราะดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นรูปกลมๆ แล้วก็จะไม่สะท้อนแสงออกมามากนัก แต่เจ้า ‘Oumuamua นั้นกลับเป็นมันวาวและมีรูปทรงยาวเรียว การสะท้อนแสงของมันนั้นมีมากกว่า ‘หิน’ ในอวกาศทั่วไปอย่างน้อย 10 เท่า ทำให้ในช่วงแรกๆ นักดาราศาสตร์สงสัยว่ามันน่าจะเป็นวัตถุผสมระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์น้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องประหลาดมากพออยู่แล้ว

 

แต่ที่ประหลาดที่สุด ก็คือในปี 2020 ข้อมูลใหม่ที่รวบรวมได้จากฮับเบิลตรวจพบว่า ในปี 2017 นั้น เจ้าวัตถุที่ว่านี้ มัน ‘เร่งความเร็ว’ หนีห่างออกจากวิถีโคจรที่ควรจะเป็นจากการคำนวณ โดยอธิบายไม่ได้ด้วยปัจจัยจากภายนอกต่างๆ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อร่างบทความที่ว่า มันคือคำถามที่ว่า – ลำพังเพียงการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์นั้น จะอธิบาย ‘ความเร่ง’ ที่แปลกประหลาดของ ‘Oumuamua ได้กระนั้นหรือ?

 

และนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์จากปากของ เอวี โลเอ็บ (Avi Loeb)

 

โลเอ็บเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชั้นนำของฮาร์วาร์ด ตำแหน่งของเขาคือ Frank B. Baird Jr. Professor ที่เคยนั่งเก้าอี้ประธานภาควิชาดาราศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ดยาวนานที่สุด นิตยสาร Scientific American บอกว่าเขาทำงานวิจัยบุกเบิกที่เรียกเสียงฮือฮามามาก ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับหลุมดำ การระเบิดของรังสีแกมมา เอกภพยุคแรกเริ่ม หรืองานอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับวงการดาราศาสตร์ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โลเอ็บหันมาสนใจเรื่องที่ยิ่งเรียกเสียงฮือฮาและเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นไปอีก นั่นคือเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างดาวหรือ Space Aliens และเขาก็กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ Extraterrestrial: The First Sign of Intelligent Life Beyond Earth ซึ่งเล่าเรื่องราวของ ‘Oumuamua เอาไว้ด้วย

 

นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า การเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของ ‘Oumuamua นั้น น่าจะเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซจากพื้นผิวของมัน เพราะมันพุ่งเข้าไปเฉียดใกล้กับดวงอาทิตย์ ก็เลยอาจเกิดปฏิกิริยาอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แล้วก๊าซนี้ก็ไป ‘ผลัก’ ให้ ‘Oumuamua เปลี่ยนวิถี พร้อมกับเร่งความเร็วมากขึ้น แต่ก็มีคนโต้แย้งว่า เจ้า ‘Oumuamua ไม่ได้เร่งความเร็วในช่วงที่มันอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุดเสียหน่อย มันมาเร่งตัวเองหลังจากนั้น ถ้าเป็นเรื่องความร้อนที่ส่งผลให้เกิดก๊าซจริงๆ ทำไมไม่เร่งความเร็วตั้งแต่ต้นเล่า แล้วบางคนก็บอกด้วยว่า ถ้าเป็นเรื่องของก๊าซจริงๆ วิถีของมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่ แต่น่าจะมีการ ‘หมุน’ (Spin) ที่เกิดจากแรงบิดจากการปลดปล่อยก๊าซ (Outgassing Torque) แต่การเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทั้งยังไม่มีการสังเกตพบร่องรอยของก๊าซเลยด้วย

 

สำหรับโลเอ็บ คำอธิบายการเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua ที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ ‘Oumuamua เป็นยานอวกาศ ซึ่งทิศทางที่ ‘Oumuamua พุ่งมานั้น มาจากบริเวณดาวเวกา (Vega) อันเป็นดาวที่สว่างที่สุดในดาราจักรลีรา (Lyra Constellation) ซึ่งถ้าดูจากความเร็วแล้ว การเดินทางจากเวกามายังระบบสุริยะต้องใช้เวลาราวหกแสนปี เขาจึงเสนอด้วยว่า เป็นไปได้ที่ ‘Oumuamua จะมาจากอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว

 

โลเอ็บไม่ได้อธิบายเรื่องนี้เพราะข้อมูลจากฮับเบิลในปี 2020 แต่เขาเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีข้อมูลจากฮับเบิลด้วยซ้ำ โดยเขาเขียนเรื่องนี้เป็นบทความลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters แต่ก็แน่นอนว่าเพื่อนนักดาราศาสตร์ทั้งหลายไม่เป็นด้วยกับเขาเท่าไร เพราะแม้การเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua จะประหลาด แต่ก็ยังพอมีคำอธิบายที่เป็นไปได้อยู่ แม้ความเป็นไปได้จะน้อยก็ตาม ดังนั้น การรีบตีขลุมว่านี่เป็นการเคลื่อนที่แบบยานอวกาศที่ใช้เทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น ชื่อของโลเอ็บจึงโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง หลายสื่อไปสัมภาษณ์เขา โดยสิ่งที่โลเอ็บให้สัมภาษณ์ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่อง ‘Oumuamua (ซึ่งกลายเป็นประเด็นเก่าไปแล้ว) เท่านั้น เขายังให้สัมภาษณ์ถึง ‘วงการวิทยาศาสตร์’ ที่เขาเองก็สังกัดอยู่ด้วย โดยตอนหนึ่ง โลเอ็บบอกกับ Scientific American ว่า นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยอีโก้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศและรางวัล ทว่าปฏิบัติกับวิทยาศาสตร์เหมือนการ ‘พูดคนเดียว’ (Monologue) แทนที่จะเป็น ‘บทสนทนา’ (Dialogue) กับธรรมชาติ ทำให้เกิด ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ (Echo Chamber) ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือ โลเอ็บกำลังวิพากษ์วงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ไม่ยอมเปิดใจกว้างเพื่อรับฟังทฤษฎีที่แตกต่างออกไป แม้ว่ามันจะฟังดูพิสดารมากก็ตาม

 

ในด้านหนึ่ง โลเอ็บมองว่า ข้อถกเถียงเรื่อง ‘Oumuamua ไม่ใช่แค่การเถียงกันว่า ‘Oumuamua คืออะไรเท่านั้น แต่มันยังเป็นต้นแบบของการถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กระบวนการทางวิทยาศาสตร์’ (Scientific Process) ด้วย เขาบอกกับ The Guardian ว่า เหตุผลหนึ่งที่เขา ‘กล้า’ ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เพราะมีหลายคนบอกเขาว่า วิถีของ ‘Oumuamua นั้นประหลาดจริงๆ แต่คนเหล่านั้นไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ เพราะเกรงกลัวคนจะหาว่าบ้า แต่ตัวเขาไม่กลัว

 

เรื่องของ ‘Oumuamua จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘ข่าวประหลาดจากต่างดาว’ อันไกลโพ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนกลับมาสู่ประเด็นดั้งเดิมในสังคมมนุษย์อีกด้วย นั่นคือเรื่องราวระหว่างความบ้าและความกล้าที่ไม่รู้ว่าสิ่งไหนจะได้ชัยชนะในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X