×

เซียนโอ๊ตโตะ อดีตเด็กชายที่มี ‘เกม’ เป็นส่วนประกอบสำคัญของการเรียนรู้และเติบโต

19.10.2022
  • LOADING...
เซียนโอ๊ตโตะ

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • อมร วิวัฒน์สุนทร หรือ เซียนโอ๊ตโตะ คือโปรดิวเซอร์และพิธีกรช่อง Online Station รวมถึงเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังของงาน Thailand Game Show 2022: Come Back ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
  • เซียนโอ๊ตโตะเริ่มต้นทำงานในวงการเกมครั้งแรกจากการเป็นครีเอทีฟและพิธีกรช่อง G-Square ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คอเกมชาวไทยได้รู้จักชื่อของเซียนโอ๊ตโตะมาจนถึงปัจจุบัน 
  • หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่เซียนโอ๊ตโตะได้รับจากการเล่นเกมคือ เกมสอนให้เขารู้ว่า หากเราต้องการที่จะเอาชนะบางสิ่ง เราจะต้องผ่านการฝึกฝน ผ่านการเรียนรู้ ลับคมฝีมือ และความพยายาม เพื่อที่จะเอาชนะเป้าหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จ เช่นเดียวกับการเล่นเกมที่จะต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อที่จะเอาชนะเกมต่างๆ ไปได้ 

อมร วิวัฒน์สุนทร หรือที่คอเกมชาวไทยรู้จักเขาเป็นอย่างดีในชื่อ เซียนโอ๊ตโตะ โปรดิวเซอร์และพิธีกรช่อง Online Station นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกมมาอย่างยาวนาน โดยหลายคนอาจรู้จักชื่อของเขาผ่านบทบาทพิธีกรช่อง G-Square หรือบทบาทของพิธีกรช่อง Online Station ในปัจจุบัน อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังของมหกรรมงามเกมแห่งชาติอย่าง Thailand Game Show อีกด้วย 

 

แต่หากเราลองสืบค้นเรื่องราวของเซียนโอ๊ตโตะให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย เราจะพบว่า ‘เกม’ ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่เขาทำอยู่เท่านั้น แต่ยังถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่อยู่ในทุกช่วงชีวิตของเขา เป็นทั้งความบันเทิงในวัยเด็ก และยังเป็นสิ่งที่มอบบทเรียนมากมายที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นเซียนโอ๊ตโตะที่ทุกคนรู้จักในปัจจุบัน 

 

THE STANDARD POP ถือโอกาสชวนเซียนโอ๊ตโตะ มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานในวงการเกมไทย และบทเรียนที่เขาได้รับจากการเล่นเกม รวมถึงเรื่องราวประทับใจที่เขาได้พบเจอจากการเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังของงาน Thailand Game Show

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

เกมสอนให้ผมรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คุณจะเอาชนะกับอะไรบางอย่าง โดยที่คุณไม่ใช้ประสบการณ์หรือว่าไม่ใช้ฝีมือของคุณ ก็เหมือนกับคุณเล่นเกม ถ้าคุณไม่มีฝีมือมากพอ คุณก็ต้องเล่นมันซ้ำๆ จนกว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณจะชนะมันได้ คุณไม่มีทางใช้ตรรกะเดิมเอาชนะสิ่งเดิมๆ ได้ เกมสอนผมตรงนั้นเลย

 

เซียนโอ๊ตโตะเริ่มเล่นเกมครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร 

 

ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะเริ่มเล่นเกมตอนประมาณ 6 ขวบครับ เป็นการสนับสนุนจากคุณแม่โดยตรงเลย ด้วยความที่ตอนนั้นผมยังเป็นลูกคนเดียวอยู่ คุณแม่เลยจะตามใจผม แล้วคุณแม่ก็จะหาของเล่นมาให้ผมเล่น จนกระทั่งแกไปเจอกับเครื่องเกม Famicom ซึ่งความเจ๋งของเครื่องนี้ก็คือว่ามันสามารถเปลี่ยนตลับเกมได้ ในขณะที่ถ้าเป็นหุ่นยนต์ เรือ รถถัง มันก็จะแปลงร่างได้แบบ Transformer ทำได้แค่นั้น แต่ถ้าเกิดเป็นเกมผมจะสามารถเปลี่ยนตลับเกมได้ เลยทำให้ผมไม่เบื่อ 

 

ส่วนเกมที่ผมเล่นในสมัยนั้นก็จะเป็นเกมที่ไม่ค่อยมีความซับซ้อนอะไรมาก ถ้าจำไม่ผิดเกมแรกที่ผมเล่นคือ Zippy Race เป็นเกมแนวขับรถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาๆ นี่แหละครับ แนวมุมท็อป แล้วก็มีสลับเป็นมุม 3D เล็กๆ ขำๆ แล้วหลังจากนั้นก็ได้เล่นตามสูตรเลยครับ Super Mario, Spartan X, Battle City ประมาณนี้ เป็นเกมในยุคแรกๆ ของ Famicom เลย 

 

นอกจากเกมแล้ว เซียนโอ๊ตโตะเติบโตมากับ Pop Culture แบบไหนบ้าง 

 

ในยุคประมาณช่วง 80-90 จะเป็นช่วงที่การ์ตูนหรือหนังสือการ์ตูนบูมมากๆ รวมถึงสื่อความบันเทิงในยุคนั้นเกือบทั้งหมด เพลงด้วย เราก็เลยชอบตามมาจากเกมครับ ส่วนเพลงผมจะได้อิทธิพลมาจากคุณแม่เหมือนกัน เพราะว่าคุณแม่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น แล้วเอาแผ่นเพลงญี่ปุ่นมาให้ฟัง จำได้เลยว่าตอนนั้นคืออัลบั้มแรกของ อูทาดะ ฮิคารุ จากนั้นผมก็เริ่มเปิดรับเพลงที่หลากหลายมากขึ้น เริ่มฟังเพลงสากลมากขึ้น ซึ่งเพลงญี่ปุ่นก็เข้ามา ณ ตอนนั้นพอดี ก็เลยรู้สึกชอบและเริ่มเปิดรับเพลงญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้นด้วยครับ

 

สำหรับคนที่ติดตามผลงานของเซียนโอ๊ตโตะอยู่ตลอด จะทราบดีว่าเซียนโอ๊ตโตะชื่นชอบเกมยุคเก่าเป็นพิเศษ อะไรคือมนตร์เสน่ห์ของเกมยุคเก่าที่เซียนโอ๊ตโตะหลงใหล

 

ถ้าชนกับเกมยุคใหม่ตรงๆ เลย ผมจะใช้คำว่าจินตนาการ คือในยุคนั้นมันมีข้อจำกัดมากมายครับ ข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ ด้านตัวโปรแกรมเองที่ไม่สามารถจินตนาการผ่านภาพอันสวยงามแบบในยุคนี้ได้ ที่เหมือนจริงจนคุณเกือบแยกไม่ออกว่าเป็นคนจริงๆ หรือ CG ส่วนในยุคของพวกผมมันเป็นแค่พิกเซลไม่กี่พิกเซลเอง สัตว์ประหลาดง่องแง่งๆ ขยับนิดเดียว แต่มันทำให้เรากลัวจนไม่กล้าเข้าไปสู้ เพราะจินตนาการของเรามันไปแล้วว่ามันคือปีศาจขนาดใหญ่ 

 

รวมไปถึงเรื่องของการที่เราต้องใช้ความอดทนที่มากกว่าเด็กยุคนี้ เพราะภาษาที่เข้าถึงยากมาก แต่เราก็จะมีความพยายามสูงมากที่จะเรียนรู้ให้ได้ว่ามันคืออะไร เพื่อจะเอาชนะมันให้ได้ เกมสอนผมตรงนั้นเลยนะ เกมสอนให้ผมรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คุณจะเอาชนะกับอะไรบางอย่าง โดยที่คุณไม่ใช้ประสบการณ์หรือว่าไม่ใช้ฝีมือของคุณ ก็เหมือนกับคุณเล่นเกม ถ้าคุณไม่มีฝีมือมากพอ คุณก็ต้องเล่นซ้ำๆ จนกว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณจะชนะมันได้ คุณไม่มีทางใช้ตรรกะเดิมเอาชนะสิ่งเดิมๆ ได้ เกมสอนผมตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นทำให้ผมคิดว่าเสน่ห์ของเกมยุคเก่ามันเยอะมากจริงๆ ครับ  

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

เซียนโอ๊ตโตะเริ่มต้นทำงานในวงการเกมครั้งแรกจากการเป็นครีเอทีฟ และพิธีกรให้กับช่อง G-Square จุดเริ่มต้นของการทำงานในวงการเกมเป็นอย่างไรบ้าง 

 

เริ่มจากการไม่เลือกงานก่อน คือสมัยนั้นผมเรียนจบสายศิลปกรรมมาครับ แล้วก็เรียนค่อนข้างหนัก พอเรียนจบมาผมก็คิดว่าจะพัก แต่ว่าคุณแฟน ณ ตอนนั้น เขาก็บอกว่าอยากให้ลองทำงานเลย แล้วตอนนั้นเราพอจะเป็นตัดต่ออยู่บ้าง ก็เลยไปหาสมัครงานตัดต่อครับ แล้วก็ได้ทำงานในบริษัทเกี่ยวกับเว็บไซต์อาร์ไคฟ์แห่งหนึ่ง ผมจะรับหน้าที่ในการตัดต่อด้วย ออกไปถ่ายงานด้วย

 

แล้วหลังจากนั้นสักปีกว่าๆ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง การทำเว็บไซต์เขาก็จะไปของเขาต่ออีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ส่วนของผมจะเปลี่ยนมาทำช่องเกม ซึ่งหัวหน้าของผมตอนนั้นก็เลยเข้ามาถามตรงๆ ว่าชอบไหม ซึ่งผมก็ต้องพูดตรงๆ ว่าประสบการณ์ของผมในเรื่องของเกม ผมมั่นใจว่ามันมีมากกว่าที่ผมทำตัดต่อ ผมก็เลยตัดสินใจลองท้าทายตัวเองด้วยการตกลงทำช่องเกม G-Square ซึ่งตำแหน่งของผม ณ ตอนนั้นตามนามบัตรเลยคือ Creative and Information จะช่วยในการคิดงาน ทำรายการต่างๆ ประมาณนี้ครับ 

 

ด้วยความที่ช่อง G-Square ถือเป็นช่องเกมช่องแรกของไทย การทำงานในช่วงแรกมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

 

มันยากตรงการสื่อสารกับโปรดิวเซอร์ที่ไม่ได้มาจากสายเกมมากกว่าครับ เพราะตอนนั้นเรื่องเกมกับการทำสื่อเกม ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่เหมือนกัน ยากแต่สนุก ตอนนั้นผมจำได้อย่างเดียวว่าผมสนุกมาก ผมสนุกกับการที่ได้คุยกับพี่ๆ โปรดิวเซอร์ สมมติเขาถามว่า พี่ขอฟังคอนเซปต์แกหน่อย พอเขาฟังคอนเซปต์เราปุ๊บ เราจะต้องปรับแก้อย่างไร เพราะว่าในโลกความเป็นจริงมันทำไม่ได้นะโอ๊ต มันต้องแก้อย่างนั้นอย่างนี้ มันสนุกตรงนั้นครับ มันสนุกตรงที่เราเอาโลกความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการของเกมมาประกอบกัน

 

มีรายการหนึ่งที่ผมเป็นคนคิดชื่อว่า Game Real ตอนนั้นเป็นรายการที่เราจะพาคนจากโลกของเกมกับคนของจริงมาเจอกัน ผมยกตัวอย่างเทปหนึ่งที่เราพาน้องที่เป็นแชมป์เกมแข่งรถ Gran Turismo กับพี่พีท ทองเจือ ที่เป็นนักแข่งรถตอนนั้น เราเริ่มจากการเล่นเกม Gran Turismo ก่อน ให้พี่พีทเล่นเกม แล้วเขาก็บอกว่า โอ้ เกมนี้เจ๋งจัง สามารถจำลองการขับรถได้ใกล้เคียงมากเลยนะ แต่คุณรู้ไหมว่าการขับรถจริงๆ มันไม่เหมือนกันเลยนะ แรง G มันต่างกันมาก จากนั้นน้องก็จะได้มาเจอกับของจริง แต่น้องไม่ได้ขับนะครับ น้องแค่นั่งข้างๆ คนขับ น้องก็จะได้สัมผัสกับแรง G ของจริงตรงนั้น ซึ่งคนดูจะได้ประโยชน์คือ นี่แหละคือสิ่งที่ต่างกัน จุดเริ่มต้นของเกมคือการจำลองของจริง แต่มันจะทดแทนของจริงไม่ได้ ขณะเดียวกันมันก็มีจินตนาการของมัน 

 

รวมไปถึงรายการที่ฮอตติดกระแส ณ ตอนนั้นพอสมควรคือรายการ PLAY CRASH ตอนนั้น PLAY CRASH เป็นรายการที่จะมีพิธีกรมานั่งคุยกันเกี่ยวกับเกม เล่นเกมกัน แล้วก็ปิดท้ายด้วยการทำโทษ เป็นรายการบันเทิงเกี่ยวกับเกมล้วนๆ เลย ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นกระแสใช้ได้เลยทีเดียวครับ แล้วก็เรียกว่าตัวตนของเซียนโอ๊ตโตะก็เกิดขึ้นจากตรงนั้นค่อนข้างจะชัดเจนมากครับ 

 

เซียนโอ๊ตโตะ 

 

จากตอนแรกที่เราเล่นเกมเพื่อความสนุก ตอนนี้เกมกลายเป็นการทำงานของเรา สิ่งนี้ทำให้ความรู้สึกในการเล่นเกมของเซียนโอ๊ตโตะเปลี่ยนไปบ้างไหม 

 

เปลี่ยนครับ ผมใช้คำว่าผมแอบเครียดนะ ผมมีความรู้สึกว่ามันจะมีความเครียดหลายๆ อย่าง เช่น การที่เราจะต้องเตรียมข้อมูลมากกว่าเดิม เราจะมาเล่นเกมเพื่อการพักผ่อนไม่ได้ เราต้องเล่นเพื่อการเอาชนะ บางทีเราต้องเล่นให้ได้ถึงเป้าหมายให้ไวที่สุด เพราะเราจะต้องรีบนำข้อมูลตัวนี้ไปทำข่าว หรือไปออกรายการ ตรงนั้นมันจะบีบเรามากครับ ทำให้เราเล่นเกมแล้วเราไม่ค่อยสนุกเท่าไร รวมไปถึงบางครั้งไม่ใช่จริตเดิมที่เราเคยเล่น ปกติเราจะเล่นแบบพินิจมันหน่อย กลายเป็นว่าเราจะต้องรีบเล่นเพื่อทำเวลาให้ได้ดีที่สุด เลยทำให้แอบเครียดละกัน สไตล์การเล่นก็เลยเปลี่ยน 

 

ยากไหมกับการบาลานซ์ระหว่างเล่นเกมเพื่อการพักผ่อนกับเล่นเกมเพื่อการทำงาน 

 

ถ้าให้พูดตรงๆ เลย สำหรับผมบาลานซ์ยากมากครับ เพราะเมื่อเราเอาความชอบที่เราเคยใช้เพื่อพักผ่อนมาทำเป็นงาน สวิตช์ตัวนี้มันเหมือนแช่ค้างไว้ที่เรื่องงานอย่างเดียวเลยครับ คราวนี้พอเรากลับไปเล่นเกม ทั้งๆ ที่มันควรจะให้ความบันเทิงเรา มันกลายเป็นว่าเล่นมาถึงตรงนี้แล้วน่าหยิบไปใช้ เทคนิคนี้น่าเอาไปทำข่าว มันเลยกลายเป็นว่าเราเล่นเกมไม่เหมือนเดิมแล้ว 

 

แต่ ณ วันนี้ก็ดีขึ้นแล้วครับ ดีขึ้นตรงที่ผมมีทีมงานที่มากขึ้น เพราะตอนนั้นผมต้องยอมรับก่อนว่าบาลานซ์ในการขับเคลื่อนช่อง G-Square ค่อนข้างจะฮาร์ดคอร์เหมือนกัน เพราะตอนนั้นทางบริษัทต้องเร่งเติบโตให้เร็วที่สุด ณ เวลาที่จำกัด เลยทำให้ครีเอทีฟตอนนั้นมีน้อยมาก ผมมี Information อยู่ในมือแค่คนหรือสองคนเท่านั้นเอง แล้วก็เริ่มมาเป็นสามคนในช่วงหลัง ซึ่งมันค่อนข้างบีบพอสมควร ในขณะที่ยุคที่ผมทำงานอยู่ Online Station คอนเทนต์ต่างๆ ผมจะมีคนช่วยเหลือเรื่องข้อมูลค่อนข้างเยอะ ทำให้เราสามารถกระจายงานได้ หมายถึงว่าเกมที่กำลังจะออก มันมีหลากหลายแนวที่คนชอบ ต่างคนต่างกระจายไปเล่นแนวที่ตัวเองชอบไหม แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยมาแชร์ข้อมูลกัน ณ ตอนนี้จะเป็นประมาณนี้ครับ 

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือผมตื่นเต้นมาก เพราะว่าอย่างน้อยๆ มันก็เริ่มเข้าใกล้ความสว่างมากขึ้น คือผมเปรียบเทียบวงการเกมตอนนั้นเหมือนผ้าดำครับ มันมืดมาก เพราะว่าคนยังไม่เข้าใจสื่อบันเทิงที่เรียกว่าเกม แต่ว่าพอมีงานแบบ Thailand Game Show ขึ้นมา อย่างน้อยๆ ก็จะเพิ่มความเข้าใจให้คนมากขึ้น ธุรกิจเกมที่เติบโตมากขึ้น เหมือนเป็นการชี้ทางสว่างเล็กๆ 

 

นอกจากเซียนโอ๊ตโตะจะเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการ Online Station แล้ว เซียนโอ๊ตโตะยังเป็นหนึ่งในทีมเบื้องหลังของงาน Thailand Game Show ด้วย ครั้งแรกที่เซียนโอ๊ตโตะได้ร่วมงาน Thailand Game Show ในฐานะของการเป็นผู้เข้าร่วมงาน ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง  

 

ผมต้องขออภัยจริงๆ เพราะความทรงจำตอนนั้นค่อนข้างเลือนรางนิดหน่อย ผมไม่มั่นใจว่าผมเคยไปวันสุดท้ายหรือวันแรกของ Thailand Game Show ครั้งแรก (Thailand Game Show 2007) ครับ แต่ว่าไปแบบฉิวเฉียดมาก เพราะตอนนั้นงานผมค่อนข้างจะแน่น ก็เลยหาโอกาสไปเดินดูแว่บหนึ่ง จำได้ว่าความรู้สึกของผมตอนนั้นคือผมตื่นเต้นมาก ที่ตื่นเต้นเพราะว่าอย่างน้อยๆ มันก็เริ่มเข้าใกล้ความสว่างมากขึ้น คือผมเปรียบเทียบวงการเกมตอนนั้นเหมือนผ้าดำครับ มันมืดมาก เพราะว่าคนยังไม่เข้าใจสื่อบันเทิงที่เรียกว่าเกม สังคมไทยตอนนั้นยังให้เป็นสีดำหรือเทาเข้มๆ อยู่ คือคนไม่รู้จักเลย เอะอะก็มองมันเป็นเรื่องของความเลวร้าย ความมอมเมา ถึงขั้นเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าพอมีงานแบบ Thailand Game Show ขึ้นมา อย่างน้อยๆ ก็จะเพิ่มความเข้าใจให้คนมากขึ้น ธุรกิจเกมที่เติบโตมากขึ้น เหมือนเป็นการชี้ทางสว่างเล็กๆ 

 

ซึ่งหลังจากนั้นก็ต้องทำเองแล้วทีนี้ คือตอนนั้นคุณหนุ่ย (หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) จาก Show No Limit เขาจะทำงาน Thailand Game Show ส่วนฝั่งของผมจะทำอีเวนต์ที่ชื่อว่า Big Festival ซึ่งตอนนั้นผมก็เป็นหนึ่งในทีมงาน หน้าที่ผมในปีแรกๆ น่าจะเกี่ยวกับการเป็นพิธีกร แล้วก็ช่วยในการถ่ายทำไลฟ์ แล้วหลังจากนั้นงาน Thailand Game Show และ Big Festival ก็มาร่วมมือกันจนกลายเป็นงาน Thailand Game Show ในปัจจุบันครับ 

 

จากมุมมองของผู้เข้าร่วมงาน สู่การเป็นหนึ่งในทีมงานเบื้องหลัง ทำให้เซียนโอ๊ตโตะได้เห็นแง่มุมของงาน Thailand Game Show เพิ่มมากขึ้นไหม แง่มุมที่ต้องเป็นคนเบื้องหลังเท่านั้นถึงจะเห็น 

 

มันจะไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งตรงที่ว่า เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราก็จะเห็นสะท้อนมาหมด โดยเฉพาะความตั้งใจของทีมงาน ที่บอกว่ามันไม่ยุติธรรมในความหมายผมคือ มันไม่ยุติธรรมต่อการอวยงานตัวเอง (หัวเราะ) เพราะว่าผมต้องสลัดคราบนี้ออก ถ้าเราคุยกันจริงๆ มันต้องเป็นภาพของคนที่เดินเข้ามานั่นแหละ คนที่เห็นมันเสร็จแล้วนั่นแหละ คุณพึงพอใจขนาดไหน นั่นแหละถึงจะยุติธรรมกับผม แต่ถ้าถามว่ามุมมองสำหรับผมมันเปลี่ยนอยู่แล้วครับ ทีมงานทุกคนตั้งใจกันเต็มที่ ถึงแม้ว่าจากใจทีมงานคนหนึ่ง เราก็บ่นทุกปีว่าเหนื่อย แต่เราก็ทำครับ เราสนุกกับมัน เราอยากเห็นรอยยิ้มของคนที่มาร่วมงาน 

 

ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยขึ้นเวที ตอนนั้นเราใช้ชื่อว่า Caster Day เป็นงานที่ฝั่งของ Online Station ทำมาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเซ็กชันหนึ่งที่จะเชิญ Caster ในสังกัดเราขึ้นมาบนเวทีใหญ่ แล้วมาร่วมสนุกกับน้องๆ ข้างล่าง ตอนที่ผมได้เห็นแววตาของน้องๆ ที่มีความสุขที่ได้เห็นเหล่า Caster ผมยังโดนมนตร์สะกดตรงนั้นอยู่เลย ทั้งๆ ที่ผมไม่ใช่ Caster ผมเป็นแค่พิธีกรคนหนึ่ง แต่แววตาความสนุกของน้องๆ ที่ส่งมาตอนนั้น พูดแล้วยังขนลุกจริงๆ ครับ มันมีความสุขมาก ผมรู้สึกว่านี่คงเป็นการมองกลับกัน เขามองขึ้นมากับเรามองลงไปมันต่างกัน ผมอยู่บนเวทีผมจะรู้สึกได้เลย แล้วยิ่งเราไปอยู่เบื้องหลังด้วย ทุกคนเต็มที่เพื่อจุดเดียวกันคือความสนุกของทุกคนที่เข้ามา มันมหาศาลจนผมไม่รู้จะพูดอย่างไรเลยครับ มันเป็นการที่ทุกคนมาเพื่อสิ่งนี้ด้วยกันจริงๆ 

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

การทำงานร่วมกับ Thailand Game Show ครั้งไหนที่เซียนโอ๊ตโตะรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

 

ผมเคยจดบันทึกในสมุดของผมตลอดเลยครับ เอาเป็นปีที่นึกออกตอนนี้ก่อนเลยก็คือ Thailand Game Show 2018 ปีนั้นจะมีงานที่ชื่อว่า BNK48 E-Sports Day ที่เราพาน้องๆ BNK48 มาเล่นเกมกัน เป็นเหมือนไอดอล Challange ซึ่งจัดในโรงภาพยนตร์ เพื่อสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ เพราะเรามองว่าตอนนั้นไอดอลเองก็เป็น Pop Culture ใหม่ แล้วกำลังได้รับความนิยม บวกกับเราไม่เคยเห็นมุมมองที่เขาเล่นเกมกัน ก็เลยคิดว่าสิ่งนี้น่าทำมาก 

 

ความประทับใจของผมตอนนั้นคือทีมงานหลังบ้านเราทุกคนพยายามอย่างสุดความสามารถจริงๆ ในการที่จะทำให้งานสนุกที่สุด อยากให้น้องๆ ทุกคนที่มาชมได้สนุกด้วยกัน ได้เอ็นจอยกับงาน ซึ่งนอกจากน้องๆ ที่เป็นคนดูแล้ว ก็เป็นน้องๆ BNK48 ด้วย เพราะเราต้องทำกฎกติกากับเขา เข้าใกล้เขามากไม่ได้ แต่จริงๆ มันมีการอนุโลมกันอยู่แล้วครับ เพราะมันเป็นเรื่องของการทำงาน แต่เราก็ต้องรักษาตรงนั้นไว้ รวมถึงเราก็ต้องให้เขาเอ็นจอยจริงๆ หมายถึงเราต้องดูว่าเกมนี้สนุกไหม น้องเขาจะสนุกจริงหรือเปล่า แล้วน้องเขาโอเคไหมแอ็กชันเป็นอย่างไร รวมถึงความช่วยเหลือของคนที่เกี่ยวข้อง ผมยังจำได้เลยว่าผมไปข้างหลังเพื่อจะไปขอข้าวกล่อง ซึ่งทีมงานรู้ว่าทีมงานของพวกผมกินข้าวจุมาก เขาเลยเอาข้าวมาเผื่อไว้ให้แล้ว ฟังดูแล้วมันดูตลกนะครับ เหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีอะไร แต่ทีมงานเขาคิดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ด้วยนะ 

 

รวมถึงการที่ทีมงานของฝั่งทีมไอดอลไม่พอ ต้องโกยคนของฝั่งผมไปช่วย เพราะเวลาที่น้องๆ เขาไปโชว์ตัวที่เวทีใหญ่ ก็ต้องรีบเข้ามาที่โรงภาพยนตร์เพื่อที่จะแสดงโชว์ต่ออีก เพราะฉะนั้นต้องกันคน เราผลัดกัน ช่วยกัน มันสนุกมากครับ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าทำงานเป็นทีมเดียวกัน เป็นความประทับใจของทีมงานด้วยกันเองด้วย แล้วความสนุกที่แม้แต่ทีมงานเองยังหัวเราะออกมา พี่ๆ ที่คุม OB คุมไฟ ยังขำ ยังสนุกด้วย แค่นี้ผมก็รู้สึกว่าสุดยอดมากแล้วครับ  

 

จากวันแรกที่เซียนโอ๊ตโตะได้รู้จักกับงาน Thailand Game Show เป็นครั้งแรก มาจนถึงครั้งล่าสุดอย่าง Thailand Game Show 2022: Come Back เซียนโอ๊ตโตะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของงาน Thailand Game Show อย่างไรบ้าง

 

ในการจัดงานทุกครั้งมันเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วครับ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดที่เดิมหรืออะไรก็ตาม แต่คอนเทนต์ข้างในไม่เหมือนเดิมแน่ๆ เพราะว่าทุกปีจะได้รับอิทธิพลอะไรบางอย่างมาเปลี่ยนแปลงเสมอ จากครีเอเตอร์ ยูทูเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ไอดอล มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ รวมไปถึงรูปแบบของเกม ตลาดของเกมที่เปลี่ยนไป เกมก็เหมือนแฟชั่นครับ เกมก็จะมีช่วงฮิตของมัน ช่วงนี้ฮิตรูปแบบนั้นแล้วเดี๋ยวก็จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบนี้ เครื่องคอนโซลก็เปลี่ยน ผมว่างาน Thailand Game Show เปลี่ยนแปลงจากตัวมันเองมาพอสมควรเหมือนกัน ยิ่งโดยเฉพาะปีนี้ที่ได้กลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในขนาดที่ใหญ่กว่าเดิม ผมเลยตื่นเต้นแทนคนที่จะมางานมากกว่าครับ ว่าเขาจะได้เจอกับอะไร โดยเฉพาะค่ายเกมต่างประเทศที่จะเข้ามาอีกเยอะแยะมากมายเลยครับ จนรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ผมบอกว่ามันเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ครั้ง  

 

ในมุมมองของเซียนโอ๊ตโตะ การจัดงาน Thailand Game Show ส่งผลต่อภาพรวมของวงการเกมไทยอย่างไรบ้าง 

 

ผมว่ามัน Relate กัน ผมจำได้ว่าพี่หนุ่ยหรือใครสักคนเคยพูดว่ามัน Relate กัน เราจะได้เห็นแอ็กทีฟของคนที่มากับตลาด ณ ตอนนั้น จะสะท้อนออกมาเองว่าตอนนี้คนให้ความสนใจกับมันแค่ไหน ถ้าผมจำไม่ผิดคนก็เข้ามาร่วมงานมากขึ้นในทุกๆ ปีครับ แล้วถ้าจำตัวเลขไม่ผิดปีนี้เขาคาดหวังจำนวนผู้เข้าร่วมงานถึง 180,000 คน มากกว่าปี 2019 ประมาณ 30% เพราะเขามั่นใจว่าปีนี้คนต้องมากันเยอะมากๆ เราจะได้เห็นว่าตลาดใหญ่ขึ้น คนสนใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นว่ากลไกทางการตลาดไปในทิศทางไหนอีกด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ 

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

สิ่งที่ถามผมว่าแล้วเราจะพัฒนาวงการเกมต่อไปอย่างไร ก็คือน้องๆ นี่แหละ คนรุ่นใหม่ที่ได้เล่นเกม ได้สัมผัสเกม แล้วคุณจะอยู่กับเขาอย่างไรต่อ คุณสนใจในวงการนี้ แล้วคุณจะลงไปทางไหน แค่คำว่า ‘เกม’ คำเดียว มันมีอาชีพวนอยู่ในตัวอีกหลายอาชีพ

 

เมื่อสักครู่เราพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของ Thailand Game Show กันไปแล้ว เราลองถอยออกมามองภาพที่ใหญ่ขึ้น ในมุมมองของเซียนโอ๊ตโตะ ภาพรวมของวงการเกมไทย ณ วันนี้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง และมีจุดไหนบ้างที่เซียนโอ๊ตโตะคิดว่ายังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก  

 

ดีขึ้นในแง่ของการให้โอกาสกับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับวงการเกม อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็มีสตรีมเมอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับสายเกม มันสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับน้องๆ มากขึ้น รวมไปถึงสปอนเซอร์ที่เริ่มเปิดโอกาสให้กับวงการเกมมากขึ้นในการให้ทุนต่างๆ ต่อมาคือเมื่อวงการเกมเริ่มเดินหน้าด้วยธุรกิจ เริ่มเดินหน้าด้วยการมีอาชีพ ความสว่างก็มากขึ้นจนตอนนี้ไม่มีใครมาตั้งคำถามกับวงการเกมแล้ว มันคือความดีงามที่ดีที่สุดในความคิดผม มีประโยคหนึ่งที่หลายๆ คนเคยพูด รวมถึงเราเคยใช้ในงานเกมครั้งหนึ่งก็คือ “อย่าบอกว่าคุณไม่เล่นเกม” มันกลายเป็นคำที่หมายถึงว่าทุกคนต้องผ่านสื่อเกมหมดแล้ว ตอนนี้เกมกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ ข้อดีที่สุดของการจัดงานเกมในวงการเกมไทยก็คือ มันสะท้อนให้เราเห็นว่าเรายอมรับมันแล้ว แล้วตอนนี้แหละ เราจะอยู่กับมันต่อไปอย่างไร

 

นั่นก็คือคำตอบข้อที่ 2 ของผมว่า มันคือการพัฒนาต่อในการที่เราจะต้องเรียนรู้กับเขา มีสิ่งที่เรากอบโกยกับเขาได้ในฐานะเราเป็นผู้เสพไปแล้ว แต่เรายังไม่เคยเป็นในฐานะผู้สร้างเลย ผมมองว่าวงการเกมเราควรจะถึงขั้น Develop ด้วยตัวเองได้แล้ว ถึงแม้ผมจะรู้นะว่าถ้าเป็นบุคคล ถ้าแยกเป็นส่วนๆ คนของเรามีศักยภาพมากพอที่จะทำเป็นอาชีพ แล้วก็อยู่ใน Title อยู่ใน IP ดังๆ มากมาย แต่เราในฐานะที่ขับเคลื่อนโดยเกมไทยโดยเฉพาะ เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเฉยๆ ตอนนี้เราก็เริ่มตีตลาดแล้วอย่างที่เราพอทราบๆ กัน อย่างเช่น Timeline หรือ Home Sweet Home มันทำให้เรารู้สึกว่าเกมไทยเรามาแล้ว แต่ตอนนี้แรงสนับสนุนของคนไทยกันเองด้วยที่จะต้องไปต่อ รวมไปถึงน้องๆ ที่มีความฝันก็จะต้องเติบโตขึ้น เอาชนะมันไปให้ได้ เพราะตอนนี้เราสามารถเข้าถึงการสร้างหรือ Develop เกมได้ง่ายขึ้น เป็นอีกอาชีพหนึ่งในวงการเกมที่ผมมองว่าก็ยังมีเกียรติของมัน แล้วก็ยังมีความสำคัญต่อวงการเกมอยู่ ถึงแม้ว่าน้องๆ จะเห็นเหล่าสตรีมเมอร์หรืออะไรแบบนี้มากกว่าก็ตาม

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถามผมว่าแล้วเราจะพัฒนาวงการนี้ต่อไปอย่างไร ก็คือน้องๆ นี่แหละ คนรุ่นใหม่ที่ได้เล่นเกม ได้สัมผัสเกม แล้วคุณจะอยู่กับเขาอย่างไรต่อ คุณสนใจในวงการนี้ แล้วคุณจะลงไปทางไหน แค่คำว่า ‘เกม’ คำเดียว มันมีอาชีพวนอยู่ในตัวอีกหลายอาชีพ เพราะฉะนั้นน้องๆ สามารถเลือกได้ ซึ่งเด็กยุคใหม่ก็มีโอกาสมากขึ้น แต่ก็ท้าทายเหมือนกันเพราะทุกคนก็มีโอกาสเท่ากัน เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเก่งพอที่จะส่อแววให้เขาเลือกตัวคุณไปได้ด้วยเหมือนกัน 

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

หากลองมองในอีกมุมหนึ่ง เมื่อวงการเกมเติบโตขึ้น มีเรื่องอะไรที่เซียนโอ๊ตโตะรู้สึกเป็นกังวลบ้าง 

 

กังวลทิศทางของมัน เพราะว่าคราวนี้วงการเกมก็จะเหมือนก้อนเนื้อก้อนใหญ่ๆ ที่เคลื่อนตัวไปด้วยกัน ถ้าเราผิด เราก็จะถูกเหมารวม ถึงแม้ว่า ณ วันนี้คนจะเริ่มเข้าใจวงการเกม เริ่มหั่นมันออกบ้างว่ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง แต่ว่าสุดท้ายเราก็ยังอยู่ก้อนเดียวกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผมเป็นห่วงเรื่องมุมมองของคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจในวงการเกม อาจจะเล็กน้อย แต่ว่าก็กระเทือนได้อยู่ครับ 

 

รวมไปถึงคนเกมด้วยกันเองนี่แหละ ผมเคยพูดเรื่องนี้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขาบอกว่าน้องๆ บางส่วนจะชอบว่าคนที่ไม่เข้าใจ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ว่าเป็นไดโนเสาร์ อย่าไปกลัวไดโนเสาร์เลยครับ กลัวกันเองก่อน เรากันเองนี่แหละที่เอามีดแทงกันเอง ไม่ใช่ไดโนเสาร์ เมื่อน้องๆ ทำตัวอย่างไร มันจะสะท้อนออกมากับวงการอย่างนั้น ถ้าคุณไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ คุณไม่รับผิดชอบตัวคุณเอง วันๆ เอาแต่เล่นเกมแล้วทำให้ชีวิตไม่มีสมดุลแล้วก็เสียหายกันไป สุดท้ายคนภายนอกก็จะมองเกมว่าเป็นสิ่งมอมเมาอยู่ดี รวมไปถึงว่าวงการเกมด้วยกันเอง ถึงแม้ว่าจะอะไรก็ตาม ความบันเทิงก็จะมีเส้นทางของมัน ซึ่งถ้าไม่ได้ควบคุมดีๆ หรือว่าไม่ได้สนใจมัน มันก็จะเละเทะเหมือนกัน ผมห่วงตรงนั้น ยิ่งคนเยอะ ยิ่งควบคุมยากครับ

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

ถ้าให้ลองจินตนาการภาพในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เซียนโอ๊ตโตะอยากเห็นวงการเกมไทยเป็นอย่างไร 

 

ผมขออนุญาตใช้คำว่ารัฐบาลซัพพอร์ตร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมถามว่าทำไมผู้ใหญ่ไม่ซัพพอร์ตวงการนี้ ทั้งๆ ที่ธุรกิจวงการนี้คุณก็เห็นอยู่ เราคุยกันเรื่องตัวเลขเท่าไรต่อเท่าไรแล้ว แล้วมันมีอิทธิพลต่อเยาวชนเราขนาดไหน ทำไมเราถึงไม่สร้างบุคลากร หรือเยาวชนที่เติบโตไปในสายงานนี้ให้มากขึ้น แล้วมีคุณภาพมากขึ้น ทำไมเราไม่กลายเป็นประเทศแหล่งผลิตคน หรือบุคคลของหน่วยงานนี้อย่างเต็มที่ ผมอยากเห็นตรงนั้น ผมอยากเห็นสักรัฐบาลหนึ่ง หรืออยากเห็นผู้ใหญ่ที่กล้าลงทุนกับสิ่งที่เขายังมองว่าไร้สาระอยู่ แต่เอาจริงๆ แล้วไม่ไร้สาระเลยนะ 

 

แล้วลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าสมมติว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ วงการ E-Sports เราจะโหดขนาดไหน ลองนึกภาพตามว่าถ้าวงการ E-Sports ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ น้องๆ จะสามารถก้าวไปในวงการนี้ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีอะคาเดมีที่พร้อมทั้งเรียนและแข่งกีฬา E-Sports ไปด้วยกัน เหมือนนักกีฬาฟุตบอลต่างชาติที่เขาปั้นนักกีฬาฟุตบอลให้มีคุณภาพ ก็เพราะว่าเขาเอาอะคาเดมีกับสโมสรฟุตบอลมาอยู่ด้วยกัน ทั้งเรียนทั้งเล่นกีฬาไปด้วยกัน ถ้าเราทำแบบนั้นได้บ้างละจะเจ๋งขนาดไหน  

 

รวมไปถึงมิติของฝั่ง Develop ด้วย ซึ่งผมพอทราบมาว่าเดี๋ยวนี้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านธุรกิจ E-Sports ตามมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ยังไม่มากพอหรือเปล่า แล้วมหาวิทยาลัยหรือระบบการศึกษาก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับยุคสมัย ถ้าเป็นไปได้นะ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าอาจจะยาก

 

เซียนโอ๊ตโตะ

 

สำหรับผม เกมคือทุกมิติในชีวิตผม แล้วคุณก็สามารถมองเกมได้ในทุกมิติเช่นกัน ไม่ต่างกันเลย นั่นก็เลยเป็นการตอบของคำถามที่ว่า นี่คือเกมของผม 

 

จากที่เราคุยมาทั้งหมด ดูเหมือนเกมจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิตของเซียนโอ๊ตโตะจริงๆ ถ้านับจากวันแรกที่เซียนโอ๊ตโตะเริ่มเล่นเกมมาจนถึงวันนี้ เกมมอบอะไรให้กับเซียนโอ๊ตโตะบ้าง  

 

ผมเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งผมขอหยิบมารีแคปอีกครั้งเพราะผมชอบมาก คือเกมอยู่กับผมมาตลอดชีวิต ตอนเล่นเกมในวัยเด็ก เกมสอนผมว่าถ้าเราจะเอาชนะมัน เราก็ต้องผ่านการฝึกฝน เราถึงจะสามารถเอาชนะเกมได้ เราไม่สามารถจะใช้รูปแบบเดิมๆ การเล่นแบบเดิมๆ ได้ ถ้าเราอยากจะเอาชนะเป้าหมายหรือเกมๆ นั้นให้ได้ เกมสอนผมแบบนั้น เกมเป็นความบันเทิงที่อยู่เป็นเพื่อนผม เพราะว่าในตอนนั้นในครอบครัวผมคุณแม่เขาอยากจะให้ผมอยู่บ้าน นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแม่ตามใจ ทำให้ผมมีความบันเทิงคือมีเกมอยู่ที่บ้าน เลยไม่ได้ไปไหน สิ่งที่ผมได้มาคือการที่ผมสามารถจัดการกับตัวเองได้ โดยที่ไม่สร้างความลำบากให้กับใคร 

 

โตขึ้นมาหน่อย เกมกลายเป็นความบันเทิงที่ผมต้องเลือก เพราะผมต้องรู้หน้าที่ การเรียนสาย ปวช. ของผมงานหนักมาก ผมมีเกมกับงานวางคู่กันอยู่ข้างหน้าผม ผมต้องเลือก ซึ่งแน่นอนผมเลือกงาน เพราะพรุ่งนี้ต้องส่งอาจารย์แล้ว เกมก็บอกผมว่า ไม่เป็นไร นายจะกลับมาเล่นเราเมื่อไรก็ได้ที่นายพร้อม นายต้องทำงานของนายก่อน ไม่เช่นนั้นนายจะเรียนไม่จบ แล้วถ้านายเรียนไม่จบ คนที่ลำบากคือแม่ เกมที่แม่ผมอุตส่าห์ให้ผมมา ความบันเทิงที่แม่ผมซื้อมาให้จะสร้างความลำบากให้กับแม่อีกเหรอ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมนะ 

 

โตขึ้นมาอีกหน่อย ช่วงมหาวิทยาลัย เกมก็สร้างความฝันให้กับผม เพราะผมรู้สึกว่า การที่ผมได้เล่นเกม ผมได้เจอเพื่อนมากมาย ตอนนั้นยุคออนไลน์เริ่มเข้ามาด้วย เกมสร้างความฝันให้ผมอยากจะลองผลิตเกมเอง แต่ว่าด้วยข้อจำกัด ณ ยุคนั้น ผมไม่เคยได้เรียนเพราะในการเรียนของผม ณ ตอนนั้นมันมีแค่สายวิทยาการคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ใกล้เคียงที่สุดของการสร้างเกม แต่ ณ วันนี้น้องๆ สามารถเรียนการสร้างเกมได้เลย ตอนนั้นผมไม่สามารถเรียนตรงนั้นได้ เลยทำให้ผมต้องไปเรียนฝั่งศิลปกรรม นิเทศศิลป์ ตอนนั้นเลยทำให้ผมรู้สึกว่าเรายังสามารถอยู่กับเกม แล้วก็เรียนรู้กับเกมได้ แล้วเกมเองก็ให้อะไรหลายๆ อย่างกับผมมาก โดยเฉพาะเรื่องสังคม

 

ขยับมาอีกก็คือเรื่องงาน ผมมั่นใจมากว่าประสบการณ์จากที่ผมเล่นเกมมามากขนาดนั้น มันสร้างความมั่นใจบางอย่างที่ทำให้ผมสามารถตัดสินใจ แล้วเลือกที่จะอยู่ช่องเกมช่องแรกของไทยก็คือ G-Square มากกว่าที่ผมจะต่อยอดงานฝั่งโปรดักชัน โพสต์โปรดักชัน ผมเลือกที่จะอยู่ตรงนี้เพราะเกม แล้วเกมก็ให้อาชีพผมมาจริงๆ จนทุกวันนี้ผมได้ชื่อเซียนโอ๊ตโตะมาก็เพราะว่าเกม 

 

รวมถึงคุณแม่ของผม สิ่งสำคัญที่ผมพูดไทม์ไลน์นี้แล้วมีคุณแม่อยู่ตลอด เพราะผมบอกตรงๆ ว่าผมโชคดีเรื่องนี้ หลายๆ ครอบครัวอาจจะโดนคุณแม่ห้าม แต่ว่าผมโชคดีมาก คุณแม่ไม่เคยห้ามเลย แล้วที่สำคัญกว่าคือคุณแม่อดทนด้วย เพราะอย่าลืมนะครับ ในสังคมยุคของผม หรือในยุคนี้ยังเป็นอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ เขามักจะเอาลูกไปเปรียบเทียบกันว่า บ้านนี้ทำอะไร บ้านนั้นทำอะไร แล้วแม่ผมจะตอบอย่างไร ทำงานเกี่ยวกับเกม ตอบยากมากเลยครับ แต่วันนี้จำได้เลยว่ามีครั้งหนึ่งที่ผมเกือบร้องไห้ ตอนนั้นคุณแม่โทรมาจากญี่ปุ่น แล้วเล่าให้ผมฟังว่ามีเพื่อนแม่เขาบอกว่าลูกเขาดูช่อง G-Square ด้วย แม่เลยบอกกับเพื่อนว่านี่ลูกชายฉันชื่อเซียนโอ๊ตโตะ ตอนนั้นผมคิดว่า เออวะ ผมทำได้แล้ว คืออย่างน้อยๆ เกมเป็นอาชีพได้แล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับผม เกมคือทุกมิติในชีวิตผม แล้วคุณก็สามารถมองเกมได้ในทุกมิติเช่นกัน ไม่ต่างกันเลย นั่นก็เลยเป็นการตอบของคำถามที่ว่า นี่คือเกมของผม 

FYI
  • งาน Thailand Game Show 2022: Come Back จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Exhibition Hall 3-4 ชั้น G  ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. สามารถซื้อบัตรร่วมงานได้ที่ Zipevent บัตรเข้าร่วมงาน 1 วัน ราคา 150 บาท และเข้างาน 1 วัน พร้อมรับเสื้อ T-Shirt Thailand Game Show 2022 ราคา 500 บาท โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandgameshow.com/ 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising