×

ไม่ปรับตัว-แข่งขันสูง-คอร์รัปชัน เหตุทำองค์การค้า สกสค. ขาดทุนสะสม 15 ปี เลิกจ้างพนักงาน

โดย THE STANDARD TEAM
01.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • องค์การค้าของ สกสค. เลิกจ้างพนักงาน 961 ชีวิตจากทั้งหมด 1,035 คน เหตุขาดทุนสะสมต่อเนื่องมา 15 ปี ยืนยันว่าไม่ใช่การปิดกิจการ แต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อปรับตัวสู้ต่อ
  • พนักงานทั้ง 961 คนจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่ง สกสค. เตรียมวงเงินไว้ 1,500 ล้านบาทสำหรับการจ่ายค่าชดเชย
  • ธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ระบุ 3 เหตุผลหลักที่ทำให้ไปต่อไม่ได้คือ การไม่ปรับตัว การแข่งขันที่สูงขึ้นจากกฎหมาย และการคอร์รัปชันในองค์กร

961 พนักงาน-เจ้าหน้าที่ สกสค. ชีวิตเปลี่ยน ถูกเลิกจ้าง

เมื่อวานนี้ (30 มิถุนายน) พนักงานและเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หรือองค์การค้าของ สกสค. ที่ในอดีตคือองค์การค้าของคุรุสภา จำนวน 961 คน ต้องมีชะตากรรมของชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการลงนามเลิกจ้าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป 

 

คำสั่งดังกล่าวลงนามโดย ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. โดยระบุเหตุผลว่าองค์การค้าของ สกสค. ประสบปัญหาขาดทุนมากว่า 15 ปี ดังนั้นจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปรับปรุงอัตรากำลังและผลประโยชน์ตอบแทนให้สอดคล้องกับภารกิจ โดยให้ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ปฏิกิริยาจากคำสั่งดังกล่าวซึ่งถือว่ามาในช่วงที่หลายคนกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่งจะคลี่คลายลง พร้อมกับมีการเผยแพร่คลิปของพนักงานหญิงเป็นลม หลังมีคำสั่งโดนเลิกจ้างฟ้าผ่าตามคำสั่งขององค์การค้าของ สกสค.

 

 

ไม่ปรับตัว-แข่งขันสูง-คอร์รัปชัน 3 เหตุทำองค์การค้า สกสค. ขาดทุนสะสม 15 ปี

ล่าสุดวันนี้ (1 กรกฎาคม) ธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษก สกสค. เปิดเผยผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุว่าองค์การค้าของ สกสค. หากนับตั้งแต่เป็นองค์การค้าของคุรุสภาก็ดำเนินงานมากว่า 40 ปีแล้ว แต่หากมาอยู่กับ สกสค. ตั้งแต่ปี 2546 ตั้งแต่มีการเปลี่ยนสภาพรวมแล้วก็ 17 ปี ขณะที่ 15 ปีหลังขาดทุนมาโดยตลอด การขาดทุนมาจากสาเหตุของกฎหมาย เนื่องจากการพิมพ์ตำราเรียนในอดีตนั้น องค์การค้าได้รับอนุญาตให้พิมพ์แต่เพียงเจ้าเดียวของประเทศ ภายหลังเมื่อมีกฎหมายไม่ให้มีการผูกขาด เอกชนยื่นฟ้องศาล ก็ได้สิทธิในการร่วมแข่งขัน และต้องยอมรับว่ากิจการใดที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ การปรับตัวก็ช้ากว่าเอกชน ทำให้เสียเปรียบ บวกกับกิจการสิ่งพิมพ์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำลายล้างเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผลประกอบการที่แย่ลง

 

ธนพรระบุอีกว่าสิ่งที่ทำให้องค์การค้าของ สกสค. ประสบภาวะขาดทุนมี 3 สาเหตุหลักคือ 

 

  1. ต้นตอของการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ผูกขาดการพิมพ์ตำราเรียน

 

  1. การปรับตัวขององค์กร ถ้าวันนั้นกฎหมายเปลี่ยนแล้วเรามีคู่แข่ง และมีการเตรียมตัวเรื่องการปรับตัวแล้ว เช่น การลดต้นทุนด้วยการจ้างแรงงานน้อยลง เนื่องจากงานน้อยลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

 

  1. การบริหารจัดการที่ขาดธรรมาภิบาล มีการทุจริตคอร์รัปชัน

 

“ผมมองว่าการปรับตัวองค์กรคือสาเหตุใหญ่ ซึ่งมองว่าในส่วนของกฎหมายนั้นเป็นธรรมแล้ว เพราะเชื่อในหลักการแข่งขันทางเศรษฐศาสตร์ ที่ใดมีการแข่งขัน ที่นั่นมีความเจริญ ส่วนการคอร์รัปชัน หากสามารถจัดการข้อ 2 ได้ ปรับตัวด้วยการทำงานที่มีคุณธรรม ก็จะไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันตามมา”

 

ธนพรระบุว่าตั้งแต่มีการแข่งขันก็ขาดทุนเลย เพราะเราไม่ได้ปรับตัวเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากการพิมพ์นั้นแข่งกันที่ต้นทุนการพิมพ์ เช่น เครื่องจักร ถ้าทันสมัยก็ต้นทุนต่ำกว่า ใช้คนน้อยลง เรามีเครื่องจักรตั้งแต่รุ่นผูกขาด เราไม่มีเครื่องจักรใหม่ 

 

 

ยอดหนี้สะสมพุ่ง 6,700 ล้านบาท สกสค. คือเจ้าหนี้รายใหญ่ 

ขณะที่ยอดขาดทุนสะสม เป็นหนี้สินทั้งหมด 6,700 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขาดทุนส่วนใหญ่ ทำให้ต้องกู้มาเพื่อหมุนเวียนไม่ให้องค์กรล้ม ปัญหาหลักมาจากการปรับตัว หากปรับตัววันนั้นจะไม่ใช่ข้ออ้างมาสู่การทุจริตทุกเรื่องที่องค์การค้าอ้างว่าทำไมต้องให้เอกชนพิมพ์งาน เหตุผลก็คือเครื่องพิมพ์มีมาตั้งแต่รุ่นแรก ซึ่งวันนี้น่าจะเอาไปทำพิพิธภัณฑ์มากกว่า เมื่อไม่ปรับตัวก็กลายเป็นบูมเมอแรงที่หมุนกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายที่แย่ลงไปใหญ่

 

ธนพรระบุอีกว่ายอดขาดทุนรายปีโดยเฉลี่ยปีละ 500-600 ล้านบาท ปัญหาไม่ใช่การขาดทุนอย่างเดียว เมื่อมีรายจ่ายประจำเป็นเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน เมื่อขาดทุนติดลบก็ต้องไปกู้องค์กรแม่มาจ่ายเงินเดือน โดยกู้ สกสค. เฉพาะเงินเดือนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กู้มาจ่ายหนี้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ขององค์การคือ สกสค. 

 

“องค์การค้าไม่ได้เป็นนิติบุคคล ทุกอย่างที่องค์การค้าไปเป็นหนี้ เวลาฟ้องร้องบังคับหนี้คือ สกสค. ก็จะตกอยู่ในฐานะจำเลยที่ 1 เพราะองค์การค้าสังกัด สกสค. ผมอยากจะบอกว่าองค์การค้าเปรียบเหมือนสำนักหนึ่งของ สกสค. ซึ่งก่อนหน้านี้เราถูกอายัดบัญชีเพราะแพ้คดีเอกชนค่ากระดาษมาแล้ว”

 

 

เพราะรักจึงไม่ให้เสี่ยงเดินต่อไป ควัก 1,500 ล้านบาทจ่ายชดเชยลูกจ้าง

ธนพรกล่าวว่าในส่วนของการเลิกจ้างพนักงาน 961 คนจาก 1,035 คนนั้นไม่ใช่การปิดกิจการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่มีแนวคิดการปิด เพราะในอดีตองค์กรนี้มีบุญคุณกับกระทรวงในสมัยที่มีผลประกอบการที่อู้ฟู่ ทางเลือกคือความรักที่คงไม่พอ ถึงแม้เราจะรักเขา แต่มันไม่พอ เราปล่อยให้เขาตายพร้อมกันในบ้านหลังนี้ทุกคนแล้วปล่อยให้บ้านพังไม่ได้ เราหาเงินมาจ่ายบำเหน็จและเงินชดเชยตามกฎหมายให้เขา อย่างอายุงานน้อยจะได้ต่ำสุดคือ 5 แสนบาท และบางคนได้ค่าชดเชยสูงถึง 4 ล้านบาท 

 

ถ้าจะให้จัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรมาสู้คงทำไม่ไหว เราต้องมองว่าองค์การค้าเป็น Trader สามารถที่จะหารายได้จากการค้าได้ เรากำลังจะปรับตัวไปสู่การค้าระบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างอีบุ๊กหรืออื่นๆ การเหลือคนอยู่ 70 กว่าคนคงไม่พอ แต่ก็ต้องปรับตัวไปก่อน หากอนาคตอยู่ตัวก็สามารถเติมเพิ่มได้ ซึ่งปัจจุบันพิมพ์เอง 10% และพิมพ์ปกเอง เพื่อป้องกันการปลอมของปกและคุมจำนวน 

 

ธนพรระบุว่าค่าชดเชยเยียวยาการเลิกจ้างเป็นจำนวนเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เราไม่ได้ทิ้งให้เขาลำบาก การเดินไปกับ สกสค. แบบเดิมอาจจะเสี่ยงกว่า โดยจ่ายให้กับ 961 คน เฉลี่ยเท่าๆ กันคือ 1.2 ล้านบาท เงินจำนวนนี้มาจาก สกสค.

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X