งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 #Oscars ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย ผลการตัดสินรางวัลใหญ่ๆ นับว่าไม่ผิดจากที่หลายสื่อคาดการณ์ไว้
สำหรับ THE STANDARD เราได้ทำการรวบรวมคะแนนพร้อมเหตุผลจากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงภาพยนตร์ของไทย เพื่อประกาศผลรางวัล 4 สาขาสำคัญ อันประกอบด้วย ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร เรารวบรวมมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว thestandard.co/oscars2018-predictions
บรรจง ปิสัญธนะกูล
ผู้กำกับภาพยนตร์
Best Picture: Get Out
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Margot Robbie
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Get Out
มันเป็นหนังที่ล้ำมาก ตั้งแต่ดูหนังที่เกี่ยวกับการเหยียดคนผิวสี ไม่เคยมีเรื่องไหนทำได้ล้ำขนาดนี้ มันไม่ใช่หนังดราม่าตรงๆ แต่ทำเป็นหนังเน้นไอเดีย บทมันมีความเสียดสี มีความตลก มีความน่ากลัว และความตื่นเต้นเร้าใจ ที่สำคัญคือการที่หนังแบบนี้จะเข้ามาชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ได้ มันเจ๋งมาก ผมว่าต่อให้ผู้กำกับคนนี้ทำหนังเรื่องต่อๆ ไป อีกกี่ปีก็ไม่รู้ถึงจะมีไอเดียที่เจ๋งขนาดนี้ ผมรู้สึกว่า Get Out มันพิเศษมากๆ เลย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
ปกติผมดูหนังของผู้กำกับคนนี้ ผมจะหลับ (หัวเราะ) หลับทุกเรื่องเลย คือไม่ได้เอ็นจอยกับอะไรที่แฟนตาซีมากๆ แต่กับ The Shape of Water ผมคิดว่าเรื่องราวมันผสมผสานไปกับงานวิชวลได้ดีมากๆ เขาตีความสัตว์ประหลาดหน้าตาอย่างที่เห็นในเรื่องให้เป็นหนังรักได้ ทุกอย่างที่เขาทำมันเป็นสิ่งที่คนทำหนังจะฟินมาก ทั้งความซีเนมาติก อาร์ตไดเรกชัน มันเป็นหนังที่คราฟต์มากๆ
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
ผมเดาว่า แกรี โอลด์แมน น่าจะได้ออสการ์ในสาขานี้นะครับ เพราะรู้สึกว่าเขาน่าจะได้ไปนานแล้ว คงสะสมแต้มบุญไปสูงมาก แต่โดยส่วนตัวปีนี้ผมเชียร์ ทิโมธี ชาลาเมต์ คือที่หนังเรื่อง Call Me by Your Name มันดีมากๆ คือนอกจากถ่ายภาพสวยอย่างที่คนชมกันแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้หนังโดดเด้งออกมามันเป็นเพราะการแสดงเลยนะครับ และสิ่งที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้คือทิโมธี ชาลาเมต์ การแสดงของตัวละครในหนังเรื่องนี้ผมขอใช้คำว่า ‘อัศจรรย์’ โดยเฉพาะไอ้เด็กคนนี้ ผมรู้สึกว่าทุกการเคลื่อนไหวมันใช่ไปหมดเลย เขาเล่นไปทั้งตัว เขาดูเป็นตัวละครตัวนี้ซึ่งกำลังอินเลิฟอย่างเป็นบ้าเป็นหลังมากจริงๆ
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Margot Robbie (I, Tonya)
สาขานี้เป็นอีกปีที่รวมไว้ด้วยระดับเทพ แต่ที่ผมรู้สึกว่าชอบมากๆ มี 3 คนคือ มาร์โกต์ ร็อบบี้ (I, Tonya), ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) และแซลลี ฮอว์กินส์ (The Shape of Water) ซึ่งกินกันยากมาก เด่นสุดน่าจะเป็นป้าฟรานเซส และผมว่าเขาน่าจะได้ออสการ์ แต่ส่วนตัวอยากให้ I, Tonya ได้ เพราะผมเซอร์ไพรส์มากที่ มาร์โกต์ ร็อบบี้ แสดงได้ขนาดนี้เลยเหรอ แล้วพอเห็นเครดิตว่าเขาเป็นโปรดิวเซอร์ก็รู้เลยว่านี่คือทางของนักแสดงฮอลลีวูดตอนนี้ ที่ถ้าอยากพิสูจน์ตัวเองก็ต้องทำแบบนี้แหละ คือหาบทประพันธ์ หาเรื่องที่จะผลักดันตัวเองได้ แล้วบทเรื่องนี้นะ ผมรู้สึกว่าถ้าแคสติ้งผิดหรือเขาเล่นไม่เก่ง หนังเรื่องนี้จะพังเลย ซึ่งมาร์โกต์ ร็อบบี้ เขาเล่นได้ถึงและทำให้เราอินตามกับเขาไปได้ตลอด ผมเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีบทที่ท้าทายมาให้เขาเล่นอีกมากมายเลย
Oscars In Memoriam
ถ้าตอนเด็กๆ จะรู้สึกว่าออสการ์เป็นรางวัลที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ยิ่งใหญ่มาก ดีที่สุดของโลก แต่พอโตขึ้นมา เราเริ่มดูหนังเยอะขึ้น แล้วพอกลายเป็นคนทำหนัง ก็รู้สึกว่ามนต์ขลังมันหายไปเยอะเหมือนกัน เพราะผลที่ออกมามันมีอะไรที่ค้านสายตาเราเยอะมาก หลังๆ เราก็เลยลุ้นเพื่อความสนุกสนานมากกว่า รู้สึกว่าเป็นความบันเทิงประจำปีสำหรับคนเนิร์ดหนังอย่างเราที่ต้องตื่นแต่เช้าขึ้นมาดูถ่ายทอดงานประกาศรางวัล
คุณอินกับรางวัลออสการ์แค่ไหน
ก็แค่ตามดูทุกเรื่องครับ (หัวเราะ) หนังออสการ์ถูกจริตเรา เพราะมันไม่ใช่หนังอินดี้หรือทดลองมากเกินไป ส่วนใหญ่เป็นหนังดราม่า มีความเข้มข้น มีความเข้าถึงคนดูประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ทั้งหมด แต่มันก็บาลานซ์ได้ดี ในแง่ความครีเอทีฟของคนทำหนังและการสื่อสารกับคนดู ช่วงที่มีหนังออสการ์ทยอยฉายติดๆ กัน มันเป็นช่วงที่เราดูหนังอย่างมีความสุขมาก วีกหนึ่งดู 2-3 เรื่องได้เลย เพราะหนังมันดีจริงๆ เรารู้สึกว่าดูหนังสนุกกว่าหนังซัมเมอร์เป็นร้อยเท่า
ปีที่ผลรางวัลออสการ์ค้านสายตาคุณมากที่สุด
ปีที่ค้านสายตาที่สุดสำหรับผมคือปีที่ The Social Network (2010) ไม่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครับ หนังเรื่องนั้นดีมากและเป็นหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับผม มันทั้งสนุก ทั้งครีเอทีฟ ผมรู้สึกว่ามันเจาะลึกถึงความเป็นมนุษย์ของตัวละครออกมาแบบอ่านขาดมาก แล้วพอมันแพ้ให้กับหนังเรื่อง The King’s Speech ซึ่งผมไม่ชอบเลยก็ยิ่งเฟลมาก (หัวเราะ) ซึ่งพอผ่านกาลเวลาไปมันก็ยิ่งพิสูจน์ เพราะทุกวันนี้ผู้คนยังพูดถึงแต่ The Social Network
ภาพยนตร์เข้าชิงหรือผ่านเวทีออสการ์ที่คุณชอบหรือหยิบมาดูบ่อยที่สุด
American Beauty (1999) ผมรู้สึกว่ามันพูดถึงชีวิตคนอย่างขุดลึกจริงๆ หนังมันพูดถึงความเป็นมนุษย์ การดิ้นรนหาทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้วความงามที่เราค้นหามันอยู่แค่ตรงนี้เอง มีอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่คุณอาจจะมองข้ามไป บทมันดีมากๆ แล้วพอย่อยออกมาแล้วหนังมันก็ยังดูง่ายด้วย ผมจำได้ว่า พี่ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง เคยพูดว่า แซม เมนเดส กำกับหนังเรื่องนี้แล้วไม่ต้องทำหนังอีกเลยก็ได้ เพราะมันพูดครอบคลุมชีวิตไปแล้ว หนังมันฟินมาก ซึ่งผมก็เห็นด้วย
พงศ์นรินทร์ อุลิศ
ผู้ก่อตั้ง Cat Radio
Best Picture: Phantom Thread
Best Director: Paul Thomas Anderson
Best Actor: Daniel Day-Lewis
Best Actress: Margot Robbie
**Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี: The Shape of Water, Dunkirk
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Phantom Thread
เป็นหนังที่ผมได้ดูแล้วชอบที่สุดในรอบปีที่แล้ว แต่มันไม่ได้เข้าในชิงสาขานี้คือ The Florida Project กับ I, Tonya
เวลาดูหนัง สิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกชอบหนังเรื่องไหนหรือมองว่ามันดีงามยังไง สำหรับผมมันจะมีอยู่แค่สองอย่างคือ หนึ่ง ศิลปะในการทำภาพยนตร์ และสอง เรื่องราวที่โดนใจ ถ้าเราไปนั่งดูหนังแล้วคิดว่าเรื่องนี้ถ่ายทำดีจังเลย เพลงเพราะ ภาพสวย ตัดต่อดี ฯลฯ แต่ถ้าหนังดูแล้วมันไม่รู้สึก ไม่โดนใจ ผมก็จะไม่โหวตให้มัน
ในกรณีของ The Florida Project และ I, Tonya นอกจากจะรู้สึกว่าผู้กำกับทำหนังโคตรเก่ง สิ่งสำคัญคือ ‘สตอรี’ มันสั่นสะเทือนความรู้สึกเรา จะพูดว่าสั่นสะเทือนกว่าหนังบางเรื่องที่เข้าชิงสาขานี้ในปีนี้เลยก็ได้
แต่เมื่อมันไม่มีสองเรื่องนี้เข้าชิง ผมก็เลยต้องเลือก Phantom Thread เพราะหนังเรื่องนี้ทำโคตรยากเลยทั้งในแง่ของความคราฟต์และศิลปะการทำภาพยนตร์ ผู้กำกับอย่าง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ถึงพร้อมมาก เขากำกับให้องค์ประกอบทุกอย่างทั้งศาสตร์และศิลป์ทางภาพยนตร์ทำงานได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันถ้าดูในด้านสตอรี มันคือหนังโรแมนติก แต่มันเป็นความโรแมนติกที่ไม่เหมือนใคร แล้วพอดูจบ เรากลับไปนอนคิดได้อีกหลายวันเหลือเกิน สำหรับผม ภาพรวมมันส่งผลทางด้านจิตใจของเรามากกว่าหนังอย่าง The Shape of Water ที่ดูจบแล้วคือจบเลย
The Shape of Water เป็นหนังดีนะครับ มีงานสร้างที่ดี ผู้กำกับอย่าง กิลเลอร์โม เดล โตโร มีฝีมืออย่างมากในการสร้างเรื่องนี้ขึ้นมา แต่เล่าเรื่องไม่โดนเลย ระหว่างดูเรารู้เรื่องหมดว่าตัวละครมันรักกัน มันผ่านเหตุการณ์โน้นนี้นั้น แต่ทำไมเราไม่เห็นรู้สึกร่วมเลย หนังมันเดาได้ไปหมดจนขาดชั้นเชิง แล้วผมรู้สึกว่าการที่หนังเข้าชิงรางวัลเยอะมากที่สุดของปีนี้ มันทำให้คนเข้าใจผิดว่าหนังเรื่องนี้เจ๋งอย่างมาก แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันพื้นๆ
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Paul Thomas Anderson (Phantom Thread)
ผมเลือก พอล โธมัส แอนเดอร์สัน แต่คนที่จะได้รางวัลออสการ์สาขานี้คือ กิลเลอร์โม เดล โตโร เพราะในแง่ความคราฟต์ The Shape of Water มันก็คราฟต์ดีจริงๆ สิ่งที่ผู้กำกับทำก็ทำยากจริงๆ เพียงแต่ตอนดูเราไม่รู้สึกอินกับเรื่องที่เล่า
ผมอยากเปรียบเทียบเหมือนผู้หญิงที่สวยไปหมด แต่คุณไม่ได้รัก ขณะเดียวกัน พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เขาก็ทำสิ่งเดียวกันได้หมดเลย โลกที่เขาทำใน Phantom Thread ก็เป็นโลกที่มหัศจรรย์ เพียงแค่เขาไม่ได้ทำซีจี และสตอรีที่เขาสร้างก็โดนใจเรา ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องนี้มันเป็นความสัมพันธ์ที่เข้าใจยากและรู้สึกร่วมได้ยาก แต่พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ทำได้สำเร็จ
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Daniel Day-Lewis (Phantom Thread)
ผมยอมรับว่าต้องให้เครดิตการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของ แกรี โอลด์แมน ใน Darkest Hour อย่างมาก ที่สำคัญคือเขาแสดงได้ดีด้วย ผมคิดว่าเขาน่าจะได้รางวัลออสการ์ในสาขานี้ แต่ถึงอย่างนั้นคุณก็ต้องให้เครดิตช่างแต่งหน้าเขาด้วยนะ คือผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการแสดงเพียวๆ
ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่าการแสดงของ แดเนียล เดย์-ลูอิส ใน Phantom Thread นั้นสุดยอดจริงๆ แล้วเป็นการแสดงของเขาล้วนๆ
ผมดู Darkest Hour ผมเห็นแกรีแสดงเป็น วินสตัน เชอร์ชิล ในขณะที่ตอนดู Phantom Thread ผมเห็น เรย์โนลด์ส วู้ดค็อก ผมไม่ได้เห็นแดเนียลที่กำลังแสดงอยู่ ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกัน ฉะนั้นคนที่ทำให้ผมเชื่อได้มากกว่าก็ต้องชนะในสาขานี้ไป
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Margot Robbie (I, Tonya)
ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนตัวเอง นี่แหละคือการเปลี่ยนตัวเองของแท้ เขาเป็นคาแรกเตอร์นี้จนเราลืมไปเลยว่า มาร์โกต์ ร็อบบี้ ผู้ทรงเสน่ห์หายไปไหน เขาคือศูนย์กลางที่แบกหนังไว้ทั้งเรื่อง และผมว่านี่เป็นงานที่ถูกมองข้ามไปอย่างมาก เพราะอย่างน้อยที่สุด หนังเรื่องนี้ควรได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
แต่ ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ จะได้ออสการ์ในสาขานี้ เนื่องจากเรายังไม่ได้ดู Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เลยยังพูดได้ไม่มากนัก แต่เมื่อดูจากทรงของหนังตัวอย่าง คิดว่าคาแรกเตอร์ของหนังมันน่าจะได้รับความสนใจจากกรรมการมากกว่า
**Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี
The Shape of Water, Dunkirk
ผมเลือกให้ The Shape of Water กับ Dunkirk เป็นหนังที่น่าผิดหวังสองเรื่องเท่ากัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเวลาก่อนจะดูหนังเรื่องอะไรก็ตาม เราจะมีความคาดคิดและความหวังก่อนเข้าไปดูในระดับหนึ่ง ฉะนั้นหลังจากที่เข้าไปดูหนังที่มันแย่ๆ สักเรื่อง ส่วนใหญ่มันจะเกิดความรู้สึกอยู่สองอย่าง คือถ้าไม่แย่อย่างที่คิดก็จะรู้สึกว่าหนังมันดีกว่าที่คิด
ต้องบอกว่าในรอบปีที่ผ่านมา มันมีหนังที่แย่กว่าสองเรื่องนี้อยู่มากมายเลย แต่เพราะเราคิดไว้อยู่แล้วไงว่ามันจะแย่ บางเรื่องก็แค่ตั้งใจจะเข้าไปดูเพลินๆ ดูฆ่าเวลา หรือช่วงนี้เครียด เข้าไปดูหนังเรื่องนี้ดีกว่า ซึ่งหนังมันก็ทำหน้าที่ของมันแบบนั้น
แต่กับหนังสองเรื่องนี้ เราผิดหวังด้วยเหตุผลต่างกัน อย่าง Dunkirk เราชอบ คริสโตเฟอร์ โนแลน และตื่นเต้นกับการที่เขาจะทำหนังเรื่องนี้มาตลอด แต่พอเข้าไปดูแล้วก็ต้องยอมรับว่าหลับไปเยอะเหมือนกัน ก็เลยไม่รู้ว่าที่หลับไปมันทำให้เราพลาดส่วนที่ดีที่สุดของหนังไปหรือเปล่า แต่ผลที่ได้รับหลังจากเดินออกจากโรงคือหนังมันน่าผิดหวังเนอะ
ขณะที่ The Shape of Water ซึ่งเราดูช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อย ระหว่างนั้นก็ได้รับรู้ถึงความโด่งดังและรู้ว่าหนังมันเข้าชิงรางวัลเยอะ เลยอดไม่ได้ที่จะคิดว่าจะต้องได้ดูหนังที่โคตรดี โคตรรู้สึกอินในเรื่องราวที่จะเล่า แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปดูจริงๆ เรากลับไม่รู้สึกร่วมอะไรกับหนังเลย หนังเดาได้หมด ขาดชั้นเชิงในการนำเสนอ สำหรับผมมันเลยเป็นหนังที่น่าผิดหวัง
ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope
Best Picture: Lady Bird
Best Director: Paul Thomas Anderson
Best Actor: Daniel Day-Lewis
Best Actress: Saoirse Ronan
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Lady Bird
เราชอบเรื่องนี้ที่สุดในบรรดาหนังที่เข้าชิงในสาขานี้ทั้งหมด เพราะบังเอิญว่ามันเป็นหนังที่มีคลื่นความถี่ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตและการมองโลกของเราในหลายๆ มิติ เลยทำให้เข้าอกเข้าใจกับสิ่งที่หนังเล่าประมาณหนึ่ง ถึงขั้นน้ำตาไหลออกมาเฉยเลยนะ (หัวเราะ) คือถ้าถามเรา Lady Bird ไม่น่าจะชนะออสการ์หรอก แต่เราคิดว่าถึงจะเป็นหนังที่มีพล็อตน้อยมากๆ แต่ก็เป็นหนังที่ทรีตตัวละครทุกตัวที่ต่างก็มีความบกพร่องด้วยความเข้าใจ ไม่ตัดสินใคร สิ่งนี้แหละที่ทำให้มันจูนเข้าหาคนดูหลายคนได้ง่าย
อีกอย่างที่เราชอบมากๆ คือหนังมันเล่าเรื่องทั้งหมดด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่เร้าอารมณ์กับส่วนไหนมากจนเกินไป และเดินเรื่องไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เหมือนกับพยายามจะบอกว่าทุกเรื่องในชีวิตไม่ว่าดีหรือร้าย วันหนึ่งมันก็จะผ่านพ้นไป และการเลือกใช้ชีวิตผิดบ้างถูกบ้างของพวกเราก็คือส่วนหนึ่งอันแสนธรรมดาของชีวิตมนุษย์
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Paul Thomas Anderson (Phantom Thread)
ถ้าตัดความผูกพันกับเรื่อง Lady Bird อย่างที่เล่าไปแล้ว Phantom Thread คือหนังที่เจ๋งมากสำหรับเรานะ มันเป๊ะไปหมด ทั้งการแสดง งานภาพ หรือแม้แต่งานเสียง และเราคิดว่า พอล โธมัส แอนเดอร์สัน มาสเตอร์มากในการควบคุมองค์ประกอบทุกอย่างให้เล่าเรื่องอย่างทรงพลังไปพร้อมๆ กันได้ขนาดนี้ นี่คือตัวอย่างผลงานของคนที่เข้าใจในศาสตร์และเครื่องมือของภาพยนตร์อย่างแท้จริง
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Daniel Day-Lewis (Phantom Thread)
สมแล้วกับการเป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของ แดเนียล เดย์-ลูอิส เขาเล่นละเอียดทุกเม็ดจริงๆ และถ่ายทอดตัวละครที่ลุ่มหลงกับความสมบูรณ์แบบในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อย่างถึงที่สุด ตอนที่ตัวละครมันเบรกดาวน์ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตวิญญาณ นี่คือเขาเล่นได้เหมือนกับชีวิตเขากำลังจะพังพินาศตามตัวละครไปจริงๆ ดูเขาเล่นแล้วรู้สึกอึดอัด สมเพช และสงสารแทนตัวละครตัวนี้ไปในเวลาเดียวกัน
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Saoirse Ronan (Lady Bird)
คำตอบนี้มันเป็นผลพวงมาจากคำตอบในหัวข้อหนังยอดเยี่ยมล้วนๆ เลยนะ (หัวเราะ) คือพอหนังมันจูนกับเราติด เราก็รู้สึกว่าน้องเล่นดีมากนะ คือไม่ได้หวือหวา เล่นแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่มันใช่ไปหมดเลย เขาแสดงเป็นเด็กสาววัยรุ่นผู้กำลังค้นหาที่ทางของตัวเองที่ตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกันก็เก็บงำอะไรหลายอย่างเอาไว้ในใจได้ดี ทำให้เราคาดเดารีแอ็กชันไม่ค่อยได้ และรู้สึกสนุกที่จะตามตัวละครของเธอไปตลอดทั้งเรื่อง น้องเก่งตรงที่สามารถสวมวิญญาณเป็นเด็กสก๊อยบ้านๆ ได้จนเราเชื่อนะ แต่สุดท้ายแล้วคือเราชอบหนังมากจนอยากเชียร์ให้น้องได้รางวัลนั่นแหละ (หัวเราะ)
อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
ผู้กำกับภาพยนตร์
Best Picture: The Shape of Water
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Gary Oldman
Best Actress: Margot Robbie
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
The Shape of Water
กิลเลอร์โม เดล โตโร เขาเป็นคนทำหนังโทนมืดหม่นมาตลอด แต่กับเรื่องนี้ พอพล็อตมันเป็นหนังรัก ซึ่งความรู้สึกหลังจากผ่านไปเพียง 3-5 นาทีแรกของเรื่อง ผมรู้สึกว่าเขาสร้างโลกนี้ขึ้นมาได้ยังไง มันดูดีมาก ยิ่งเมื่อมองจากสิ่งที่เขาพยายามจะพูด เรายิ่งรู้สึกว่าหนังมันสมบูรณ์แบบ แต่อาจจะไม่ตรงกับรสนิยมของกรรมการออสการ์ เพราะมันเป็นหนังประเภทที่ไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอะไรกับโลก กับการเมือง กับสังคมอะไรขนาดนั้น
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับ พอต้องเลือกรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม เราเลยอยากเอามุมมองของคนที่ทำงานสายนี้ใช้มาด้วย ซึ่งสำหรับผม ผมมองว่าสิ่งที่โนแลนทำมันยากจริงๆ มันไม่ใช่ว่าใครก็ทำในแบบที่เขาทำออกมาได้ ผมชอบเขาอีกอย่างตรงที่อะไรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ซีจี เขาจะทำ ไม่ว่าในแง่การทำงานมันจะลำบากสักแค่ไหนก็ตาม ซึ่งสมัยนี้มันหาดูกันได้ยากแล้ว
สำหรับ The Shape of Water ผมให้เครดิตเดล โตโร ในการสร้างตัวละครที่ในเรื่องราวเขาสื่อสารกันไม่ได้ แต่ผู้กำกับมีวิธีเล่าเรื่องให้คนดูเข้าใจและอินตามไปกับหนังได้ ซึ่งมันต้องใช้ทักษะในการเล่าเรื่องที่ดี
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Gary Oldman (Darkest Hour)
ในเรื่อง แกรี โอลด์แมน เขาดูแก่กว่าวัยไปเยอะเลย การแสดงก็ทำออกมาได้ดี แต่ก็อย่าประมาท แดเนียล เดย์-ลูอิส นะครับ เขาอาจจะได้คะแนนพิเศษในแง่ว่าเป็นงานทิ้งทวนก่อนจะปิดฉากอาชีพนักแสดงของเขา แต่สาขานี้ผมคงคอมเมนต์เปรียบเทียบให้ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ดู Phantom Thread
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Margot Robbie (I, Tonya)
เหมือนนักแสดงคนนี้เขาได้เจอเรื่องราวของคนที่คลิกกับตัวเอง ที่สำคัญคือเขาหาความสนุกในการจะแสดงเป็นคนคนนี้ออกมาได้ ขณะเดียวกันพอมันออกมาเป็นหนัง คนดูก็ยังจะอินไปกับสิ่งที่ มาร์โกต์ ร็อบบี้ กำลังโชว์ออฟออกมาได้ด้วย
นักแสดงอีกคนหนึ่งที่ชอบคือ แซลลี ฮอว์กินส์ ผมว่ามาตรฐานของเขากับตัวละครที่แสดงออกมาก็ดีมาก เพียงแต่ตัวละครใน I, Tonya มันสร้างสีสัน ดูแล้วอินกว่า สำหรับส่วนตัวผมนะครับ
Oscars In Memoriam
รางวัลออสการ์สาขาไหนที่คุณลุ้นมากที่สุดในปีนี้
พวกสาขาใหญ่ๆ เรารู้สึกว่าบางทีมันก็เต็งหาม แต่สาขาที่ผมค่อนข้างติดตามเป็นการส่วนตัวมาตลอดคือ Best Original Song ซึ่งปีนี้ผมเชียร์เพลง This Is Me จากเรื่อง The Greatest Showman แบบสุดหัวใจเลยครับ
ผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกตอนดูตัวอย่างของหนัง ดูแล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้โคตรน่าดูเลย แล้วพอเข้าโรงไปดูจริงๆ จำได้ว่าตอนเพลงนี้ขึ้นมา ผมขนลุกไปหมดเลย ผมว่าเนื้อหาของเพลงมันโคตรอเมริกันเลย แล้วก็เข้ากับกระแสสังคม เพราะตัวละครในเรื่อง ถ้าเทียบกับยุคนี้หรือในสังคมปกติก็คือกลุ่มคนที่โดน bully หรือคนที่สังคมมองข้ามต่างๆ ซึ่งเพลงนี้มันบอกว่า “ช่างแม่งพวกนั้นเถอะ กูเป็นของกูอย่างนี้” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคือเพลงมันเพราะมากครับ นักร้องก็ร้องดีมาก จี๊ดเป็นการส่วนตัวมากเลยครับ
วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล
นักแสดง
Best Picture: Call Me by Your Name
Best Director: Christopher Nolan
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Saoirse Ronan
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Call Me by Your Name
ก็ใจมันชอบไปแล้วจะให้ทำยังไง คือวิธีเล่าอาจจะดูเชย แต่มันก็ซัพพอร์ตเซตติ้งของหนังให้สวยงามลงตัวในแบบของมัน เคมีที่ลงตัวของนักแสดงและตัวบทที่ถ่ายทอดจากนิยายสู่หนังก็ยังให้กลิ่นอบอวลของฤดูร้อนนั้น ชวนให้เรากลับมานึกถึงฤดูร้อนของเราเอง
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Christopher Nolan (Dunkirk)
ก็ต้องยกให้จริงๆ กับผู้กำกับคนนี้ กับความจริงจังและตั้งอกตั้งใจ Dunkirk อาจจะไม่ใช่หนังทางเราจ๋า แต่ก็ไม่มีอะไรจะค้านว่าเขาคนนี้ทำให้ภาพในหนังมันดูจริง สวยงาม และน่าเชื่อไปหมด
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
น้องมาแรงจริงๆ กับแอ็กติ้งนิ่ง ไม่เยอะ แต่มีมิติ ‘act, not speak’ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องขยี้อะไรมาก แต่รายละเอียดเล็กๆ กลับทำงานกับเราอย่างคาดไม่ถึง ฉากคุยโทรศัพท์หน้าเตาผิงนั้นทำเราออกมานั่งเหม่อๆ งงๆ ไปพักหนึ่งเลย
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Saoirse Ronan (Lady Bird)
ชอบเธอคนนี้มาจากหลายๆ เรื่อง โดยส่วนตัวเราชอบนางจากเรื่อง Hanna แต่ในเรื่องนี้เธอสวมบทบาทเป็นคนธรรมดาๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ต้องพยายามอะไรมาก แต่เห็นได้ว่าเธอทำงานกับบท เราอยากเห็นเธอในเรื่องต่อๆ ไปอีก
ชาคร ไชยปรีชา
นักวิจารณ์ภาพยนตร์, ผู้กำกับภาพยนตร์
Best Picture: Phantom Thread
Best Director: Paul Thomas Anderson
Best Actor: Daniel Day-Lewis
Best Actress: Margot Robbie
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Phantom Thread
รู้สึกว่าปีนี้เป็นปีที่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมีความสูสีกันสูง ไม่ได้มีเรื่องไหนกระแสโดดออกมาจนเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งขนาดนั้น เพราะฉะนั้นถ้าลองตัดชอยส์ดูแล้ว เราคิดว่า Phantom Thread มีความถึงพร้อมพอที่จะเชียร์ให้ได้ที่สุดแล้ว
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Paul Thomas Anderson (Phantom Thread)
พอล โธมัส แอนเดอร์สัน พิสูจน์ตัวเองมาหลายรอบแล้วว่าเขาคือผู้กำกับที่เก่งกาจและบ้าคลั่งที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย ครั้งนี้ก็ควรถึงเวลาของเขาเสียที แม้ว่า กิลเลอร์โม เดล โตโร จะมีคุณสมบัติถึงพร้อมใกล้เคียงกัน แต่เขาสมควรได้รับการยกย่องจากผลงานชิ้นที่ดีกว่า The Shape of Water
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Daniel Day-Lewis (Phantom Thread)
ถ้าไม่นับว่านักแสดงยอดฝีมือคนนี้ควรค่าแก่การได้รับการยกย่องบนประวัติศาสตร์ออสการ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนปลดเกษียณจากวงการ นี่คือบทบาทที่แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลและการหลอมรวมตัวตนเข้าสู่ศาสตร์การแสดงได้ชัดเจนและลุ่มลึกที่สุดในปีนี้
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Margot Robbie (I, Tonya)
จริงๆ แล้วเพลิดเพลินกับการแสดงแบบเก็บทุกเม็ดของ เมอรีล สตรีป ใน The Post มาก แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่าการแสดงของเจ้าป้าคือเทคนิคการเล่าเรื่องของหนังที่ตั้งใจชูการแสดงเสียจนจงใจไปในหลายๆ จังหวะ ขณะที่ มาร์โกต์ ร็อบบี้ ในบทนี้ นอกจากจะเรียกได้ว่ามีคุณสมบัติที่ ‘ถึงพร้อมสำหรับสาขานำหญิงออสการ์’ (นักแสดงสาวรุ่นใหม่ผู้ไม่เคยได้ออสการ์ในบทที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างหนัก) แล้ว เธอยังแบกหนังทั้งเรื่องไว้ด้วยตัวคนเดียวอย่างน่าชื่นชม จนเมื่อทุกคนนึกถึงหนังเรื่องนี้ สิ่งแรกและสิ่งเดียวที่ทุกคนนึกถึงก็คือการแสดงของเธอ
ปวีณ ภูริจิตปัญญา
ผู้กำกับภาพยนตร์
Best Picture: The Shape of Water
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Sally Hawkins
**Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี: Wonder Woman: Rise of the Warrior
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
The Shape of Water
ผมเป็นสายสัตว์ประหลาดอยู่แล้วครับ (หัวเราะ) ยิ่งพอดูโครงสร้างของหนังหรือสิ่งที่หนังพยายามจะพูด คือการเอาความเป็นสัตว์ประหลาดมาเป็นตัวเปรียบเทียบถึงความรักที่เป็นไปไม่ได้ ผมว่ามันคือโรมีโอกับจูเลียตนี่แหละ แต่พอมันถูกหยิบขึ้นมาพูดในมุมนี้แล้วใช้ความเป็นศิลปะของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือสถานที่ ฯลฯ มาเป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนดูเห็นถึงความน่าอภิรมย์ เห็นความสวยงาม พอดูแล้วเรารู้สึกว่ามันดีจังเลย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
ผมชอบที่ กิลเลอร์โม เดล โตโร เขามีสองโหมดในตัวเอง คือทำได้ทั้งหนังเล็กๆ อย่าง The Devil’s Backbone (2001) หรือ Pan’s Labyrinth (2006) ในขณะเดียวกันก็มีอีกโหมดที่ทำหนังใหญ่ๆ อย่าง Pacific Rim (2013) ซึ่งว่ากันจริงๆ เขามีความดาร์กในตัวเองเยอะ แต่พอมาถึง The Shape of Water เขานำความดาร์กมาผสมกับความโรแมนติกได้อย่างกลมกล่อม ซึ่งถ้าให้คนอื่นทำมันก็จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้ เช่น ถ้าให้สตีเวน สปีลเบิร์ก ทำ ผมว่าหนังก็จะไม่ออกมาดาร์กสุดแบบนี้ หรือถ้าให้ปีเตอร์ แจ็คสัน ทำ หนังอาจจะมีสัตว์ประหลาดเยอะกว่านี้
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
ทิโมธี ชาลาเมต์ เล่นได้เป็นธรรมชาติมากๆ ในจอภาพยนตร์ ไม่รู้ว่าใครจะสังเกตในหนังหรือเปล่านะว่าน้องเขาจะมีอาการที่เวลาทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะนั่งหรือขี่จักรยาน แต่เวลาลุกขึ้นแล้วจะต้องเอามือไปดึงกางเกงในของตัวเอง ผมเชื่อว่าน้องเขาใส่ดีเทลตรงนี้ลงไปในหนัง มันเป็นอาการที่คนโตแล้วมันจะไม่ทำ ผมว่าดีเทลหลายๆ อย่างในหนังที่น้องเขาใส่มามันทำให้การแสดงของเขาโดดเด่นและพิเศษออกมาเลย
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Sally Hawkins (The Shape of Water)
ผมเคยดูหนังแจ้งเกิดของเขาเรื่อง Happy-Go-Lucky (2008) ซึ่งเป็นหนังที่ผมเดินออกจากโรงก่อนที่หนังจะจบ ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนั้นทุกคนบอกว่าดีมาก แต่ผมไม่ไหวว่ะ คือผมทนนางเอกที่พูดมากๆ ไม่ได้ แต่พอดูเรื่องนี้ เธอเล่นเป็นใบ้ครับ เธอไม่ต้องพูดแล้ว (หัวเราะ) กลายเป็นว่าเธอต้องไปแสดงออกทางอื่นแทน
ผมเคยมีคนรู้จักเป็นผู้หญิงที่เป็นใบ้เหมือนกับตัวละคร แล้วลักษณะก็เป็นแบบนี้เลยครับ คือเขาจะแสดงออกด้วยการทำท่าทาง ซึ่งแซลลี ฮอว์กินส์ ก๊อบปี้ออกมาได้หมด ที่สำคัญคือเขาสื่อสารให้เรารู้สึกร่วมได้จริงๆ ดูแล้วเชื่อในความรักระหว่างตัวละครคู่นี้ทั้งที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ระหว่างดู เรากลับรู้สึกว่ามันไม่เป็นเรื่องประหลาดอะไรเลย
Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี
Wonder Woman: Rise of the Warrior
ที่เลือกเรื่องนี้เพราะรีวิวมันมาดีมากเลย เราก็เลยคาดหวังมาก แต่พอเข้าไปดูแล้วรู้สึกว่าแค่นี้เองเหรอวะ นี่คือสิ่งที่เขาชื่นชมกันเหรอ ยิ่งครึ่งเรื่องหลังนี่ผมหลับเละเลยครับ กัล กาด็อต ก็ยังสวยเหมือนเดิม ผิดหวังแค่ตัวหนังมากกว่า
ประวิทย์ แต่งอักษร
อาจารย์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์
Best Picture: Phantom Thread
Best Director: Christopher Nolan
Best Actor: Daniel Day-Lewis
Best Actress: Sally Hawkins
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Phantom Thread
ผมมองว่าคุณภาพของหนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้โอเคหมดเลยนะ และมันจะสวยงามมากถ้าเอา Darkest Hour ออก แล้วเอา The Florida Project เข้ามา ผมว่าเรื่องนี้มันเป็นหนังที่ซื่อสัตย์มาก มันโน้มน้าวชักจูง มหัศจรรย์มากในแง่ของการกำกับเด็กๆ
Darkest Hour คุณภาพโดยรวมผมว่าโอเคนะ มันไม่ถึงกับดูไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เข้ามาได้ยังไง ส่วน The Shape of Water ความท้าทายของเขาคือการเอาคนกับอสูรมารักกัน ซึ่งผมรู้สึกว่าการก้าวข้ามตรงนี้มันยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร
Lady Bird เป็นหนัง coming of age ที่เสน่ห์ของมันอยู่ที่ตัวนักแสดง ความสามารถในการกำกับทำนองนี้ แต่ความเป็นหนัง coming of age มันก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก
Get Out เป็นหนัง genre หนึ่งที่พอเป็นแบบนั้นมันจะเป็นหนังที่คาดเดาได้เสมอ คือมันจะมีกฎเกณฑ์ตายตัวตามแบบหนังสยองขวัญ ส่วน Dunkirk เป็นหนังที่ผมชอบที่สุดในระดับสองนะ โอเค ผมเห็นด้วยว่ามันแห้งแล้งไปนิดนึง
โดยรวมผมรู้สึกว่า Phantom Thread เป็นหนังที่ตอบโจทย์ผมที่สุด มันลุ่มลึก ถ่ายทอดภาวะของคนที่ต้องการจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ทำในสิ่งที่สมบูรณ์แบบ แต่ว่าสิ่งที่ต้องแลกอยู่ตลอดเวลาคือการมีความสัมพันธ์ พอมีความรักก็ต้องสูญเสียความเด็ดขาดคือความเป็นเพชฌฆาตไป ผมคิดว่าหนังเล่าเรื่องสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ได้ดีมากๆ
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Christopher Nolan (Dunkirk)
ผมชอบโนแลน ผมรู้สึกว่า Dunkirk นี่เป็น Cinematic Experience นะ มันเป็นหนังของคนทำหนัง แล้วมันใช้ประโยชน์จากภาษาหนัง ทั้งกลวิธีในการตัดต่อ การเล่าเรื่องที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ในแง่ของเวลา ซึ่งมันเป็นเรื่องของ ‘คอนดักเตอร์’ หรือตัววาทยากรของหนังในการจะร้อยเรียงสิ่งต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกัน
ที่สำคัญคือมันเป็นหนังที่ทะเยอทะยาน และความทะเยอทะยานมันเป็นเรื่องของคนทำหนัง ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นลายเซ็นอย่างหนึ่งของโนแลน และที่จะไม่พูดไม่ได้เลยคือ IMAX เป็นประสบการณ์การดู Dunkirk ที่เหมือนเราเข้าไปดูในห้องขับของนักบินจริงๆ อีกนิดเดียวมันเมาเรือแล้วนะครับ เมาอากาศเลย (หัวเราะ)
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Daniel Day-Lewis (Phantom Thread)
ผมอธิบายสองอย่างแล้วกัน ผมคิดว่าแกรี โอลด์แมน คงได้รางวัลบนเวทีออสการ์ แต่ผมคิดว่าการแสดงของแดเนียล เดย์-ลูอิส ออกมาดีเพราะหนังมันดีด้วย
สำหรับแกรี ย้อนกลับไปคงเหมือนที่เขาพูดกันว่าที่ นิโคล คิดแมน ได้รางวัลออสการ์จาก The Hours (2002) ส่วนหนึ่งมันมาจากเมกอัพ มันคือการทรานส์ฟอร์มของนักแสดงจากคนที่ไม่มีเค้าของตัวละครนั้นเลย เช่นกันกับแกรีที่ทรานส์ฟอร์มมาเป็นวินสตัน เชอร์ชิล ผมว่ามันก็เป็นแต้มต่ออย่างหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้น การแสดงของเขามันดีอยู่แล้วล่ะ ผมไม่เถียง เล่นได้ดีอยู่แล้ว ยิ่งพอมีคอสตูมมาช่วย มีเมกอัพมาช่วย เลยทำให้คนดูรู้สึกว่าเขาชุบชีวิตวินสตัน เชอร์ชิล ขึ้นมาได้ ก็เป็นบทที่ดึงดูด เตะตาคน
ขณะเดียวกัน ผมว่าบทที่แดเนียลได้รับมันลึกมาก นี่เป็นหนังเกี่ยวกับจิตวิทยาของตัวละคร แล้วการแสดงของแดเนียลมันทำให้เราเห็นข้างในของตัวละครที่ไม่ยอมประนีประนอม ความเป็นคนจู้จี้จุกจิก เห็นเลยว่าไอ้คนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์มันเป็นคนแบบนั้น คนที่ตอนเช้าต้องการความเงียบ ผิดจากนี้นิดๆ หน่อยๆ คุณก็ทำลายชีวิตผมไปหมดทั้งวัน ซึ่งไอ้ดีเทลพวกนี้มันมองเห็น ข้อสำคัญ มันไม่ได้อยู่แค่ในตัวละครที่เกรี้ยวกราดนะ เพราะภาพที่เราเห็นอยู่เรื่อยๆ คือเขาเป็นคนที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ผมรู้สึกว่ามันเป็นบทที่น่าทึ่ง เป็นแอ็กติ้งที่สตันนิ่งมาก และไม่โชว์ออฟเหมือนแกรี
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Sally Hawkins (The Shape of Water)
ผมเพิ่งดู Three Billboards Outside Ebbing, Missouri แล้วคนเขาชมกันเนอะ พูดแบบที่ไม่ได้เป็นนักแสดงนะ ผมรู้สึกว่า ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ เขาเล่นด้วยเทคนิค เล่นด้วยสีหน้า อากัปกิริยา การเลิกคิ้ว การเหลือบตา ฯลฯ แต่พอถึงโมเมนต์ที่นึกถึงลูกก็ร้องไห้ รู้สึกผิดที่ตัวเองทำให้ลูกโดนข่มขืน… ไม่รู้สิ ผมเข้าไม่ถึงความรู้สึกตรงนี้ของตัวละคร
ฉะนั้นถ้าให้เลือก ผมเลือกแซลลี ฮอว์กินส์ เพราะอะไรรู้ไหม ความท้าทายคือคุณต้องเล่นเผื่ออสูรด้วย เพราะตัวอสูรมีข้อจำกัดคือแสดงอะไรไม่ได้เลย หน้าตามันแสดงออกไม่ได้เลย แล้วทั้งสองคนมีหน้าที่คือต้องทำให้คนดูเชื่อในความ ‘โรแมนซ์’ ของสองตัวละครนี้
สิ่งที่แซลลีทำคือแสดงเผื่อให้นักแสดงคนนั้นด้วย อย่างที่บอกว่า ‘แอ็กติ้ง’ เท่ากับ ‘รีแอ็กติ้ง’ หรือ ‘แอ็กชัน’ เท่ากับ ‘รีแอ็กชัน’ ซึ่งรีแอ็กติ้งของแซลลีทำให้เรารู้สึกว่าไอ้ตัวอสูรผูกพันอยู่กับตัวนางเอก ทั้งๆ ที่ตัวอสูรมันแทบไม่รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเลย
คม นพรัตน์
หัวหน้าข่าวบันเทิงศิลปวัฒนธรรม Nation TV ช่อง 22
Best Picture: Call Me by Your Name
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Gary Oldman
Best Actress: Margot Robbie
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Call Me by Your Name
หนังกล้าจะนำเสนอเรื่องของเพศทางเลือกได้ตรงตามธรรมชาติ ซึ่งหาได้น้อยเรื่องที่จะนำเสนอได้แบบตรงตามความเป็นจริง ทุกคนมีสิทธิ์จะเกิดความรักกับเพศไหนก็ได้ ซึ่งมันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้ายอมรับ และขณะที่หนังดำเนินเรื่องในปี 1983 ซึ่งยังมีคนไม่เข้าใจเรื่องเพศทางเลือกอยู่เยอะมาก แต่หนังก็เลือกให้ ‘ครอบครัว’ ของตัวละครเข้าใจ นั่นทำให้รู้สึกว่าสังคมยังมีความเข้าใจเพศทางเลือกหลงเหลืออยู่ และสถาบันครอบครัวนั้นสำคัญที่สุด
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
หนังสวยมาก มีความโรแมนติกแบบเทพนิยายย้อนยุคที่หยิบเอาไปผสมผสานกับความแปลกประหลาดและระทึกขวัญได้อย่างลงตัว เล่าเรื่องสนุก ชวนให้ติดตามจนจบ โลกของเราต้องการผู้กำกับหนังที่มีจินตนาการสูงๆ และกิลเลอร์โมก็เป็นผู้กำกับที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการอย่างที่โลกนี้ต้องการจริงๆ
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Gary Oldman (Darkest Hour)
แกรี โอลด์แมน ทำให้เราเชื่อว่าเขาคืออดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล ได้อย่างไม่มีข้อกังขา คิดไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่ใช่แกรีแล้วจะมีใครแสดงบทนี้ได้ เหมือนเป็นบทที่สร้างมาเพื่อเขาคนเดียว ดูหนัง Darkest Hour จบแล้วต้องอุทานออกมาทันทีว่า ปาออสการ์ให้เขาไปเลยเถอะ
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Margot Robbie (I, Tonya)
ความจริงตั้งใจว่าจะรอดูการแสดงของ ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ที่กวาดรางวัลนักแสดงนำหญิงจาก Three Billboards Outside Ebbing, Missouri มาแทบทุกสถาบันเสียก่อน แล้วค่อยเลือกว่าชอบการแสดงของใครที่สุด แต่หนังไม่เข้าฉายในบ้านเราเสียที เลยขอเลือกคนที่ชอบรองลงมาคือ มาร์โกต์ ร็อบบี้ เพราะการแสดงของเธอทำให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครที่เธอสวมบทบาทได้มากที่สุด ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบการแสดงที่ชัดๆ ใหญ่ๆ ซึ่งเธอทำตรงนี้ได้ดีและทำให้เรารู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ และเสียดายกับโชคชะตาของทอนยา
นิโรธ รื่นเจริญ
เอิร์ธ ออสการ์
Best Picture: Phantom Thread
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Gary Oldman
Best Actress: Frances McDormand
Razzie Awards Thailand หรือ ‘หนังน่าผิดหวังแห่งปี’: The Mummy
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Phantom Thread
เป็นหนังที่มีความพิเศษกว่าทุกเรื่องในแง่ศิลปะภาพยนตร์ ความทะเยอทะยานของผู้กำกับที่จะทำหนังแบบนี้ ตัวหนังมีความพิศวง พูดถึงความลึกลับของความรัก เล่าผ่านโลกแฟชั่นชั้นสูง เอเลเมนต์ในหนังมันมีการซ่อนอะไรหลายอย่างที่ทำได้พิศวงและหลอกหลอนมาก ดูแล้วหลอนจริงๆ เป็นหนังที่ถูกออกแบบตัดเย็บมาอย่างประณีต พิถีพิถัน ตัวหนังเหมือนเสื้อผ้ากูตูร์ในเรื่องเลย
แล้วตัวรูปแบบหนังมันก็อินสไปร์มาจากหนังเก่าๆ แบบที่เราชอบอยู่แล้ว แนวโรแมนซ์-โกธิก มันคือการคารวะหนังเก่าๆ แล้วทำออกมางดงาม โมเดิร์น ไม่เชยเลย รวมทั้งประเด็นของหนังที่อาจจะพูดถึงความลึกลับแห่งความรัก การพูดถึงเพศหญิง-ชาย โดยเฉพาะการผลัดกันครอบงำของเพศหญิงและชาย ตอนแรกเป็นโลกที่ชายเป็นใหญ่ ครอบงำบงการผู้หญิง แต่ตอนหลังผู้หญิงกลับมาตรงข้ามกัน แล้วมันตรงประเด็นในปีนี้พอดี
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
กิลเลอร์โมเป็นผู้กำกับในดวงใจคนหนึ่งเลย ดูหนังเขาทุกเรื่องตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าเราเหมือนกันคือชอบสัตว์ประหลาด ความลึกลับ โกธิก ปราสาทมืด ทำให้อินกับงานของเขา และชอบที่เขาเป็นคนที่เล่นกับ ‘ตระกูลของหนัง’ เอาหนังมาบิดจากขนบเดิมได้เก่ง เอาเรื่องความรัก ความเป็นมนุษย์มาเล่าโดยมีฉากหลังเป็นสงคราม แล้วสะท้อนสังคม ต่อต้านความรุนแรง ต่อต้านความเกลียดชังได้ดี
ตัวละครส่วนใหญ่ที่หยิบมาใช้จะเป็นพวกคนนอกหรือคนชายขอบ คล้ายๆ กับตัวเขาเองที่เป็นเหมือนคนนอก เพราะคนเม็กซิกันที่เข้ามาทำงานในฮอลลีวูดก็จะมีความเป็นคนนอกอยู่เหมือนกัน
เราจะได้เห็นฝีมือการกำกับที่มีเอกลักษณ์ สไตล์ที่โดดเด่นของเขาที่สมควรได้รับรางวัลนี้ เพราะหนังผสมผสานทุกอย่างทั้งแนวทางและอารมณ์ที่แตกต่าง มีความผสมผสานแฟรีเทล แฟนตาซี สัตว์ประหลาด สายลับ ท้องทดลอง สงคราม ดราม่า สยองขวัญ ตลก แต่ทำออกมากลมกล่อม
ถ้าพูดกันจริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่งานมาสเตอร์พีซของเขานะ ยังไม่เท่า Pan’s Labyrinth แต่มีความคล้ายกัน Pan’s Labyrinth มีฉากหลังเป็นสงครามกลางเมืองสเปน เรื่องนี้เป็นอเมริกาในยุคสงครามเย็น แล้วประเด็นก็ตรงกับตอนนี้มาก มีเรื่องผู้หญิง-ผู้ชาย คนขาวกดขี่คนดำ เป็นหนังวิพากษ์สังคมอเมริกันเลย
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Gary Oldman (Darkest Hour)
แกรี โอลด์แมน คือนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุค แต่ได้รับรางวัลน้อยมาก แล้วบทบาทที่รับได้ในเรื่องนี้ที่เล่นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มัน outstanding ชัดเจนมาก หน้าตาเขาไม่เหมือนนะ แต่เมกอัพในเรื่องนี้มหัศจรรย์มาก เปลี่ยนไปเลย แต่สิ่งสำคัญคือการแสดงของเขาทรงพลังจนทะลุเมกอัพ ต้องใช้คำนี้เลยนะ ถ้านักแสดงเอาไม่อยู่ มันจะเหมือนหุ่นมาดามทุสโซ คือแข็ง แห้ง ไม่มีพลัง ไม่มีชีวิต
เอาจริงๆ ในบรรดา 9 เรื่องที่เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทหนังของ Darkest Hour ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่แกรีเล่นได้ทรงพลัง เป็นศูนย์กลางของหนัง แล้วอุ้มหนังทั้งเรื่อง มันเน้นที่ตัวเชอร์ชิล ความกดดัน ความเครียด ความผยองที่ต้องพาอังกฤษให้รอดพ้นจากสงคราม ตรงนี้ที่เป็นหัวใจของหนัง แล้วเขาเล่นได้น็อกเอาต์ ชนะเลิศ
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Frances McDormand (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri)
อย่างแรกคือเขาสร้างตัวละครได้ดีมากนะ พูดกันตามตรงนางก็คือป้าทุบรถนี่แหละ แต่ในเรื่องเป็นป้าบิลบอร์ด เป็นแม่ที่สูญเสียลูกสาวไปเป็นเวลา 7 เดือน แต่ตำรวจกลับล้มเหลวในการตามจับคนร้าย เลยคลั่งแค้น ทวงความยุติธรรม ซึ่งฟรานเซสเล่นได้มีมิติละเอียดมาก ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของคนที่แข็งนอกอ่อนใน ภายนอกดูเป็นผู้หญิงแข็งๆ ยอมหักไม่ยอมงอ แต่ข้างในแหลกสลาย อยู่กับความทุกข์ในใจ ความแค้นที่อยู่ในอก มันเลยเปลี่ยนเป็นพลัง ถึงแม้ตัวละครไม่ได้ฟูมฟายโวยวายอะไรออกมา แต่ก็จะมีฉากที่ร้องไห้กับอะไรเล็กๆ แล้วนางเล่นได้ดีมากจริงๆ
Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี
The Mummy
เป็นหนังที่เลวมาก ดูแล้วทุกอย่างผิดไปหมด เป็นงานที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยความที่เรื่องนี้เป็นเรื่องเปิดของจักรวาล Dark Universe ที่ยูนิเวอร์แซลพยายามสร้างเป็นแฟรนไชส์ให้คนติดตาม แต่พอเปิดด้วยเรื่องนี้ เราว่ามันเปิดแล้วพังเลย ล้มตั้งแต่แรก เอาจริงๆ คือล้มตั้งแต่คิดเลย (หัวเราะ) มันเป็นหนังแนวมัมมี่ ผจญภัย สยองขวัญ แอ็กชัน แล้วมันล้มเหลว มันไม่สนุก ไม่สยองขวัญอะไรเลย เต็มไปด้วยความประดักประเดิด สะเหล่อ เด๋อด๋า
Oscars In Memoriam
เราเริ่มติดตามออสการ์จากหนังเรื่อง The Lord of the Rings (2001) ที่เข้าชิงออสการ์เยอะมาก แล้วเราชอบ ก็เลยเริ่มติดตามและได้รู้จักกับเข้าชิงเรื่องอื่นๆ ที่ดี ทำให้เราหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ และอยากศึกษาหาหนังเรื่องอื่นๆ ที่แปลกๆ มาดูต่อไป
ส่วนในมุมคนทำหนังออสการ์คือการเฉลิมฉลองของผู้คนในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะภาพยนตร์หนึ่งเรื่องไม่ได้สร้างขึ้นมาจากคนคนเดียว แต่มีทีมงานหลายร้อยหลายพันที่ร่วมงานขับเคลื่อน ซึ่งตามปกติฝ่ายอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไร แต่ในงานนี้ทุกคนจะได้รับการยอมรับเหมือนกันหมด รวมทั้งเวลาคนได้รับรางวัลขึ้นไปพูดสปีชที่มักจะกล่าวขอบคุณทีมงานเพื่อแสดงให้เห็นว่ารางวัลนั้นไม่ได้แค่มอบให้กับคนคนนั้น แต่เป็นรางวัลของทุกคนที่ช่วยกันทำให้เขาได้รับรางวัลนั้นๆ มา
ออสการ์ในความทรงจำ
ตอนที่เราได้ไปงานออสการ์จริงๆ ในปี 2012 ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ไปงานพรมแดง ทำให้รู้สึกว่าฉันทำสำเร็จแล้วที่ได้มายืนอยู่ในการเฉลิมฉลองภาพยนตร์ที่เราหลงใหลมากที่สุด ความรู้สึกมันยิ่งใหญ่มากเลยนะ ถ้าคนเคยไปตรงนั้นในวันปกติจะเห็นว่ามันก็คือถนนธรรมดาทั่วไป แต่พอถึงวันงาน เขาปิดถนนแล้วเซตงานที่ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยบรรยากาศของความอลังการ หรูหรา เต็มไปด้วยผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มันเปลี่ยนโลกของเราไปเลย
จำได้ว่าไปถึงก็เอามือไปจับ ไปลูบพรมแดง เอาจริงๆ อยากลงไปนอนกลิ้งเลยนะ แต่ไม่ได้ กลัวยามกระชากออกจากงาน การได้ไปเห็นตุ๊กตาทองที่เป็นรางวัลออสการ์ของจริงเป็นโมเมนต์ที่ดีที่สุดในโลกแล้ว
ออสการ์ที่ทำให้ร้องไห้
จริงๆ มีหลายครั้งมากเลยนะ เราชอบย้อนดูโมเมนต์เวลาคนขึ้นไปรับรางวัล อย่างตอนย้อนดู ชาร์ลี แชปลิน ได้รับรางวัล Honorary Award ในงานออสการ์ ปี 1972 ที่ก่อนหน้านั้นเขาโดนแบนเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผ่านไปหนึ่งปี เขากลับมาแล้วออสการ์มอบรางวัลนี้ให้ ซึ่งตอนเขาเดินมารับรางวัล ภาพที่เห็นคือลุงแก่ๆ ผมขาว ไม่มีหนวด แต่พยายามเล่นมุกกับไม้เท้าและหนวดแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา แล้วคนปรบมือให้เขาไม่หยุดเลย มันคือโมเมนต์ที่เขาได้กลับมาสู่วงการฮอลลีวูดอีกครั้งหลังถูกไล่ออกไปนาน
‘ภาพยนตร์’ เข้าชิงหรือผ่านเวที ‘ออสการ์’ ที่คุณชอบหรือหยิบมาดูบ่อยที่สุด
Gone with the Wind (1939) เป็นหนังมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ดูตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่ามีวีซีดี 4 แผ่น แผ่นละ 1 ชั่วโมง แต่ดูเพลินมาก ไม่เบื่อเลย เราชอบความยิ่งใหญ่อลังการของมัน เป็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่ก่อนยุคซีจีใดๆ ทั้งหมด สร้างฉากจริง เซตฉากในสตูดิโอ ฉากเผาเมืองก็เผาจริง นักแสดงมีสิทธิ์เล่นแค่เทกเดียวเท่านั้น มันคือยุคทองของระบบสตูดิโอที่น่าตื่นเต้น พอซีจีเข้ามา บางเรื่องเนรมิตฉากอลังการเหมือนกันนะ แต่เราดูแล้วเฉยๆ ผิดกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนหนังอีพิกมันคืออีพิกจริงๆ
นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ที่คุณชอบ
เมอรีล สตรีป เธอคือนักแสดงที่เก่ง เป็นนักแสดงจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ดารา สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง สำเนียงทุกอย่างเพื่อรับบทต่างๆ แล้วกลมกลืนกับทุกบทได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าตัวละครจะเป็นใคร ชนชั้นไหน ชาติอะไร ภาษาอะไร เธอสามารถเนียนไปได้หมด จะเป็นบทหญิงสาวชนชั้นสูงสง่างามก็เชื่อ บทสาวบ้านนอกเราก็เชื่อ สติไม่ดีเราก็เชื่อ เป็นคุณแม่จอมโหดหรืออะไร เราเชื่อหมด เลยไม่แปลกใจว่าทำไมเขาอยู่มาได้ขนาดนี้ เล่นอะไรก็ได้เข้าชิงไปหมด
นักแสดงบางคนอาจจะสวยมาก อย่างนิโคล คิดแมน ก็เป็นนักแสดงที่เราชอบมาก สง่า เล่นหนังเก่ง แต่บทที่เหมาะกับเธอก็ต้องเป็นบทชนชั้นกลาง ไม่ก็สูงๆ สวยๆ หน่อย แต่พอเล่นบทภารโรง คนธรรมดา เราไม่เคยเชื่อ แต่เมอรีลสามารถทำลายกำแพงตรงนี้ได้ทั้งหมด
อย่างตอนได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงตัวที่ 3 จาก The Iron Lady (2011) ที่หลายคนไม่ชอบกัน เพราะเอาจริงๆ ตัวหนังมันไม่ดี แต่เมอรีลเอาตัวรอดได้ คือต่อให้หนังแย่ แต่นางก็ไม่ตาย
เจไดยุทธ
ผู้ก่อตั้ง jediyuth.com
Best Picture: Get Out
Best Director: Paul Thomas Anderson
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Saoirse Ronan
Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี: Transformers: The Last Knight
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Get Out
ที่จริงชอบ Phantom Thread ที่สุด รู้สึกว่ามันลงตัวไปหมด และเป็นหนังที่ทำออกมาได้ยากที่จะให้หนังเรื่องนี้มีความสวยงามและความหลอนไปด้วยกัน แต่คงไม่เลือกเรื่องนี้ เพราะคิดว่าหนังที่ควรได้ออสการ์จะต้องเป็นหนังที่อีก 10 ปีก็ยังเป็นที่จดจำ ไม่ใช่เราลืมไปแล้วว่าหนังเรื่องนี้เคยได้ออสการ์ด้วยหรือ หรือออสการ์ปีนั้นหนังเรื่องอะไรได้
ความเป็นหนังรักหลอนแบบ Phantom Thread มันไม่อิมแพ็กต์ขนาดนั้น แต่ Get Out น่าจะเป็นหนังแบบนั้นได้ เหมือนกับหนังอย่าง Forrest Gump, The Silence of the Lambs หรือแม้แต่หนังที่ไม่ได้ออสการ์ แต่มันก็ยังอมตะอยู่ด้วยความสดใหม่และมีเอกลักษณ์บางอย่างของมัน อย่าง The Matrix, Brokeback Mountain, Saving Private Ryan เป็นต้น
ความโดดเด่นของ Get Out คือนอกจากการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมในเชิงสยองขวัญที่หลอนจนขนลุกแล้ว ประเด็นทางสังคมในหนังยังมีพลังให้มันน่าจดจำ และความสดใหม่ของตัวหนังที่เป็นการยืมองค์ประกอบจากหนังเก่าบางเรื่องมาใส่ประเด็นทางสังคมเข้าไป ทำให้หนังมีเอกลักษณ์โดดเด่นและแปลกใหม่จนแทบจะยูนีกอย่างที่สุด
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Paul Thomas Anderson (Phantom Thread)
อย่างที่บอกไปว่า Phantom Thread เป็นหนังประเภทที่ทำออกมาได้ยาก และแอนเดอร์สันเล่นท่ายากได้อย่างจะแจ้งและสัมฤทธิ์ผล ส่วนผู้กำกับที่เข้าชิงปีนี้อีกคนที่ชอบก็คือ คริสโตเฟอร์ โนแลน ตรงที่ทำ Dunkirk ออกมาเป็นหนังทดลอง และใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบแปลกใหม่ ท้าทายผู้ชม พยายามไม่ติดอยู่ในกรอบหรือสูตรการเล่าเรื่องเดิมๆ ผู้กำกับแบบนี้ถือเป็นนักนวัตกรรมด้วยเช่นเดียวกับแอนเดอร์สัน เพียงแต่การเล่นท่ายากของโนแลนยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่า
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
เราชอบการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติ เหมือนไม่ได้แสดง นักแสดงหนุ่มวัย 22 ปีคนนี้สร้างตัวละครของเด็กหนุ่มที่เพิ่งรู้จักรักแรกได้อย่างเหมือนเป็นมนุษย์จริงๆ เหมือนเราดูชีวิตคนจริงๆ และทำให้เราเจ็บปวดไปกับเขาได้อย่างมาก
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Saoirse Ronan (Lady Bird)
Lady Bird เป็นหนังที่ใช้ศักยภาพการแสดงของเธอได้อย่างเต็มเปี่ยม เธอสร้างตัวละครนี้ขึ้นมาได้อย่างมีเลือดเนื้อ แม้มันจะมีความสุดโต่งหรือเพี้ยนนิดๆ แบบตัวละครในหนังตลกก็ตาม เรากลับรู้สึกได้ว่ามีตัวละครนี้อยู่จริง
**Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี
Transformers: The Last Knight
Transformers: The Last Knight ไม่เพียงมีบทที่มั่วซั่วและขาดความสนุก แต่จุดเด่นที่เคยมีอย่างฉากเทคนิคพิเศษหรือฉากแอ็กชัน ยังเป็นอะไรที่ขี้เกียจและมั่วซั่วไม่แพ้บทหนัง
Oscars In Memoriam
ออสการ์ปีที่น่าจะอยู่ในความทรงจำที่สุดคือปีที่ Brokeback Mountain (ออสการ์ ครั้งที่ 78 ในปี 2006) พลาดรางวัลออสการ์ให้แก่ Crash เพราะน่าจะเป็นปีที่อินกับการประกาศรางวัลมากที่สุด ซึ่ง Brokeback Mountain ควรค่าที่สุดที่ควรได้รางวัล และหากมันได้รางวัลก็จะสร้างประวัติศาสตร์อย่างมาก ความผิดหวังครั้งนั้นเจ็บปวดเท่ากับตอนที่อกหักจากความรักครั้งแรก จำได้ว่าร้องไห้ด้วย มันเลยกลายเป็นความจดจำที่ฝังใจที่สุด
นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ที่คุณชอบ
ผมชอบ ทอม แฮงส์ ใน Forrest Gump (1994) ที่เล่นเป็นคนออทิสติกได้อย่างละเอียด น่าเชื่อ แล้วก็น่าสงสารมากๆ ชอบการสร้างตัวละครของ แอนโทนี ฮอปกินส์ ใน The Silence of the Lambs ที่มีความเฉพาะแบบที่ไม่มีใครเหมือน และน่ากลัวไปพร้อมกัน ชอบการตีความตัวละครของ เคธี เบตส์ ใน Misery ที่ให้เรารู้สึกว่าคนโรคจิตบางทีก็ดูเหมือนคนธรรมดา
ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ที่คุณชอบ
มาร์ติน สกอร์เซซี ผมไม่ได้ชอบหนังของมาร์ติน สกอร์เซซี ทุกเรื่อง แต่เรื่องไหนที่ชอบก็จะประทับใจเป็นพิเศษ เป็นผู้กำกับที่ไม่หยุดนิ่งในการหากลวิธีต่างๆ เพื่อเอามาใช้ในการเล่าเรื่อง เก๋าไปตามอายุ และแม้ไม่ใช่หนังที่ผมชอบ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะเนื้อหา) แต่ก็จะยังประทับใจในการกำกับ ในการคิดฉากต่างๆ
ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์
นักดนตรี และนักแสดง
Best Picture: Call Me by Your Name
Best Director: Guillermo del Toro
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Sally Hawkins
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Call Me by Your Name
ผมลังเลสองเรื่องระหว่าง The Post กับ Call Me by Your Name นะ The Post ผมชอบที่ความหนักแน่นของเนื้อหาที่มันชัดเจนมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ประดิษฐ์และยัดเยียดประเด็นมาให้ แต่ทุกอย่างใน Call Me by Your Name มันเป็นธรรมชาติไปหมดเลย ทั้งเรื่องการเติบโต ชีวิต ความรัก ครอบครัว เพื่อน เนื้อเรื่อง มันเป็นหนังที่ธรรมชาติมาก ดูแล้วชอบมาก ไม่รู้สึกติดใจอะไรเลย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Guillermo del Toro (The Shape of Water)
ผมว่าเรื่องนี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจมากๆ มันมีความทะเยอทะยานของผู้กำกับในการพยายามเล่าเรื่องหลายๆ อย่าง หลายๆ ประเด็นเข้าไว้ในเรื่องเดียวกัน ทั้งเรื่องความรักที่แตกต่าง สีผิว การเป็นสายลับ วิทยาศาสตร์ สัตว์ประหลาด เกย์ คนแก่ ฯลฯ แล้วรู้สึกว่าเขาทำออกมาได้ละเอียด น่าสนใจ เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าผู้กำกับได้แสดงศาสตร์แห่งการกำกับออกมาได้มากที่สุด
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
ในความเป็นธรรมชาติของหนังที่บอกไปแล้ว รู้สึกว่ามันมีอะไรหลายอย่างให้เขาเล่นเยอะมากๆ ซึ่งทั้งหมดมันเดินอยู่บนเส้นเรื่องของความเป็น ‘มนุษย์’ มากๆ ซึ่งไอ้การแสดงความเป็นมนุษย์ให้ออกมาเป็นธรรมชาติ ไม่ดูเหมือนการแสดงนี่โคตรยากเลย อันนี้พูดในฐานะนักแสดงด้วยกัน เป็นอะไรที่ยากที่สุดแล้ว
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Sally Hawkins (The Shape of Water)
จริงๆ รางวัลนี้ผมอยากให้ เมอรีล สตรีป ด้วยนะ เพราะเขาเล่นละเอียดมากๆ ไปนั่งจับสังเกตวิธีการแสดงออกของเขา มันออกมาหมดเลย รายละเอียดการเคลื่อนไหวมือนิดเดียวนี่มันมีน้ำหนักหมดเลย แต่ในเรื่องนี้มันมีนักแสดงคนอื่นช่วยแชร์น้ำหนักกันเยอะ แต่ที่ต้องยกให้ แซลลี ฮอว์กินส์ เพราะเป็นคนที่รับบทหนักมากในเรื่อง The Shape of Water การถ่ายทอดความรู้สึกทั้งหมด ความรัก ปกป้อง เอาตัวรอด อึดอัด โรแมนติก เป็นห่วง โกรธ แค้น เศร้า แล้วเขาต้องรับภาระในการแสดงทั้งหมดอย่างหนักมาก แล้วที่สำคัญคือเขาต้องแสดงเผื่อตัวสัตว์ประหลาดด้วยนะ
ทำไมออสการ์จึงสำคัญ ทำไมโลกถึงต้องรอดู และคุณอินกับหนังออสการ์แค่ไหน หรือในแง่มุมแบบไหน
พูดจริงๆ สำหรับผมคนเดียวนะ ผมเฉยๆ กับรางวัลนี้มากเลยนะ ผมเฉยๆ มากเวลาที่รู้ว่าใครได้รับรางวัล หรือใครไม่ได้รับรางวัล เลยไม่ได้ติดตามเท่าไร แต่ผมพยายามดูหนังทุกเรื่องเท่าที่เป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าตัวรางวัลมันไม่มีส่วนผลักดันอะไรกับเราเท่าไรที่จะต้องเล่นเหมือนคนนั้นคนนี้เพื่อให้ได้รางวัล หรือต้องเล่นให้ได้แบบเขา เพราะรู้สึกว่าการที่เราได้ดูหนังของทุกคนมันเป็นการเรียนรู้ในตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นหรอกว่าจะได้รางวัลหรือเปล่า เพราะต่อให้ไม่ใช่หนังออสการ์ เราก็ดูและศึกษาเพื่อเอามาพัฒนาตัวเองได้อยู่ดี
อีกอย่างคือพอมีรางวัลเข้ามาจับ ผมรู้สึกว่ามันคือการแข่งกับคนอื่น แต่สุดท้ายผมว่าสิ่งที่ควรแข่งมากที่สุดคือตัวเองนะ ไม่ใช่คนอื่น เราเรียนรู้จากทุกเรื่อง ทุกคน และผมให้ค่าหนังออสการ์กับหนังที่ไม่ได้ชิงรางวัล และหนังทุกอย่างเท่ากันหมดเลยนะ หนังไม่เข้าชิง หนังนอกกระแสก็มีสิทธิ์เป็นหนังดี ในขณะเดียวกัน หนังออสการ์บางทีก็อาจจะเป็นหนังที่ห่วยก็ได้เหมือนกัน
จูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ
นักแสดง, ดีเจ, Content Creator: THE STANDARD
Best Picture: Three Billboards Outside Ebbing, Missouri
Best Director: Greta Gerwig
Best Actor: Timothée Chalamet
Best Actress: Frances McDormand
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
Three Billboards Outside Ebbing, Missouri
เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ดู แต่อยากดูมาก และก็น่าจะเป็นเรื่องที่กรรมการในลิสต์ทั้งหมดน่าจะยังไม่ได้ดูเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวที่ยังไม่เข้าไทย เลยกลัวว่าคนจะไม่เลือกเรื่องนี้ แต่กระแสเรื่องนี้ดูมาแรงมาก เข้าชิงหลายรางวัลด้วย
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director)
Greta Gerwig (Lady Bird)
ความเห็นส่วนตัวรู้สึกว่าภาพยนตร์แบบ Lady Bird ทำยากมาก กำกับยังไงให้เรื่องเล่า 1-2-3 แล้วจบสนุก ที่สำคัญคือดูจริงมาก เกรตา เกอร์วิก เองเป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 5 ที่เคยได้รับการเสนอชื่อด้วย และถ้าได้รางวัลจริงๆ ก็ยิ่งพีก จะเท่มากที่เป็นนักแสดงมาก่อนแล้วผันตัวมาเป็นผู้กำกับแบบจริงจังแล้วได้รางวัลออสการ์เลย
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
Timothée Chalamet (Call Me by Your Name)
ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ตัดสินแบบไม่อาศัยเหตุผลเท่าไร แต่เอาจริงๆ ในเชิงการแสดง เรารู้สึกว่าเขาเก่งมากเลยนะ เก่งกว่าที่คิดมากๆ แต่ก็เข้าใจว่าพออยู่ในลิสต์รวมกับ แกรี โอลด์แมน หรือเดนเซล วอชิงตัน มันก็อาจจะเบาไปหน่อย แต่ในใจเราก็อยากให้เขาได้นะ เหมือนเราจะมองว่าแอ็กติ้งที่ไม่ได้มีฉากให้เล่นใหญ่ แอ็กติ้งที่อาศัยการโน้มน้าวคนผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันธรรมดามันยากกว่า และทิโมธีเล่นได้ถึง
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
Frances McDormand (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri)
ความจริงลังเลระหว่าง ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ กับมาร์โกต์ ร็อบบี้ เพราะการแสดงของมาร์โกต์ ร็อบบี้ (I,Tonya) นี่ก็เปลี่ยนภาพที่เรามองเธอไปเลย แต่กับฟรานเซส ขนาดดูแค่เทรลเลอร์ของ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เราก็รู้สึกเลยว่าทรงพลังกว่า เธอเองก็ขึ้นชื่อว่าแอ็กติ้งสุดมาแต่ไหนแต่ไร แถมยังเพิ่งได้รางวัลนักแสดงนำหญิงมาจาก Golden Globes ด้วย น่าลุ้นค่ะ
**Razzie Awards Thailand หรือหนังน่าผิดหวังแห่งปี
A Cure for Wellness
หลงไปดูเพราะอะไรไม่รู้ แต่หนังก็เหมือนโปสเตอร์เลย มีความพยายาม ความ pretentious ตลอดเวลาทั้งในบทและฉาก ดูแล้วอึดอัด แถมจบแล้วไม่ได้รู้สึกว่าเนื้อหาหวือหวาอะไร
Oscars In Memoriam
ออสการ์ ครั้งที่ 80 ค่ะ ตอนนี้ก็ผ่านมา 10 ปีพอดี เหมือนเป็นครั้งแรกที่เริ่มจำภาพยนตร์ได้ เริ่มดูจริงจังแล้วเลยลุ้นไปกับงานประกาศผลว่าหนังที่เราดูจะได้รางวัลหรือเปล่า อย่าง The Diving Bell and the Butterfly, Juno, Ratatouille ฯลฯ และเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เราจำชื่อหนังจากเวทีออสการ์แล้วไปหาดูหนังแบบที่ปกติจะไม่ดู จำได้เลยคือเรื่อง There Will Be Blood (2007) ที่ออกมาพร้อมความรู้สึกขนลุก ดูยังไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่เหมือนเปิดโลกใหม่ประมาณหนึ่ง
ภาพยนตร์เข้าชิงหรือผ่านเวที ‘ออสการ์’ ที่คุณชอบหรือหยิบมาดูบ่อยที่สุด
La La Land แน่นอนค่ะ เป็นปีที่อินมากเลยนะ La La Land เป็นหนังในดวงใจอยู่แล้ว และรู้สึกว่ามันมีบทบาทในงานออสการ์ปีที่แล้วมาก (ไม่รู้ว่าเพราะตัวเองโปรหรือเปล่า)
นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ที่คุณชอบ
เอ็มมา สโตน!