×

In Between: ทวิลักษณ์และการกบฏของคนนอกคอก ในคอสตูมของ 5 ภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม

26.03.2022
  • LOADING...
In Between

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • แนวคิดทวิลักษณ์ (Duality) คือกระบวนการมองทุกสรรพสิ่งในโลกภายใต้การปะทะกันของสองขั้วตรงกันข้าม เช่น ความดีกับความชั่ว ผู้ชายกับผู้หญิง รวยกับจน และดำกับขาว ที่มีส่วนช่วยในการอธิบายความสัมพันธ์และเชื่อมโยงการดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่งในโลกและสังคม 
  • ในภาพยนตร์ Cruella (2021) ชุดขยะที่ Estella สร้างสรรค์ขึ้นจากกองปฏิกูลและหนังสือพิมพ์เป็นหนึ่งในชุดที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านปัญหาอันเกิดจากวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่อาจมีสิ่งใดยึดครองพื้นที่ความหมายขั้วใดขั้วหนึ่งไว้ได้ตลอดเวลา 
  • การเหวี่ยงคุณลักษณะของสิ่งสกปรกโสมม เช่น กองขยะในสายตาคนทั่วไป มาทำให้กลายเป็นชุดแฟชั่นที่สวยงามจึงเท่ากับเป็นการย้ำแนวคิดที่ว่า “สวยหรือไม่…อยู่ที่ใครเป็นคนมอง” (Beauty is in the eye of the beholder) ซึ่งนอกจากจะขับเน้นภาวะร่วมสมัยของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันแล้ว ยังทำลายมิติขั้วตรงกันข้ามภายใต้การมองโลกแบบทวิลักษณ์ซึ่งจำกัดไว้แต่ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว ลงได้อย่างราบคาบ
  • ในภาพยนตร์ West Side Story (2021) ทวิลักษณ์ปรากฏผ่านการปะทะกันอย่างชัดเจนในคู่ตรงกันข้ามของความขัดแย้งระหว่าง The Jets แก๊งวัยรุ่นอเมริกันผิวขาว และ The Sharks ตัวแทนจากฝั่งเปอร์โตริกัน ขณะที่คู่สีวรรณะร้อนและเย็นทำหน้าที่ขับเน้นการไม่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ของทั้งสองฝ่าย ด้วยการให้ The Jets ปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายกลุ่มสีเย็นที่มีสีน้ำเงินเป็นหลัก ขณะที่ความร้อนแรงแบบลาตินของฝั่งวัยรุ่นแก๊งเปอร์โตริกันแบบ The Sharks เต็มไปด้วยสีสันของโทนสีร้อนทั้งสีเหลือง สีส้ม และสีแดงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

In Between

 

เป็นเรื่องน่าประหลาดที่เมื่อได้เห็นรายชื่อภาพยนตร์ซึ่งได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ประเภทเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมประจำปี 2022 แล้วพบว่าทุกเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์ Remake ที่เกิดจากการนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ทั้งสิ้น 

 

ทว่าภายใต้การตั้งข้อคำถามถึงประเด็นความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น เรากลับพบว่าในเรื่องเก่าที่ถูกนำมาเล่าใหม่เหล่านั้นล้วนแล้วแต่ถูกจัดสรรปั้นแต่งด้วยเครื่องแต่งกายเสียใหม่ ให้มีประเด็นของเรื่องเล่าที่เป็นปัจจุบันผ่านกระบวนการสร้างมิติในการปะทะกันของขั้วตรงกันข้ามที่ปรากฏในเสื้อผ้าได้อย่างน่าตื่นตาและน่าสนใจ

 

แนวคิดทวิลักษณ์ (Duality) คือกระบวนการมองทุกสรรพสิ่งในโลกภายใต้การปะทะกันของสองขั้วตรงกันข้าม เช่น ความดีกับความชั่ว ผู้ชายกับผู้หญิง รวยกับจน และดำกับขาว ที่มีส่วนช่วยในการอธิบายความสัมพันธ์และเชื่อมโยงการดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่งในโลกและสังคม 

 

จริงอยู่ที่วิธีการมองแบบทวิลักษณ์นั้นเน้นการขัดแย้งและการต่อสู้ของสองขั้วที่แตกต่างกันเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งการดำรงอยู่ของทั้งสองขั้วแตกต่างนั้นก็ปรากฏการพึ่งพากันและกันอย่างไม่อาจที่จะแยกห่างได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาของทวิลักษณ์ที่เกิดจากการมองแบบแบ่งฝั่งอย่างชัดเจน จึงนำไปสู่การละเลยสิ่งใดก็ตามที่ตกอยู่ระหว่างกลางและไม่สอดคล้องกับความหมายที่ถูกกำหนดไว้ของขั้วใดขั้วหนึ่ง จนทำให้เกิดเป็นการผลิตสร้างความแปลกแยก (Alienation) ของคนนอกสังคมไปโดยปริยาย ซึ่งจะว่าไปแล้วขั้นตอนเหล่านี้เองที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการกบฏที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นและการเรียกร้องซึ่งพื้นที่ของความเท่าเทียมกันนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

In Between

 

Cruella (2021)

กำกับการแสดงโดย Craig Gillespie

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Jenny Beavan

 

เล่าอะไร: เรื่องของตัวร้าย Cruella de Vil จากนิยายสำหรับเด็กเรื่อง The Hundred and One Dalmatians (1956) ของ Dodie Smith ที่เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์การ์ตูนชื่อเดียวกันเมื่อปี 1961 และภาพยนตร์แบบคนแสดง 101 Dalmatians (1996) และ 102 Dalmatians (2000) โดยมี Glenn Close รับบทแฟชั่นดีไซเนอร์คลั่งไคล้ขนสัตว์ผู้โหดร้าย ที่พยายามจะรวบรวมลูกสุนัขดัลเมเชียนให้ได้ครบ 99 ตัวเพื่อนำมาถลกหนังทำเสื้อโค้ต 

 

เล่าอย่างไร: ภาพยนตร์ปี 2021 หยิบเอาเรื่องของ Cruella de Vil มาเล่าใหม่ผ่านการย้อนกลับไปยังทศวรรษที่ 1970 เพื่ออธิบายต้นกำเนิดของตัวละคร และที่มาที่ไปอันส่งผลให้เธอต้องโหดร้ายกับโลกและสุนัขลายจุด โดยทำให้ตัวละคร Estella (Emma Stone) ในเวอร์ชันก่อนจะเป็น Cruella ผู้โหดร้าย ตกอยู่ในระหว่างกลางของวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ในสังคมที่แบ่งขาวและดำอย่างชัดเจน เพราะนอกจากการที่เธอมีสีผมดำครึ่งและขาวครึ่งบนศีรษะและสภาวะทางอารมณ์ที่เหวี่ยงไปมาแล้ว เธอยังถูกทำให้แปลกแยกและโดนผลักออกจากมาตรฐานสังคม (Alienation) จนต้องกลายเป็น ‘คนนอก’ ในระดับของ ‘ตัวประหลาด’ (Freak) กระทั่งได้พบว่าคู่อริที่แท้จริงคือ Baroness (Emma Thompson) แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้โด่งดัง

 

เพื่อขับเน้นการปะทะกันของคู่ตรงกันข้าม เครื่องแต่งกายของ Jenny Beavan หยิบประวัติศาสตร์แฟชั่นมาใช้เป็นเครื่องมือด้วยการแทนค่าอิมเมจอันหรูหราสง่างามของโลกยุคเก่าในตัว Baroness ด้วยเสื้อผ้าชั้นสูง (Haute Couture) ที่ราวกับจะหลุดมาจากคอลเล็กชันของ Christian Dior และ Cristóbal Balenciaga

 

ขณะที่โลกสมัยใหม่ของ Estella อันเต็มไปด้วยความกบฏของคนนอกคอก ถูกนำเสนอภายใต้โครงสร้างเสื้อผ้าแนวพังก์ (Punk) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของ Vivienne Westwood ที่เกิดขึ้น ด้วยต้องการจะท้าทายและมุ่งทำลายสัญลักษณ์ของชนชั้น ด้วยการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายในแบบ Deconstruction ที่หยิบเอาสิ่งสังคมชื่นชมว่าสวยงามมาทำลาย ฉีก ตัด และเจาะให้ขาด ก่อนจะประกอบสร้างขึ้นใหม่เพื่อทำให้เกิดกลายเป็นความงามในแบบของตนเอง

 

In Between

In Between

 

ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากฉากงานปาร์ตี้ขาวดำซึ่ง Estella ปรากฏตัวในฐานะของ Cruella de Vil ด้วยชุดสีแดงที่ประกอบขึ้นใหม่จากการทำลายผลงานชิ้นเก่าของ Baroness ซึ่ง Estella ซื้อมาจากร้านเสื้อผ้ามือสองที่มีเจ้าของผู้แต่งตัวไม่ต่างไปจาก David Bowie รวมไปถึงฉากที่ Estella ทำลายชุดซึ่ง Baroness กำหนดให้เป็นผลงานชิ้นสำคัญในการเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ ด้วยการใช้เลื่อมซึ่งไม่มีใครรู้ว่าที่แท้จริงแล้วคือดักแด้ของผีเสื้อกลางคืนมาปักประดับทั้งชุด แล้วปล่อยให้มันกัดกินทำลายเสื้อผ้านั้นจนขาดวิ่น ไม่ต่างจากการขั้นตอนกลายเป็นผีเสื้อของเธอจากดักแด้น่าเกลียดที่พร้อมจะกระพือปีกแก้แค้นและทวงคืนความยุติธรรมในท้ายที่สุด

 

Best Look: ชุดขยะที่ Estella สร้างสรรค์ขึ้นจากกองปฏิกูลและหนังสือพิมพ์เป็นหนึ่งในชุดที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านปัญหาอันเกิดจากวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่อาจมีสิ่งใดยึดครองพื้นที่ความหมายขั้วใดขั้วหนึ่งไว้ได้ตลอดเวลา การเหวี่ยงคุณลักษณะของสิ่งสกปรกโสมม เช่น กองขยะในสายตาคนทั่วไป มาทำให้กลายเป็นชุดแฟชั่นที่สวยงามจึงเท่ากับเป็นการย้ำแนวคิดที่ว่า ‘สวยหรือไม่…อยู่ที่ใครเป็นคนมอง’ (Beauty is in the eye of the beholder) ซึ่งนอกจากจะขับเน้นภาวะร่วมสมัยของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันแล้ว ยังทำลายมิติขั้วตรงกันข้ามภายใต้การมองโลกแบบทวิลักษณ์ซึ่งจำกัดไว้แต่ ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว ลงได้อย่างราบคาบ

 

In Between

 

Tips: สีแดง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของแนวคิดการเมืองฝ่ายซ้ายที่ว่าด้วยเลือด การกบฏ และประชาชนมานับตั้งแต่อดีต เริ่มจาก ‘ธงแดง’ (The Red Flag) ที่ถูกใช้ในการปฏิวัติฝรั่งเศสไปจนถึงสีพื้นหลังของธงนาซีและชาติคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน สีแดงก็ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของนักปฏิวัติ (Anarchist) ที่ใช้การกบฏต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียม โดยในภาพยนตร์สีแดงเข้ามามีบทบาทกับ Estella นับตั้งแต่การที่เธอเลือกย้อมผมของตนเองให้กลายเป็นสีน้ำตาลแดงเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตตามแบบที่คนอื่นมองว่าปกติ จนกระทั่งเธอเริ่มเรียนรู้และยอมรับอีกภาคหนึ่งของตนในชุดราตรีสีแดงที่เกิดขึ้นจากการจุดไฟเผาตัวเอง ไปจนถึงฉากที่เธอลากกระโปรงขนนกยาวสีแดงก้าวเหยียบขึ้นไปบนหลังคารถซึ่งมี Baroness ติดอยู่ด้านใน ก่อนที่จะกระชากผ้าผืนยาวที่พ่นสีคำว่า ‘อดีต’ (Past) ลงคลุมปิดเอาไว้ พร้อมกับหัวเราะเริงร่าในเสื้อแจ็กเก็ตที่ถอดรื้อโครงสร้างยูนิฟอร์มทหารก่อนจะตกแต่งขึ้นใหม่ด้วยสายสะพายและเหรียญตราจนทำให้เธอดูไม่ต่างจากผู้ชนะ

 

In Between

 

Cyrano (2021)

กำกับการแสดงโดย Joe Wright

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Jacqueline Durran, Massimo Cantini Parrini

 

เล่าอะไร: Cyrano de Bergerac เป็นนักเขียนและกวีที่มีตัวตนอยู่จริงในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก่อนที่นักเขียนบทละคร Edmond Rostand จะหยิบเอาชีวิตบางส่วนของเขามาแต่งเป็นบทละครเวทีชื่อเดียวกันในปี 1897 ที่ได้รับความนิยมมากจนถึงขั้นถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ด้วยการเล่าเรื่องรักสามเส้าของ Cyrano นายทหารนักกวีจมูกโต ผู้หลงรัก Roxanne หญิงสาวผู้เป็นญาติห่างๆ แต่กลับอับอายในความอัปลักษณ์ของตนจนไม่กล้าที่จะเปิดเผยความในใจ และต้องหันไปใช้บทกวีของตนสารภาพรักผ่านใบหน้าอันหล่อเหลาของ Christian ทหารหนุ่มผู้ยากไร้ที่หญิงสาวหลงรัก

 

In Between

 

เล่าอย่างไร: เวอร์ชัน 2021 ถูกสร้างให้เป็นภาพยนตร์เพลง (Musical) พร้อมกับย้ายเรื่องจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตามบทละครดั้งเดิมมาเป็นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และปรับตัวละคร Cyrano (Peter Dinklage) ให้กลายเป็นคนแคระ ที่กลับช่วยขยายภาวะของการเป็นคนนอกคอกผู้ต้องตกอยู่ตรงกลางของแนวคิดแบบทวิลักษณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะภายใต้ความอัปลักษณ์นั้น Cyrano ฉลาดและโรแมนติก เขาแต่งบทกวีและใช้ภาษาได้เฉียบคมพอกับฝีมือในการประลองดาบ แต่เมื่อมาตรฐานของสังคมกำหนดค่าความงามและความเก่งด้วยหน้าตา ความสามารถที่เขามีก็ไร้ความหมาย สภาวะที่แกว่งวนอยู่ตรงกลางอย่างไร้ทางออกเช่นนี้เองทำให้ Cyrano กลัวที่จะต้องถูกปฏิเสธจาก Roxanne (Haley Bennett) และติดกับอยู่ในเปลือกที่ตัวเองสร้างขึ้นห่อหุ้ม

 

เครื่องแต่งกายขับเน้นภาวะการปะทะกันของคู่ตรงข้ามผ่านการใช้สีร้อนคู่กับเย็นอย่างเด่นชัด Roxanne หญิงสาวสูงศักดิ์ผู้หลงรักภาษาอันสละสลวยของบทกวีถูกแทนที่ด้วยสีฟ้าและเขียว ขณะที่สีแดงของเครื่องแบบทหารทำหน้าที่กำหนดชนชั้นของ Christian (Kelvin Harrison Jr.) และความเป็นคนนอกคอกของ Cyrano พร้อมๆ กับที่โครงสร้างของเสื้อผ้าในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกปรับให้ร่วมสมัยขึ้น ผ่านการลดทอนความหนาหนักตามประวัติศาสตร์ ให้ลดรูปลงจนเหลือแต่โครงสร้างที่ปราศจากการปักประดับและการตกแต่ง นอกจากนั้นการเลือกใช้ผ้าชีฟองที่ยังไม่เกิดการผลิตขึ้นเลยในเวลานั้นมาใช้เป็นวัสดุหลัก ก็ยิ่งทำให้ความร่วมสมัยของเครื่องแต่งกายโดดเด่นจนทำให้แนวคิดของการยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น เช่นที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

 

In Between

In Between

 

Best Look: ชุดสีเขียวของ Roxanne ในฉากเปิดเรื่อง ที่ไล่ระดับให้เห็นตั้งแต่การเริ่มแต่งตัวของเธอนับจากการเริ่มสวมคอร์เซ็ตใส่สุ่ม และสวมถุงน่องรองเท้า ซึ่งนอกจากจะแสนลำบากยุ่งยากจนต้องมีพี่เลี้ยงคอยเป็นผู้ช่วยแล้ว แต่กลับปรากฏว่าเครื่องแต่งกายในท้ายที่สุดกลับปรากฏขึ้นภายใต้ความบางเบาของผ้าชีฟองที่ปราศจากการประดับตกแต่งใดๆ ที่สำคัญยังถูกลดทอนโครงสร้างรายละเอียดตามประวัติศาสตร์จนเหลือเพียงบางเบา จนชุดสีเขียวของ Roxanne ชุดนั้นมีฐานะไม่ต่างจากการเป็นเพียงแค่เปลือกบางๆ ของกรอบมาตรฐานสังคมที่ห่อหุ้มตัวตนมนุษย์เอาไว้ เพียงเพื่อวันที่เราต่างพร้อมจะก้าวข้ามผ่านและปลดมันออก 

 

Tips: สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ้าฝ้ายและผ้าลินินถูกมองว่าเป็นวัสดุสำหรับผลิตเสื้อชั้นในและเสื้อผ้าสำหรับชนชั้นใช้แรงงาน ขณะที่ชนชั้นสูงจำเป็นต้องแต่งกายให้สมฐานะด้วยผ้าไหมที่มีการปักประดับประดาตกแต่งอย่างหนาหนัก ภาพเขียนที่มีชื่อว่า Marie Antoinette with a Rose (ค.ศ.1783) ของศิลปินหญิง Élisabeth Vigée Le Brun กลายเป็นที่ซุบซิบนินทาเพียงเพราะว่าเธอวาดภาพ มารี อ็องตัวแน็ต ตามพระบัญชาในฉลองพระองค์ผ้าฝ้ายที่คนส่วนใหญ่มองว่าโป๊และไม่เหมาะสม จนกระทั่งทำให้ภาพนั้นต้องถูกปลดออกแล้วแทนที่ด้วยภาพวาดชิ้นใหม่ที่ปรากฏภาพพระราชินีในท่าทางแบบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นผ้าไหมสีฟ้าให้สมกับพระเกียรติยศ ก่อนที่หลังจากนั้นจะเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 และผ้าฝ้ายกลับกลายเป็นวัสดุสำคัญสำหรับผลิตเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

 

In Between

 

Dune (2021)

กำกับการแสดงโดย Denis Villeneuve

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Jacqueline West, Bob Morgan

 

เล่าอะไร: นิยายวิทยาศาสตร์เลื่องชื่อตีพิมพ์เมื่อปี 1965 ของ Frank Herbert ก่อนถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่กำกับการแสดงโดย David Lynch ในปี 1984 เล่าเรื่องราวของโลกอนาคตในอีกหนึ่งหมื่นปีข้างหน้าที่จักรวาลถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarian) ขณะที่ Duke Leto แห่งดาว Caladan ถูกจักรพรรดิแห่งกาแล็กซีบัญชาให้เดินทางพร้อมครอบครัวไปยังดาวทะเลทราย Arrakis เพื่อควบคุมการผลิต Spice ทรัพยากรสำคัญต่อการท่องอวกาศ พร้อมกับที่ Paul Atreides บุตรชายคนเดียวของเขาเริ่มรู้สึกถึงพลังพิเศษอันอาจจะชี้ชัดว่าคือ ‘ผู้ถูกเลือก’ (Messiah) ในการปลดปล่อยจักรวาลสู่อิสระตามคำทำนายเก่าแก่

 

เล่าอย่างไร: สภาวะแห่งทวิลักษณ์ ถูกนำเสนอผ่านองค์ประกอบของคู่ตรงกันข้ามที่เกิดขึ้นผ่านการเดินทางของ Paul Atreides (Timothée Chalamet) ตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่บ้านเกิดบนดาว Caladan อันเป็นอาณาจักรแห่งมหาสมุทร ไปสู่ดาว Arrakis อันเป็นดินแดนแห่งทะเลทราย โดยมีเครื่องแต่งกายทำหน้าที่ขับเน้นภาวะของคนนอกที่ต้องตกอยู่ระหว่าง 2 ขั้วของ Paul รวมไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขา

 

In Between

In Between

 

จากชาติกำเนิดบนดวงดาวที่เต็มไปด้วยป่าและมหาสมุทร สีน้ำเงินเขียวถูกใช้อย่างชัดเจนในเครื่องแต่งกายที่ประกอบขึ้นผ่านโครงสร้างของชุดยูนิฟอร์มที่ความเรียบหรูและรูปทรงสง่างามอย่างเป็นทางการแบบเรขาคณิตนั้น ขับเน้นภาวะอันเยียบเย็นของตัวละครที่ต้องตกอยู่ภายใต้ความสงสัยและสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากเกราะกำบัง จนกระทั่ง Paul เดินทางเข้าสู่ Arrakis พร้อมกับที่ความรู้สึกของการเป็นผู้ที่ถูกเลือกเริ่มชัดเจนมากขึ้น เหลี่ยมมุมในเครื่องแต่งกายของเขาจึงจะค่อยๆ ถูกกร่อนทำลายลงทีละน้อยราวกับว่าเกราะกำบังทางอารมณ์นั้นเริ่มเบาบางมากขึ้น ก่อนที่รูปทรงเรขาคณิตในร่างกายทั้งหมดจะเริ่มถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างของเส้นโค้งที่สอดล้อไปกับกายวิภาคของมนุษย์ภายใต้ชุด Stillsuit ซึ่งถูกผลิตโดยพวก Fremen หรือชนเผ่าพื้นเมืองของดาว Arrakis เพื่อใช้ท่องทะเลทราย โดยเฉพาะเมื่อชุดเกราะชนิดใหม่นั้นกำลังทำหน้าที่ในการให้ชีวิตกลับคืนแก่ผู้สวมใส่ด้วยการหมุนเวียนน้ำเสียที่ถูกขับออกให้แปรเปลี่ยนเป็นน้ำบริสุทธิ์

 

ภาวะของการตกอยู่ระหว่างกลางจนนำไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่จากมิติของเครื่องแต่งกายภายใต้รูปฟอร์มเรขาคณิตไปสู่เส้นสายของชีวิตใน Stillsuit ของ Paul ที่ผลิตขึ้นโดยพวก Fremen (Free Man) ผู้ไม่ขึ้นตรงกับจักรวรรดิแต่กลับต้องถูกเอาเปรียบและขูดรีดนั้น จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การกบฏของคนนอกคอกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อสัญลักษณ์ของความแปลกแยกจากมาตรฐานถูกทำให้เด่นชัดขึ้นผ่านดวงตาสีฟ้า (Eyes of Ibad) ที่เกิดขึ้นจากการเสพ Spice เป็นเวลานาน รวมไปจนถึงวิธีการผสมผสานเครื่องแต่งกายแบบทะเลทรายที่ประกอบด้วยผ้าโพกศีรษะและผ้าคลุมบางเบาให้เข้ากับชุด Stillsuit จนทำให้ในท้ายที่สุด รูปลักษณ์ Paul แทบจะไม่ต่างจากเหล่านักรบกองโจรภายใต้ลุคสุดโรแมนติกแบบ Lawrence of Arabia 

 

In Between

In Between

 

Best Look: ชุดสีเหลืองมัสตาร์ดของ Lady Jessica (Rebecca Ferguson) ในวันที่เดินทางไปถึงดาว Arakis ที่นอกจากจะแสดงภาวะของการอยู่ตรงกลางที่เกิดจากการผสมผสานสีฟ้าเขียวของ Caladan ดวงดาวที่เธอจากมาเข้ากับสีน้ำตาลแดงของทะเลทรายแห่ง Arrakis แล้ว ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของโครงสร้างเครื่องแต่งกายสตรีแบบยุโรปยุคกลางอันสอดคล้องกับที่มาและอำนาจลึกลับของตัวละครผู้มีภูมิหลังจากสำนักภาคีนางชี Bene Gesserit อันเต็มไปด้วยพลังในการอ่านใจและสะกดจิตมนุษย์ ขณะเดียวกันเครื่องประดับที่ประกอบด้วยตาข่ายโซ่ (Chainmail) ที่ร้อยคลุมใบหน้าและท่อนบนของลำตัวนั้น ก็ชวนให้นึกถึงเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของชนเผ่าทะเลทรายในตะวันออกกลางรวมไปจนถึงการวาดเฮนนา (Henna) บนร่างกายในแบบวัฒนธรรมอินเดีย ที่ยิ่งขับเน้นภาพความขลังและลึกลับให้กับตัวละครได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 

Tips: ในดินแดนทะเลทรายที่มีอากาศร้อนมากจนถึง 50 องศาเซลเซียสตอนกลางวัน ทำให้บรรดาชนเผ่าเร่ร่อนอย่าง Bedouin และ Tuareg มักจะห่อคลุมร่างกายด้วยผ้าที่โพกปิดทั้งใบหน้าและศีรษะเพื่อปกป้องแสงแดดและฝุ่นทรายที่พัดปลิวในอากาศ โดยในความเป็นจริงแล้วชนเผ่าเร่ร่อนจะเลือกใช้สีเข้มหรือสีดำในผ้าคลุมต่างๆ เหล่านี้มากกว่าสีขาว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสีดำนั้นมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV และสามารถระบายความร้อนจากร่างกายออกไปได้รวดเร็ว ก่อนที่จะปล่อยให้มวลอากาศเย็นไหลผ่านกลับเข้ามาแทนที่จนช่วยทำให้ผู้สวมใส่สบายร่างกายมากกว่าเสื้อผ้าสีอ่อน ขณะที่ภาพจำของชุดเสื้อคลุมทะเลทรายสีขาวล้วนนั้นว่ากันว่าน่าจะมีที่มาจากภาพยนตร์ Lawrence of Arabia (1962) ที่แสดงโดย Peter O’Toole

 

In Between

 

Nightmare Alley (2021)

กำกับการแสดงโดย Guillermo del Toro

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Luis Sequeira

 

เล่าอะไร: จากนวนิยายปี 1946 ของนักเขียนอเมริกัน William Lindsay Gresham ที่กลายเป็นภาพยนตร์ขาวดำชื่อเดียวกันเมื่อปี 1947 เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน Stan Carlisle ที่เข้าไปพัวพันกับคณะโชว์คาร์นิวัลและได้เรียนรู้กระบวนการอ่านใจคนผ่านรหัสลับที่ใช้สื่อสารโดยผู้ช่วยในการแสดง ก่อนที่เขาจะใช้ความรู้ที่ได้เป็นเครื่องมือในการต้มตุ๋นและหลอกล่อคนชั้นสูงเพื่อไต่เต้าสู่ความร่ำรวย จนกระทั่งการได้พบกับจิตแพทย์สาว Dr.Lilith Ritter ทำให้ความชั่วร้ายอันซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของเขาเปิดเผยขึ้น

 

เล่าอย่างไร: เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ถูกใช้เพื่อสะท้อนภาวะคู่ตรงข้ามของทวิลักษณ์ระหว่างความดีและความชั่วร้ายของจิตใจมนุษย์ ระหว่างความฝันและความจริงของวงสังคมชั้นสูง ระหว่างอดีตที่ถูกปกปิดและปัจจุบันที่นำไปสู่การเปิดเผย ด้วยการใช้คู่สีเขียวและแดงที่ราวกับเป็นภาพสะท้อนให้แก่กัน รวมไปจนถึงการสร้างมายาในเครื่องแต่งกายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ในโลกทั้ง 2 ขั้วที่มี Stan (Bradley Cooper) เป็นตัวละครเอกนั้น เขาจึงถูกจับวางเอาไว้ตรงกลางระหว่างอดีตที่ต้องการลบและอนาคตที่ต้องการประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างโลกมายาของคาร์นิวัลและโชว์ประหลาด (Freak Show) ที่เปิดโอกาสให้เขาได้มีเครื่องมือเพื่อก้าวไปสู่โลกของชนชั้นสูงที่ปรารถนา ก่อนที่จะปล่อยให้ความละโมบโยนเขากลับมายังจุดเริ่มต้นในตอนจบ 

 

In Between

In Between

 

ในครึ่งแรกของภาพยนตร์นั้น เครื่องแต่งกายทำหน้าที่สะท้อนมิติของมายาผ่านมุมมองของโชว์คาร์นิวัลที่เสื้อผ้าถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแสดง ทุกอย่างล้วนถูกใช้เพื่อต้องการผลิตภาพอันมหัศจรรย์แสนแปลกตาให้กับผู้พบเห็น ขณะที่เครื่องแต่งกายเหล่านั้นก็กลับซีดเก่าจนราวกับจะเผยให้เห็นถึงความเป็นจริงเบื้องหลังมายานั้นว่าเต็มไปด้วยร่องรอยของการใช้งานและไม่ได้สวยงามอย่างที่เข้าใจ ในบรรยากาศราวกับภาพหลอนของฝันร้ายที่ถูกห่มคลุมอยู่ด้วยโทนสีเขียวอันเชื่อมโยงเข้ากับความผิดปกติพิสดารเช่นนี้เองที่เครื่องแต่งกายของ Stan ถูกนำเสนอภายใต้โครงสร้างเก่าขาดและหลวมโคร่ง ราวกับจะสะท้อนให้เห็นภาวะของการต้องตกอยู่ระหว่างกลางของรูปร่างที่ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง ก่อนที่ภาพลักษณ์ทั้งหมดของเขาจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเรื่องดำเนินเข้าสู่เนื้อเรื่องครึ่งหลังในเมืองใหญ่ แต่ในขณะที่เครื่องแต่งกายของเขากลายเป็นหรูหรามีระดับและมีโครงสร้างที่ฟิตเนี้ยบพอดีกับรูปร่างตามต้องการได้แล้วนั้น จิตใจของ Stan กลับดำดิ่งไปด้วยความละโมบจนท้ายที่สุดหายนะก็พาเขากลับไปยังจุดเริ่มต้นของเครื่องแต่งกายหลวมโคร่งและเก่าขาดอีกครั้งหนึ่ง

 

ภายใต้ภาวะของฝันร้ายสีเขียวที่ห่อหุ้มโลกของ Stan อยู่เช่นนี้เอง ที่สีแดงจากเครื่องแต่งกายของ Molly (Rooney Mara) หญิงสาวจากคาร์นิวัล ปรากฏขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของขั้วตรงกันข้ามอย่างเด่นชัด ชุดของเธอทุกชุดถูกวางอยู่ในโทนสีแดงอย่างจงใจ ทั้งในเสื้อผ้าที่ใช้สำหรับการแสดงและเสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน จนดูราวกับว่าสำหรับเธอนั้นมายาและความทะเยอทะยานไม่ได้มีผลกับตัวตนและเป้าหมายในชีวิต แม้กระทั่งในวันที่เธอเปลี่ยนสถานะมาใช้ชีวิตอย่างหรูหรากับ Stan เธอก็ยังคงรักษาสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์เอาไว้ได้อย่างคงที่ ขณะที่ภาพของ Dr.Lilith (Cate Blanchett) กลับสะท้อนรูปลักษณ์ของหญิงร้ายในแบบ Femme Fatale ตามแบบแผนภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ในยุค 1940 อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ของโครงสร้างของเสื้อผ้าที่ได้อิทธิพลจากชุดยูนิฟอร์ม ที่มีไหล่ซึ่งถูกหนุนให้ขยายกว้างเป็นมุมเหลี่ยม กระโปรงทรงดินสอยาวแค่เข่า ไปจนถึงผมดัดเป็นคลื่นที่จงใจเทลงปิดหน้าไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อซ่อนแววตาลึกลับเอาไว้หลังม่านของควันบุหรี่

 

In Between

In Between

 

Best look: ชุดเสื้อนอนเปื้อนเลือดของ Molly ที่หามาโดย Stan เพื่อใช้สำหรับจัดฉากหลอกเศรษฐีนักธุรกิจคนสำคัญ ทำหน้าที่ประมวลทุกอย่างที่ภาพยนตร์ต้องการจะเล่าได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในประเด็นที่ว่าด้วยอำนาจอันเกิดขึ้นจากการหลอกลวงผู้คนที่สามารถนำพาผู้ใช้ในทางที่ผิดให้ต้องดำดิ่งสู่หายนะ ไปจนถึงพยายามการสร้างภาพมายาที่ว่าด้วยความตายของภรรยาของนักธุรกิจคนสำคัญนั้นขึ้นมาอย่างไม่สนใจถูกผิดผ่านการใช้เครื่องแต่งกายการแสดง วิกผม และเลือดปลอม ในขณะที่สีแดงซึ่งเคยเป็นเหมือนความฝันและปรารถนาสำหรับ Stan ต้องกลับกลายมาเป็นตัวแทนของหายนะ มันก็ทำหน้าที่ย้อนไปกระตุกเตือน Molly ให้เธอรับรู้ถึงที่มาอันแท้จริงของตนเองแล้วก้าวเดินออกไปจากชีวิตของเขา

 

Tips: แม้ว่าในทางจิตวิทยาสีเขียวจะถูกใช้เพื่อแสดงความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่แท้จริงแล้วด้านมืดของสีเขียวกลับมีความหมายเชื่อมโยงถึงความป่วยไข้และภาวะอันเพี้ยนพิสดารผิดไปจากธรรมชาติ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สีเขียวที่มีชื่อว่า Scheele’s Green ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากส่วนผสมของสารหนูและคอปเปอร์ซัลเฟต ที่ส่งผลให้ผู้สัมผัสโดยตรงป่วยเป็นโรคผิวหนังพุพอง ขณะเดียวกันการอยู่ในห้องที่ทาด้วยสีเขียวชนิดนี้พร้อมกับสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและอาเจียนอย่างหนักได้ จนว่ากันว่าจักรพรรดิ Napoleon Bonaparte ผู้เสียชีวิตขณะถูกเนรเทศบนเกาะ St. Helena ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นก็อาศัยอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยห้องซึ่งตกแต่งด้วยสีเขียว

 

In Between

 

West Side Story (2021)

กำกับการแสดงโดย Steven Spielberg

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Paul Tazewell

 

เล่าอะไร: จากละครบรอดเวย์ที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง Romeo and Juliet (1597) ของ William Shakespeare กลายเป็นภาพยนตร์เพลงอันโด่งดังในเวอร์ชันปี 1961 ที่เล่าถึงเรื่องราวของความรักอันเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 แก๊งวัยรุ่น The Jets และ The Sharks ในนิวยอร์ก โดยในเวอร์ชันใหม่ของผู้กำกับ Steven Spielberg นั้นยังคงเลือกเล่าผ่านการเก็บความเป็นละครเพลง (Musical) เอาไว้ พร้อมกับขยายเพิ่มภูมิหลังของตัวละครเอกให้มากขึ้นและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของบทด้วยนักเขียนบทละครเวทีมือรางวัล Tony Kushner ให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ 

 

เล่าอย่างไร: ทวิลักษณ์ปรากฏผ่านการปะทะกันอย่างชัดเจนในคู่ตรงกันข้ามของความขัดแย้งระหว่าง The Jets แก๊งวัยรุ่นอเมริกันผิวขาว และ The Sharks ตัวแทนจากฝั่งเปอร์โตริกัน ขณะที่คู่สีวรรณะร้อนและเย็นทำหน้าที่ขับเน้นการไม่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ของทั้งสองฝ่าย ด้วยการให้ The Jets ปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายกลุ่มสีเย็นที่มีสีน้ำเงินเป็นหลัก ขณะที่ความร้อนแรงแบบลาตินของฝั่งวัยรุ่นแก๊งเปอร์โตริกันแบบ The Sharks เต็มไปด้วยสีสันของโทนสีร้อนทั้งสีเหลือง สีส้ม และสีแดงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 

In Between

In Between

 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้เองที่ความรักนอกคอกซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง Tony (Ansel Elgort) และ Maria (Rachel Zegler) ต้องทำให้ทั้งคู่ตกเข้าไปสู่พื้นที่ของความขัดแย้ง โดยมีเครื่องแต่งกายทำหน้าที่ขับเน้นการเป็นคนนอกผ่านกลุ่มสีที่ไม่เป็นของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ดังนั้นการที่เครื่องแต่งกายของ Maria ค่อยๆ กลายเป็นสีฟ้าและสีน้ำเงินเพราะความรักจึงไม่ต่างจากการเข้าครอบครองกลุ่มสีที่เป็นของศัตรูฝ่ายตรงข้าม ในความหมายนัยเดียวกับการกบฏที่พยายามใช้ความรักของคนทั้งสองเป็นเครื่องมือ จนถึงขั้นทำให้ภาวะของทวิลักษณ์ที่ไม่อาจเข้ากันได้กลายเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เคลื่อนที่ออกจากขั้วแตกต่างทั้งสองข้างเพื่อมาเจอกันตรงกลางอย่างสมดุล

 

ขณะเดียวกันในภาพรวมภาพยนตร์ก็สามารถไฮไลต์การกบฏของชนชั้นล่างผ่านเครื่องแต่งกายได้อย่างน่าสนใจ เพราะนอกจากสีแดงที่ถูกใช้อย่างเด่นชัดในฐานะของตัวแทนชนชั้นใช้แรงงานและการขบถเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐแล้ว สีน้ำเงินยังปรากฏในฐานะของสัญลักษณ์ตัวแทนของคนใช้แรงงาน (Blue Collar) ที่พยายามเรียกร้องพื้นที่และแสวงหาการดำรงอยู่ของตนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างชัดเจน จนทำให้ West Side Story เวอร์ชันใหม่นี้ขยับขยายพื้นที่ของการเล่าเรื่องมาสู่ภาวะของความร่วมสมัยที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวและความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโลกได้อย่างเหมาะเจาะ 

 

In Between

 

Best Look: ชุดสีเหลืองของ Anita (Ariana DeBose) ในเพลง America เสียดสีสภาวะความฝันแบบอเมริกันดรีมของคนต่างชาติที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในอเมริกาได้อย่างตรงไปตรงมา และแม้กาลเวลาจะล่วงผ่านจนเราต่างรู้ว่าฝันแบบอเมริกันนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ภาวะการหยอกล้อของขั้วความฝันและความจริงอันโหดร้ายผ่านดนตรีและการเต้นรำนั้น ก็ทำให้ทุกจังหวะและการเคลื่อนไหวที่ปรากฏในซีนแสนจะตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากสีม่วงของชุด Anita ในภาพยนตร์เวอร์ชันเดิมมาเป็นชุดสีเหลืองที่มีกระโปรงซับในสีแดงแดงสดซึ่งจะคอยเผยตัวออกมายามเต้นรำนั้น ยิ่งทำให้นัยความหมายของประเด็นที่ว่าต่อให้พยายามฝันอย่างไรและขบถมากแค่ไหน เราต่างก็เป็นได้แค่พลเมืองชั้นสองของอเมริกาที่ถูกจัดประเภทเอาไว้แล้วด้วยสีผิวภายนอกยิ่งกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

 

Tips: สีน้ำเงินในอดีตนั้นเป็นสีที่หายากและถูกผูกโยงเข้ากับสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อโลกหมุนเข้าสู่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม สีน้ำเงินในอเมริกากลับถูกเปลี่ยนขั้วให้กลายเป็นตัวแทนของชนชั้นใช้แรงงาน (Blue Collar) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้าของผ้าฝ้ายย้อมคราม (Denim) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยพ่อค้าเชื้อสายยิวจากเยอรมัน Levi Strauss ที่ร่วมมือกับช่างตัดเสื้อ Jacob Davis เพื่อออกแบบกางเกงยีนส์ตอกหมุดสำหรับจำหน่ายให้กับคนงานในเหมืองแร่และคาวบอย ก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมและนำไปสู่การผลิตเป็นเครื่องแบบสำหรับใช้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันคราบสกปรกที่จะเกิดขึ้นกับเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 

 

สุดท้ายในสังคมสมัยใหม่ที่อิสระแห่งตัวตนและการเคลื่อนที่ไปมาระหว่างอัตลักษณ์ของมนุษย์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่เราต่างยอมรับได้ การยุติวิธีคิดแบบทวิลักษณ์พร้อมกับยกเลิกกระบวนการแปะป้ายตีตราว่าใครเป็นเช่นไรผ่านมุมมองแบบมาตรฐานเดียวจึงอาจถึงเวลาแล้วสำหรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างกับการทำให้เรื่องเก่าได้ถูกเล่าใหม่จากมิติของคนในปัจจุบันเช่นที่เกิดขึ้นกับการออกแบบเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising