ถึงแม้ว่างานประกาศรางวัลออสการ์ หรือ The Academy Awards ครั้งที่ 92 เมื่อเช้าวานนี้ (10 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย) Parasite ของผู้กำกับ บงจุนโฮ จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ต่างประเทศได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นับรวมแล้วภาพยนตร์ตัวแทนจากเกาหลีใต้คว้ารางวัลสำคัญไปทั้งสิ้น 4 สาขา
แต่ถึงอย่างนั้น เรตติ้งการรับชมกลับสวนทาง และเป็นครั้งแรกที่งานประกาศรางวัลออสการ์มีผู้รับชมต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์!
Nielsen รายงานเรตติ้งออสการ์ปี 2020 พบว่า มีผู้ชมผ่านสถานีโทรทัศน์ ABC ที่เป็นผู้ถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการจำนวนทั้งสิ้น 23.6 ล้านคน ได้รับเรตติ้ง 5.3 ลดลงจากตัวเลขในปี 2019 ที่มีผู้ชม 29.6 ล้านคน ได้รับเรตติ้ง 7.7 ในขณะที่นิวโลว์เดิม ปี 2018 มีผู้ชม 26.5 ล้านคน ได้รับเรตติ้ง 6.8
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ออสการ์ ครั้งที่ 92 ยังคงเป็นงานประกาศรางวัลที่มีผู้ชมสูงกว่างานแกรมมี่ ที่มีผู้ชม 18.7 ล้านคน (วันที่ 26 มกราคม 2020) และงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ ที่มีผู้ชม 18.3 ล้านคน (วันที่ 5 มกราคม 2020) กระนั้นก็ไม่เคยเลยที่ออสการ์จะมีตัวเลขการรับชมใกล้เคียงกับสองเวทีที่กล่าวมา เพราะโดยสถิติเฉลี่ยแล้ว ออสการ์ในยุค 2000 จะมีผู้ชมอยู่ราว 35-45 ล้านคนต่อปี มักจะเป็นรายการใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิง รองจากการถ่ายทอดซูเปอร์โบวล์
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้งานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้มีตัวเลขผู้ชมหายไป 6 ล้านคน หรือราว 20% จากปีก่อนหน้า และกลายเป็นประวัติศาสตร์เรตติ้งต่ำที่สุดตลอดกาล
ผลรางวัลไม่เซอร์ไพรส์ เว้นแต่ 4 รางวัลใหญ่ของ Parasite
ปกติแล้วออสการ์ค่อนข้างเป็นเวทีกระแสหลักที่เน้นอารมณ์ร่วม ภาพยนตร์มหาชน นักแสดงดังๆ ผลรางวัลก็ไม่ได้สูตรเดียวกับงานประกาศรางวัลที่จัดก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น Golden Globes, SAG Awards หรือ Critics’ Choice Awards ดังนั้น การที่ผลออสการ์ปีนี้ รางวัลนักแสดงนำชาย-หญิง วาคีน ฟีนิกซ์, เรเน่ เซลเวเกอร์ รางวัลนักแสดงสมทบชาย-หญิง แบรด พิตต์, ลอร่า เดิร์น ยังคงเป็นนักแสดงชุดเดิมที่เราได้ฟังสปีชของพวกเขามาแล้ว จึงไม่มีความเซอร์ไพรส์ใดๆ มากนัก ยกเว้นก็แต่ 4 รางวัลใหญ่ของ Parasite ที่กวาดทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ ที่พัฒนาและทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อสร้างสรรค์อุตสาหกรรมภาพยนตร์มาตลอดหลายสิบปี
คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดู Parasite
แต่พอมีการมอบรางวัลใหญ่ให้ Parasite ก็น่าสนใจขึ้นมาทันทีว่า ออสการ์มอบรางวัลให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในอเมริกาเดือนตุลาคม เปิดตัวด้วยรายได้ 393,216 ดอลลาร์สหรัฐ จากการเข้าฉายเพียง 3 โรงภาพยนตร์ และถึงแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะยืนโรงฉายต่อเนื่องจากเดือนตุลาคมถึงปัจจุบัน มีจำนวนโรงฉายที่มากขึ้น ข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 Parasite ทำรายได้ในอเมริกาไปได้รวมทั้งสิ้น 35.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนโรงฉาย 1,060 โรง ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่งผลให้ความอินในการเชียร์และมีอารมณ์ร่วมลดลง
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์มหาชนประจำปี 2019 ที่ทำรายได้ติด Top 5 ทั้ง Avengers: Endgame, The Lion King, Toy Story 4, Frozen 2, Captian Marvel ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญบนเวทีออสการ์ และรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมที่ Toy Story 4 ได้รับไป ก็ไม่ได้สร้างกระแสมากนัก ต่างจากออสการ์ในปี 2019 ที่ภาพยนตร์ขวัญใจมหาชนอย่าง Black Panther ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงถึง 6 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสุดท้ายคว้าไปได้ถึง 3 รางวัล
รายการยาว 3 ชั่วโมง โชว์ไม่ตื่นเต้น คนดูรอลุ้นแค่ผลรางวัลใหญ่
ในยุคที่ผู้ชมโทรทัศน์ย้ายไปสู่บริการออนไลน์สตรีมมิง เป็นธรรมดาที่เรตติ้งการรับชมรายการสดผ่านหน้าจอทีวีจะลดลง โดยจะเห็นได้จากยอดการรับชมที่ตกลงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ไม่เว้นแม้แต่ออสการ์ หนึ่งในสามเวทีประกาศรางวัลที่เป็นแชมป์เรตติ้งมาโดยตลอด
แต่การที่เรตติ้งในปี 2020 ตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่ทางผู้จัดงานเองต้องขบคิดว่า จะเรียกความนิยมให้คืนกลับมาได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล ที่เวลา 3 ชั่วโมง นานเกินอดทนรอ โซเชียลมีเดียรายงานผลได้เร็วเท่าที่เกิดขึ้นบนเวที พร้อมตัดคลิปช่วงสำคัญ โค้ดคำพูดดีๆ มารอให้เราเสพมากมายหลายช่องทาง แม้ว่าเราจะมองเห็นความพยายามในการสร้างเซอร์ไพรส์จากการขึ้นเวทีของ เอ็มมิเน็ม หลังผ่านไป 17 ปี แต่ก็เป็นเพียงโมเมนต์สำคัญที่ไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมของโชว์ดึงดูดผู้ชมได้เท่าที่ควร
ในฐานะที่ติดตามการรายงานสดออสการ์มาตลอดหลายปี เราหวังว่า ปีหน้าออสการ์ ครั้งที่ 93 จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะถึงอย่างไร ออสการ์ก็คือเวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังเดินทางเข้าใกล้หลักไมล์ครั้งที่ 100 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: