การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักจะมีที่มาจากสัตว์ ก่อนที่จะมีการแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ‘โรคซาร์ส’ หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาอย่าง SARS-CoV ซึ่งเคยแพร่ระบาดอย่างหนักในปี 2003 ก็มีที่มาจากการติดเชื้อในค้างคาว รวมถึงสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น
ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (ไข้หวัดหมู) ที่เกิดจากไวรัส 2009/H1N1 ก็มีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสที่มาจากสัตว์จำพวกสัตว์ปีกและหมู ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 2009 พบผู้ติดเชื้อกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
โดยไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV) ก็มีต้นตอมาจากสัตว์จำพวกค้างคาว ก่อนที่จะมีอูฐเป็นตัวกลางในการส่งต่อเชื้อไวรัสเข้าสู่มนุษย์อีกทอดหนึ่ง ขณะที่ไวรัสอีโบลาและไวรัสซิกาเกิดจากการติดเชื้อและแพร่ระบาดในสัตว์อย่างลิงและยุงตามลำดับ ก่อนจะเกิดการติดเชื้อในมนุษย์และคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก
ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ที่ทำให้เกิดระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อผิดปกติ และมีอาการของโรคปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอยู่ในขณะนี้ เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากสัตว์ที่ติดเชื้อ และถูกนำมาขายที่ตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน
ผลการศึกษาล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of Medical Virology ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความใกล้ชิดกับลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสซาร์สและไวรัสเมอร์สที่มาจากค้างคาวมากที่สุด ก่อนที่จะพบว่า ลักษณะตัวรับของเชื้อไวรัสที่กลายพันธ์ุนี้จะมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในงู จึงมีความเป็นไปได้ที่งู โดยเฉพาะงูเห่าจีน อาจเป็นสัตว์ตัวกลางที่ส่งต่อเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดการกลายพันธ์ุจากค้างคาวเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล