วันนี้ (26 พฤษภาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (25 พฤษภาคม) ว่า ครม. อนุมัติหลักการนโยบายการจัดระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาทางสถานะบุคคลและต่างด้าวในเรือนจำ และให้จัดสรรงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการเข้าถึงบริการสุขภาพให้เทียบเท่ากับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นการดูแลผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและต่างด้าวในเรือนจำประมาณ 16,000 คน เช่น ผู้ต้องขังสัญชาติอื่น บุคคลที่ไม่มีเอกสารหลักฐานการยืนยันตัวตนใดๆ บุคคลต่างด้าว เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยจนเกินศักยภาพการรักษาของสถานพยาบาลเรือนจำจึงต้องส่งตัวไปรับการรักษานอกเรือนจำ ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ต้องเป็นผู้รับภาระค่ารักษาพยาบาล โดยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวน 13.71 ล้านบาทจากเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 127 แห่ง
สำหรับการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการใน 2 ระยะคือ
- ระยะสั้น ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตั้งงบประมาณเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 13.71 ล้านบาท
- ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลจัดระบบริการและระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้ต้องขัง และในกรณีที่มีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินงาน ให้ สปสช. ไปศึกษาและดำเนินการแก้ไขให้สามารถดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า