×

เกิดอะไรขึ้น? หุ้น OR ราคาไหลลงต่อเนื่องจนต่ำกว่า 18 บาท ซึ่งเป็นราคา ​IPO

04.10.2023
  • LOADING...
กราฟราคาหุ้นของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

หุ้น OR ซึ่งเคยได้รับการตีตราว่าเป็นหุ้นมหาชน ด้วยความเป็นหุ้นขนาดใหญ่ สินค้าและบริการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและจำนวนมาก อีกทั้งในการจัดสรรหุ้น IPO เมื่อ 2 ปีที่แล้วยังยึดหลักความเท่าเทียม เพื่อให้นักลงทุนที่เงินลงทุนน้อยสามารถร่วมเป็นเจ้าของหุ้นได้ อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์กำลังทบทวนมุมมองที่มีต่อหุ้น OR กันอีกครั้ง 

 

เพราะหุ้น OR หมดเสน่ห์ การเติบโตที่เชื่องช้าทำนักลงทุนผิดหวัง สะท้อนผ่านราคาที่ปรับตัวลดลงมาใกล้บริเวณ IPO 18 บาท และบางช่วงก็ลดลงต่ำกว่า 18 บาทไปแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า โอกาสขยายตัวของตลาดในประเทศจะทำได้ลำบากมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจ Lifestyle จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

 

มีการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ราคาหุ้นหลุด 20 บาท มาอยู่บริเวณ 18 บาทกว่าๆ ซึ่งใกล้กับราคา IPO หรือราคาที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรกในช่วงที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อราวๆ 2 ปี 7 เดือนที่แล้ว 

 

ในช่วง 52 สัปดาห์ ราคาหุ้น OR เคลื่อนไหวสูงสุดอยู่ที่ 26.25 บาท ต่ำสุดที่ 18 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลงเหลือ 224,400 ล้านบาท จาก 285,600 ล้านบาท ในปี 2565 และ 324,000 ล้านบาท ในปี 2564

 

ส่วนล่าสุดวานนี้ (3 ตุลาคม) หุ้น OR ปิดการซื้อขายที่ 18.10 บาท ลดลง -0.40 บาท จากวันก่อนหน้า หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง -2.16% และระหว่างวันราคาปรับลดลงต่ำสุดมาแตะระดับ 17.90 บาท

 

จากเคยเป็นหุ้นที่อยู่ในใจของนักลงทุน มาปีนี้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ OR เบาบางลง เหลือ 399.50 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เฉลี่ยต่อวันที่ 577.40 ล้านบาท และปี 2564 เฉลี่ยต่อวันที่ 1,863.95 ล้านบาท

 

มีการระบุว่า OR หมดเสน่ห์ นักลงทุนเริ่มไม่สนใจเพราะทำให้ผิดหวัง เนื่องจากไม่สามารถเติบโตได้ในระดับสูงอย่างที่คาดหมายไว้ในช่วงแรกๆ ที่เคยระบุว่าธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่องและรวดเร็วตามการขยายตัวของธุรกิจ Non-Oil หรือ Lifestyle ด้วยการขยายสาขาร้านคาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) แต่พบว่าในช่วง 2 ปีกว่า การเปิดสาขาของร้านคาเฟ่ อเมซอน ไม่หวือหวาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนในธุรกิจแบรนด์อื่นๆ เช่น โอ้กะจู๋ ก็ยังไม่เห็นผลชัดเจน ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Non-Oil ไม่โดดเด่นเท่าช่วงก่อน

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าวว่า OR เป็นหุ้นที่นักลงทุนคาดหวังสูงนับตั้งแต่ขายหุ้น IPO ว่าจะเติบโตรวดเร็ว จากความสำเร็จของคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศ และการเปิดสาขาในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ที่มีการต่อแถวซื้อในช่วงที่เปิดร้านใหม่ๆ มียอดขายวันละ 1,500 แก้ว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประชาชนแห่ไปจองซื้อหุ้นในช่วงที่จะเข้าตลาดหุ้น

 

แต่ภายหลังเข้าตลาดหุ้นและเวลาผ่านไปกว่า 2 ปี พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/66 ในส่วนของธุรกิจ Oil มีสาขาเพิ่มขึ้นเพียง 183 สาขา เป็น 2,183 สาขา จากสิ้นปี 2563 ที่มีประมาณ 2,000 สาขา เท่ากับเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 สาขาต่อปี

 

ขณะที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน มีสาขาในประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 2/66 ประมาณ 3,987 สาขา จากช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้นที่มีราว 3,300 สาขา เพิ่มขึ้นประมาณ 700 สาขา หรือเท่ากับ 300 กว่าสาขาต่อปี

 

การเติบโตของ OR ที่ผิดจากความคาดหวัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่หันไป Work from Home ธุรกิจจึงไม่เป็นไปตามแผนและตามที่นักลงทุนคาดหวัง ทำให้สะท้อนออกมาที่ราคาหุ้น 

 

หากเจาะลึกไปที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle พบว่า ในไตรมาส 2/66 มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม 4,231 สาขา แบ่งเป็น ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศไทย 3,987 สาขา จำแนกเป็นสาขาในสถานีบริการ 2,179 สาขา และนอกสถานีบริการ 1,808 สาขา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54.6% และ 45.4% ตามลำดับ 

 

ส่วนร้านคาเฟ่ อเมซอน ในต่างประเทศ มีจำนวน 20 สาขา, ร้านเท็กซัส ชิคเก้น มีเครือข่าย 107 สาขา สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นมีเครือข่าย 117 สาขา ได้แก่ เพิร์ลลี่ ที และ Pacamara Coffee Roasters ธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ มีร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven และภายใต้แบรนด์จิฟฟี่ในประเทศไทย 2,172 สาขา

 

ร้านคาเฟ่ อเมซอน ภายใต้ธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม มีปริมาณจำหน่ายรวม 93 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 2 ล้านแก้ว หรือเติบโต 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 

 

อย่างไรก็ตาม ศรชัย พิทยาพฤกษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เห็นว่า OR ตั้งเป้าระยะยาวขยายการลงทุนทั้ง Oil และ Non-Oil ในต่างประเทศ เพิ่มสัดส่วน EBITDA เป็น 15% ภายในปี 2570 มองกัมพูชาเป็นฐานการเติบโตหลัก 

 

6 เดือนแรกปีนี้ OR มีสาขาสถานีบริการน้ำมันและร้านคาเฟ่ อเมซอน ในกัมพูชา อยู่ที่ 167 และ 230 สาขา คิดเป็น 43% และ 63% ของสาขาในต่างประเทศ (Global) และยังคงเป้าขยายสาขา Mobility ปีนี้ ราว 122 แห่ง ซึ่งครึ่งปีแรกขยายไปเพียง 22 แห่ง และระยะยาวไม่ต่ำกว่า 100 แห่งต่อปี เน้นการขยายเจาะเข้าชุมชนมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจ Mobility มี EBITDA คิดเป็นราว 68% ของทั้งหมด

 

สำหรับธุรกิจ Lifestyle มีเป้าหมายขยายตัวตามการท่องเที่ยวที่เติบโต ในปีนี้มีแผนจะขยายสาขาราว 400 แห่ง โดย 6 เดือนแรกขยายไป 112 แห่งแล้ว และในระยะยาวจะขยายเฉลี่ยราว 300 แห่งต่อปี เน้นเจาะชุมชนเช่นกัน รวมทั้งยังคงแผนหาโอกาสลงทุนในการหาพันธมิตร (Partner) หรือแบรนด์เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมโครงข่ายธุรกิจ Mobility และ Lifestyle ต่อเนื่อง โดยเน้นธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม 

 

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 OR มีโครงสร้างรายได้จากการขายและบริการ แบ่งเป็น Mobility สัดส่วน 90.8%, Lifestyle สัดส่วน 2.8%, Global สัดส่วน 6.3% และอื่นๆ สัดส่วน 0.1%

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการทำธุรกิจในระยะยาวเป็นลักษณะ Conservative ขึ้น สะท้อนการขยายตัวของตลาดในประเทศที่ทำได้ลำบากมากขึ้น สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมามองเป็นโอกาส แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 26.50 บาทต่อหุ้น มองธุรกิจ Lifestyle มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการขยายสาขา ส่งให้กำไรปกติมีโอกาสเติบโตเฉลี่ย 15% ในช่วงปี 2566-2568

 

สำหรับผลประกอบการของ OR งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 5,731.47 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10,412.92 ล้านบาท ขณะที่ 3 ปีย้อนหลังมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีกำไรสุทธิ 8,791.07 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 11,474.03 ล้านบาท และปี 2565 กำไรสุทธิ 10,370.40 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X