สวัสดีครับท่านผู้อ่าน คอลัมน์ฉบับนี้ผมขอพูดถึงหุ้น Hot Hit อย่างหุ้น OR ที่มีกระแสแรงตั้งแต่ช่วง IPO โดยภายหลังการปิดจองซื้อพบว่า มีผู้จองซื้อรายย่อยแสดงความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก จำนวนรายการที่จองซื้อทั้งช่องทางการจองซื้อที่สาขาของธนาคารและช่องทางออนไลน์รวมกว่า 5.3 แสนรายการ นับว่าเป็นการทำรายการจองซื้อหุ้นที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของการขายหุ้น IPO ของบริษัทไทย
ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะมาวิเคราะห์หุ้น OR ว่าจะสามารถปรับขึ้นได้ต่อหรือไม่ หลังปรับขึ้นมาแล้วกว่า 90% จากราคา IPO ผมขอให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหุ้น OR เพื่อทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักหุ้นตัวนี้ดียิ่งขึ้น โดยลักษณะธุรกิจของ OR คือผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็คือสถานีบริการน้ำมัน ปั๊ม ปตท. รวมถึงร้านกาแฟ Amazon และร้าน 7-Eleven ที่อยู่ในปั๊ม ปตท. นั่นเอง ก็คือธุรกิจของ OR ครับ
โดยบริษัทเสนอขายราคา IPO ที่ 18 บาท และเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค ทั้งนี้ บริษัทกำหนดวัตถุประสงค์ใช้เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีก ลงทุนคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ หุ้น OR ยังได้เกณฑ์ Fast-Track เข้า SET50 และ SET100 โดยจะเข้ามาอยู่ใน SET50 และ SET100 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ มาถึงด้านแนวโน้มราคา ซึ่งผมขอแยกวิเคราะห์ออกเป็นด้านปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยด้านกราฟหรือทางเทคนิค
มาเริ่มกันที่ด้านปัจจัยพื้นฐานก่อน ก็ต้องบอกเลยนะครับว่า ราคาหุ้น OR ที่ระดับราคาประมาณ 35 บาท (ข้อมูลราคา ณ ปิดตลาดภาคเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์) เทรดบน P/E ระดับกว่า 30 เท่า และไม่ได้เทียบผลการดำเนินงานในปีนี้นะครับ แต่เทียบกับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปีหน้า หรือปี 2565 เท่ากับราคาหุ้นในตลาดปัจจุบันสะท้อนกำไรในปลายปี 2565 แล้ว ทำให้ไม่มี Upside ทางด้านของปัจจัยพื้นฐาน และหากเทียบ PEG ล่าสุดก็อยู่ในระดับสูงเกือบ 2 เท่าแล้ว (คิดจาก P/E ที่ 30 เท่า เทียบกับกำไรที่จะเติบโตในปี 2565 ที่ระดับประมาณ 17% โดยอิงจากประมาณการของ Consensus จะได้สัดส่วน PEG ที่เกิดจาก 30 หารด้วย 17 ได้ค่าเท่ากับ 1.76 เท่า)
โดยในมุมมองผม หุ้นที่เทรดระดับ PEG สูงกว่า 2 เท่า ถือว่ามีมูลค่าที่ตึงตัวแล้ว ดังนั้นหากหุ้น OR ไปเทรดที่ระดับ PEG จำนวน 2 เท่า จะได้ราคาหุ้นอยู่ที่ 39 บาท ซึ่งผมมองว่าจะเป็นเป้าหมายราคาทางด้านปัจจัยพื้นฐาน หรือราคาระดับ 39 บาท จะเทรด P/E ที่ระดับกว่า 34 เท่า ซึ่งถือว่าสูง เมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกันที่เทรดอยู่ในตลาดต่างประเทศ อาทิ CrossAmerican Partner, Geety Realty, Marathton Petroleum, Sunoco และ TravelCenter จะเทรดที่ระดับ P/E ประมาณ 15-25 เท่า
ดังนั้นสรุปว่า หากดูทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ราคาหุ้น OR ถือว่ามี Upside ที่จำกัดแล้ว โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ระดับราคาประมาณ 39 บาท เมื่อกำหนดให้หุ้น OR เทรดที่ระดับ PEG จำนวน 2 เท่า
มาถึงการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นด้วยปัจจัยทางเทคนิค ซึ่งผมจะใช้ทฤษฎี Elliott Wave มาคาดการณ์แนวโน้มราคาหุ้น โดยตั้งสมมติฐานว่า หุ้น OR ปรับขึ้นในรูปแบบโครงสร้างคลื่น ABC ตามรูปที่แสดง ดังนั้นเป้าหมายของราคาหุ้น OR ตามทฤษฎี Elliott Wave ก็คือเป้าหมายของคลื่น C ซึ่งตามทฤษฎีมักยาวประมาณ 100-161.8% เมื่อเทียบกับความยาวคลื่น A โดยล่าสุดจากรูปจะเห็นว่าราคายังติดแนวต้านบริเวณ 35.00 บาท ซึ่งเป็นระดับความยาว 100%
อย่างไรก็ตาม หุ้นยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ หาแนวต้านถัดไปที่ระดับ 37-38 บาท และ 40 บาท ตามลำดับ เมื่ออิง Fibonacci ที่ระดับถัดไปที่ 123.6-138.2% และ 161.80% ดังนั้นแนวโน้มทางด้านเทคนิคจะมีเป้าหมายราคาอยู่ที่ระดับ 40 บาท ซึ่งจะเห็นว่าใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายทางปัจจัยพื้นฐานเลยนะครับ ซึ่งอยู่ที่ 39 บาท
ดังนั้นทางด้านกลยุทธ์ เนื่องจากมี Upside ทางด้านปัจจัยพื้นฐานเหลือไม่มากแล้ว ผมจึงกำหนดกลยุทธ์ OR เป็นเพียงการเข้าซื้อเก็งกำไรเพื่อรอขายบริเวณเป้า 39-40 บาท โดยมีจุดหยุดขาดทุน หากราคาหุ้นต่ำกว่า 32.50-33.00 บาท ซึ่งเป็นเส้น Uptrend Line ตามรูปที่แสดง หากต่ำกว่าจะเป็นสัญญาณลบในภาพรวมครับ
แล้วพบกันใหม่ในคอลัมน์ฉบับหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล