×

‘OR’ เผยกำไรไตรมาส 3 ลดลง 45.2% พิษโควิดกดดันทั้งธุรกิจ Oil และ Non-Oil

09.11.2021
  • LOADING...
OR

‘OR’ กำไรไตรมาส 3 ปีนี้ลดลงทั้ง YoY (-45.2%) และ QoQ (-41.3%) เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศซบเซา กดดันยอดขายและความสามารถทำกำไร 

 

บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิ 1,892 ล้านบาท ลดลง 45.2% จากงวดเดียวกันปีที่แล้ว และลดลง 41.3% จากไตรมาส 2/64 ที่ผ่านมา โดยบริษัทมีรายได้ขายและบริการ 116,792 ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยระลอกใหม่ในสายพันธุ์เดลตา ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น และเร่งกระจายวัคซีน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดรับนักท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าชะลอตัวลงกว่าคาด แต่ในเดือนกันยายน 2564 สถานการณ์การระบาดในไทยก็ผ่อนคลายลง 

 

สำหรับความต้องการใช้น้ำมันของโลกกำลังฟื้นตัวด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในหลายประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 

 

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นทำให้กลุ่มธุรกิจน้ำมันมีรายได้ขายที่ลดลงเล็กน้อย จากปริมาณการขายรวมลดลง 5.9% โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซิน แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสนี้ 

 

เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ที่รายได้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน 7.4% ตามอุปสงค์ที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันให้ปริมาณขายรวมลดลง อีกทั้งได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ Franchisee ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในการลดอัตราการจัดเก็บค่า Royalty Fee และ Marketing Fee อย่างไรก็ตาม บริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การออกกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การนำกลับบ้าน (Take Away) บริการจัดส่ง (Delivery Service) รวมถึง Drive-Thru ช่วยพยุงให้ยอดขายของ กลุ่มธุรกิจ Non- Oil ไม่ลดลงมากนัก 

 

สำหรับรายได้กลุ่มธุรกิจต่างประเทศนั้นค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ชดเชยกับปริมาณการขายที่ลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในต่างประเทศแถบ CLMV

 

EBITDA ในไตรมาส 3/64 จำนวน 4,051 ล้านบาท ลดลง 1,406 ล้านบาท (-25.8%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 จากกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ที่มีผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง จากปริมาณขายและกำไรขั้นต้นที่ลดลง 

 

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (+8.7%) ตามกำไรขั้นต้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกัมพูชาเป็นหลัก จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศกัมพูชา ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเริ่มผ่อนคลาย 

 

สำหรับภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น (+3.3%) โดยหลักคือ ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง ในไตรมาสนี้บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,892 ล้านบาท ลดลง 1,333 ล้านบาท (-41.3%) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.16 บาท ต่ำกว่าไตรมาสก่อน 0.11 บาท (-40.7%) 

 

สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 9,121 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,253 ล้านบาท (+55.4%) ทั้งจากรายได้ขาย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 34,652 ล้านบาท (+10.9%) และ 3,394 ล้านบาท (+27.1%) ตามลำดับ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ 

 

ในปีนี้ภาครัฐใช้มาตรการการควบคุมที่ผ่อนคลายมากกว่า แต่ก็มีระยะเวลานานกว่าเมื่อเทียบกับรอบแรกในปี 2563 ที่มีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 8% กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ปรับตัวลดลงเล็กน้อยก็ตาม 

 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ถูกกดดันจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ แม้ว่าในบางประเทศ เช่น กัมพูชา จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดลงแล้วก็ตาม ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศลดลง 

 

นอกจากนี้ รายการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง 1,017 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนสูง โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานจากผลกระทบของโควิด อีกทั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ลดลง เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2563 ได้ตั้งประมาณการดังกล่าวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่ได้ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising