×

อ่านเกม ‘OR’ ปั้นค้าปลีกขึ้นแท่นดาวเด่น เน้นร่วมลงทุนแบรนด์ดัง ชูโลเคชันเด่น-ปรับรูปแบบพื้นที่ PTT Station

08.03.2021
  • LOADING...
อ่านเกม ‘OR’ ปั้นค้าปลีกขึ้นแท่นดาวเด่น เน้นร่วมลงทุนแบรนด์ดัง ชูโลเคชันเด่น-ปรับรูปแบบพื้นที่ PTT Station

บมจ. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ขึ้นแท่นหุ้น IPO ดาวเด่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยปรากฏการณ์การกระจายหุ้นแก่นักลงทุนทั่วไปรวมกว่า 500,000 รายทั่วประเทศ 

 

ในรอบเกือบ 1 เดือนหลังจากเข้าซื้อขายวันแรก ราคาหุ้น OR ยังสร้างกำไรให้แก่ผู้ลงทุนถ้วนหน้า เนื่องจากราคาไม่เคยต่ำกว่าราคา IPO (18 บาทต่อหุ้น) โดยกรอบราคาสูงสุดอยู่ที่ 36.50 บาทต่อหุ้น และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 22.10 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ค่า P/E อยู่ที่ 39.95 เท่า

 

ตั้งแต่เปิดตัวว่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ OR เผชิญความท้าทายในสองเรื่องหลักคือ กระแสปฏิวัติพลังงาน (จากพลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานทดแทน) และการเทคโนโลยีที่จะมาดิสรัปต์ธุรกิจค้าปลีก 

 

โดย OR ประกาศแผนธุรกิจและเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเร่งขยายธุรกิจค้าปลีกและขยายกิจการในต่างประเทศ ส่วนธุรกิจน้ำมันที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมนั้นจะขยายธุรกิจในจังหวะปกติ

 

THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสพูดคุยกับ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR ซึ่งได้แก้โจทย์ให้ฟังทีละเรื่อง 

 

จิราพรกล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกของ OR (Cafe Amazon) ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทยและเบอร์ต้นๆ ของโลกนั้น แม้จะมีความท้าทายรออยู่ แต่ OR เชื่อมั่นว่ารับมือไหว เนื่องจากความพร้อมของทีมงานและกลยุทธ์ธุรกิจที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี

 

เพราะธุรกิจค้าปลีกของ OR ไม่ได้เริ่มจากศูนย์​ เนื่องจากปักหมุดอยู่ในโลเคชันของ PTT Station ที่กระจายทั่วประเทศและอยู่ในทำเลที่ดี ทำให้ร้านกาแฟ Cafe Amazon เติบโตขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว 

 

ประกอบกับโมเดลการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อชุมชนในวงกว้าง ทำให้เกิดการรับรู้แบรนด์และสร้างความมั่นคงต่อแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคได้ โดยในสาขาร้าน Cafe Amazon กว่า 3,000 แห่ง 80%เป็นสาขาแฟรนไชส์ 

 

“OR จะไม่โตคนเดียว และ OR ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่าง” 

 

จิราพรกล่าวเพิ่มว่า โมเดลการขยายธุรกิจแบบร่วมลงทุน (Joint Venture) จะเป็นแกนหลักสำหรับการขยายธุรกิจค้าปลีก อาทิ การร่วมลงทุนกับ Flash Express ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย การผนึกกับ CRG ในเครือเซ็นทรัล ตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อขยายธุรกิจ Cafe Amazon ในเวียดนาม

 

รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในร้านชื่อดัง ‘โอ้กะจู๋’ ผ่านการลงทุนระหว่างบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR กับ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด และล่าสุดที่จับมือกับ LINE MAN เปิด Cloud Kitchen ใน PTT Station

 

จิราพรกล่าวว่า OR ไม่เชื่อว่าผู้บริโภคจะมาซื้อสินค้าหรือบริการที่หน้าร้านอีกต่อไป ฉะนั้นก้าวต่อของธุรกิจค้าปลีกของ OR ก็คือการยกสินค้าและบริการขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเชื่อมโยงออฟไลน์สู่ออนไลน์ โดยใช้ Core ของ PTT Station ซึ่งก็คือการมีสาขาเยอะในทำเลที่ดี สร้างกระแสเงินสด เพื่อนำกลับไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีก 

 

“ตอนนี้ OR เป็นค้าปลีกมากกว่า Oli แล้ว แต่ฝั่ง Oil ก็ยังเดินหน้าขยายสาขา PTT Station ตามแผนเดิม” 

 

ในส่วนของธุรกิจ Oil ซึ่งภาพจำหลักในมุมมองของผู้บริโภคและนักลงทุนก็คือ PTT Station มีความท้าทายหลักคือ การปฏิวัติพลังงาน ซึ่ง จิราพร ให้มุมมองว่า ไม่มีอะไรน่ากังวล เนื่องจากสองเหตุผลหลักคือ 1. อุตสาหกรรมพลังงานน่าจะยังไม่เกิดการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ในเร็วๆ นี้ และ 2. PTT Station เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมันมานานแล้ว 

 

ในเหตุผลแรก ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) พบว่าปัจจุบันมียอดจดทะเบียน 2% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด และจากการรวบรวมข้อมูลพบว่ายังไม่มีประเทศไหนบอกว่ารถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นถึง 50%ในระยะ 3-5 ปีนี้ ฉะนั้นยอดขายน้ำมันของ OR ก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม OR ก็ได้ลงทุนสร้างจุดชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ EV ไว้แล้ว เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภค เบื้องต้นลงทุนไว้แล้ว 25 จุด ซึ่งการทำจุดชาร์จไฟไม่กระทบต่อโครงสร้างพื้นที่ภายใน PTT Station นอกจากนี้ OR ยังมีแผนงานปรับพื้นที่ภายในสถานีใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกให้โดดเด่นมากขึ้น ส่วนจุดบริการเติมน้ำมันจะย้ายไปไว้ด้านข้าง ใกล้ทางออกแทน

 

นอกจากนี้ OR ยังเตรียมแผนเชื่อม Ecosystem ของพลังงานทดแทน มาสู่พื้นที่ใน PTT Station ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของรถยนต์ EV ก็มีความเป็นไปได้ที่ OR จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ หรือการจัดสรรพื้นที่เป็นจุดบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น โดยอาศัยจุดแข็งของ PTT Station ที่มีทำเลโดดเด่น อีกทั้ง OR ยังมีสินทรัพย์เป็นที่ดินอีกจำนวนมาก 

 

“ไม่ว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วๆ นี้หรือไม่ OR ก็วางแผนปรับตัวและสร้างการเติบโตกับธุรกิจไว้แล้ว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในสถานีบริการราว 15-20 นาที ซึ่งระยะเวลาเติมน้ำมันและชาร์จไฟนั้นสั้นกว่านั้นมาก อีกทั้งยังพบว่า 60% ของคนเข้ามาที่สถานีบริการเพื่อใช้บริการอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน และการ Spend Time ภายในสถานีบริการ จะทำให้ไอเดีย Living Community ที่ OR สร้างขึ้นมาเติบโตต่อได้” จิราพรกล่าวในท้ายที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising