OR ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 2,757 ล้านบาท ร่วง 58%YoY ตามรายได้ที่ลดลงหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่งแรง กังวลเศรษฐกิจถดถอย แต่มองราคาน้ำมันไตรมาส 3/66 ฟื้น QoQ รับ OPEC+ หั่นกำลังผลิต
วิไลวรรณ กาญจนกันติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารการเงิน บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) หรือโออาร์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 2,757 ล้านบาท ลดลง 58% จากงวดเดียวกันของปี 2565 และลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
โดยในไตรมาส 2/66 OR มีรายได้ขายและบริการ 187,708 ล้านบาท ลดลง 9,706 ล้านบาท หรือ -4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักจากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก จากความกังวลต่อการเกิดสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้ไตรมาสนี้รายได้ขายและบริการของกลุ่มธุรกิจ Mobility ลดลง 6.2% โดยมีปริมาณจำหน่ายรวมลดลง 1.4% จากตลาดพาณิชย์
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น 5.9% โดยเพิ่มขึ้นจากปริมาณจำหน่ายของทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Global ก็ปรับเพิ่มขึ้น 14.9% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศโดยรวม 29.4%
ขณะที่ EBITDA ในไตรมาส 2/66 มีจำนวน 5,210 ล้านบาท ลดลง 717 ล้านบาท หรือ -12.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่อ่อนตัวลง โดยหลักจากน้ำมันอากาศยานที่ปรับลดลง
สำหรับกลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มขึ้นจากภาพรวมกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่ายโดยหลักจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้น 11.9% จากการลดลงของรายได้อื่นโดยหลักจาก PTT Group Supply Chain Collaboration
งวด 1H66 กำไรทรุด 45% พิษราคาน้ำมันร่วง
สำหรับผลการดำเนินงานช่วงครึ่งแรกของปี 2566 OR มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,732 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45% โดยหลักมาจากรายได้ขายและบริการ รวมทั้ง EBITDA ที่ลดลง 3,600 ล้านบาท และ 5,570 ล้านบาท ตามลำดับ โดยหลักเป็นผลมาจากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลง ซึ่งสวนทางกับปริมาณขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน
ขณะที่กำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรของกลุ่ม ธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global ปรับลดลง รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้น 10.9% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้าง บุคคลภายนอก และค่าส่งเสริมการขาย
มองราคาน้ำมัน 3Q66 สูงขึ้น QoQ
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 3/66 มีแนวโน้มค่าเฉลี่ยปรับตัวมากกว่าไตรมาส 2/66 เนื่องจากการประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ในช่วงเดือนเมษายน ประกอบกับการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมของซาอุดีอาระเบียในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการลดส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียในเดือนสิงหาคม 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย IEA คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบในปี 2566 จะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่อุปสงค์ทั่วโลกเติบโต 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้สมดุลน้ำมันขาดดุล 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในครึ่งปีแรกอุปทานน้ำมันมากกว่าอุปสงค์ 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน สวนทางกับช่วงครึ่งปีหลังที่อุปสงค์มากกว่าอุปทานมากถึง 1.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว โดยระดับเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใกล้สิ้นสุดนโยบายการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ทั่วโลกในปี 2566 จากเดิม 2.8% เป็น 3.0% จากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและความกังวลต่อภาคการเงินที่ลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับปัจจัยกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งอุปสงค์ของยุโรปปรับตัวลดลงส่งผลต่อการชะลอตัวในด้านการผลิต โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 77-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล