×

ฝ่ายค้านมอง พ.ร.บ. ประชามติตอบสนองความต้องการรัฐมากกว่า ชี้ ส.ว. ยื่นตีความแก้ รธน. หวังซื้อเวลา

โดย THE STANDARD TEAM
09.11.2020
  • LOADING...
ฝ่ายค้านมอง พ.ร.บ. ประชามติตอบสนองความต้องการรัฐมากกว่า ชี้ ส.ว. ยื่นตีความแก้ รธน. หวังซื้อเวลา

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน เปิดเผยว่าที่ประชุมพรรคฝ่ายค้านได้หารือถึงร่างพระราชบัญญัติประชามติที่รัฐบาลได้เสนอต่อสภา ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติของรัฐบาลยังมีปัญหา ทั้งการรณรงค์ทำประชามติที่เป็นการทำคล้ายกับปี 2559 มองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เกิดการยอมรับ อีกทั้งคำถามที่จะถามยังไม่มีความชัดเจน ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการมากกว่าเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีปัญหา โดยหลังจากนี้พรรคฝ่ายค้านจะทำร่างพระราชบัญญัติประชามติเพื่อเสนอต่อสภาให้พิจารณาควบคู่กันไป พร้อมทั้งจะหารือกับประธานสภาว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวกับพระราชบัญญัติปฏิรูปหรือไม่ และอาจจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยด้วย

 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ย้ำว่าร่างพระราชบัญญัติประชามติของรัฐบาล แม้จะมีการแก้ไขถ้อยคำให้ต่างจากการทำประชามติเมื่อปี 2559 แต่ยังเห็นว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพมากกว่าการรับรองหรือการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงกังวลว่าจะเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ฝ่ายค้านต้องยกร่างพระราชบัญญัติประชามติเพื่อเสนอต่อสภา พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐบาลต้องเร่งรัดเสนอให้เป็นเรื่องด่วน โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ และให้ ส.ส. และ ส.ว. พิจารณาในคราวเดียวกัน

 

ขณะที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่าการทำประชามติมีความสำคัญมาก และจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย แต่พระราชบัญญัติประชามติของรัฐบาลเป็นเหมือนการปิดปากของประชาชน พร้อมฝากถึงรัฐบาลว่าการเริ่มประชามติที่ไม่เป็นธรรมจะเป็นเหมือนการทำลายระบบยุติธรรมและระบบประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเชื่อว่าจะมีคนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากหากออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องการทำประชามติ

 

ส่วน นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพลังปวงชนไทย เห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ก่อนนำความเห็นมาประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประชามติ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการรับฟังหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งมองว่าอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 หรือไม่ 

 

ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เหลือหลังจากนี้คือร่างของ iLaw ที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณา รวมถึงยังมีร่างที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งทั้งหมดอาจจะใช้เวลาอยู่พอสมควร จึงเห็นว่าในช่วงนี้สามารถเสนอกฎหมายประชามติและพิจารณาไปได้พร้อมๆ กัน และยังเห็นว่าสามารถเร่งรัดเวลาให้ทันได้

 

ส่วนกรณีที่ ส.ว. ล่ารายชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยญัตติของฝ่ายค้านขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล เห็นว่าตามกระบวนการกฎหมายนั้นจะต้องผ่านวาระ 3 ก่อนจึงจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และขณะนี้เห็นว่ายังไม่มีช่องทางให้สามารถทำได้ จึงมองว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องกฎหมาย และอาจเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ จึงอยากให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติไปพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน เพราะประเด็นหลักที่จะอภิปรายมีไม่มาก และกฎหมายประเภทนี้สามารถเร่งรัดระยะเวลาให้ทันได้ ซึ่งไม่อยากให้เป็นประเด็นร้อนแรงต่อการชุมนุม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X