ช่วงนี้กระแสเศรษฐกิจโลกกำลังพูดถึงจุดวกกลับสู่แนวโน้มการฟื้นตัวที่น่าจะเกิดในช่วงปลายปีนี้กันหนาหูมากขึ้น ต่างจากภาพก่อนหน้านี้ที่ถูกปกคลุมไปกับสารพัดข่าวลบระลอกแล้วระลอกเล่า โดยเฉพาะความวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะถดถอยจากพิษการขึ้นดอกเบี้ยยาวกว่า 1 ปี เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวมากจากปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก เป็นแรงกดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลก และปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งร่วงมากกว่ารุ่ง
แต่ยังมีประเทศหนึ่งที่ตลาดหุ้น ‘รุ่ง’ มากกว่า ‘ร่วง’ นั่นก็คือ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ครับ แม้จะเป็นตลาดที่เล็กและมีความผันผวนสูง แต่นั่นก็เป็นช่วงระยะสั้นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่าเรากำลังจะเห็นโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ตอบโจทย์โลกยุค AI Transformation เพราะอะไร เรามาดูกันครับ
ศักยภาพของเวียดนาม กับทรานส์ฟอร์มสู่โรงงานผลิตชิปของโลก
เวียดนามในวันนี้ถูกพูดถึงมากบนหน้าสื่อทั่วโลก พร้อมกับขนานนามให้เป็น ‘เสือเศรษฐกิจตัวใหม่’ บ้างก็เรียก ‘มังกรน้อย’ ของโลก นั่นก็เพราะมุมมองเชิงบวกต่ออัตราการเติบโตของเวียดนามที่ก้าวกระโดดด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ที่มาจากเสาหลักทั้งภาคส่งออก ภาคการบริโภค การลงทุน และภาครัฐ
ยิ่งผมเห็นข่าวเวียดนามลงสังเวียนอุตสาหกรรมผลิตชิป ยิ่งเห็นภาพอนาคตของเวียดนามที่กำลังทรานส์ฟอร์มตัวเองเข้าสู่โลก AI หลังจากที่ FPT ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของเวียดนาม ระบุว่า มีคำสั่งซื้อชิปเกือบ 70 ล้านชิ้นจนถึงปี 2025 และกำลังมุ่งเน้นไปที่การขยายในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการฝึกอบรมทางเทคนิค
ปัจจุบันธุรกิจของ FPT มีมูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเสนอบริการ AI Big Data และ Cloud ให้แก่ลูกค้าใน 29 ประเทศ นอกจากนี้ยังเติบโตในด้านการออกแบบชิปและการศึกษาอีกด้วย โดย Truong Gia Binh ประธาน FPT ระบุว่า มองเห็นโอกาสในภาคเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากกฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ บริษัทสามารถนำการผลิตชิปจากสหรัฐฯ มาสู่เวียดนามได้ภายใน 5 ปี และ FPT ยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ในสหรัฐฯ จาก 250-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 และที่สำคัญ FPT กำลังลงทุนในบริการด้านการศึกษา เพื่อลดช่องว่างระหว่างบุคลากรด้านวิศวกรรมชิปของเวียดนาม และตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมให้ได้มากถึง 200,000 คนในปี 2025
นี่ถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิปของเวียดนาม และคาดว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก ขณะที่เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ได้มีการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงของเวียดนาม ซึ่งรวมถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ โดยข้อตกลงนี้สอดคล้องกับความพยายามของเวียดนามในการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
เวียดนามได้อานิสงส์เต็มๆ จากการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจผ่าทางตันโจทย์ใหญ่ ‘ปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน’ ที่ยาวนานของทั้งสองประเทศมหาอำนาจโลก จากปม Trade War มาเป็น Chip War และแน่นอนครับว่าเวียดนามอาจเป็นทางออกใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และความร่วมมือครั้งนี้ย่อมเกิดประโยชน์ Win-Win กับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายด้วย
หากพูดถึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-10 ปี ทำให้ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตของเวียดนามกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก นำโดยอุตสาหกรรมการผลิตและไฟฟ้าที่มีสัดส่วนเกือบ 70%, ภาคอสังหาริมทรัพย์ 16%, ภาคการค้า 4% และอื่นๆ 11% บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า รองเท้า โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นแบรนด์ชื่อดังอย่าง Samsung, LG, Panasonic, Mitsubishi, Hitachi, Lenovo, TCL, Nintendo และ Apple และกำลังขยายไปสู่ Microprocessor ได้แก่ Foxconn, Qualcomm, Intel, Samsung และ Amkor Technology เป็นต้น
นอกจากภาคการลงทุนและภาคการผลิตแล้ว ในภาคการบริโภคของเวียดนามยังเป็นตลาดที่ใหญ่ จากโครงสร้างประชากรของเวียดนามปัจจุบันที่มีอายุเฉลี่ย 32.5 ปี เท่านั้น ล้วนเป็นวัยทำงานมีรายได้ มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และมีการคาดการณ์กันว่าเวียดนามจะมีกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตขึ้นมากใน 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2020 มีจำนวน 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มี 98 ล้านคน คาดว่าในปี 2030 กลุ่มชนชั้นกลางจะเพิ่มเป็น 77 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศที่คาดว่าจะมีจำนวน 104 ล้านคน
และนี่คือศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม กับการยกระดับเป็นโรงงานผลิตชิปของโลกในอนาคต
GDP ช่วง 10 ปีก่อน เติบโตปีละ 9% ส่วนปีนี้ยังโตแรง บริโภคแกร่ง
สำหรับภาพในปัจจุบัน GDP ของเวียดนามปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5.2% และปี 2024 เติบโต 6.5% ซึ่งก็ยังถือว่าเติบโตในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่อ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ภาคการบริโภคก็ยังแข็งแกร่ง หลังจากที่ทางการของเวียดนามมีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็ม ใช้ทั้งนโยบายการเงิน ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลากหลายประเภท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยให้ระบบการเงินลดความตึงตัว และยังใช้นโยบายการคลังผ่านการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เหลือ 8% (จากเดิม 10%) เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย
ในส่วนของภาคส่งออกของเวียดนามที่หดตัวก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดมองว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยตัวเลข Manufacturing PMI ของเวียดนามหดตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 49.7 จุด และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกฟื้นสู่ระดับขยายตัวที่ระดับ 5.1%YoY เป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้าหลักของเวียดนาม อยู่ในโหมดการฟื้นตัว แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ยังมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาดการณ์ไว้
สำหรับอุปสรรคที่ถ่วงเวียดนามอยู่ในเวลานี้ก็หนีไม่พ้นวิกฤตภาคอสังหา ซึ่งรัฐบาลได้ทยอยสางปมร้อนต่างๆ โดยเฉพาะการเข้ามาดูแลภาคธุรกิจอสังหาให้คลี่คลายในช่วงที่ผ่านมา และปัญหากวาดล้างทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ แต่อย่างน้อยวันนี้เวียดนามก็ดูดีขึ้นมากว่าในอดีต ดังนั้นผมจึงไม่อยากให้ตื่นตระหนกกับข่าวร้ายที่พัดผ่านเข้ามา จริงอยู่ว่าอาจจะทำให้เวียดนามเติบโตสะดุดบ้าง กระทบต่อตลาดหุ้นให้ลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เห็น แต่ก็เป็นเพราะการเดินหน้าแก้ปัญหาภายในประเทศ ระหว่างทางก็กระทบความเชื่อมั่นสั่นคลอนอย่างที่คุณๆ เห็นตามข่าวที่ออกมาครับ
แต่หากคุณดูการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2015-2023) พบว่าเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% เมื่อเทียบสัดส่วนต่อ GDP แล้ว มีภาระหนี้สาธารณะอยู่ 40% หนี้ครัวเรือน 25% หนี้ต่างประเทศ 36% ของ GDP
ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงปี 2015-2023 ดัชนี VN ให้ผลตอบแทนถึง 122% อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) เติบโต 9% ต่อปี ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน (ROE) 12.8% ค่า P/E ประมาณ 11.3 เท่า และหนี้สินต่อทุน (D/E) ระดับต่ำ 0.8 เท่า
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ทำให้ผมแปลกใจเลยครับ เพราะผมได้เห็นผลตอบแทนที่ลูกค้า Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม หลายคนที่ลงทุนตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 55.54% ทีเดียวครับ เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดเวียดนามที่ปรับขึ้น 27.67% แน่นอนว่าไม่ได้เท่ากันทุกคนครับ ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะการลงทุนและกลยุทธ์การ DCA (Dollar-Cost Averaging) ที่จะช่วยถัวเฉลี่ยราคาสินทรัพย์ที่ผันผวนของแต่ละท่านด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจของตลาดหุ้นเวียดนามในวันนี้คือ คนเวียดนามเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกันคึกคักทีเดียว โดยจำนวนการเปิดบัญชีหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 150,000 บัญชีอีกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนเวียดนามที่ฟื้นกลับมา และเป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสเติบโตสร้างผลตอบแทนที่ดีในข้างหน้า
คว้าโอกาสลงทุนหุ้นเวียดนามในวันที่ใช่
แม้ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามร่วงลงแรง แต่ถ้าดูผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบันพบว่า ดัชนี VN ยังเป็นบวกกว่า 10.78% (3 ตุลาคม 2023) ค่า P/E ลงมาอยู่ที่ระดับ 15 เท่า ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ขณะที่การเติบโตของ EPS ในตลาดหุ้นเวียดนามก็สอดรับไปกับศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต
หากคุณสนใจลงทุนหุ้นเวียดนาม ผมแนะนำว่า จังหวะที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาในรอบนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ซื้อของถูกเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตในระยะยาวแล้วครับ แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลงทุน คุณจำเป็นต้องลงมือทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลใหม่ๆ และทำความเข้าใจการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนนะครับ เพราะความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลงทุนที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของตัวคุณเองครับ
ถ้าคุณอยากเพิ่มความมั่นใจอีกชั้นหนึ่ง ก็แนะนำให้คุณเข้าไปค้นหาข้อมูลหุ้นเวียดนามได้ง่ายๆ ที่ Jitta.com ที่มีการจัดอันดับ (Ranking) หุ้นในตลาดเวียดนามไว้ครบทุกหุ้นที่มี โดยสามารถเลี่ยงภาคอสังหา แล้วเลือกหุ้นในกลุ่ม Defensive ที่ยังมีการเติบโต ตอนนี้เป็นเวลาที่ใช่ ‘ทยอยสะสม’ และถือลงทุนระยะยาวครับ
แต่หากคุณยังไม่มีความมั่นใจจริงๆ ว่าควรจะเลือกหุ้นเวียดนามอย่างไรดี กลัวขาดทุน ผมแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลครับ คุณสามารถใช้วิธี DCA เพื่อถัวเฉลี่ยราคาในสินทรัพย์ที่ดีและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ช่วยให้คุณสามารถถือสินทรัพย์ผ่านทั้งช่วงขาลงและขาขึ้น
ทั้งนี้ หากต้องการศึกษาข้อมูลการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม รวมถึงกองทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถศึกษาได้ที่ https://jittawealth.com/
สุดท้ายนี้ ผมขอฝากหลักการลงทุนของปู่ Warren Buffett ที่เคยกล่าวไว้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสกับ ‘การเลือกสินทรัพย์ที่ดี’ แต่จริงๆ แล้ว ต้องไม่ลืมว่าอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการลงทุนระยะยาวคือ ‘การซื้อในเวลาที่ใช่’
พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ซื้อในราคาที่เหมาะสม จึงจะอยู่กันได้แบบยาวๆ โดยไม่เจ็บตัว’ เพราะถ้าสินทรัพย์ดีแต่ซื้อมาแพง อันนี้ก็ปิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงๆ เหมือนกัน ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ก็คือ ‘ไม่มีสินทรัพย์ไหนดีในทุกๆ ราคา’
หวังว่าคุณจะได้คำตอบที่ดีลงตัวสำหรับการลงทุนอย่างมีความสุข นอนหลับสบายใจนะครับ