สำหรับในปี 2021 คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในทุกภูมิภาค ผลประกอบการจดทะเบียน และสภาพคล่องในตลาดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความเสี่ยงที่นักลงทุนกังวลมีความผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ความกังวลจากสงครามการค้า การรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Brexit โดยความเสี่ยงที่ลดลงคาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงกลับมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดสารทุนเพิ่มขึ้น
ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 คาดว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประมาณไตรมาส 2-3 ของปี 2021 จากการสั่งซื้อวัคซีนไว้ล่วงหน้า ประกอบกับแรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลัง โดยคาดว่าธนาคารกลางหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป จะยังคงดำเนินมาตรการนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างมาก ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ และทำ QE ในปริมาณที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
แม้ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีนี้ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
1. ความเสี่ยงเรื่องการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะปรับลดลง หากการกระจายวัคซีนมีความล่าช้าและประสิทธิภาพไม่ได้เป็นอย่างคาด
2. จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้า หลังจากที่โจ ไบเดน ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าจะไม่ผ่อนคลายนโยบายภาษีการค้าในทันที และตั้งใจที่จะเผชิญหน้ากับจีนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานนอกเหนือจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งความสัมพันธ์ทางการค้าหลัง Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปอาจมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น หากประเทศหลักในยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำในการเลือกตั้งของเยอรมนีและฝรั่งเศสในปี 2022
3. การตึงตัวของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่เร็วกว่าคาด อาจนำไปสู่ความผันผวนของตลาดหุ้นดังตัวอย่างในอดีต
4. การขึ้นภาษีเงินได้ หากว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นั้นสูงถึง 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้รัฐบาลอาจจะต้องหารายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี และอาจจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมองว่า ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดี ซึ่งนอกจากระดับราคาตลาดหุ้นเอเชียที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ยังได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนด้วยกันอีก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีท่าทีผ่อนคลายลง เนื่องจากมาตรการการแข่งขันทางการค้าของไบเดนจะดำเนินไปในลักษณะที่สามารถคาดการณ์ได้ง่ายกว่านโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ และมาตรการการจับกลุ่มทางการค้าและการลดข้อจำกัดทางการค้าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันภายในกลุ่ม ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าเป็นหลัก
2. แรงหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรม Semiconductor ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะในเกาหลีใต้และไต้หวัน ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี 5G ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
3. ประเทศในเอเชียมีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนสูงกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งประเทศจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กำลังการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว โดยจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจจีนสามารถกลับสู่ระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แล้วตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ยังต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วจะเป็นในช่วงไตรมาส 4 ของปี
สำหรับในปี 2021 นี้ จะเป็นปีแรกที่ประเทศจีนจะนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 มาใช้ โดยแผนพัฒนาดังกล่าวนี้จะผลักดันให้เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น และผลักดันให้ประเทศจีนขึ้นเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับแนวหน้าของโลก อีกทั้งการร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจซึ่งมีขนาดใหญ่เกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก จะเป็นแรงผลักดันต่อการขยายตัวทางการค้าภายในกลุ่มประเทศเอเชียในระยะยาว
ทั้งนี้ เพื่อโอกาสทำกำไรจากตลาดหุ้นเอเชีย บลจ.ไทยพาณิชย์ จึงได้นำเสนอกองทุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Asia Opportunity (SCB Asia Opportunity Fund: SCBAO) โดยเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-16 กุมภาพันธ์ 2021 ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Morgan Stanley Investment Funds (MS INVF) Asia Opportunity Fund (กองทุนหลัก) เน้นการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัวภายใต้กรอบการลงทุนที่ไม่ยึดติดน้ำหนักการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง มีวัตถุประสงค์สร้างผลตอบแทนระยะยาวจากการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น ด้วยสัดส่วนประชากรที่มากถึง 58%จากประชากรทั้งหมด จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เน้นพอร์ตการลงทุนที่เป็น High-Conviction ประมาณ 20-40 ตัว ในหุ้นคุณภาพดี และเข้าซื้อในราคาที่น่าลงทุน กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล