×

โอกาสและความท้าทายของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

26.01.2024
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ปัจจุบันการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป บริษัทไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่จะนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลัก (Primary Listing) การจดทะเบียนควบ (Dual Listing) หรือการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รอง (Secondary Listing) โดยตลาดหลักทรัพย์ที่บริษัทไทยให้ความสนใจ ได้แก่ ตลาด Nasdaq และ ตลาด NYSE ในสหรัฐอเมริกา ตลาด SGX ในสิงคโปร์ และตลาด HKEX ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

 

บทความนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งโอกาสและความท้าทายของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทที่สนใจสามารถนำข้อมูลทั้ง 2 ด้านมาประกอบการพิจารณา เพื่อเตรียมความพร้อมและตัดสินใจในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

 

โอกาสจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

  • การเข้าถึงเงินทุนจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่หลากหลาย: การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ธุรกิจเติบโตและขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศมีโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนสถาบันระดับโลก เช่น Fidelity และ Vanguard เป็นต้น ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนระดับโลก และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศนั้นๆ เช่น กลุ่ม Temasek ในสิงคโปร์    

 

  • การเสริมสร้างภาพลักษณ์และการเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ: การเพิ่มการกระจายตัวและความหลากหลายของกลุ่มผู้ถือหุ้นจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้น โดยการเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจสร้างความได้เปรียบในการแข่ง

ขันเหนือบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้การเจาะตลาดใหม่ๆ นั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น บริษัทแบรนด์หรูแห่งหนึ่งจากอิตาลี ได้ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาด HKEX ในฮ่องกงในปี 2011 เพราะต้องการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) ในจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ณ เวลานั้น  

 

  • การเสริมสร้างความมั่งคั่งและสภาพคล่องให้กับเจ้าของกิจการ: ตลาดหลักทรัพย์ที่เปิดกว้างสำหรับการซื้อขายหุ้น สามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับเจ้าของ และให้ราคาอ้างอิงในตลาดสำหรับการประเมินมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของเจ้าของได้ โดยเจ้าของสามารถขายหุ้นในช่วงการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) หรือในภายหลังได้ ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ ตัวอย่างเช่น ตลาด HKEX ได้มีความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ Shanghai และ Shenzhen ผ่าน Stock Connect Program ซึ่งอนุญาตให้นักลงทุนสถาบันในจีนสามารถซื้อขายหุ้นที่จดทะเบียนกับตลาด HKEX ที่เข้าหลักเกณฑ์ ผ่าน Trading and Clearing Platforms ในจีนได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องอีกทางหนึ่ง

 

  • การเพิ่มอำนาจต่อรองและความน่าเชื่อถือ: การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศช่วยเพิ่มทุนถาวรของบริษัท เพิ่มอำนาจต่อรองสำหรับการเติบโตทางการเงิน และลดความจำเป็นในการจัดหาเงินทุนโดยการก่อหนี้ นอกจากนี้ การเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือกับพันธมิตรทางธุรกิจได้อีกด้วย 

 

  • การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ: บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศสามารถเสนอผลตอบแทนด้วยหุ้น (Stock-Based Compensation) ที่มากขึ้น เพื่อดึงดูดและรักษาผู้บริหารและพนักงานที่มีความสามารถให้ทำงานร่วมกับบริษัทในระยะยาว 

 

ความท้าทายของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

  • การถูกจับตามองจากสาธารณะ: บริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนที่มากขึ้น ทั้งในส่วนของการเสนอขายหุ้นและการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง บริษัทต้องเตรียมพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลในเรื่องต่างๆ เช่น การดำเนินธุรกิจ ผลการดำเนินงาน สัญญาที่สำคัญ และค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง และบริษัทยังต้องรับมือกับแรงกดดันจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของตลาด

 

  • ความต้องการด้านเวลาและทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น: การเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานต้องมีความเข้าใจข้อกำหนดการรายงานของประเทศนั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรที่มากขึ้นเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดการรายงานที่เข้มงวด รวมถึงการจัดเตรียมและจัดทำงบการเงินประจำปีและรายไตรมาส การวิเคราะห์และการอภิปรายของผู้บริหาร (Management Discussion and Analysis: MD&A) รายงานประจำปี และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมและขั้นตอนการปฏิบัติการ และการควบคุมภายในสำหรับการจัดทำรายงานทางการเงิน

 

  • ความคล่องตัวในการตัดสินใจที่ลดลง: การตัดสินใจในเหตุการณ์สำคัญของบริษัทจดทะเบียนจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ บริษัทยังต้องพิจารณาสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายในการตัดสินใจกระทำการใดๆ ที่สำคัญด้วย

 

  • การสูญเสียการควบคุม: การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โดยการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนครั้งแรกจะทำให้ความเป็นเจ้าของในบริษัทลดลง 

 

  • ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น: การเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายที่จากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก และค่าใช้จ่ายภายหลังการดำเนินงานในอนาคตในฐานะบริษัทจดทะเบียน

 

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอาจมีความท้าทายในหลายด้านที่แต่ละบริษัทต้องเตรียมรับมือดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ บริษัท ที่กำลังสร้างความเติบโตทางธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกด้านก่อนตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่จะช่วยท่านในการวางแผนและเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X