×

THE STUDIO (2025) โลกวายป่วงที่สนุกสนานหรรษาของโรงงานขายฝันอลเวง

20.05.2025
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ซีรีส์ตลกเสียดสีวงการหนังในฮอลลีวูดความยาว 10 ตอนจบ เรื่อง The Studio ฝีมือการสร้าง กำกับ เขียนบทโดย Seth Rogan และ Evan Goldberg ซึ่งสตรีมทางช่อง Apple TV+ เป็นผลงานล่าสุดของเรื่องแนวเปิดโปงเบื้องหลังวงการบันเทิง สิ่งละอันพันละน้อยที่ผู้สร้างคัดเลือกมาถ่ายทอดก็ทั้งน่าสนุก ตลก แปลกใหม่ หลายครั้งทั้งขบขันและขื่นขมในเวลาเดียวกัน 
  • The Studio คลาคล่ำไปด้วยเหล่านักแสดงและคนดังที่ไม่ได้เพียงแค่มาโชว์ตัว แต่พวกเขายังสวมบทบาทเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่แอบแฝงธาตุแท้ และหลายครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกเสียงหัวเราะที่คนดูหักห้ามตัวเองไม่ได้ และนั่นทำให้การจำลองบรรยากาศและความเป็นไปของบริษัทหนังสมมติแห่งหนึ่งของฮอลลีวูด ยิ่งดูเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากขึ้น

ถ้าจะมีสักประโยคที่ใช้อธิบายความเป็นเมืองมายาของฮอลลีวูด ก็คงเป็นข้อความที่นักดูหนังล้วนตกผลึกและตาสว่างกันหมดแล้ว สั้นๆ ง่ายๆ นี่คือดินแดนที่ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่มันดูเหมือนเป็น และเบื้องหน้าของผลผลิตที่ติดป้าย ‘เมดอินฮอลลีวูด’ กับเบื้องหลังก็มักจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

 

ข้อสำคัญ หลายครั้งสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นหลังบ้านน่าสนุก เข้มข้นและชวนติดตามยิ่งกว่าดิสเพลย์หน้าร้านอย่างไม่อาจเทียบเคียง หรืออีกนัยหนึ่ง ความอลหม่านและวายป่วงในห้องครัวหยิบยื่นรสชาติที่เอร็ดอร่อยยิ่งกว่าอาหารที่ถูกปรุงรสอย่างหอมหวนและตกแต่งรูปโฉมประดิดประดอย ตัวอย่างมีให้ยกมาสนับสนุนมากมาย กรณีล่าสุดคงหนีไม่พ้นหนังเมื่อปีกลายเรื่อง It Ends with Us ที่โรแมนซ์ของคู่พระนางบนจออาจจะดูดดื่มเร่าร้อน แต่สถานการณ์นอกจอกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ทั้งสองไม่ได้เพียงแค่มีเรื่องขัดแย้งและกล่าวหากันไปมา ทว่าสถานการณ์ยังบานปลายถึงโรงถึงศาล ว่าด้วยเรื่องคุกคามทางเพศ ซึ่งดูวี่แววแล้ว ไม่น่าจะจบสิ้นง่ายๆ

 

 

ซีรีส์ตลกเสียดสีวงการหนังในฮอลลีวูดความยาว 10 ตอนจบ (ตอนละราวๆ ครึ่งชั่วโมงและจบในตอน) เรื่อง The Studio ฝีมือการสร้าง กำกับ เขียนบทโดย Seth Rogan และ Evan Goldberg ซึ่งสตรีมทางช่อง Apple TV+ เป็นผลงานล่าสุดของเรื่องแนวเปิดโปงเบื้องหลังวงการบันเทิง ซึ่งว่าไปแล้ว ถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ (ต้องยกเครดิตให้ Sunset Boulevard ของ Billy Wilder ในฐานะใบเบิกทาง) แต่ก็นั่นแหละ สิ่งละอันพันละน้อยที่ผู้สร้างคัดเลือกมาถ่ายทอด ก็ทั้งน่าสนุก ตลก แปลกใหม่ หลายครั้ง ทั้งขบขันและขื่นขมในเวลาเดียวกัน รวมถึงมันชวนให้เชื่อว่าเรื่องพิลึกพิลั่นเหล่านั้นมีมูลความจริง อันส่งผลแต่ละตอนผ่านพ้นการรับรู้ไปอย่างรวดเร็ว 

 

แง่มุมที่ช่วยเพิ่มความขึงขังจริงจังได้แก่การที่ซีรีส์เรื่อง The Studio คลาคล่ำไปด้วยเหล่านักแสดงและคนดังที่ไม่ได้เพียงแค่มาโชว์ตัว แต่พวกเขายังสวมบทบาทเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่แอบแฝงธาตุแท้ และหลายครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกเสียงหัวเราะที่คนดูหักห้ามตัวเองไม่ได้ และนั่นทำให้การจำลองบรรยากาศและความเป็นไปของบริษัทหนังสมมติแห่งหนึ่งของฮอลลีวูด ยิ่งดูเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากขึ้น 

 

ถ้าหากจะลองเรียงรายชื่อดารารับเชิญคร่าวๆ ก็ได้แก่ Martin Scorsese, Charlize Theron, Zac Efron, Zoë Kravitz, Greta Lee, Ron Howard, Ice Cube, Aaron Sorkins, Zack Snyder เป็นต้น แต่ลิสต์คนดังข้างต้นก็อาจจะไม่สร้างความประหลาดใจเท่ากับการที่ซีรีส์ของ Seth Rogan ซึ่งต้องระบุซ้ำอีกครั้งว่าเผยแพร่ทางจาก Apple TV+ สามารถชักชวน Ted Saranos ซีอีโอของ Netflix มาร่วมแสดงในบทบาทที่ทั้งเหน็บแนมถากถางอุตสาหกรรมหนังและจิกกัดตัวเองอย่างเจ็บปวดและแสบสันทีเดียว

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร แง่มุมที่ทำให้ซีรีส์ The Studio แตกต่างจากหนังและซีรีส์แนวเดียวกัน รวมถึงเป็นการวางปมเรื่องที่เฉลียวฉลาดและช่างคิด เกี่ยวข้องกับตัวละครหลักที่ชื่อ Matt Remick (Seth Rogan) ผู้บริหารสตูดิโอสมมติที่ชื่อ Continental ผู้ซึ่งในตอนเปิดเรื่อง เขาได้รับเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าสตูดิโอแทนเจ้านายของเขาที่เพิ่งถูกไล่ออกสดๆ ร้อนๆ (เพราะเธอทำหนังเจ๊งติดๆ กัน) ความรับผิดชอบหลักๆ ของเขาในฐานะหัวหน้าสตูดิโอคนใหม่นอกจากอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้สร้างหนังเรื่องหนึ่งๆ ก็คือการควบคุมให้แต่ละโปรเจกต์ของสตูดิโอใช้งบประมาณการสร้างน้อยที่สุด และเก็บเกี่ยวผลกำไรให้มากที่สุดทางด้านรายได้ (หรือตามนโยบายของซีอีโอใหญ่ที่ชื่อ Griffin Mill (Bryan Cranston) ที่บอกว่า “ที่นี่เราสร้าง ‘หนัง’ ไม่ได้สร้าง ‘ภาพยนตร์’”) เพราะถ้าหากเขาทำไม่ได้ ชะตากรรมของเขาก็จะไม่แตกต่างจากเจ้านายเก่าที่เขาเพิ่งมาแทนที่ นั่นคือถูกโยนทิ้งเหมือนกระดาษชำระ

 

ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นตำแหน่งที่อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับเดิมพันอันใหญ่ยิ่ง แต่ว่าไปแล้ว ความยุ่งยากของ Matt ก็ไม่เหมือนกับของบรรดาหัวหน้าสตูดิโอตามที่เคยถูกบอกเล่าในหนังหลายๆ เรื่องก่อนหน้า ซึ่งมักจะมีบุคลิกเจ้าเล่ห์ กดขี่ทางเพศ บ้าอำนาจ ทรยศหักหลัง และเลือดเย็น (Kirk Douglas ใน the Bad and the Beautiful, Tim Robbins ใน the Player เป็นต้น) ปัญหาของ Matt ก็คือเขาไม่ได้มองเห็นตัวเองเป็นเพียงแค่ผู้บริหารสตูดิโอ หรือนักธุรกิจภาพยนตร์ที่พยายามผลักดันให้โปรเจกต์หนังแต่ละเรื่องกอบโกยผลประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อีกโสตหนึ่ง เขาถือว่าตัวเองเป็นซีเนไฟล์ ชีวิตของเขาหายใจเข้าออกเป็นภาพยนตร์ และความรอบรู้เรื่องหนังของเขาก็อยู่ในระดับน้องๆ เอนไซโคลพีเดีย นอกจากนี้ เขายังคลั่งไคล้และบูชาบรรดาคนทำหนังชั้นครู (หรือที่ใครๆ เรียกว่า ประพันธกร) เชื่อในมนตร์ขลังของการถ่ายด้วยฟิล์มเซลลูลอยด์ และในอีพี 8 คนดูถึงกับได้ยิน Matt เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน

 

นั่นทำให้สิ่งที่คนดูได้เห็นตลอดทั้งซีรีส์ก็คือ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครจากการที่เขาไม่สามารถหลอมรวม ‘หน้าที่’ กับ ‘ความรัก’ หรืออีกนัยหนึ่ง ‘ศิลปะ’ กับ ‘การค้า’ เข้าด้วยกัน (ประโยคที่อธิบายก้นบึ้งความรู้สึกของตัวละครอยู่ในอีพีแรกที่เขาเอ่ยกับเจ้านายเก่าทำนองว่า เขาเลือกทำอาชีพนี้ก็เพราะเขารักหนัง แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ หน้าที่การงานของเขากำลังทำลายสิ่งที่เขารัก) และผลลัพธ์ของการชักเย่อระหว่างสองสิ่งที่มุ่งหน้าไปในทิศทางตรงกันข้ามก็ลงเอยด้วยสถานการณ์ที่ทั้งน่าขบขันและชวนให้คนดูปลงอนิจจัง 

 

 

สองในหลายฉากที่น่าจะเรียกเสียงหัวเราะสนั่นหวั่นไหว ฉากหนึ่งอยู่ในอีพีแรก ที่เขาแสดงออกอย่างลิงโลดที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ Martin Scorsese มากำกับหนังโปรโมต Kool-Aid เครื่องดื่มยอดนิยมได้ ก่อนจะพบว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดร้ายแรง (เพราะนอกจากหนังของ Scorsese ไม่ได้สนับสนุนการขายสินค้า เรื่องจริงของเหล่าสาวกคลั่งลัทธิที่กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวผสมยาพิษ ก็เท่ากับฆ่าผลิตภัณฑ์นี้ทิ้งทั้งเป็น) และฉากที่พระเอกของเราต้องหาทางบอกข่าวร้ายกับ ‘คนทำหนังที่เป็นปูชนียบุคคล’ ที่หมายมั่นจะปลุกปั้นให้โปรเจกต์หนังเรื่องนี้เป็นงานทิ้งทวนเรื่องสุดท้าย ก็เป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่าราวกับทองคำ และ Scorsese ก็เล่นเป็นตัวเองได้สุดลิ่มทิ่มประตูมากๆ

 

อีกหนึ่งอยู่ในอีพี 3 และเป็นเหตุการณ์คล้ายกัน Matt ต้องแจ้ง Ron Howard ผู้กำกับหนังออสการ์ยอดเยี่ยมเรื่อง Beautiful Mind และเป็นอีกหนึ่งไอคอนของอุตสาหกรรม ให้หั่นหนังของเขาออกสี่สิบห้านาทีเพราะมันทั้งน่าเบื่อ ทั้งยาว รวมถึงกระทบรอบฉายและรายได้ของหนังอย่างแน่นอน Matt พยายามโบ้ยให้คนอื่นทำหน้าที่นี้เพราะไม่อยากถูกคนทำหนังที่เขาชื่นชอบและศรัทธาเกลียดขี้หน้า ยิ่งเมื่อคำนึงว่ากิตติศัพท์ของ Ron Howard คือคนทำหนังที่นิสัยดีที่สุด อ่อนโยนและเป็นที่รักมากที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูด (ตอนที่เขามาถ่ายหนังเมืองไทยเรื่อง Thirteen Lives ทีมงานก็ล้วนพูดถึงเขาทำนองนี้) แถมฉากที่ต้องตัดทิ้งก็ดันบอกเล่าเนื้อหาที่เป็นปมความหลังฝังใจของตัวผู้กำกับอย่างลึกซึ้ง นั่นนำพาให้สถานการณ์เพิ่มความอ่อนไหวเปราะบาง และไม่ว่า Matt จะเล่นบทหัวหน้าสตูดิโอและยืนข้างนายทุน หรือคนรักหนังและปกป้องความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน รูปการณ์ก็ไม่ต่างจากการหนีเสือปะจระเข้

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องบอกว่าซีนไคลแม็กซ์ของอีพี 3 ลงเอยด้วยความรู้สึกระเบิดเถิดเทิงจริงๆ และฉากที่ตัวละครพูดจาทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกันหรือแม้กระทั่งลงไม้ลงมือ ก็ไม่ใช่เรื่องใส่สีตีไข่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง และบางที มันตอกย้ำว่ากว่าจะได้มาซึ่งผลงานที่ออกแบบตัดเย็บเพื่อให้เข้าถึงรสนิยมของคนดูหมู่มากตามระบบการสร้างหนังของสตูดิโอ มันต้องผ่านการต่อสู้ขับเคี่ยว กอดรัดฟัดเหวี่ยงอย่างชนิดเลือดตาแทบกระเด็นตามตัวอักษรจริงๆ

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ความน่าสนุกที่ปะทุมาจากบุคลิกของ Matt อีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาเป็นคนไม่มั่นคงทางอารมณ์และโหยหาการยอมรับในระดับที่เป็นเหมือนปมด้อยส่วนตัว ในอีพี 6 ที่เขาพยายามโน้มน้าวให้พวกหมอๆ ที่รักษาโรคมะเร็งในเด็กยอมรับว่า ภาพยนตร์ก็สำคัญกับชีวิตของผู้คนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการไปหาหมอและโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องปัญญาอ่อนสิ้นดี หรือในอีพี 8 ที่เจ้าตัวพยายามดิ้นรนให้ผู้กำกับหญิงกล่าวขอบคุณเขาในสปีชรับรางวัล และถึงกับอ้อนวอนเธอคนนั้นโดยตรง ก็นับเป็นห้วงเวลาที่ชวนให้คนดูรู้สึกอัปยศอดสูแทนเสียนี่กระไร

 

 

แต่ถ้าหากจะประมวลในภาพรวมแล้ว ซีรีส์เรื่อง The Studio ก็ไม่ได้มองฮอลลีวูดและผู้คนด้วยสายตาที่หม่นมืดและเลวร้ายอย่างสิ้นเชิงเหมือนกับหนังเรื่อง The Player ของ Robert Altman (ซึ่งซีรีส์หยิบยืมชื่อตัวละครเอกของหนังมาใช้ด้วย) จริงๆ แล้ว มันผสมไว้ด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อบอวลไปด้วยความรัก และความศรัทธาอันแรงกล้าในอุตสาหกรรม (ใครจะเรียกว่านี่คือจดหมายรักก็ได้ แต่ก็ฟังดูเลี่ยนไปนิดนึง) เพราะอย่างนี้เอง ขณะที่เราได้เห็นด้านที่ตลบตะแลงปลิ้นปล้อนของตัวละคร ความเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ สัญชาตญาณเอาตัวรอด ความดันทุรังที่น่าหัวเราะเยาะ อีกทั้งขนาดของอีโก้ของแต่ละคนก็ใหญ่โตมหึมา แต่อย่างหนึ่งที่ตัวละครทั้งหมดมีเหมือนกันก็คือสิ่งที่เรียกว่า passion หรือการดิ้นรนและการอุทิศทุ่มเทในการผลักดันให้โปรเจกต์หนังของพวกเขาบรรลุเป้าประสงค์ และพวกเขาก็ทำทุกวิถีทางจริงๆ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการเลียแข้งเลียขา การแทงข้างหลัง หรือแม้กระทั่งก่อวินาศกรรมหนังตัวเอง (เพื่อของบถ่ายทำเพิ่มเติม)

 

 

รวมๆ แล้ว The Studio เป็นซีรีส์ที่ทั้งอัปเดต ทั้งตีแผ่และกะเทาะความเป็นไปของอุตสาหกรรมหนังในฮอลลีวูดได้ปวดแสบปวดร้อนทีเดียว และก็อย่างที่กล่าวข้างต้น ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่มันดูเหมือนจะเป็น ในความหยิ่งผยองและอหังการของเหล่าตัวละคร พวกเขากลับดูไม่มีความหนักแน่นและมั่นคง และในความหลงตัวเองหรือสำคัญตนผิดจนเกินเลย พวกเขาล้วนแล้วดูน่าสมเพชเวทนา

 


 

THE STUDIO (2025)

กำกับSeth Rogan, Evan Goldberg

ผู้แสดง-Seth Rogen, Kathryn Hahn, Ike Barinholtz, Catherine OHara, Chase Sui Wonders, ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising