×

‘ฟ้องไป คุยไป’ แผลใหม่กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้-ปาตานี

21.01.2024
  • LOADING...

หากนับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ประเด็นปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้-ปาตานี ได้เดินทางมาสู่ปีที่ 21 ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ ทัศนะและการให้สัมภาษณ์ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนว่าจะมองการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลัก โดยเฉพาะการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนาชายแดนทางด้านการค้าและการลงทุน

 

นโยบายภายใต้การนำของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

  1. กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร (เป็นครั้งแรกในรัฐสภา)

 

  1. แต่งตั้งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

  1. แต่งตั้ง ‘พลเรือน’ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

  1. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ยังคงประกาศใช้ต่อพร้อมกับการปรับลดบางพื้นที่ (อำเภอปะนาเระและอำเภอรามัน จังหวัดปัตตานี)

 

แต่ในทางกลับกันก็ได้มีการฟ้องร้องนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น

 

  1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ม.116) ต่อกรณีการจัดกิจกรรมเสวนาสิทธิการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี และ ‘ประชามติจำลอง’ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโดยกลุ่ม ‘ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ’ (Pelajar Bangsa)

 

  1. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องคดี ม.116 และข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ต่อแกนนำ 9 คน กรณีการจัดกิจกรรมรวมตัวกันแสดงออกทางอัตลักษณ์ ‘มลายูรายา’ ณ หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

 

  1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ฟ้องคดีกระทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ‘กรณีเปิดเพจชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler’s Club’ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตถูกวิสามัญจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

 

สถานการณ์ย้อนแย้งของรัฐบาลสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่เป็นเอกภาพระหว่างนโยบายทางการเมืองกับหน่วยงานความมั่นคง ราวกับว่าต่างคนต่างทำโดยไม่ได้คุยกัน ฝ่ายการเมืองก็เร่งทำ ‘รุกพื้นที่การเมือง’ เช่น ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ตั้งหัวหน้าพูดคุย และเลขาธิการ ศอ.บต. ใหม่ เพื่อพูดคุย ประชุม หารือ เชิญเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ชี้แจง ซักถาม และลงพื้นที่พูดคุยหารือกับผู้คนหลากหลาย ทั้งนักการศาสนาพุทธ มุสลิม นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม กลุ่มเยาวชน และนักศึกษา ฯลฯ

 

คาดว่าเป็นการเปิดฉากรุกทางการเมืองเพื่อการพูดคุยสะสางปัญหาเก่าระงับปัญหาใหม่ นำเสนอผลการศึกษา และแนวทางแก้ไขต่อสังคมไทย นั่นคือภาพของการรุกทางการเมือง สู่การเมืองนำการทหาร ในกรณีศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

หากทว่าฝ่ายความมั่นคงก็เร่งทำอีกด้านคือ ‘รุกฟ้องทางกฎหมาย’ ต่อกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นการกดกลุ่มพลังทางสังคม (Social Forces) ปิดพื้นที่เสรีภาพไม่ให้ขยับขยายไปกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคของโซเชียลมีเดียที่นักกิจกรรมและกลุ่มพลังทางสังคมในพื้นที่มีปฏิบัติการทางความคิด มีฐานมวลชนที่สมัครใจสนับสนุนอย่างกว้างขวาง และลงมือปฏิบัติในพื้นที่ช่วยเหลือร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปัญหาของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ฯลฯ

 

การที่หน่วยงานความมั่นคงฯ กลับมารุกทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ต่อนักกิจกรรมและกลุ่มพลังสังคมในพื้นที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าสู่โหมดสงครามการเข้ายึดชิงพื้นที่ทางความคิด (War of Position) คือเป็นสงครามที่ต่างฝ่ายต่างพยายามสถาปนาความคิดหรืออุดมการณ์บางอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทางสังคมของตน

 

สำหรับปฏิบัติการรุกทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน

 

  1. ระดับนานาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงการต่างประเทศประกาศลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 เพื่อในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งสมาชิก HRC จะกระทำโดยวิธีการลงคะแนนเสียงแบบลับโดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 192 ประเทศ

 

ทั้งนี้ ประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้จะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี ประชุมปีละ 3 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยในการกลับไปสู่เวทีนานาชาติ ซึ่งตลอดที่ผ่านมาตั้งแต่มีรัฐประหารปี 2557 จนถึงปี 2566 (รัฐบาลคณะรัฐประหาร+รัฐบาลจากรัฐธรรมนูญทหาร) ประเทศไทยแทบไม่ได้มีบทบาทที่สำคัญๆ ในชุมชนนานาชาติ

 

หากทว่าความย้อนแย้งเกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ คือการรุกทางกฎหมาย ฟ้องร้องนักกิจกรรมในพื้นที่ ต่างกรรมต่างวาระ ในห้วงเวลาเช่นนี้ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่อยู่ในพื้นที่ ว่าส่งผลกระทบต่อแนวทางนโยบายต่างประเทศของไทยอย่างไร

 

  1. ระดับประเทศ ด้านรัฐธรรมนูญ ขณะรัฐบาลกำลังจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยน่าจะมีจัดทำประชามติในเร็วๆ นี้ คำถามคือหากเราต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อฉันทมติใหม่ของประชาชน
โดยประชาชน เพื่อประชาชน นั้นความหมายว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญคือพื้นที่ทางด้านการเมืองอันกว้างขวางพอที่จะรองรับความหลากหลายทางด้านความคิด โดยทะเลาะ ถกเถียง โต้แย้ง และแลกเปลี่ยนความใฝ่ฝันทำให้ทุกคนในสังคมปลอดภัยที่จะอยู่ร่วมกัน โดยทะเลาะกันอย่างสันติ กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมายแบบนี้รังแต่จะสร้างปัญหา ลดทอนความไว้วางใจของผู้คนต่อรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกโดยสันติ การสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ปลอดภัยต่อความคิดของผู้คนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

 

  1. ระดับในพื้นที่ ด้านกระบวนการสันติภาพ แนวทาง ‘ฟ้องไป คุยไป’ ของรัฐบาลเศรษฐาได้สร้างความสับสนและความไม่มั่นใจต่อประชาชนในพื้นที่ โจทย์ใหญ่คือ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องคุยกับใคร? หากไม่ใช่ผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งกลุ่มติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ การพูดคุยหาทางออกไม่ใช่คุยแต่ในโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น แต่การคุยนอกโต๊ะก็มีความจำเป็นพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการหารือสาธารณะที่ปลอดภัยต่อกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐ

 

‘ความไว้วางใจ’ ของประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยประสบปัญหากับการสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากและยาวนาน โดยเฉพาะผลกระทบจากการปฏิบัติของรัฐที่ทำให้หลายชีวิตต้องสูญเสียอย่างไม่เป็นธรรม คือความรู้สึกแห่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียชีวิตที่ไม่มีวันได้คืน ทิ้งเหลือแต่ความคับแค้นใจและเสียใจให้แก่คนข้างหลังที่ต้องแบกภาระทางจิตใจอันหนักหน่วง และความคับข้องใจของคนในพื้นที่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีตำแหน่งแต่ไม่มีความเข้าใจ

 

ปรากฏการณ์ ‘ฟ้องไป คุยไป’ อาจจะเป็นแผลใหม่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้-ปาตานี ในปีที่ 21

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X