×

ห่วงโซ่ขี้สงสัย (The Chained Why) จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

15.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อุปนิสัยแรกของนวัตกรคือสิ่งที่เด็กชอบทำกัน นั่นคือการถามคำถามว่า ‘ทำไม (Why)’
  • เมื่อมีคนถาม อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ว่า เขามีเคล็ดลับอย่างไร ถึงสามารถสร้างอะไรออกมาได้เยอะแยะ เขาตอบว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่เขาคิดว่ามีไม่เหมือนคนอื่นคือ เขามี ‘ห่วงโซ่ขี้สงสัย (Chained Why)’ อยู่
  • นวัตกรที่มีห่วงโซ่ขี้สงสัยถือว่ามีแต้มต่อเมื่อเทียบกับคนทั่วไปในการสร้างสิ่งใหม่ เพราะคำว่า ‘ทำไม’ จะพาเราไปพบกับโอกาสในการสร้างนวัตกรรมดีๆ ที่คนอื่นมองข้ามไป

     ณ เวลาเย็น หลังเลิกงาน วันธรรมดาๆ ของชีวิตคนกรุง บทสนทนาระหว่างคุณพ่อและคุณลูกภายในรถยนต์

 

     ลูก: ป๊า ทำไมรถติด

     ป๊า: รถติด เพราะถนนน้อย แต่รถเยอะไงลูก

     ลูก: แล้วทำไมรถถึงเยอะล่ะ

     ป๊า: ก็คนเขาขับรถกันจะออกไปที่โน่นที่นี่กันไง

     ลูก: แล้วทำไมคนเขาถึงขับรถออกมาล่ะ

     ป๊า: ก็ทุกคนมีรถนี่นา

     ลูก: ทำไมทุกคนถึงมีรถล่ะ

     ป๊า: ก็เพื่อความสะดวกส่วนตัวน่ะสิ เหมือนที่เรามีรถไง

     ลูก: แล้วถ้าไปด้วยกัน ไม่สะดวกเหรอ

     ป๊า: …นั่นสินะ…

     บริษัทอย่าง Uber หรือ Grab ที่ทำเรื่องของ Ride Sharing ก็อาจจะเกิดจาก ความขี้สงสัยของเด็กคนนี้ที่ว่า ‘ทำไมทุกคนต้องมีรถคนละคัน’

     ทั้งๆ ที่ตามสถิติแล้ว รถเป็นสินทรัพย์ที่ราคาแพงอันดับ 2 ของคนทั่วไป รองจากที่อยู่อาศัย แต่มูลค่ากลับหดหายลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่วันที่ได้เป็นเจ้าของ

     อีกทั้ง อัตราการใช้งาน (Utilization Rate) ยังต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย ที่เหลือคือจอดทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีคนใช้ ซึ่งน่าคิดว่า ทำไมนะ ทำไม

     ผมบอกไว้ในคราวที่แล้วว่า ‘นวัตกร’ นั้น ใครๆ ก็เป็นได้ หากสร้างกล้ามเนื้อสร้างสรรค์ (Creative Muscle) จากอุปนิสัยที่ถูกต้อง

     อุปนิสัยแรกของนวัตกรคือสิ่งที่เด็กชอบทำกัน นั่นก็คือการถามคำถามว่า ‘ทำไม (Why)’

     ในสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2011 นั้น ยังจำได้ว่ามีชายผู้หนึ่ง ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่ได้มีคนรู้จักมากเหมือนวันนี้

     ชายผู้สร้างบริษัท Paypal, Tesla, SpaceX และ SolarCity เป็นผู้ประกอบการ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายต่อหลายอุตสาหกรรม

     ชื่อของเขาคือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

     อีลอนมาบรรยายที่มหาวิทยาลัย และผมได้มีโอกาสเข้าฟัง มีคนถามเขาว่า “เขามีเคล็ดลับอย่างไร ถึงสามารถสร้างอะไรออกมาได้เยอะแยะ”

     อีลอนหัวเราะ นึกเล็กน้อย แล้วตอบว่า “ผมก็ไม่แน่ใจนะ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าผมไม่เหมือนคนอื่นคือ ผมมีห่วงโซ่ขี้สงสัย (Chained Why) อยู่”

     พอถามว่า มันคืออะไร เขาก็บอกว่าเป็นคุณสมบัติของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่มักจะทำหล่นหายไป นั่นคือการถามว่า ‘ทำไม’ ต่อกันไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้งจนเข้าใจ

     ไม่กังวลว่าคนฟังจะรำคาญหรือลำบากใจในการตอบหรือไม่ ทำไม ทำไม ทำไม ทำไม ถามไปเรื่อยๆ อย่างนั้น สุดท้ายก็จะเข้าใจปัญหาจริงๆ ที่ผู้อื่นอาจจะมองข้ามไป ทำให้เขาเห็นโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ

     สมมติ คุณเดินไปในเมืองแห่งหนึ่ง เจอคนหนึ่งคนอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ คุณถามเขาว่า “แถวนี้มีปัญหาอะไรบ้าง”

     เขาตอบว่า “อยากได้สะพาน”

     คุณจะทำอย่างไร?

     ถ้าเป็นวิศวกรแบบผม เราชอบมากครับ คำตอบชัดมาก เดี๋ยวจัดให้ เราจะมาระดมสมองกันด้วยคำถามประมาณว่า เฮ้ย พวกเรา ลูกค้าต้องการสะพาน เราจะสร้างสะพานอย่างไรให้เขาพอใจ

     เหล่าวิศวกรที่มาช่วยกันระดมสมองก็จะออกความคิดกันอย่างสนุกสนาน สะพานไม้ สะพานเหล็ก สะพานคอนกรีต สะพานแขวน ต่างๆ นานา ที่ขึ้นต้นด้วย ‘สะพาน’

     แต่ถ้าเราเป็นนวัตกรขึ้นมาหน่อย เราอาจจะถามเขาผู้นั้นกลับไป “ทำไมอยากได้สะพานล่ะ”

     คำตอบเดาได้ไม่ยาก “ผมอยากข้ามไปฝั่งโน้นน่ะสิ ถามได้”

     อ้าว ไม่ได้อยากได้สะพาน แต่อยากข้ามไปฝั่งโน้น ทีนี้เรามาระดมสมองกัน ลูกค้าอยากข้ามไปฝั่งโน้น จะทำอย่างไรได้บ้าง

     เรือ, อุโมงค์, เครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์, ชุดว่ายน้ำ คำตอบจะหลากหลายมากขึ้น

     อย่าลืมว่าสะพานไม่ได้ผิดนะครับ สะพานเป็นคำตอบหนึ่งเสมอ เพียงแต่ ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ เราจะมีกลุ่มของทางแก้ปัญหาที่แคบจนเกินไป

     เอ… แต่ว่าถ้าเราใช้ห่วงโซ่ขี้สงสัยของอีลอน และเด็กๆ ถามต่ออีกสักหน่อย พี่เขาคงไม่โกรธนะ

     “ถามอีกสักนิดนะพี่ชาย ทำไมพี่ถึงอยากข้ามไปฝั่งโน้นเหรอ”

     แล้วถ้าคำตอบมันกลายเป็นว่า “อ๋อ ผมคิดถึงแฟนน่ะ”

     คนๆ หนึ่งคิดถึงแฟน มีแม่น้ำกั้นขวางระหว่างเขาและเธอ เขาอยากได้สะพาน ข้ามไปหาหวานใจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่นวัตกรแบบเรา อาจจะต้องลองหาทางเลือกอื่นๆ หรือเปล่า

     โทรศัพท์เครื่องแรกของโลกก็อาจจะเกิดจากบทสนทนาแบบนี้ แชต แอปพลิเคชัน (Chat Application) ก็อาจจะเกิดจากสถานการณ์แบบนี้ เครื่อง Virtual Reality ทำภาพเสมือนจริง จำลองคนรักมาอยู่ตรงหน้า ก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

     สิ่งเหล่านี้ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นคือ นวัตกรรม (Innovation) ที่อาจจะเกิดขึ้น

     แต่สะพานที่มีให้เห็นกันอยู่แล้ว จะให้เรียกว่านวัตกรรมก็คงยาก

     นวัตกรที่มีห่วงโซ่ขี้สงสัยจะถือว่ามีแต้มต่อเมื่อเทียบกับคนทั่วไปในการสร้างสิ่งใหม่ เพราะคำว่า ‘ทำไม’ จะพาเราไปพบกับ ‘โอกาส’ ในการสร้างนวัตกรรมดีๆ ที่คนอื่นมองข้ามไป

     ก่อนกลับมาจากอเมริกา ผมมีโอกาสถามเจเรมี อาจารย์ที่ d.school ว่า “สำหรับคุณแล้ว Design Thinking คืออะไร”

     เขาตอบกลับมาว่า “Design Thinking is not a process to solve a problem. It’s a process to find the right problem to solve.” (Design Thinking ไม่ได้เป็นกระบวนการแก้ปัญหา แต่เป็นกระบวนการหาปัญหาที่ถูกต้อง ก่อนที่จะลงมือแก้)

     นวัตกรรมหลายครั้งไม่ได้เกิดจากการหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ บนปัญหาเดิมๆ แต่เป็นการหาปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ หาโอกาสใหม่ๆ แล้วลงมือแก้มันต่างหาก

     ทำไม ทำไม ทำไม จากห่วงโซ่ขี้สงสัย คำถามเดียวกันจากปากเจ้าเด็กน้อยน่ารำคาญคนหนึ่ง และนวัตกรระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X