เมื่อไม่นานมานี้ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศว่าจะทุบค่าไฟเหลือ 3.70 บาทภายในปีนี้ ถือเป็นการเปิดประเด็นใหญ่ที่ประชาชนจากหลายภาคส่วนพากันตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงไหม แล้วถ้าทำได้จริงจะทำได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ภายใต้แผนไฟฟ้าแห่งชาติ หรือแผน PDP 2024
🟡 การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและบทบาทของ PDP 2024
เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลไทยกำลังหารือถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2024 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ที่จะกำหนดทิศทางการใช้ไฟฟ้าของประเทศ แผนดังกล่าวมีความสำคัญต่อทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยจะผลิตและใช้พลังงานอย่างไรในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
🟡 ทำไมต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด?
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดคือต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ปัจจุบันค่าไฟของไทยอยู่ที่ประมาณ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านบางประเทศ การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติและถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นเหตุให้ราคาค่าไฟไม่คงที่และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งค่าไฟอาจสูงถึง 7 บาทต่อหน่วย ถ้าหากนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มาใช้ในอนาคต
อีกทั้งพลังงานสีเขียวกำลังเป็นที่ต้องการจากภาคอุตสาหกรรมและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเลือกตั้งโรงงานหรือขยายธุรกิจในประเทศที่สามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้ได้
นอกจากนี้ การใช้พลังงานสะอาดยังเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยก็ประกาศเป้าหมายนี้เช่นกัน และหากเรายังคงใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในสัดส่วนสูง จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
🟡 โครงสร้างพลังงานไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน
ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยมีโครงสร้างแหล่งพลังงานดังนี้
🔺 59% จากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ
🔺 19% จากถ่านหินและลิกไนต์ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง
🔺 11% จากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล
🔺 ส่วนที่เหลือจากพลังงานน้ำและพลังงานนำเข้า
แม้ว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา แต่สัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงสูง และต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีต้นทุนที่ไม่แน่นอนและราคาผันผวน
🟡 แล้วทำไมค่าไฟไทยถูกกว่านี้ไม่ได้?
โครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยถูกกำหนดโดยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ต้นทุนการผลิต (Generation Cost), ต้นทุนการส่งไฟฟ้า (Transmission Cost) และต้นทุนการจำหน่าย (Distribution Cost) ในจำนวนนี้ ต้นทุนการผลิตมีสัดส่วนสูงสุด คิดเป็น 70-80% ของค่าไฟทั้งหมด ปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ได้แก่ การพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาผันผวนและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้าน อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ประเทศไทยมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงตลอด 28 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวนมากเกินความจำเป็น ซึ่งส่งผลให้รัฐต้องจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ยังต้องรับภาระค่าบำรุงรักษาและต้นทุนการดำเนินงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคผ่านค่าไฟฟ้า
อีกปัจจัยสำคัญคือโครงสร้างตลาดพลังงานของไทยยังคงเป็นระบบ Single Buyer Model ซึ่งหมายความว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่เพียงรายเดียว และมีอำนาจกำหนดราคาซื้อจากผู้ผลิตเอกชน การขาดการแข่งขันทำให้ต้นทุนไม่สามารถถูกลงได้มากกว่านี้
🟡 แล้วไฟฟ้าไทยควรเดินหน้าอย่างไรต่อ
- เปิดเสรีตลาดพลังงานไฟฟ้า
🔺 โดยปัจจุบันภาคเอกชนยังไม่สามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ปลายทางได้โดยตรง หากสามารถเปิดโอกาสให้เอกชนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้เอง จะช่วยลดการพึ่งพาระบบ Single Buyer และสร้างการแข่งขันในตลาด
- ปรับปรุงการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าให้แม่นยำขึ้น
🔺 ลดการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าความพร้อมจ่ายที่เป็นต้นทุนแฝงในค่าไฟฟ้า
- เพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
🔺 พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานต้นทุนต่ำในระยะยาว รัฐควรสนับสนุนให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Battery Storage) เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนสามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพ
- ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรม
🔺 ลดต้นทุนการจัดส่งและจำหน่ายไฟฟ้า โดยพิจารณาค่าธรรมเนียมการใช้สายส่งที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
🟡 เหรียญอีกด้านของการเปิดไฟฟ้าเสรี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเปิดเสรีพลังงานไฟฟ้าจะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีฝ่ายที่กังวลว่าอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีให้เหตุผลว่า
การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการบริหารจัดการพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่มีความเสถียรมากพอ แถมภาครัฐอาจต้องเข้ามาอุดหนุนค่าไฟให้กับผู้บริโภคในระยะเริ่มต้น ซึ่งอาจเป็นภาระทางการคลัง
นอกจากนี้ การเปิดเสรีอาจทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีเท่าผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการลดค่าไฟ เนื่องจากโครงสร้างตลาดพลังงานที่จำกัดการแข่งขันและต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น การเปิดเสรีพลังงานไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่อาจช่วยลดต้นทุนและเพิ่มการแข่งขัน แต่ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในท้ายที่สุด ผู้บริโภคควรได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับความมั่นคงของระบบพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว
รับชมคลิปฉบับเต็มได้ที่: