×

‘ช่างแม่ง! Mentality’ จิตวิทยาแบบนักกีฬา ที่พา เทนนิส พาณิภัค พลิกคว้าเหรียญทอง

26.09.2023
  • LOADING...
ช่างแม่ง Mentality เอเชียนเกมส์

HIGHLIGHTS

  • ในการแข่งขันกีฬานั้น ความผิดพลาดในการเล่นถือเป็นเรื่องปกติมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสุดยอดนักกีฬาระดับไหน ทุกคนต่างเคยมีช่วงเวลาแห่งความผิดพลาดเป็นของตัวเองกันมาแล้วทั้งนั้น
  • การ ‘ยึดติด’ กับสิ่งที่เราไม่มีไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคือการปล่อยมันไป (Let go) หรือพูดในแบบของเทนนิสก็คือ “ช่างแม่ง” ลืมให้หมด เพื่อเรียกสมาธิของตัวเองกลับมา
  • “ไม่ว่าชนะหรือแพ้ พี่มาแล้ว พ่อมาแล้ว” เสียงนี้ช่วยดึงแขนของพาณิภัคไว้ได้ทันก่อนที่จะร่วงดิ่งลงไปในความมืดมน เพราะเธอก็ยอมรับแล้วว่า ตอนที่คะแนนขึ้นเป็น 23-0 ถอดใจถึงขั้นคิดว่า “อยากเดินกลับเลยได้ไหม”

เห็นสีหน้าของ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แล้วก็พอรู้ว่าจิตใจของเธอทั้งสั่นและหวั่นไหวอย่างรุนแรง

 

จะไม่ให้ใจเสียอย่างไรไหว ในเมื่อในสนามแข่งไม่ได้มีใครเหนือกว่าใครอย่างชัดเจนขนาดนั้นสักหน่อย แต่คะแนนของคู่แข่งกลับขึ้นเอาๆ จู่ๆ จาก 6-0 กลายไปเป็น 23-0 ไปได้

 

มันเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากเมื่อครั้งกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวเมื่อ 2 ปีก่อน ที่สาวน้อยจอมเตะของเราพลิกสถานการณ์ในช่วงท้ายของการแข่งขัน แซงเอาชนะ เซเรโซ อิเกลเซียส ที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘7 วินาทีในตำนาน’

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สถานการณ์เมื่อวานที่หางโจวยากและบีบหัวใจกว่ามาก

 

แต่ด้วยเสียงเชียร์จากบนอัฒจันทร์ที่ครอบครัวของเธอพยายามตะโกนปลุกเร้า ทำให้พาณิภัคคิดอะไรได้บางอย่าง

 

“ช่างแม่ง!”

 

และคำว่า ‘ช่างแม่ง’ นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการพยายามช่วยเหลือจากข้างสนามของโค้ชและทีมงาน การบอกกับตัวเองด้วยคำนี้ช่วยทำให้เธอกลับมามีสมาธิ จนพลิกสถานการณ์กลับมาคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ที่ดราม่าที่สุดครั้งหนึ่งได้สำเร็จ

 

วันนี้เลยอยากชวนกันมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ช่างแม่ง Mentality’ กันสักนิด ว่านักกีฬาแบบ เทนนิส พาณิภัค เขาคิดอะไร ทำไมจึงกลับมาได้ 🙂

 

ในการแข่งขันกีฬานั้น ความผิดพลาดในการเล่นถือเป็นเรื่องปกติมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสุดยอดนักกีฬาระดับไหน ทุกคนต่างก็เคยมีช่วงเวลาแห่งความผิดพลาดเป็นของตัวเองกันมาแล้วทั้งนั้น

 

 

แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักกีฬากลับมาค้นพบชัยชนะในการแข่งขันได้คือเรื่องของจิตใจ ที่นอกจากจะต้องทนรับกับความผิดหวังให้ได้ว่าความผิดพลาดได้เกิดขึ้นแล้ว พวกเขายังต้องพยายามที่จะยอมรับมันให้ได้ด้วย เพื่อที่จะก้าวข้ามไปให้ได้

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับนักกีฬา ในวงเล็บว่า การยอมรับไม่เท่ากับลืม

 

สถาบัน Berkeley Well-Being บอกเอาไว้ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต่อสู้เพื่อสิ่งที่มีความหมายสำหรับเรา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราคาดหวังว่าคนที่เรารักจะอยู่กับเราตลอดไป หรือแม้แต่โกรธเคืองในเวลาที่เราถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

 

เพียงแต่การ ‘ยึดติด’ กับสิ่งที่เราไม่มีไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคือการปล่อยมันไป (Let go)

 

หรือพูดในแบบของเทนนิสก็คือ “ช่างแม่ง”

 

ลืมให้หมด เพื่อเรียกสมาธิของตัวเองกลับมา

 

ในเชิงของกีฬา (หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน) คนเราจะมีสมาธิอยู่กับ 3 สิ่งด้วยกัน คือ

 

  1. อดีต (The Past) – ในขณะที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากอดีต การจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต รังแต่จะทำลายความมั่นใจและทำให้คุณเสียสมาธิ

 

  1. อนาคต​ (The Future) – ถ้าเราประสบปัญหาในการจะปล่อยให้ความผิดพลาดผ่านไป มันจะนำไปสู่ความกลัวที่จะก่อความผิดพลาดขึ้นอีกในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การที่นักกีฬาจะเล่นแค่พอเอาตัวรอด หรือ ‘เซฟตัวเอง’ ได้ไม่เต็มศักยภาพที่มี

 

  1. ปัจจุบัน (The Present) – การทุ่มสมาธิกับปัจจุบันเราต้องปล่อยเรื่องในอดีตให้ผ่านไป ในเวลาเดียวกันก็ต้องลงแข่งแบบ ‘ไม่คาดหวัง’ ถึงอนาคตด้วย คิดแค่การลงแข่งในตอนนี้และเวลานี้ โดยไม่ตัดสินว่าเราทำผลงานได้อย่างไร

 

ครั้งหนึ่ง แมทธิว สแตฟฟอร์ด ซึ่งในเวลานั้นเป็นควอเตอร์แบ็กในทีมอเมริกันฟุตบอลดีทรอยต์ ไลออนส์ (ปัจจุบันอยู่กับทีมแอลเอ แรมส์) กล่าวในปี 2017 เกี่ยวกับความสำคัญของการปล่อยให้อดีตผ่านไป เดินหน้าต่อ และมีสมาธิกับปัจจุบัน

 

“การไปจดจ่อกับความผิดพลาดเป็นการพุ่งความสนใจมาที่ตัวเอง ฉันทำอะไรลงไป? ฉันจะเลี่ยงความผิดพลาดนี้ได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้มันเป็นคำถามที่มีคุณค่ามาก แต่จบเกมแล้วค่อยมาตั้งคำถาม เพราะเพื่อนร่วมทีมทุกคนฝากความหวังกับการเล่นในตอนนี้ พวกเขาไม่ได้อยากรู้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ในขณะที่ยังมีเวลาที่จะสามารถปิดจ๊อบให้ได้สำเร็จ…ดังนั้นพยายามเล่นต่อไป นี่คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง”

 

 

โชคดีที่เทนนิส พาณิภัค ได้สติ รวมถึงขวัญและกำลังใจกลับมาจากเสียงตะโกนของกองเชียร์ในสนาม ซึ่งรวมถึงคนที่บ้านที่บินตามมาเชียร์ถึงเมืองหางโจวด้วย หลังจากที่พลาดโอกาสเมื่อครั้งโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวเมื่อ 2 ปีก่อน

 

“ไม่ว่าชนะหรือแพ้ พี่มาแล้ว พ่อมาแล้ว” เสียงนี้ช่วยดึงแขนของพาณิภัคไว้ได้ทันก่อนที่จะร่วงดิ่งลงไปในความมืดมน เพราะเธอก็ยอมรับแล้วว่า ตอนที่คะแนนขึ้นเป็น 23-0 ถอดใจถึงขั้นคิดว่า “อยากเดินกลับเลยได้ไหม”

 

แต่เมื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เทนนิสจึงคิดได้ว่า “ช่างแม่ง ขอทำให้เต็มที่จนหมดเวลา”

 

Mentality แบบนี้เองที่กลายเป็นจุดพลิกผัน เพราะสมาธิของเทนนิสกลับมาอีกครั้ง ไม่จมอยู่กับอดีต และไม่ได้คิดถึงอนาคต

 

ขอทำปัจจุบัน ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

 

เมื่อจิตใจกลับมาพร้อม สถานการณ์ก็ยังได้รับการแก้ไขให้กลับมาอยู่ในจุดที่มีความหวังอีกครั้ง

 

คะแนนที่ไหล 23-0 ถูกดึงกลับมาเป็น 6-0 พร้อมกับการเปลี่ยนชุดเกราะที่มีปัญหาเป็นชุดใหม่ ทำให้สบายใจขึ้น

 

ตรงนี้ต้องขอบคุณประสบการณ์ของโค้ชเชที่อ่านสถานการณ์ออกว่าเกิดความผิดปกติ จึงรีบประท้วงทันทีตั้งแต่ในช่วงที่ ‘คะแนนไหล’ ขณะที่อีกฟากของสนาม พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และ ธนฑิตย์ รักตะบุตร เลขาธิการสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ก็พยายามอย่างไม่ลดละในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่นักกีฬาที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

 

ทุกคนพยายามสู้ไปด้วยกัน

 

 

เทนนิส พาณิภัค เองก็รับพลังมาใส่ทั้งตัวและหัวใจ ก่อนจะใช้ทั้งฝีมือและประสบการณ์ที่เหนือกว่าไล่เตะทำคะแนนใส่ กัวชิง นักกีฬาคู่แข่งชาติเจ้าภาพ ที่มองมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะเข้าใจว่าเธอเองก็คงไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหมือนกัน และสถานการณ์ที่พลิกผันมันส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ

 

1 นาทีสุดท้ายของการแข่งขัน จอมเตะสาวไทยพลิกสถานการณ์ได้สำเร็จเป็น 12-6 และใช้ความเก๋าประคองตัว จนสุดท้ายคว้าเหรียญทองมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่

 

ที่บอกว่ายิ่งใหญ่นั่นเป็นเพราะว่า ถึงเวทีเอเชียนเกมส์อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบเท่ากับโอลิมปิกเกมส์หรือการแข่งขันชิงแชมป์โลก

 

แต่นี่เป็นเหรียญทองที่ได้มาอย่างยากลำบากและบีบหัวใจที่สุด

 

เป็นการชนะยิ่งกว่าชนะ

 

ชนะทั้งคู่แข่ง ชนะทั้งใจตัวเอง ชนะความไม่ชอบมาพากล

 

และชนะไปด้วยกันกับทุกคน

 

“เซี่ยเซี่ย” ขอบคุณสำหรับการแสดงให้เห็นถึงหัวใจของนักกีฬา และความไม่ธรรมดาของคำว่า “ช่างแม่ง” นะ 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising