×

แบงก์ชาติสวิสหั่นอัตราดอกเบี้ย สะเทือนถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed และราคาทองคำอย่างไร?

02.04.2024
  • LOADING...
แบงก์ชาติสวิส หั่นอัตราดอกเบี้ย สะเทือนถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed และ ราคาทองคำอย่างไร?

ในช่วงโค้งสุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นช่วงที่แห่งการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำ โดยผู้คนส่วนใหญ่มุ่งให้ความสนใจกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  

 

ทั้งนี้ BOJ มีความเคลื่อนไหวทางนโยบายการเงินที่สำคัญ คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก -0.1% สู่กรอบ 0.0-0.1% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2007 ซึ่งถือเป็นปิดฉากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Ultra-Loose Rate) และมาพร้อมกับการยกเลิกการดำเนินมาตรการควบคุมกรอบอัตราผลตอบแทน (YCC) 

 

ขณะที่ Fed และ BOE แม้ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเช่นกันที่ระดับ 5.25-5.50% และ 5.25% ตามลำดับ แต่กระนั้น จากรายละเอียดเอกสารผลการประชุม และการแถลงผลของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และ แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BOE ก็นับว่าได้ชี้นำความเคลื่อนไหวในมุมมองของนักลงทุนต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั้ง 2 แห่ง รวมถึงภาพรวมของแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำของโลกเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ดี การประชุมที่นับว่าสร้างผลกระทบต่อมุมมองของนักลงทุนเป็นอย่างมากและเหนือความคาดหมาย กลับไม่ใช่ธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งดังที่กล่าวไปในข้างต้น 

 

ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์หั่นอัตราดอกเบี้ย หนุนภาพแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงของโลก 

 

ในวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) และ BOE (MPC) ในช่วงเช้ามืดและช่วงค่ำตามเวลาประเทศไทย แล้วยังมีธนาคารกลางชั้นนำอีก 1 แห่งที่แถลงผลการประชุมนโยบายการเงินในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นั่นคือ ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) หรือแบงก์ชาติสวิส 

 

การแถลงผลการประชุมของ SNB ที่ระบุถึงมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% นับเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย โดยในช่วงก่อนการเปิดเผยมติดังกล่าว ผู้เชี่ยวและนักลงทุนในตลาดการเงินต่างคาดการณ์ว่า SNB ยังจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% เช่นเดิม คล้ายกับแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำแห่งอื่น ทำให้เมื่อมติดังกล่าวออกมาค่าเงินฟรังก์สวิสจึงปรับตัวร่วงลงอย่างฉับพลัน สร้างแรงกดดันให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงร่วมด้วย 

 

ทั้งนี้ SNB ได้ชี้แจงเหตุผลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว โดยระบุถึงการประเมินระดับเงินเฟ้อในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีแนวโน้มอยู่ ณ ระดับ 1.4%, 1.2% และ 1.1% ในปี 2024, 2025 และ 2026 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ SNB ที่ 0.0-2.0% จึงเอื้อให้ SNB สามารถลดระดับความเข้มงวดของการดำเนินนโยบายการเงินลงได้ 

 

อนึ่ง การดำเนินการดังกล่าวของ SNB ได้สร้างความเคลื่อนไหวทางมุมมองของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องด้วยการปรับลดครั้งนี้ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของ SNB อีกทั้งยังเป็นธนาคารกลางชาติแรกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ G10 ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย จึงได้ยกระดับมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะ Fed, BOE และธนาคารกลางยุโรป (ECB)   

 

อัตราดอกเบี้ยสวิสถูกหั่น สะเทือนถึงค่าเงินดอลลาร์และราคาทองคำอย่างไร? 

 

ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า Fed ได้มีการแถลงผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งระบุถึงมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ตามคาดการณ์ของหลายฝ่าย แต่ไฮไลต์สำคัญของการเปิดเผยผลการประชุมครั้งนี้มาพร้อมกับรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของ Fed ที่บรรจุคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสุดท้ายของ Fed ในปี 2024 ณ ระดับ 4.6% ซึ่งเท่ากับ Fed ยังคงยืนยันขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 3 ครั้ง คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคม 

 

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ก่อนการประชุม FOMC สหรัฐฯ มีการเปิดเผยข้อมูลด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ยังคงออกมาเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ โดยหากพิจารณา PPI เมื่อเทียบเป็นรายเดือน พบว่าขยายตัวถึง 0.6% ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน หรือนับตั้งเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งการเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ของทั้ง CPI และ PPI นั้นเป็นทิศทางต่อเนื่องจากเดือนมกราคม บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อของ Fed  

 

จากแนวโน้มของเงินเฟ้อดังกล่าวทำให้บางส่วนของตลาดเริ่มให้ความเป็นไปได้ที่ Fed อาจลดคาดการณ์ต่อขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง จึงมีผลให้ช่วงก่อนการเปิดเผยผลการประชุม FOMC ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้น นับเป็นปัจจัยที่คอยกดดันการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อ Fed ยังคงคาดการณ์ต่อขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3 ครั้งตามเดิม ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดหวัง ตลาดจึงมีการเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หรือเพิ่มน้ำหนักต่อโอกาสที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากก่อนหน้าที่หันไปเพิ่มน้ำหนักในช่วงครึ่งหลังของปีมากกว่า ซึ่งสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวร่วงลง หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอย่างร้อนแรง และสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลในเวลานั้นที่ 2,222.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

กระนั้น หากพิจารณาในรายงานประมาณภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอบเดือนมีนาคมอย่างถี่ถ้วน พบว่า สำหรับปี 2024 มีการปรับขึ้นของคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ แต่ทำการปรับลดอัตราการว่างงานลง นอกจากนั้นมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 และ 2026 รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว (Long-Run Rate) ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มระดับอัตราดอกเบี้ยค้างตัวสูงในระยะยาว ทำให้นักลงทุนยังคงไม่วางใจต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed สะท้อนผ่านการปรับตัวลงเพียงจำกัดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อันเป็นส่วนหนุนต่อการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินดอลลาร์ 

 

อีกประการหนึ่ง จากทั้งเอกสารผลการประชุม FOMC และการแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ในรอบนี้ นับเป็นอีกครั้งที่ชี้ว่า Fed ยังไม่อาจสามารถระบุถึงช่วงเวลาในการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ ยิ่งไปกว่านั้น พาวเวลล์ได้ระบุว่า Fed มีความพร้อมต่อการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงที่ยาวนาน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าจำเป็น  

 

จากข้างต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ SNB นั่นคือ นักลงทุนมีการเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed, ECB และ BOE ในเดือนมิถุนายนนี้ แต่หากเทียบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมไปถึงการส่งสัญญาณของธนาคารกลางแต่ละแห่งที่กล่าวไป พบว่า Fed มีศักยภาพในการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงที่ยาวนานมากกว่าธนาคารกลางแห่งอื่น สถานการณ์เช่นนี้ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านทิศทางการปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และการทรงตัวในระดับสูงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 

 

ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยตลาดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ประกอบกับนักลงทุนเริ่มประเมินถึงมูลค่าที่สูงเกินไป (Overvalued) ของหุ้นสหรัฐฯ จากการปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยสถาบันการเงินรายใหญ่อย่าง JPMorgan Chase ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวเช่นกันว่า หุ้นสหรัฐฯ อาจมีการปรับฐานครั้งใหญ่ในระยะอันใกล้นี้ ประเด็นดังกล่าวมีแนวโน้มทำให้ทองคำถูกเข้าซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

 

ด้วยเหตุนี้ ราคาทองคำจึงมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนอย่างแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำที่รวมถึง Fed และแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยล่าสุดราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ระดับ 2,333.48 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่สามารถยืนเหนือระดับดัชนี 104.5 ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์ที่อาจไม่ได้เห็นบ่อยมากนัก จึงแนะนำนักลงทุนจับตาภาวะทางเศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงสถานการณ์ของตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising