×

Silver Bullet (50 bps) ของ Fed ไม่ใช่ ‘ของขวัญ’ แต่เป็น ‘ไพ่ตาย’

23.09.2024
  • LOADING...

ผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับการประชุม FOMC ซึ่งต้องขอบอกกับผู้อ่านก่อนเลยว่า ‘ผิด’ กันทั้งตลาด หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 50 bps สู่ระดับ 4.75-5.00% โดยตลาดส่วนใหญ่มองกันแค่ 25 bps 

 

Dot Plot ชุดใหม่ของ Fed ยังบ่งชี้อีกว่า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะลดลงสู่ระดับ 4.4% ในปี 2024 (ลดอีก 50 bps) และ 3.4% ในปี 2025 (ลดอีก 100 bps) 

 

การกลับทิศของนโยบายการเงินเกิดขึ้นแล้ว และเร็วกว่าที่หลายท่านคิด ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงอยากนำข้อมูลมานำเสนอต่อผู้อ่านว่าอย่าเพิ่งวางใจ เพราะการลดดอกเบี้ยของ Fed ครั้งนี้อาจไม่ใช่ ‘ของขวัญ’ หากแต่เป็น ‘ไพ่ตาย’ 

 

เหตุผลแรกคือตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความคลุมเครือมาก

 

ก่อนอื่นต้องย้ำกับผู้อ่านก่อนว่า เป้าหมายของ Fed ในปัจจุบันคือการควบคุมเงินเฟ้อให้เติบโตอยู่ในระดับราว 2%YoY และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่ระดับ 4% 

 

หากพิจารณาในแง่ของเงินเฟ้อหรือ Core PCE (%YoY) ต้องบอกว่าทำได้ตามเป้าหมายเข้าไปทุกที หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนล่าสุดปรับตัวลดลงสู่การเติบโตระดับ 2.6%YoY อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานหรือ Unemployment Rate (%) ก็ปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน จนล่าสุดทะลุเกิน 4% เรียบร้อยแล้ว มากไปกว่านั้น การจ้างงานนอกภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งล่าสุดเติบโตในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 แสนตำแหน่งต่อเดือน จากในอดีตที่ยืนระดับ 2 แสนตำแหน่งมาได้อย่างยาวนาน

 

อ้างอิงจากข้อมูลของ Bloomberg นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสถดถอยสูงถึง 30% ในขณะที่ Fed สาขานิวยอร์กประเมินว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้านั้นสูงถึง 61% ถือว่าต่างกันพอสมควร ท่ามกลางการรายงาน GDP 2Q24 ของสหรัฐฯ ที่ยังคงเติบโตระดับ 3%QoQ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อไปได้ใน 3Q24, 4Q24 และปี 2025

 

“ในขณะที่เป้าหมายหนึ่ง (เงินเฟ้อ 2%) ใกล้บรรลุ อีกปัญหาก็ปรากฏขึ้น (อัตราการว่างงาน 4%) ท่ามกลางความมึนงงของชุดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าจะถดถอยหรือไม่ถดถอย”

 

เหตุผลต่อมาคือการเมืองสหรัฐฯ เนื่องจากหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์กล่าวว่าจะมองหาผู้มาแทนที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นต้นเหตุของการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ผิดพลาดในปี 2022 แรงกดดันของ Fed จึงมีอยู่พอสมควรเหมือนกันทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมือง

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น บทสรุปของบทความนี้ในมุมมองของผมนั้น

 

“การลดดอกเบี้ยระดับ 50 bps ของ Fed คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า Protective Put หรือ Hedging (ป้องกันความเสี่ยง) จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคลุมเครือ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดถดถอยรุนแรงจริงๆ ก็ถือว่า Fed ได้ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว จะมาโทษ Fed ว่าดำเนินนโยบายช้าไปก็คงจะไม่ได้”

 

การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) หลังจาก Fed First Cut 

 

ตราสารทุน (Equity): เริ่มทยอยขายหุ้นสหรัฐฯ และทยอยสะสมหุ้นเอเชีย ซึ่งรวมถึงหุ้นไทยที่จะได้ประโยชน์จาก 1) การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียจากท่าทีที่แข็งกร้าวและร้อนรนของ Fed ในการลดดอกเบี้ย 2) ความไม่ชัดเจนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงความผันผวนจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income): เพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้คุณภาพดี ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของ Fed

 

ตราสารทางเลือก (Alternatives): เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำที่จะได้ประโยชน์จากทั้งดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง แต่ยังป้องกันความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ผมมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อน้ำมันจากประเด็นอุปสงค์ที่อ่อนแอจากจีน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising