หลัง วันปลดแอกสหรัฐ ที่ประธานาธิบดี Donald Trump ตั้งกำแพงภาษีใส่ทุกประเทศทั่วโลก
“ใครจะกะพริบตาก่อนระหว่างสหรัฐกับจีน”
เป็นคำถามที่ตลาดพยายามหาคำตอบมากที่สุด
แต่ก่อนที่จะมีการเจรจาหรือถอยอย่างเป็นทางการ การเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ถูกตลาดตีความไปแล้วว่าเป็นการถอยของสหรัฐ เสมือน
“สงครามการค้าจบตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น” เนื่องจาก Trump ไม่กล้าพอที่จะเจ็บจริง
ทันใดนั้น หุ้นสหรัฐก็ดีดตัวกลับขึ้นเป็น V shape ดัชนี S&P 500 ล้างขาดทุนตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าทั้งหมด ธีม Sell America ที่ขายหุ้น ขายบอนด์ และขายดอลลาร์ เริ่มตีกลับเหมือน Reciprocal Tariff ไม่เคยเกิดขึ้น
ตลาดกำลังมองโลกการเงินสวยเกินไปหรือไม่ และแค่การกะพริบตาครั้งเดียวของ Trump เท่ากับสหรัฐยอมแพ้แล้วจริงหรือ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ให้ทัน
สำหรับการวิเคราะห์สงครามการค้าในรอบนี้ ผมประเมินว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีนในปัจจุบัน เลยจุดที่เป็นเกมวัดใจ (Game of Chicken) ไปแล้ว และเกมนี้กำลังลากยาวเข้าสู่ War of Attrition หรือเกมแห่งความทรหด ที่ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างสองฝั่งที่แข็งแกร่งพอกัน ทั้งคู่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อการแข่งขันดำเนินต่อไป เกมจะจบก็ต่อเมื่อมีฝ่ายใดยอมแพ้ และต้องเสียรางวัลแห่งชัยชนะไป
ต้นทุนของเกม ผมมองว่าสูงใกล้เคียงกันทั้งคู่แค่คนละแบบ
สำหรับฝั่งจีน ทางตรงมีต้นทุนที่สูงกว่าเพราะเป็นฝั่งที่เกินดุลการค้า สินค้าถูกเก็บภาษีมากกว่า เมื่อเกมเริ่ม คำสั่งซื้อจะลดลงทันที และเมื่อการต่อสู้ดำเนินต่อไป จะต้องลดกำลังการผลิต ปิดโรงงาน ต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น คนงานถูกเลิกจ้าง เงินทุนไหลออก
ภาครัฐจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนหลัก จำเป็นต้องอัดฉีดนโยบายการเงินและการคลัง หาตลาดใหม่ให้ผู้ประกอบการเดิม ไปจนถึงส่งเสริมธุรกิจอนาคต
ส่วนฝั่งสหรัฐ แม้จะมีต้นทุนทางตรงที่ต่ำกว่าแต่ผลทางอ้อมก็ไม่น้อย เพราะภาคเอกชนคือผู้แบกรับต้นทุนหลัก เนื่องจากเป็นผู้จ่ายภาษีนำเข้า หรือจะผลิตเองก็ต้องใช้ต้นทุนสูง กดดัน Margin ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และถ้าเอกชนเลือกที่จะส่งผ่านภาษีไปให้ผู้บริโภค ราคาสินค้าทั้งหมดจะปรับตัวสูงขึ้น กดดันการบริโภคทันที
ความแตกต่างของสหรัฐคือการกระตุ้นจากนโยบายการเงินทำได้ยากเนื่องจากเงินเฟ้อสูง ขณะที่ฝั่งการคลังก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะหนี้ของรัฐบาลสหรัฐแตะระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทางออกอาจต้องปล่อยให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง หรือเศรษฐกิจชะลอตัว กลายเป็นต้นทุนทางการเมืองของ Trump
เมื่อเจ็บแต่ทนได้ทั้งคู่ ก็ต้องเทียบกันต่อที่รางวัลแห่งชัยชนะ ในมุมนี้ ผมมองว่าสหรัฐแสดงออกชัดเจนว่าอยากชนะ
สำหรับจีน รางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับชัยชนะครั้งนี้ คือสามารถกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับในปัจจุบัน
นอกจากนั้นชัยชนะในมุมจีน อาจเป็นการหลบกับดักการเติบโตช้าแบบ Lost Decade ของญี่ปุ่นได้ หรือส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่าจีนไม่ใช่ประเทศที่จะถูกกดดันได้ง่าย ๆ
ในมุมมองของผมชัยชนะระยะสั้น ไม่ใช่รางวัลใหญ่ที่จีนต้องรีบคว้า เพราะแค่ประคองเศรษฐกิจให้ไม่ล้มเหลว ในที่สุดจีนก็จะได้ทั้งหมดแค่ช้าลงหรือเร็วขึ้น
แต่ในฝั่งสหรัฐ ชัยชนะมีความหมายมากกว่าแค่ชะลอการขึ้นเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของจีน
เนื่องจาก Trump มัดรวมความหวังในการดึงฐานการผลิตกลับบ้าน (Reshoring) สร้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปรับกฎใหม่ของการค้าโลก (Reordering Trades) เพื่อให้สหรัฐได้เปรียบทุกประเทศ การใช้ภาษีการค้าเพื่อลดภาระการคลัง ไปจนถึงความพยายามที่จะคงสถานะการเป็นสกุลเงินหลักของดอลลาร์ ทั้งธุรกรรมการค้า การลงทุน ไปจนถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ
แม้จะไม่ได้มีตรรกะหรือเหตุผลชัดเจน แต่เมื่อ Trump ผูกความหวังของเศรษฐกิจทุกอย่างไว้กับภาษีโต้ตอบ จึงเป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะยอมจบทุกอย่างตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเก็บภาษีอย่างที่ตลาดคิด
เมื่อมองผ่านเกมแห่งความทรหด บทสรุปของโลกการเงินอาจแตกต่างออกไป
หากสหรัฐไม่สามารถยืนยันความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการค้าไว้ได้ ความเชื่อมั่นว่าสหรัฐแตกต่างจากทั่วโลก (US Exceptionalism) ที่เป็นแกนกลางของธีม Buy America จะไม่กลับมา
แต่ถ้าสหรัฐดึงดันไม่ยอมแพ้ และยอมแลกทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเงินจะสูงขึ้นมาก กลายเป็นแรงกระแทกใหญ่ใส่ทุกสินทรัพย์ของสหรัฐ หมายความว่า ธีม Sell America จะกลับมาอีกครั้ง
นักชีววิทยาชาวอังกฤษ John Maynard Smith ผู้คิดค้น Game of Attrition กล่าวไว้ว่า
“แก่นแท้ของเกมแห่งความทรหด คือยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งต้องจ่ายแพงขึ้น ผู้ที่ให้คุณค่ากับชัยชนะมากที่สุด จะยอมเจ็บได้มากที่สุด”
ดังนั้น Sell หรือ Buy America จึงเป็นคำถามปลายเปิด เมื่อเกมนี้ไม่จบง่าย นักลงทุนต้องหากลยุทธ์ตั้งรับให้พร้อมครับ
ภาพ: Volodymyr Kalyniuk / Getty Images