**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของนวนิยาย
“…นับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เขาไม่เคยมีความสัมพันธ์กับใครอย่างเป็นตัวเป็นตนที่เรียกได้ว่าเป็นคนรัก หรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แม้กระทั่งการทดลองที่จะคบหากับใครสักคน เขาไม่เปิดตัวเอง…”
ร่างของปรารถนา นวนิยายเรื่องล่าสุดของ อุทิศ เหมะมูล เล่าเรื่องของ ‘เข้าสิง’ ศิลปินวัยกลางคนซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมา 3 ครั้ง รัฐประหารครั้งแรก เขาคือเด็กหนุ่มนักศึกษาหัวขบถ เต็มเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานของวัยรุ่น
ความห่ามระห่ำของชายหนุ่มค่อยๆ ละลายหายไปเมื่อเข้าสู่วัยดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง ขวบปีของชีวิตที่เดินผ่านความสัมพันธ์ได้สร้างรอยแผลให้บอบช้ำและฉีกขาด สะเก็ดแผลถูกเขี่ยเปิดด้วยความใคร่นับครั้งไม่ถ้วน และถูกปิดฉาบทับถมด้วยความทรงจำของเหตุการณ์ทางการเมืองในรัฐประหารครั้งที่สอง พอกแผลเป็นหนา ชินชา ไร้ความรู้สึก “เราไม่รู้สึกอีกแล้ว” เข้าสิงในวัยที่เริ่มจะหลับยากพูดไว้ตอนหนึ่ง
จนกระทั่งหลังรัฐประหารครั้งสุดท้าย ‘วารี’ เด็กหนุ่มแปลกหน้าเข้ามาในชีวิต เด็กหนุ่มคนที่ทำให้เข้าสิงเริ่มแปลบปลาบหวามไหวอีกครั้ง เด็กหนุ่มผู้เข้ามาเกาะกุมมือเขาแล้วถามว่า “แล้วอย่างนี้ พี่รู้สึกไหม?”
อ่านแบบนิยายรักวัยใส เรื่องนี้ก็พอจะเติมความอบอุ่นให้หัวใจได้บ้าง แต่ถ้าอ่านเป็นนิยายดราม่าหรือนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมือง ความบอบช้ำในชีวิตของตัวละคร รวมกับแผลกดทับจากสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงยี่สิบกว่าปีของเรื่องเล่า เราอาจจะซึมเศร้า หดหู่ ไร้ทางออก ถึงขั้นนอนนิ่งขยับตัวไม่ได้ เหมือนอยู่ในภาวะผีอำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สะกิดรอยแผลเป็นที่ทับถมไว้ 25 ปี ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง
อุทิศแบ่งนวนิยายเรื่องนี้เป็น 6 บท เริ่มแรกที่ ‘เข้าสิง’ ในวัย 42 เขาแอบมองเด็กหนุ่มริมสระว่ายน้ำ และจับจ้องใช้ร่างนั้นเป็บแบบให้เขาวาดรูป ยิ้มของเด็กหนุ่มในชั่วขณะหนึ่งดึงเขาย้อนไปยังช่วงวัย 17 อันแสนทะเยอทะยาน เริ่มต้นชีวิตในวิทยาลัยศิลปะต่างจังหวัด กวีสาวรุ่นพี่ที่เข้าสิงต้องการครอบครองหมายเป็นรักครั้งแรก และความใคร่กำหนัดของเด็กหนุ่มผู้อยู่หอพักตามลำพัง
ในวัยนั้นเขาไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพฯ เพียงเพราะต้องการตามกวีสาวคนนั้นไป เหตุสลายการชุมนุมกลางเดือนพฤษภาคม 2535 ซึมเข้าไปในรอยแผลของเขายังไม่ลึกนัก
ร่างของปรารถนา เล่าเรื่องโดยใช้แฟลชแบ็กในแทบทุกบท อุทิศเล่าเรื่องปัจจุบันของเข้าสิงและเด็กหนุ่มที่เขาแอบจับจ้องริมสระน้ำ ซึ่งเรารู้จักชื่อเขาว่า ‘วารี’ ในบทต่อมา วารีขอเป็นเพื่อนกับเข้าสิงทางเฟซบุ๊ก และเสนอตัวเป็นแบบให้เขาวาด “พี่อยากวาดผมไหม” เด็กหนุ่มฉุดความทรงจำของเขาย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลารับน้องของมหาวิทยาลัย ตั้งคำถามกับระบบอุปถัมภ์ในวงการศิลปะ ชีวิตสองปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยกับ ‘รักเจ้า’ หญิงสาวผู้ป้อนเซ็กซ์ให้กับความหิวกระหายในเรือนร่างที่ไม่มีวันอิ่ม และฝากรอยแผลของความสัมพันธ์บาดลึกไว้ในหัวใจของเข้าสิง
ผ่านไปครึ่งเล่ม ในขณะที่วารีเริ่มขยับเข้ามาชิดใกล้ บาดแผลในอดีตของเข้าสิงยิ่งถูกแคะสะเก็ดให้เห็นร่องรอยที่บาดลึก บนฉากหลังคือการก้าวสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะอยู่ถึงสองสมัย เข้าสิงในวัยทำงาน ซึ่งความรู้สึกทะเยอทะยานอย่างวัยหนุ่มกำลังตายไป
เขาเริ่มความสัมพันธ์อันแสนสับสนและซับซ้อนกับ ‘ฟ้า’ หญิงสาวเพื่อนร่วมงาน และ ‘น้ำ’ ชายหนุ่มพนักงานร้านเช่าหนังซึทายะ ความสัมพันธ์สามเส้าที่เจ็บปวดและแตกสลาย ประโยค “พี่ทำลายผม” จะติดค้างอยู่ในโสต พร้อมกับภาพผู้คนออกไปเสียบดอกไม้ที่ปลายกระบอกปืน ความเจ็บปวดกัดกินเข้าไปลึกสุดถึงหัวใจ พร้อมกับการสร้างเปลือกหนาห่อหุ้มตนเองเอาไว้ตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปีต่อมาที่เกิดการรัฐประหารอีกสองครั้ง
ชีวิตบีบอัดความรวดร้าวใส่เข้าสิงเสียจนเราไม่สามารถคาดเดาทางออกได้ จุดสุดท้ายกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ เมื่อนักเขียนโยน ‘วารี’ เด็กหนุ่มผู้อัดแน่นไปด้วยฮอร์โมนพลุ่งพล่านของวัยแรกรุ่นมาวางไว้ใกล้ๆ หัวใจอันเยือกแข็งของเข้าสิงในวัย 42 อันโรยรา ไร้ความต้องการ ไร้ความปรารถนา
นวนิยายจากปลายพู่กันบนแคนวาส
อุทิศเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หลังจากเขียนนวนิยายเรื่อง ‘จุติ’ เสร็จ เขาอยากกลับมาวาดรูปอีกครั้งหลังจากไม่ได้จับพู่กันมานาน เขาคิดว่าจะทำอย่างไรให้การวาดรูปเป็นส่วนหนึ่งของแบบร่างนวนิยาย ไม่เป็นแค่เพียงภาพประกอบ แต่ให้ทุกอารมณ์ที่อยู่ในฝีแปรงเกิดเป็นภาพร่าง กลายเป็นเค้าโครงให้กับพล็อตนวนิยายเรื่องใหม่ของเขา
หากใครติดตามอุทิศทางเฟซบุ๊ก คงเคยเห็นรูปวาดที่เขาโพสต์เป็นระยะ รูปวาดสรีระชายหนุ่ม เรือนร่างของหญิงสาว การร่วมรัก และการสำเร็จความใคร่ หลังจากอ่านนวนิยายจบแล้ว เราจะเห็นการซ้อนทับกันของตัวตนของนักเขียนในโลกความเป็นจริง กับตัวละคร ‘เข้าสิง’ ในนวนิยาย ผสานกลมกลืนกันจนคิดไปได้ว่า นี่คือนวนิยายที่สะท้อนตัวตน แรงปรารถนา ความรู้สึกนึกคิด และความอัดอั้นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาของเขา
แทบจะแยกไม่ขาด ระหว่างอุทิศที่เราติดตามเขาทางเฟซบุ๊ก กับตัวละครเข้าสิงในนวนิยาย
เซ็กซ์ เรือนร่าง และความปรารถนา
เรื่องราวทั้งหมดใน ร่างของปรารถนา ดำเนินเรื่องผ่านฉากอีโรติกอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เช่นเดียวกับภาพวาดสรีระและเรือนร่างที่ดิบกร้านของอุทิศที่เราเห็นเขาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ความรักอันไร้ประสาของเด็กหนุ่มวัย 17 ที่เป็นเพียงความลุ่มหลงในตัวกวีสาวรุ่นพี่ก็ทำเอาเด็กหนุ่มร้อนรุ่มเหมือนเป็นไข้ ความใคร่ถูกบำบัดด้วยการช่วยตัวเอง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ ‘ผี’ มุดผ้าห่มมาสิงสู่ปรนเปรอเด็กหนุ่มในยามดึก
เซ็กซ์ถูกใช้อธิบายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้นระหว่างเข้าสิงกับตัวละครอีกหลายคนต่อมา ความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวในนวนิยาย เล่าผ่านฉากเซ็กซ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไต่ระดับความเดียงสาของวัย จากผ่อนคลายกลายเป็นความรุนแรง จากรุ่มร้อนกลายเป็นความสับสนและขัดขืนต่อต้าน อุทิศบรรยายฉากอีโรติกอย่างเปิดเปลือย ยั่วยวน และดึงคนอ่านเข้าไปเพ่งจ้องในระยะประชิดโดยไม่ต้องลังเลว่าผิดศีลธรรมหรือไม่
และหลายต่อหลายครั้ง เซ็กซ์ในนวนิยายถูกใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเปรยประวัติศาสตร์การเมืองที่อุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับความใคร่กระหายที่ไม่มีวันหมดลง
“…เหมือนอวัยวะเพศของคนเรา … ตื่นเร้าในเรื่องต้องห้าม ต้องการความสุขสำราญมากกว่าหน้าที่ของการสืบพันธุ์ บางคราวก็ไม่ฟังสมองและใจ อยู่ในส่วนของสัญชาตญาณ ไร้เดียงสาต่ออนาคต และไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เอาเสียเลย คืองุ่นง่านจะเอาให้ได้เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้เท่านั้น อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่สน มืด ดับ และบอดลงเดี๋ยวนั้น และมันไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็เพราะว่าทุกครั้งที่คุณชักว่าวหรือเอากับใครสักคน ภาวะเสียวและสุขสุดยอดนั้นเป็นสิ่งใหม่ทุกครั้ง มันไม่เคยอธิบายตัวความสุขนั้นซ้ำสักครั้ง เพราะถ้ามันซ้ำ คุณคงเลิกทำไปนานแล้ว…”
การเมืองที่ไร้ทางออก หัวใจที่ไร้เลือดสูบฉีด
ในนวนิยาย ความต้องการของเรือนร่าง ยังเกิดเป็นภาพซ้อนทับกันกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ฉากเซ็กซ์ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่สะท้อนความต้องการในความสัมพันธ์ของความรักและใคร่ แต่ชั้นเชิงของมันยังประกอบร่างแฝงนัยแห่งการกดทับ ความอยุติธรรม และความรุนแรงบอบช้ำจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ที่ฉายภาพทับซ้อนลงไปในความใคร่กระหายของเรือนร่างเหล่านั้น
ในช่วงครึ่งหลังของนวนิยายที่เข้าสู่ภาวะรัฐประหารอีกสองครั้ง กับเรือนร่างที่เริ่มเฉยชา ไร้ความรู้สึก และทุกข์ทรมานกับบาดแผลที่ชีวิตฝากไว้ให้ เกิดเป็นภาวะหยุดนิ่ง ชะงักงัน แช่แข็งความต้องการของผู้คนไว้ เช่นเดียวกับการแช่แข็งความปรารถนาของประเทศ จนคำพูดของเข้าสิง “เราไม่รู้สึกอีกแล้ว” แทบจะกลายเป็นคำพูดแทนความสิ้นหวังของผู้คนที่มีต่อประเทศ
รูปเล่มที่เชื้อเชิญผู้อ่านเข้าร่วมประสบการณ์กับตัวละคร
ร่างของปรารถนา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ถูกออกแบบรูปเล่มโดยการปิดผนึกเอาไว้ เปิดดูก่อนไม่ได้ ปกนอกมีเพียงชื่อหนังสือ ชื่อผู้เขียน และบาร์โค้ดแสดงราคาบนพื้นไล่เฉดสีบนปกหลัง ด้านสันที่ปิดผนึกเอาไว้มีรอยปรุบนกระดาษ ผู้อ่านต้องแกะ ฉีก เพื่อเปิดเปลือยเรื่องเล่าที่อัดอยู่บนแผ่นกระดาษ 232 หน้าข้างใน
“คนอ่านแต่ละคนจะมีประสบการณ์ครั้งเดียวกับนิยายเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่คุณกระทำต่อมัน คุณสร้างรอยแยก สร้างบาดแผลกับหนังสือของคุณเอง”
กลับมาที่ปกหนังสือ เราจะเห็นตัวอักษรแบบพิเศษที่ประกอบกันเป็นชื่อเรื่อง แต่ละตัวอักษรโค้งตวัดคล้ายภาพวาดสรีระของมนุษย์ เส้นโค้งเว้าเหมือนร่างที่เปลือยเปล่า เผยให้เห็นหน้าอก ก้น ยอดปทุมถัน และลำลึงค์
นอกจากภาพวาดแล้ว อุทิศเคยเล่าให้ฟังว่า เขายังต้องการแทรกฟอนต์ที่ออกแบบเป็นพิเศษนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเสียงเล่าในนวนิยายด้วย การอ่านนวนิยายเรื่องนี้ทั้งเล่ม เราจะเห็นการจงใจใช้ฟอนต์พิเศษนี้กับบางคำ บางวรรค บางย่อหน้า จนกระทั่งกลืนกินไปเกือบทั้งบท อุทิศจงใจใส่รหัสอารมณ์เข้าไปในการใช้ฟอนต์กระจายอยู่ตามหนแห่งในเรื่องเล่า รอให้ผู้อ่านถอดรหัสนั้นออกมา
ตอนที่เราอ่านเจอ เราอาจจะขนลุก เสียวซ่าน สั่นระริกเหมือนถูกเข้าสิง หรือนิ่งค้างจนไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองกำลังตื่นอยู่ หรือหลับลึกม่านตากะพริบราวกับถูกผีอำ
เรื่องราวยังไม่จบแค่ในหนังสือ
เมื่ออ่านนวนิยายจบและพลิกไปจนถึงหน้าสุดท้าย เราจะพบกับแผ่นกระดาษที่มีรอยปรุให้ฉีกพร้อมคำเชิญระบุวัน เวลา และสถานที่
“ขอเชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปะ ร่างของปรารถนา เข้าสิงโดย อุทิศ เหมะมูล”
และในวัน เวลา และสถานที่แห่งนั้น คุณกำลังก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในนวนิยายเรื่องล่าสุดของเขา… อุทิศ เหมะมูล