×

มวลความเหงาของ ‘ชายที่คนรักจากไป’ รวมเรื่องสั้นอารมณ์หว่องเล่มล่าสุดของ ฮารูกิ มูราคามิ

โดย Readery
06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ชายที่คนรักจากไป คือหนังสือรวมเรื่องสั้น 7 เรื่อง เล่มล่าสุดของฮารูกิ มูราคามิ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2014 ฉบับแปลภาษาไทยออกมาในปี ค.ศ. 2016 และฉบับภาษาอังกฤษเพิ่งวางแผงกลางปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา
  • มูราคามิเขียนในบทนำว่า เขาอยากถอดลักษณะและความรู้สึกของผู้ชายที่คนรักจากไปออกมาให้เข้าใจได้ง่ายในรูปของเรื่องราวหลากหลาย แต่ละเรื่องจึงเป็นเรื่องของชายที่คนรักจากไปในความหมายตรงตามตัวอักษรคือ พวกเขาถูกผู้หญิงทอดทิ้ง หรือกำลังจะถูกทอดทิ้งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

     “วันหนึ่งจู่ๆ คุณก็กลายเป็นพวกผู้ชายที่คนรักจากไปวันนั้น ไม่มีการเตือนล่วงหน้าหรือมีการบอกใบ้เลยแม้แต่น้อย มันมาเยือนคุณโดยไม่คาดฝัน ไม่มีทั้งลางสังหรณ์และลางบอกเหตุ ปราศจากเสียงเคาะประตูและเสียงกระแอมไอ พอเลี้ยวตรงหัวมุมถนนไป คุณก็จะรู้ตัวเองอยู่ตรงนั้นแล้ว…”

 

     ใกล้เที่ยงคืน ผมโพสต์รูปชายหนุ่มนั่งดื่มโดดเดี่ยวในร้านเหล้าญี่ปุ่น พร้อมประโยคท่อนดังกล่าวที่มาจากเรื่องสั้น ชายที่คนรักจากไป ของฮารูกิ มูราคามิ อีกครู่เดียวหลังจากนั้น เพจกระทำความหว่องก็แชร์รูปและข้อความจากสเตตัสของผมไปให้ ‘พวกผู้ชายและผู้หญิงที่คนรักจากไป’ ที่ยังรอกระทำความหว่องอยู่กลางดึกในค่ำคืนนั้น

     คุณถาม “ทำไมข้อความในเรื่องเล่าของมูราคามิถึงโดนใจคนโดดเดี่ยวได้ทุกครั้ง”

     ผมตอบ “โดยเฉพาะถ้ามาจากนิยายสามเล่มนี้ Norwegian Wood, Sputnik Sweetheart และ South of the Border, West of the Sun รวมเรื่องสั้น ชายที่คนรักจากไป เล่มล่าสุดนี้ก็คงจะตามเข้าไปอยู่ในลิสต์เรียบร้อย”

 

 

รวมเรื่องสั้น ชายที่คนรักจากไป

     ชายที่คนรักจากไป รวมเรื่องสั้น 7 เรื่อง พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2014 ฉบับแปลภาษาไทยออกมาในปี ค.ศ. 2016 และฉบับภาษาอังกฤษเพิ่งวางแผงกลางปี ค.ศ. 2017 นี้เอง

     มูราคามิเขียนไว้ในบทนำของเล่มว่า เขาอยากถอดลักษณะและความรู้สึกของผู้ชายเหล่านั้นออกมาให้เข้าใจได้ง่ายในรูปของเรื่องราวหลากหลาย แต่ละเรื่องจึงเป็นเรื่องของชายที่คนรักจากไปในความหมายตรงตามตัวอักษร คือพวกเขาถูกผู้หญิงทอดทิ้ง หรือกำลังจะถูกทอดทิ้งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

     เรื่องสั้น 2 เรื่องแรกมาจากชื่อเพลงของ The Beatles เรื่องแรก Drive My Car เรื่องของดาราชายวัยกลางคนที่ภรรยาจากไปด้วยโรคมะเร็ง และเขารู้มาโดยตลอดว่าภรรยามีความสัมพันธ์กับชายอื่นแบบลับๆ และทั้งๆ ที่รู้ เขาเองกลับสวมบทบาทนักแสดงเล่นบทสามีภรรยาที่ดูดีมีความสุขจนกระทั่งเธอจากไป

     Yesterday เรื่องของนักเขียนชายที่ทุกครั้งเวลาได้ยินเพลงของ The Beatles เพลงนี้คือความทรงจำในช่วงวัย 20 ที่เพื่อนสนิทของเขาเสนอให้ออกเดตกับแฟนสาวของตัวเอง หลังจากเดตครั้งที่สอง เพื่อนของเขาหายตัวไปอย่างลึกลับและเขาก็ไม่ได้สานต่อเดตที่สาม

 

     “เรื่องราวต่างๆ ในตอนนั้น ผมรู้สึกราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานดังชื่อเพลง เสียงเพลงทำให้ความทรงจำแจ่มชัดขึ้น และบางครั้งพลังของมันกระตุ้นให้รู้สึกเจ็บแปลบในหน้าอก”

 

     อวัยวะเอกเทศ นายแพทย์เพลย์บอยผู้ไม่เคยปล่อยตัวเองให้อยู่ในห้วงรัก แต่ในที่สุดเขาตกหลุมรักผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกแล้ว ก่อนจะตามมาด้วย ‘โรครัก’ เมื่อฝ่ายหญิงทิ้งเขาไปและปิดท้ายเรื่องด้วยความน่าสะเทือนใจ

     เซเฮราซาด เล่าถึงชายผู้อาศัยอยู่ใน ‘เฮาส์’ ซึ่งมีแม่บ้านคอยดูแลบ้าน หุงหาอาหาร และความสัมพันธ์บนเตียง ปิดท้ายที่ทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้พิเศษ คือทุกครั้งหลังจากมีเซ็กซ์ แม่บ้านจะเล่าเรื่องสมัยแอบย่องเข้าบ้านเพื่อนชายที่เธอแอบชอบตอน ม.5 และทุกครั้งเธอจะทิ้งปริศนาเอาไว้จนเป็นที่มาของชื่อ เซเฮราซาด เจ้าหญิงในเรื่องอาหรับราตรี

     คิโนะ ชายหนุ่มผู้ฝังความเจ็บปวดเอาไว้ ตั้งแต่วันที่จับได้ว่าภรรยากำลังนั่งคร่อมเพื่อนร่วมงานคนสนิท เปลือยเปล่าอยู่บนเตียงในห้องนอนของเขาเอง เรื่องสั้นเรื่องนี้มีองค์ประกอบของมูราคามิครบถ้วน – ชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยว เพื่อนร่วมงานคนสนิทที่แอบมีสัมพันธ์กับภรรยาของเขา บาร์แจ๊ซ แมวจรจัดสีเทา เซ็กซ์กับหญิงสาวผู้ปรากฏตัวในคืนฝนตก ลางบอกเหตุกะทันหันที่ทำให้ชายหนุ่มต้องออกเดินทาง เสียงเคาะประตูกลางดึก และขอบผาสู่อีกดินแดนหนึ่ง

     แซมซ่าในห้วงรัก เป็นเรื่องสั้นที่เพิ่มเข้ามาในฉบับแปลภาษาไทย (รวมทั้งฉบับภาษาอังกฤษ) มูราคามิเปลี่ยนเกรเกอร์ แซมซ่า ของฟรานซ์ คาฟคา จากชายหนุ่มที่ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองกลายร่างเป็นแมลง สลับให้เป็นแมลงที่ตื่นขึ้นมาเป็นชายหนุ่ม เกรเกอร์ แซมซ่า แถมยังได้พบเจอกับหญิงสาวและการชูชันครั้งแรกอีกด้วย

     พวกผู้ชายที่คนรักจากไป เรื่องสั้นท้ายสุดของเล่ม มูราคามิเขียนขึ้นหลังสุดสำหรับการรวมเล่มโดยเฉพาะ เมื่อมีโทรศัพท์แจ้งข่าวร้ายกลางดึกจากชายแปลกหน้าบอกว่า ภรรยาซึ่งเป็นแฟนเก่าสมัยอายุ 14 ของเขาจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย บทสนทนาทางโทรศัพท์จบแค่นั้น แต่มันได้ทิ้งสถานภาพของการเป็นชายที่คนรักจากไป และความเจ็บปวดก้อนใหญ่ไว้ให้กับเขา

 

     “เธอจากไป คงไม่มีใครรู้หรอกว่าตอนนั้นผมกลัดกลุ้มใจมากแค่ไหน จมดิ่งลงห้วงเหวลึกเพียงใด ไม่สิ ไม่มีทางรู้ได้ เพราะขนาดตัวผมเองยังนึกไม่ค่อยออกเลย ผมทุกข์ทรมานแค่ไหน? ผมเจ็บปวดใจมากเพียงใด? ถ้ามีเครื่องวัดความเศร้าได้ง่ายๆ และแม่นยำในโลกนี้ก็คงดีหรอก ถ้ามีจริงก็จะได้วัดเป็นตัวเลขทิ้งไว้ได้…”

 

ความโดดเดี่ยวที่พวกผู้ชายที่คนรักจากไปต้องเผชิญ

     ผมเสนอความเห็นให้คุณฟัง “แกนหลักของเรื่องสั้นในเล่มนี้คือความโดดเดี่ยวที่พวกผู้ชายเหล่านี้ต้องเผชิญ พอถึงเวลาเหมาะเจาะ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ความโดดเดี่ยวนั้นจะโถมตัวเข้าใส่ แม้ว่าปัจจุบันพวกเขาเหล่านั้นดูเหมือนจะใช้ชีวิตอย่างปกติดีมีความสุขก็ตาม”

     คุณว่า “อย่างเวลาเพลงอกหักสักเพลงดังขึ้นมา ภาพคนรักเก่าก็ลอยมาตรงหน้า”

     มูราคามิเขียนเรื่องสั้นชุดนี้ แล้วโยนความโดดเดี่ยวในรูปแบบต่างๆ ใส่เข้าไปในตัวละครธรรมดาสามัญอันหลากหลายที่กลายเป็นชายที่คนรักจากไปในวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชายที่คนรักจากไปแบบประเดี๋ยวประด๋าวอย่างชายที่เฮ้าส์ ผู้รอคอยเซ็กซ์และตอนต่อไปของเรื่องเล่าพิศวงจากแม่บ้าน, ดาราชายที่ยังต้องทำความเข้าใจว่าภรรยาที่จากไปทำไมถึงต้องมีสัมพันธ์ลับกับชายอื่นถึง 4 คน, ความโดดเดี่ยวถึงขั้นกลายเป็นโรครักที่กัดกินหัวใจนายแพทย์เพลย์บอยผู้ไม่เคยปล่อยตัวเองให้อยู่ในห้วงรักสักครั้ง

     คุณว่า “นับแล้วก็เกินกว่า 15 ปีมาแล้วนะที่นิยายของมูราคามิทำให้พวกเราเห็นภาพความโดดเดี่ยวผุดขึ้นเป็นภาพอันชัดเจนนับตั้งแต่ สดับลมขับขาน นิยายเรื่องแรกของมูราคามิที่พิมพ์ฉบับภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2012 หรือผ่านไปสิบกว่าปีนิยาย Norwegian Wood ก็ได้กลายเป็นหนังสือสร้างบุคลิกให้ ‘หมอก’ ในซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เป็นเด็กชายโดดเดี่ยวผู้เกาะกุมความเหงา

     ผมเสริม “ทำไมคนเราถึงได้เหงาขนาดนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าโลกถูกส่งให้มาลอยกลางอวกาศเวิ้งว้างเพียงเพื่อเป็นที่พำนักของคนเหงา ประโยคนี้ไงจาก Sputnik Sweetheart ที่คนชอบหยิบไปโพสต์ตอนเจอบรรยากาศหว่องๆ”

     ย้อนกลับไปที่เรื่อง คิโนะ ผมคิดว่ามูราคามิบอกใบ้ไว้ให้แล้วนะ เพราะตัวคิโนะเองที่เป็นคนพูดออกมาว่า “ตัวเราไม่ได้เจ็บปวดให้เพียงพอในเวลาที่ต้องเจ็บปวด ในเวลาที่ควรรู้สึกถึงความเจ็บปวด แท้จริงเราข่มความรู้สึกสำคัญนั้นไว้ เพราะไม่อยากรับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จึงหลบหลีกการเผชิญหน้ากับความจริง ทำให้ต้องแบกจิตใจกลวงเปล่าไร้เนื้อในมาตลอดเช่นนี้…”

     โทรศัพท์กลางดึกแจ้งข่าวฆ่าตัวตายของหญิงสาวที่เคยคบเป็นแฟนตอนมัธยม เลยทำให้เขาในเรื่องสุดท้ายเจ็บปวดมาก “เพราะตอนนั้นเขาอาจจะไม่ได้เจ็บปวดให้เพียงพอในเวลาที่ต้องเจ็บปวด”

     คุณตั้งข้อสงสัย “มูราคามิ ซึ่งตอนนี้อายุ 68 ปี และแต่งงานอยู่กินกับภรรยามาอย่างยาวนานตั้งแต่วัยรุ่น น่าแปลกใจ ทำไมเขาถึงเขียนเรื่องความโดดเดี่ยว การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดโดยลำพังได้เหมือนเขาผ่านชีวิตร้ายๆ มาด้วยตัวเอง

     ผมพยักหน้า “นั่นสินะ เขาควรจะได้โนเบลเสียที”

 

     “แต่ว่าการมีประสบการณ์เผชิญความเหงาโดดเดี่ยวในช่วงวัยรุ่นก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกันใช่ไหม หมายถึงในช่วงการเติบโตของคนเราน่ะ… ก็เหมือนกับที่ต้นไม้จะแข็งแรงและเติบโตได้ จำเป็นต้องผ่านฤดูหนาวอันโหดร้าย ถ้าเป็นสภาพอากาศอบอุ่นสบายตลอดเวลา เส้นวงปีจะไม่ขึ้นด้วยใช่ไหม”

FYI
  • นวนิยายและรวมเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามิ เป็นหนังสือของนักเขียนที่ขายดีที่สุดตลอดกาลที่ร้าน Readery
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising