New Creative Algorithm
สูตรการตลาดถูกจริตโลก TikTok
Thinking Behind: ถอดรหัสผู้ชนะ TikTok Ad Awards 2024 – Adapter Digital กับกลยุทธ์ New Creative Algorithm และการมีดาวเหนือดวงเดียวกันกับพาร์ตเนอร์ การทำโฆษณาบน TikTok เหมือนจะง่าย แต่การจะทำให้ถึงนั้นซับซ้อนและต้องลุ่มลึกมากกว่าที่คิด?
TikTok นับเป็นโอกาสใหม่ที่ล้ำค่าสำหรับอุตสาหกรรมโฆษณา การตลาด และแวดวงเอเจนซี จากความนิยมในการใช้งานที่พุ่งพรวดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เช่นเดียวกัน ใช่ว่าแพลตฟอร์ม TikTok จะปรานีกับนักการตลาดทุกคน เพราะหากไม่เข้าใจจริต หาอินไซต์ผู้ใช้งานไม่เจอ หรือไปไม่ถึง Subculture ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ท้ายที่สุดแล้ว การลงแรงคิดงานไปก็อาจจะสูญเปล่า เสียทั้งเงินและเวลา
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือเคสของดิจิทัลเอเจนซีสัญชาติไทย Adapter Digital Group (บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด) ที่มีกลยุทธ์ในการสร้างงานครีเอทีฟที่โดนใจชาว TikTok จนสามารถคว้ารางวัลจากเวที TikTok Ad Awards 2024 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยมาได้สำเร็จ โดยคว้ามาได้ถึง 5 รางวัล ในจำนวนนี้เป็นรางวัลใหญ่สูงสุดของเวทีถึง 2 รางวัล ประกอบด้วย Media Agency of The Year และ Creative Agency of The Year คำถามคือ พวกเขาทำได้อย่างไร?
‘New Creative Algorithm’ สูตรลับสร้างสรรค์งานครีเอทีฟให้ถูกจริต TikTok และโลกการสื่อสารยุคใหม่
ในมุมมองของ Adapter Digital พวกเขาได้ยึดถือแนวคิดอย่าง ‘New Creative Algorithm’ ว่าเป็นหนึ่งใน Winning Formula สำคัญที่ทำให้พวกเขาเข้าใจวิธีการปั้นงานครีเอทีฟให้โดนใจผู้ใช้งาน TikTok จนสามารถพาแบรนด์และแคมเปญไปสร้างการจดจำกับผู้คนได้สำเร็จ
Attention + Resonance = New Creative Algorithm
ความหมายของสูตร Attention + Resonance ก็คือการสร้างงานครีเอทีฟที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนดู ผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์นั้นต้องการจะสื่อสาร (Attention) แล้วดึงพวกเขากลับมามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม (Resonance)
และด้วยการใช้ New Creative Algorithm นี่เองที่เป็น Engine สำคัญที่พา Adapter Digital และพาร์ตเนอร์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นหงส์ทอง, โออิชิ หรือช้าง ให้สามารถสร้างความสนใจกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง จนพาทั้ง 3 แบรนด์คว้ารางวัลของ TikTok Ad Awards มาครองได้สำเร็จ ไล่ตั้งแต่รางวัล Best Branding Campaign ที่หงส์ทองและช้างคว้ารางวัลมาได้ (Gold รางวัลเดียวของไทย และ Bronze ตามลำดับ) ไปจนถึงรางวัล Best Performance Campaign ที่โออิชิกวาดรางวัลนี้ในรูปแบบ Bronze มาครองได้สำเร็จ
หมดยุคของโฆษณา ‘ทำหนึ่ง แบ่งลงสิบ’
นอกเหนือจาก New Creative Algorithm อีกหนึ่งแก่นคิดที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ Adapter Digital เข้าใจงานครีเอทีฟในโลกยุคใหม่คือ การฉีกขนบเดิมๆ ของการทำงานครีเอทีฟให้กับอุตสาหกรรมโฆษณา โดยเฉพาะการที่ซีอีโอของบริษัทอย่าง อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ เชื่อว่างานครีเอทีฟชิ้นเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ทุกแพลตฟอร์มได้อีกแล้ว (One size doesn’t fits all) ในทางตรงกันข้าม งานครีเอทีฟที่ดีที่จะต้องถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อแพลตฟอร์มหรือผู้ใช้งานบางกลุ่มโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Tailored Creativities for Multi-Generational Engagement & Platform
กลยุทธ์นี้เป็นการที่ทำการตลาดหรือโฆษณาที่ศึกษา Nature และ Culture ของแพลตฟอร์มนั้นๆ จากนั้นจึงรังสรรค์ชิ้นงานที่เจาะกลุ่มเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายที่อยากสื่อสารโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีพฤติกรรมและธรรมชาติที่ต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และได้งานครีเอทีฟที่คุยถูกคอกับเฉพาะคนถูกกลุ่ม
จะพนักงานหรือลูกค้า ทุกคนคือ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่มี ‘ดาวเหนือ’ ดวงเดียวกัน
นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว อีกหนึ่ง Mindset ที่สำคัญในการทำงานในอุตสาหกรรมโฆษณาของ Adapter Digital คือการมองคนทำงานทุกคนตลอดจนลูกค้าว่าเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ แทนที่จะมองเป็นแค่คนในทีม บุคลากรในองค์กร หรือลูกค้าที่ต้อง Deliver งานให้ โดยที่ทุกฝ่ายจะต้องมีดาวเหนือดวงเดียวกันด้วยเพื่อร่วมกันผลักดันให้เป้าหมายในการทำแคมเปญการตลาดแต่ละครั้งประสบความสำเร็จและสร้างอิมแพ็กต์ให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ได้มากที่สุด
การมองทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ที่ร่วมงานไปด้วยกันมากกว่าลูกน้องหรือนายจ้าง ยังก่อให้เกิด Teamwork ที่ดีขึ้น ช่วยให้ทุกคนมองเป้าหมายไปบรรจบในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังทำให้เป้าหมายแยกของทีม เป้าหมายส่วนตัว หรือ KPI ของลูกค้า ผนวกผูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นเป้าหมายปลายทางร่วมกันที่แน่วแน่ที่ทั้งเอเจนซีและลูกค้าจะต้องผลักดันงานให้ไปถึงที่หมายในบั้นปลาย