ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาโลกร้อนดูจะเป็นปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าร้ายแรงที่สุด
ผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเริ่มประจักษ์ชัดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธารน้ำแข็งละลาย ความแห้งแล้ง ไฟป่าที่เกิดบ่อยขึ้นทั่วโลก อุณหภูมิโลกอันคาดเดาไม่ได้ว่าจะร้อนจัดหรือหนาวจัดเมื่อใด
ล่าสุดในปี 2023 โลกมีอุณหภูมิร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850-1900) เป็นครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ทั่วโลกพยายามจะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
แต่อันที่จริงโลกร้อนยังไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันน่าสะพรึงกลัวที่สุด
ภาพที่เห็นข้างบนคือแผนภูมิแสดงสิ่งที่เรียกว่า Planetary Boundaries หรือ ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ ศึกษาและวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง นำโดย Dr.Johan Rockström แห่ง Stockholm Resilience Centre ได้ประมวลปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ว่าโลกใบนี้ยังมีศักยภาพพอเพียงในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด
ในอดีตหลายพันล้านปีที่ผ่านมาระบบนิเวศของโลกอาจเจอวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่ก็ยังมีความสามารถและความยืดหยุ่นตามธรรมชาติในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะต่างๆ ให้กลับคืนมาสู่ความสมดุลอีกครั้ง หรือพูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติได้ช่วยเยียวยา ค่อยๆ จัดการให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติที่สิ่งมีชีวิตยังสามารถมีชีวิตรอดได้ และอาจต้องใช้เวลานาน
แต่ถ้าเกิดปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง ธรรมชาติก็ไม่อาจเยียวยาให้โลกกลับคืนความสมดุลมาได้ พูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติเอาอยู่ไหม
Rockström และคณะได้ย่อยข้อมูลตัวเลขทั้งหมดเป็นกราฟง่ายๆ ว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญบนโลกใบนี้แบ่งได้เป็น 9 ปัญหาใหญ่ๆ เรียงตามลำดับความรุนแรงจากมากที่สุดจนเกินเยียวยา ได้แก่
- การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
- ปัญหาการใช้สารไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนใหญ่มาจากการใช้ปุ๋ยเคมี
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การทำลายคุณภาพดิน ทำลายป่า
- การใช้น้ำจืดแบบไม่ยั่งยืน
- ปรากฏการณ์ทะเลกรด
- การเปลี่ยนแปลงของละอองในบรรยากาศ
- มลภาวะจากสารเคมีใหม่
- การลดลงของโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)
ในกราฟนี้จะเห็นมีเส้นประ เส้นสีดำ และเส้นสีเทา
โซนสีเขียว หมายความว่า ยังปลอดภัย ระบบนิเวศหรือธรรมชาติบนโลกที่สรรพชีวิตทำงานร่วมกันโดยมีความสมดุลและความยืดหยุ่นสูง ยังสามารถรับมือเยียวยากับปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นได้ คล้ายกับเวลาเราเจอเชื้อโรคที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน พอเราไปนอนพักฟื้นก็ดีขึ้น สามารถรับมือและรักษาสมดุลให้กลับมาแข็งแรงได้ในระดับหนึ่ง
ถ้าปัญหาเริ่มเลยไปโซนสีเหลือง ส้ม แสดงว่ามีปัญหาสะสมมากเกินไป กลไกที่มีก็รับมือไม่ไหว ธรรมชาติจึงเริ่มผันผวน เข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่เราคาดการณ์ไม่ได้ เช่น หากเราคาดการณ์ได้ว่าช่วงนี้มีมรสุม เราจะรู้แล้วว่าต้องปลูกข้าวเมื่อใด แต่เมื่อความสมดุลล่ม ช่วงที่ฝนเคยตกก็ไม่ตก ช่วงที่เคยแล้งก็ไม่แล้ง ถือว่าเข้าสู่ภาวะเสี่ยง เป็นภาวะที่แย่แล้ว สถานการณ์ที่อยู่ในโซนนี้ประกอบไปด้วยการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ และภาวะโลกร้อน
แต่หากปัญหาเลยไปถึงโซนแดงเข้ม ม่วง นั่นหมายความว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ระบบนิเวศ ธรรมชาติไม่สามารถเยียวยากลับคืนมาเหมือนเดิมอีกต่อไป มนุษย์ไม่มีองค์ความรู้พอจะแก้ไขได้ จะเกิดความปั่นป่วนและยากที่จะกลับคืนมาสู่ภาวะปกติได้ หรือเลยขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกแล้วคือเรื่องการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และเรื่องมลภาวะจากปุ๋ย
ในภาพจะเห็นว่าปัญหารุนแรงที่สุดอันดับแรกคือ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต ดูเหมือนจะเป็นปัญหาวิกฤตที่สุดจนเกินเยียวยาแล้ว
ประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตบนผืนโลกที่ผ่านมา โลกเจอกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง
ทั้งหมดเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว อุกกาบาตถล่มโลก แต่ปัจจุบันนี้โลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มาจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่
ที่น่าตกใจคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งนี้มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีต 100-1,000 เท่า
สาเหตุมาจากการไล่ล่าของมนุษย์ การทำลายป่า และการปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาลสะสมทางอากาศ น้ำ และแผ่นดิน โลกของเรากำลังก้าวสู่ยุคการทำลายล้างที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชอย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมดต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้
ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปถึงร้อยละ 50 ปัจจุบันสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสูญพันธุ์ไป 41 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไป 26 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 ปีข้างหน้า สิ่งมีชีวิต 70 เปอร์เซ็นต์จะสูญพันธุ์ไป และอวสานของมนุษย์อาจมาเยือนเร็วกว่าที่คิด
เรากำลังเดินเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 สิ่งมีชีวิตนับพันล้านตัวกำลังจะหายไป และมนุษย์อาจสูญพันธุ์ไปด้วยจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต่อมาที่เกินเยียวยาในโซนสีดำก็แทบจะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงจนเกินจะเยียวยาแก้ไข คือปัญหาไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไป ไม่ว่าจากปุ๋ยเคมี หรือผงซักฟอก และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเป็นเวลานานจนมีปริมาณสะสมมากขึ้น กระตุ้นให้สาหร่าย วัชพืช และจุลินทรีย์บางชนิด โดยเฉพาะสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเพิ่มขึ้น แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว น้ำกลายเป็นสีเขียว เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะออกซิเจนในน้ำมีน้อย ทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตายหมด เป็นปัญหาใหญ่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แหล่งน้ำหลายแห่งเน่าเสีย ไร้สิ่งมีชีวิต และปัญหานี้กำลังลุกลามไปตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากจะแก้ไขให้กลับสู่ธรรมชาติเหมือนเดิมได้
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา ได้เคยกล่าวว่า “เรื่องผลกระทบจากปุ๋ย ในไทยไม่มีการพูดถึงเลยอย่างน่ามหัศจรรย์ ปัญหาเริ่มจากเราไม่ได้ปกป้องลำน้ำ และใช้ปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปในการทำเกษตรกรรม ธรรมชาติของพืชจะต้องการไนโตรเจน ซึ่งไนโตรเจนอยู่ในอากาศ พืชเอามาใช้เองไม่ได้ ก็ต้องไปพึ่งจุลชีพ เช่น รา แบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในดิน พวกนี้จะแปรไนโตรเจนในอากาศมาเป็นไนเตรท NO3 ซึ่งอยู่ในภาวะที่ละลายน้ำได้ พอละลายน้ำได้พืชก็ดูดขึ้นมาใช้ได้เป็นสารอาหาร
“แต่ปัจจุบันเมื่อคุณเอาปุ๋ยไนเตรทสำเร็จรูปที่ผลิตจากน้ำมันมาละลายน้ำให้พืช พืชก็คล้ายเด็กโดนสปอยล์ เลิกเอาน้ำตาลไปเลี้ยงจุลชีพในดิน ดินก็ตายในที่สุด และเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น โครงสร้างดินพังพินาศ จุลชีพตาย ทำให้ไส้เดือนไม่มา ไม่เหลือสิ่งมีชีวิตที่คอยดูดซับสารอินทรีย์ สารพัดสารอาหารและน้ำเก็บไว้ พอฝนตกลงมาก็ชะสารอินทรีย์ที่ค้างในดินไปสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำลำธาร และกลายเป็นมลภาวะในที่สุด
“ขณะนี้มีข่าวทะเลแถวจังหวัดชลบุรีเป็นสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงจากปัญหาการปล่อยปุ๋ยไนโตรเจนลงในแม่น้ำและลงสู่ทะเล เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Dead Zone (พื้นที่มรณะ) จากปุ๋ย เพราะเมื่อสารอินทรีย์ลงมาในน้ำเยอะๆ ก็จะเกิด Plankton Bloom หรือปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นผลมาจากการที่แพลงก์ตอนพืชบางชนิดได้รับธาตุอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ แพลงก์ตอนพวกนี้ก็เน่า มีแบคทีเรียมากิน และดึงออกซิเจนจากน้ำไป จึงกลายเป็น Dead Zone ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ และตอนนี้ Dead Zone กำลังขยายตัวเพิ่มเป็น 4 เท่า”
ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเปราะบางยิ่งนัก ธรรมชาติไม่อาจเยียวยาให้กลับคืนมาได้เหมือนเดิม แต่รอเวลาที่จะเอาคืนกับมวลมนุษย์