×

Darlin’ วงดนตรีเล็กๆ ที่โดนนักวิจารณ์สับเละ แต่กลับเติบโตอย่างยิ่งใหญ่จนกลายเป็น Daft Punk และ Phoenix

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Darlin’ เกิดจากการฟอร์มวงของ 3 เพื่อนสนิท โทมัส แบงกอลเตอร์ (Thomas Bangalter), กีย์-มานูแอล เดอ โฮเมม คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และโลรอง บล็องโกวิช (Laurent Brancowitz) ทั้งสามเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน และมีรสนิยมทางดนตรีที่ไปด้วยกัน
  • โลรอง บล็องโกวิช ไปเป็นสมาชิกวงดนตรีของน้องชาย ซึ่งต่อมาวงๆ นั้นก็เป็นที่รู้จักในชื่อ Phoenix ในขณะที่โทมัส แบงกอลเตอร์ และกีย์-มานูแอล เดอ โฮเมม คริสโต ก็ลุยสายอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัว ก่อนจะสถาปนาตัวเองในนามว่า Daft Punk
  • Daft Punk และ Phoenix ล้วนประสบความสำเร็จทั้งคู่ แต่อาจมีคนสงสัยว่า หลังจาก Darlin’ แยกวง Daft Punk ยังคงติดต่อกับโลรองที่อยู่คนละวงกับตัวเองไหม เพราะวงส่วนใหญ่ยุบแบบจบไม่สวยเท่าไร

 

     ฝรั่งเศสถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตวงดนตรีดีๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น M83, Justice, Breakbot, Air และวงอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน นอกเหนือจากนั้น Daft Punk และ Phoenix ก็เป็นผลผลิตจากแดนน้ำหอมเช่นกัน ถึงแม้แนวเพลงของทั้งสองวงจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เชื่อหรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของ Daft Punk และ Phoenix มาจากวงเล็กๆ ไร้ชื่อเสียงนามว่า Darlin’ หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับวงนี้นัก เพราะพวกเขาไม่มีผลงานโดดเด่นอะไร แต่วงเล็กๆ อย่าง Darlin’ นี่ล่ะ ที่มีความสำคัญกับ Daft Punk และ Phoenix ในแบบที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

     Darlin’ เกิดจากการฟอร์มวงของ 3 เพื่อนสนิท โทมัส แบงกอลเตอร์ (Thomas Bangalter), กีย์-มานูแอล เดอ โฮเมม คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และโลรอง บล็องโกวิช (Laurent Brancowitz) ทั้งสามเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน และมีรสนิยมทางดนตรีที่ไปด้วยกันได้ พวกเขาคลั่งไคล้วงอย่าง The Rolling Stones, The Beach Boys และ The Stooges จึงเกิดความคิดทำวงดนตรีร่วมกันในนาม Darlin’ ไม่นานนักพวกเขาทั้งสามก็ทำเพลงตัวเองออกมาได้จนสำเร็จ โดยหนึ่งในนั้นมีเพลงที่ชื่อว่า ‘Cindy, So Loud

 

Darlin’ – Cindy, So Loud 

 

     น่าเสียดายที่ ‘Cindy, So Loud’ กลับไม่ได้ ‘ดัง’ เหมือนชื่อเพลง กระแสด้านบวกแทบไม่ปรากฏให้เห็น แม้คนที่ไม่ใช่กูรูทางดนตรีก็พอมองออกว่า ‘Cindy, So Loud’ ไม่ใช่เพลงที่มีเสน่ห์อะไรนัก เหมือนเพลงที่วัยรุ่นลองทำเล่นๆ เสียมากกว่า หลังจากปล่อยเพลงออกมาสักพัก Darlin’ ยังโดน Melody Maker นิตยสารทรงอิทธิพลของอังกฤษสับเละเทะไม่มีชิ้นดี นักวิจารณ์ถึงกับนิยามเพลงของ Darlin’ โดยใช้คำว่า ‘Daft Punky Thrash’ (พังก์รกหูดูโง่ๆ)

     ถึงแม้ Darlin’ จะไม่ได้ร้อนรนกับกระแสด้านลบมากนัก แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้สามสหายตัดสินใจยุบวงก็คือ ทัศนคติของสมาชิกที่เริ่มมีความแตกต่างกัน โดยในฝั่งของโทมัส และกีย์-มานูแอล ต้องการทำดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง แต่โลรองกลับไม่เห็นด้วยกับแนวทางของทั้งคู่ โลรองจึงตัดสินใจลาออกจากวง และนำไปสู่การยุบวง Darlin’ อย่างเป็นทางการ

     ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า การปิดฉากของวงที่ไม่มีใครจดจำอย่าง Darlin’ จะกลายเป็นจุดกำเนิดวงดนตรีระดับท็อปถึงสองวง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน โลรองก็ไปเป็นสมาชิกวงดนตรีของน้องชาย ซึ่งต่อมาวงๆ นั้นก็เป็นที่รู้จักในชื่อ Phoenix ในขณะที่โทมัส และกีย์-มานูแอล ก็ลุยสายอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มตัว ก่อนจะสถาปนาตัวเองในนามว่า Daft Punk โดยชื่อวงมีแรงบันดาลใจจาก ‘Daft Punky Thrash’ ตามคำเย้ยหยันของนิตยสาร Melody Maker

 

 

     ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ คงเป็นสุภาษิตที่ใช้ไม่ได้กับกรณีของ Darlin’ เพราะหลังจากวงยุติบทบาท ทิศทางชีวิตของทั้งสามคนก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

     Daft Punk กลายเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดวงหนึ่ง โทมัส และกีย์-มานูแอลทะลุวงการเพลงกระแสหลักด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเหนือชั้น แต่ยังคงความสวยงามเข้าถึงง่าย ก่อนจะแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวด้วยภาพลักษณ์หุ่นยนต์ในอัลบั้ม Discovery หากยังจำกันได้ มิวสิกวิดีโอในอัลบั้มชุดนี้สร้างเป็นเรื่องราวแอนิเมชันที่ต้องตามดูแบบซิงเกิลต่อซิงเกิล

 

Daft Punk – Digital Love

 

     อัลบั้มอีกชุดที่น่าพูดถึงคือ Random Access Memories ที่มีงบการทำเพลงสูงที่สุดที่ทั้งคู่เคยทำมา บรรดาศิลปินระดับตำนาน เครื่องดนตรีราคามหาศาล วงออร์เคสตรา ล้วนถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของอัลบั้มชุดนี้ จนกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของยุคสมัย รวมถึงการสร้างปรากฏการณ์เพลง Get Lucky ที่ครอบงำดนตรีกระแสหลักอย่างเบ็ดเสร็จ

     ในปัจจุบัน Daft Punk ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญกับวงการเพลงเมนสตรีมอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่ออกอัลบั้มในเร็วๆ นี้ แต่ล่าสุด Daft Punk ก็ได้ร่วมงานกับ The Weeknd ในซิงเกิล Starboy และ I Feel It Coming ที่กลายเป็นเพลงฮิตที่ทุกคนพร้อมใจกันเปิดทั่วบ้านทั่วเมือง

 

 

     ด้านของโลรองกับ Phoenix ก็มีเส้นทางดนตรีที่ไปได้สวยเช่นกัน พวกเขาถูกยกย่องว่าเป็นวงดนตรีที่มีพัฒนาการในทุกๆ อัลบั้ม นับตั้งแต่ United, Alphabetical, It’s Never Been Like That ก่อนจะมาดังเปรี้ยงปร้างในอัลบั้มชุด Wolfgang Amadeus Phoenix ซึ่งมีซิงเกิลฮิตติดหูอย่าง 1901 และ Lisztomania อัลบั้มชุดนี้ยังช่วยทำให้ Phoenix คว้ารางวัลแกรมมีสำเร็จเป็นครั้งแรกอีกด้วย

 

Phoenix – 1901

 

     งานเพลงของ Phoenix ยังถูกใช้ประกอบภาพยนตร์ Lost in Translation ที่กำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) ซึ่งภายหลังเธอได้แต่งงานกับ โทมัส มาร์ส (Thomas Mars) ฟรอนต์แมนของ Phoenix นอกจากนี้ โซเฟียยังกำกับมิวสิกวิดีโอ Chloroform แทร็กจากอัลบั้มชุด Bankrupt! อีกด้วย สำหรับหนุ่มๆ ที่แอบหลงรักโซเฟียก็ขอแสดงความเสียใจด้วย เธอมีเจ้าของแล้ว

     Phoenix ถือเป็นอีกวงที่ออกอัลบั้มสม่ำเสมอ พวกเขาไม่ต้องการให้แฟนเพลงรอนานเกินไป ล่าสุดพวกเขาก็พึ่งออกอัลบั้มชุดล่าสุด Ti Amo ตามด้วยการประกาศทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก และหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย สำหรับใครที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้ว พวกคุณจะได้ดูพวกเขาตัวเป็นๆ ที่กรุงเทพฯ แน่นอน

     ดูแล้วทั้ง Daft Punk และ Phoenix ก็ล้วนประสบความสำเร็จทั้งคู่ แต่อาจมีคนสงสัยว่า หลังจาก Darlin’ แยกวง Daft Punk ยังคงติดต่อกับโลรองที่อยู่คนละวงกับตัวเองไหม เพราะวงส่วนใหญ่มักจะยุบแบบจบไม่สวยเท่าไร ตัวอย่างมีให้เห็นอาทิ The Smiths, Oasis, The White Stripes ที่พอแยกทางกันเมื่อไร ก็ทางใครทางมัน ไม่มีหวังที่จะกลับมาคุยกันดีๆ

     แต่ไม่ใช่กับ Darlin’ การแยกวงของพวกเขาไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว แม้วงจะแตกไปแล้ว ถึงจะเลือกเดินคนละเส้นทาง แต่ก็มีการช่วยเหลือข้ามวงอย่างมิตรสหาย โทมัส หนึ่งในสมาชิก Daft Punk ก็เคยไปช่วยอัดคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์ในเพลง Embuscade แทร็กจากอัลบั้มชุดแรกของ Phoenix

 

Phoenix – Embuscade

 

     สำหรับโมเมนต์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองวง ต้องยกให้คอนเสิร์ต Phoenix ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน เมื่อปี 2010 ในระหว่างโชว์ Daft Punk ได้ปรากฏตัวบนเวทีแบบที่ไม่มีใครคาดคิด พร้อมเล่นเพลง Around the World และ 1901 ร่วมกับ Phoenix หากใครติดตาม Daft Punk จะทราบว่าโรบอตคู่นี้หาตัวจับยากยิ่งกว่านินจา การปรากฏตัวแต่ละครั้งต้องมีความหมายหรือเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ดังนั้นการขึ้นเวทีร่วมกับ Phoenix ย่อมมีความหมายกับ Daft Punk

 

Phoenix and Daft Punk – Madison Square Garden

 

     คอนเสิร์ตนั้นจบลงด้วยการที่สมาชิก Phoenix และ Daft Punk ยืนกอดคอกันต่อหน้าแฟนเพลงนับหมื่น ภาพนั้นทำให้เรานึกถึงสามคนบนเวที โทมัส กีย์-มานูแอลและโลรอง มองแล้วก็เหมือนเป็นการรียูเนียนเล็กๆ ของวง Darlin’ เพียงแค่ว่าเขาทั้งสามคนไม่ใช่ ‘Daft Punky Thrash’ ที่ถูกเย้ยหยันอีกต่อไป พวกเขาคือ Daft Punk และ Phoenix สองวงดนตรีจากฝรั่งเศสที่มีแฟนเพลงอยู่ทั่วทุกมุมโลก

 

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X