×

เลือกตั้งนองเลือด-ประชามติสิ่งแวดล้อม หมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์เอกวาดอร์

28.08.2023
  • LOADING...

เอกวาดอร์เป็นประเทศทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตจรดประเทศโคลอมเบียทางทิศเหนือ จรดประเทศเปรูทางทิศตะวันออกและทิศใต้ และจรดมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก เอกวาดอร์ยังมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะกาลาปากอส (กลุ่มเกาะโกลอน) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปทางตะวันตกประมาณ 1,000 กิโลเมตร เมืองหลวงของประเทศคือ กรุงกีโต

 

ดินแดนที่เป็นประเทศเอกวาดอร์ในปัจจุบันเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนพื้นเมืองหลายกลุ่มซึ่งค่อยๆ ถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิอินคาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภูมิภาคนี้ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และได้รับเอกราชในปี 1820 ในฐานะส่วนหนึ่งของประเทศกรันโกลอมเบีย จากนั้นเอกวาดอร์จึงแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราชในปี 1830 โดยมรดกของจักรวรรดิทั้งสองสะท้อนให้เห็นอยู่ในหมู่ประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของเอกวาดอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรชนพื้นเมือง พวกเลือดผสมหรือเมสติโซ รองลงมาเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายแอฟริกาและยุโรป ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการและภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้กัน แต่ภาษาพื้นเมือง 13 ภาษาก็ได้รับการรับรองตามกฎหมาย รวมทั้งภาษาเกชัวและภาษาชัวร์

 

เอกวาดอร์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2023 เพื่อเลือกตำแหน่งประธานาธิบดี สมาชิกของรัฐสภา และการลงมติของประชาชน 2 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในเรื่องนั้นคือต้องการให้รัฐบาลเอกวาดอร์ยกเลิกการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ซึ่งถือเป็นเขตป่าที่มีความสมบูรณ์เป็นลำดับต้นๆ ของโลก มีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยประชาชนกว่าร้อยละ 59 ลงมติคัดค้านในประเด็นการขุดเจาะน้ำมันนี้ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่โลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลกนับถอยหลังไปถึง 120,000 ปีตามรายงานของ The European Union’s Copernicus Climate Change Service และนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นห่วงการที่พื้นที่ป่าแอมะซอนกำลังมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน

 

สำหรับเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni มีพื้นที่ประมาณ 1 ล้านเฮกเตอร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่บรรจบระหว่างป่าแอมะซอน เทือกเขาแอนดีส และเส้นศูนย์สูตร เพียงแค่หนึ่งเฮกเตอร์ของเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni จะมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากกว่าสิ่งมีชีวิตในแถบประเทศยุโรปทั้งหมด และคิดเป็น 3 เท่าของสิ่งมีชีวิตในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ขณะเดียวกันชั้นใต้พื้นดินของเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ก็มีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ในปี 2007 รัฐบาลเอกวาดอร์ในขณะนั้นซึ่งนำโดยประธานาธิบดีราฟาเอล กอร์เรอา ได้เสนอให้นานาชาติมอบเงินให้กับเอกวาดอร์จำนวน 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัฐบาลเอกวาดอร์จะไม่ยุ่งเกี่ยวในการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni แต่ข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการตอบรับจากประชาคมโลก

 

ในปี 2016 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเอกวาดอร์ได้เริ่มทำการขุดเจาะเพื่อหาน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ในเขตพื้นที่ที่ 43 ที่คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้วันละกว่า 55,000 บาร์เรล คิดเป็นร้อยละ 12 ของการขุดเจาะน้ำมันรายวันของเอกวาดอร์ ในขณะเดียวกันกลุ่มพิทักษ์เขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ได้จัดตั้งกลุ่ม Yasunidos เพื่อผลักดันให้มีการยกเลิกการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้ผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐบาลเอกวาดอร์ทำประชามติในเรื่องดังกล่าวในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามก็มีนักการเมืองบางคน เช่น เฟร์นันโด ซันโตส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาต่อต้าน เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอกวาดอร์ที่มีรายได้ปานกลางและพึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (ได้แก่ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) เป็นอย่างสูง

 

รัฐมนตรีซันโตสได้ให้สัมภาษณ์ว่า การยกเลิกการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลเอกวาดอร์ลดลงไปกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้เขายังปฏิเสธว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni นั้นมีอยู่น้อยมาก แต่นักนิเวศวิทยาและกลุ่มชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศต่างต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการขุดเจาะน้ำมันดังกล่าว โดยกล่าวว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาในพื้นที่ดังกล่าวนั้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากกว่าการขุดเจาะน้ำมัน การลงมติยกเลิกการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมในเอกวาดอร์ตามความเห็นของผู้นำชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ ในสังคมออนไลน์อย่าง X (Twitter) กลุ่ม Yasunidos ได้เรียกชัยชนะในการลงมติคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันในเขตพื้นที่อุทยาน Yasuni ว่า นอกจากจะเป็นความสำเร็จของเอกวาดอร์แล้ว ยังเป็นความสำเร็จของประชาคมโลกอีกด้วย

 

ผู้นำขององค์การไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง The Amazon Frontlines ได้ระบุว่า ชาวเอกวาดอร์ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วในการรักษาพื้นป่า Yasuni แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า ประชาชนชาวเอกวาดอร์ยังไม่เข้าใจว่าการลงประชามติคัดค้านครั้งนี้ขาดการพิจารณาอย่างถ้วนถี่และมีผลสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของเอกวาดอร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เอกวาดอร์ต้องพึ่งการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมเป็นรายได้หลักของประเทศ

 

ย้อนกลับมาดูการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์พบว่า ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง จึงจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งรอบ 2 ในวันที่ 15 ตุลาคม 2023 อีกครั้งหนึ่ง โดยนำผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 ลำดับแรกมาลงชิงชัยกันอีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลใหม่จะอยู่ทำงานเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เพราะเป็นการเลือกตั้งแทนรัฐบาลเดิมที่ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ กิลเยร์โม ลัสโซ รักษาการประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ได้ประกาศถอนตัวออกจากการเลือกตั้งหนนี้แล้ว

 

สำหรับผู้ที่มีคะแนนนำ 2 คนแรกในการเลือกตั้งรอบแรก ได้แก่ ลุยซา กอนซาเลส จากพรรค Citizen Revolution Movement ซึ่งได้คะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 33 โดยกอนซาเลสมีแนวความคิดเอียงซ้ายเป็นสังคมนิยม ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน นักศึกษา และชนพื้นเมืองในเอกวาดอร์ ขณะผู้ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้แก่ ดานิเอล โนโบอา จากพรรค National Democratic Action ที่ตามมาด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 24 ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับประชาชนชาวเอกวาดอร์เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่เขามีวาทศิลป์ที่ดีมากในการให้สัมภาษณ์หรือการดีเบตออกอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทำให้คะแนนของเขาพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็วจนตามมาเป็นลำดับที่สอง โดยโนโบอานั้นเป็นลูกชายของมหาเศรษฐีผู้ยิ่งใหญ่ในการส่งออกกล้วยหอมของประเทศ โดยเขาได้รับคะแนนเสียงสำคัญจากกลุ่มชนชั้นนำในสังคมและนักธุรกิจภาคเอกชน

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่ามีการใช้ความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของเอกวาดอร์ เช่น ในระหว่างที่ ลุยซา กอนซาเลส ได้เดินทางไปสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ The National Electoral Council พร้อมกับผู้สนับสนุนของเธอ และ มาร์เซลา อะกิญากา ประธานพรรค Citizen Revolution Movement พวกเขาถูกกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดสเปรย์พริกไทยและปาแก๊สน้ำตาใส่ จนกอนซาเลสต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของกอนซาเลสเป็นผู้เริ่มต้นใช้ความรุนแรงก่อน ขณะที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นถือเป็นการป้องกันตัวและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง

 

อย่างไรก็ตามความรุนแรงก็ยังคงดำเนินต่อไป เกิดการลอบสังหาร เฟร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ นักการเมืองวัย 59 ปี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าว ผู้นำสหภาพแรงงานและมีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2023 ไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ การสังหารเขาเกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงที่กรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ โดยเขาเป็นผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเอกวาดอร์ที่ถูกลอบสังหารก่อนการเลือกตั้ง หลังจากที่เคยมีการลอบสังหาร แอบดอน กัลเดรอน มูโญส ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งสุดท้ายในปี 1978 โดยวิลลาวิเซนซิโอถูกยิงด้วยลูกกระสุนหลายนัด และจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีนักฆ่าชาวโคลอมเบีย 6 คนเกี่ยวข้องกับการสังหารในครั้งนี้

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีต่างเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและความปลอดภัยกลับคืนมาสู่เอกวาดอร์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีความสงบทางการเมือง แต่ด้วยปัญหาของการค้ายาเสพติด ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เกิดการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นจำนวนมาก นอกจาก เฟร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ จะถูกลอบสังหารแล้ว นักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัด Esmeraldas ก็ยังถูกฆาตกรรมอีกด้วย

 

นักวิชาการเอกวาดอร์มองว่า ปัญหาการจัดการการใช้ความรุนแรง เป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ และเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะชี้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทาเมียและอแมนดา ลูกสาวของ เฟร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยแต่งกายด้วยชุดสีขาว เพื่อเป็นการรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรง และยังเป็นการส่งสารไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการสังหารพ่อของพวกเธอทั้งคู่ด้วยว่า พวกเราชาวเอกวาดอร์จะไม่ยอมแพ้ต่อการใช้ความรุนแรงอีกต่อไป 

 

นอกจากนี้ทาเมียยังได้ขีดเส้นสีน้ำเงินบนใบหน้าของเธอ ซึ่งเป็นสีที่ทำมาจากผลไม้ชนิดหนึ่ง และใช้ทาหน้าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนพื้นเมืองจำนวนมากในเอกวาดอร์ โดยเธอได้ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของเธอเป็นการต่อต้านการใช้ความรุนแรง และในวันนี้เธอและน้องสาวมาในนามของพ่อ ผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและความอยุติธรรมของประเทศ พวกเธอจะต่อสู้โดยขบวนการสันติวิธี นั่นก็คือการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนอแมนดาได้กล่าวว่า การถูกลอบสังหารพ่อของเธอ ปลุกให้ประชาชนเอกวาดอร์ลุกขึ้นมาแสดงพลังของตนเอง ปลุกพวกที่เคยเบื่อหน่ายกับการเมืองให้หันกลับมาสนใจและให้ความสำคัญกับการเมืองและการเลือกตั้งอีกครั้ง

 

ท้ายที่สุดการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ชาวเอกวาดอร์เท่านั้นจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเขาเองว่าจะเดินหน้าไปสู่สันติภาพหรือจะยังคงตกอยู่ในบ่วงของการใช้ความรุนแรง ประชาคมโลกต่างหวังว่าชาวเอกวาดอร์จะเลือกหนทางแรก พอแล้วกับความรุนแรงที่กัดกร่อนสังคมเอกวาดอร์ในปัจจุบัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X