×

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการค้าโลก การใช้ Local Currency อาจเป็นหนึ่งในทางออกในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทผันผวน

19.10.2024
  • LOADING...

เข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ประเด็นค่าเงินบาทเริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงมากขึ้นอีกครั้งหลังเคลื่อนไหวผันผวน โดยปรับแข็งค่าเร็วแตะระดับต่ำสุดที่ 32.14 บาทในช่วงปลายไตรมาส 3 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนเหนือระดับ 33.00 บาทในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยเทียบตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า 2.83% (ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2567) พร้อมกับความผันผวนที่ปรับสูงขึ้นนำหน้าค่าเงินสกุลอื่นๆ 

 

โดยหนึ่งในปัจจัยที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาคือ การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวนไปตามการคาดการณ์ดอกเบี้ยของ Fed ที่จะลดมากหรือน้อยตามข้อมูลเศรษฐกิจที่เผยแพร่ ซึ่งแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกไทยเหมือนที่หลายฝ่ายประเมินกัน ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็เหมือนเป็นวงจรที่เกิดวนไปมาในช่วงหลายปีหลัง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม หากมองค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคอื่นๆ จะพบว่า โดยรวมมีความผันผวนต่ำกว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อเทียบกันแล้วจะพบความสัมพันธ์ (Correlation) ที่สูงในบางสกุลเงิน เช่น ค่าเงินบาทและค่าเงินหยวน 

 

โดยหากการเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยลดความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ สอดคล้องกับในระยะหลังที่ทางธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) มากขึ้น ผ่านการเพิ่มสภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นในประเทศ ปรับเกณฑ์ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนผลักดันการอ้างอิงราคาเงินสกุลท้องถิ่นเทียบกับเงินบาทโดยตรง 

 

ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจึงทยอยเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16.8 เทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิดที่มีสัดส่วนเฉลี่ยราวร้อยละ 15.3 

 

ทั้งนี้ หากดูโครงสร้างการค้าของไทยกับสกุลเงินที่ใช้ในปัจจุบัน ตลอดจนทิศทางการค้าโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีแนวโน้มจะผันผวนมากขึ้น การบริหารความเสี่ยงผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ ผสมกับการป้องกันความเสี่ยงแบบเดิม (FX Forward และ Options) จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการรับมือกับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อผู้ประกอบการส่งออกหรือนำเข้ามีธุรกรรมเพียงทางเดียว ตามมุมมองสนับสนุนดังต่อไปนี้ 

 

โครงสร้างประเทศคู่ค้าในปัจจุบัน เปิดโอกาสในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น 

 

หากดูสัดส่วนการค้าปี 2566 ของไทยจะพบว่า มีมูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริการ้อยละ 11.8 เป็นอันดับ 2 รองจากจีนที่มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 18.3 ขณะที่มูลค่าการค้าในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวสวนทางกับสัดส่วนสกุลเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศ โดยประมาณ 3 ใน 4 ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการชำระค่าสินค้า จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเวลาค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีความผันผวน มักจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกหรือนำเข้าสินค้า 

 

ดังนั้นการเปลี่ยนคู่สกุลเงินในการชำระสินค้าให้สอดคล้องกับประเทศปลายทางอาจช่วยลดความผันผวนได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มอาเซียนที่มีสัดส่วนรวมกันเกือบร้อยละ 20 ของการค้าทั้งหมด แต่สกุลเงินที่ใช้ค้าขายราวร้อยละ 70 ยังคงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับการค้ากับประเทศจีนที่ยังคงใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในสัดส่วนที่สูง

 

การใช้เงินสกุลภูมิภาคในการค้า ช่วยลดความผันผวนจากความไม่แน่นอนของทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า

 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง, ความกังวลที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลอดจนการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนนี้ ที่อาจเปลี่ยนทิศทางการค้าโลกให้เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) มากขึ้น ตามกฎระเบียบการค้าโลกที่เข้มข้นขึ้น ผ่านการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ที่มีต่อจีน การตอบโต้กลับของจีนผ่านมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ตลอดจนการให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร จะส่งผลให้ในระยะข้างหน้าการค้าระหว่างกลุ่มภูมิภาครวมถึงจีน (Regionalization) จะมีความสำคัญมากขึ้น เหมือนที่เห็นสัดส่วนการค้ากับภูมิภาคมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง 

 

ยิ่งไปกว่านั้นทิศทางการค้าของประเทศไทยเองจะมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะยิ่งซ้ำเติมปัจจัยดังกล่าวให้แย่ลง 

 

นอกจากนี้ทิศทางการทยอยผ่อนคลายเกณฑ์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง (FX Ecosystem) ล้วนส่งเสริมให้ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น และส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากในอดีต 

 

ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถตกลงกับคู่ค้าปลายทางในภูมิภาค เพื่อปรับมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นได้ การเปลี่ยนไปใช้คู่สกุลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเตรียมพร้อมในการรองรับผลกระทบของความผันผวนของค่าเงินบาทได้ดีกว่าการใช้คู่กับสกุลดอลลาร์สหรัฐ 

 

โดยสรุป ผลกระทบของค่าเงินบาทที่มีต่อผู้ประกอบการไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้คู่สกุลค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีความผันผวนค่อนข้างสูง การป้องกันความเสี่ยงผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะหากเทียบกับโครงสร้างการค้าของไทยที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าขายในภูมิภาคที่สูง ตลอดจนแนวโน้มทิศทางการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง 

 

นอกจากนี้ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้นสำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising