จุดประเด็น
เป็นที่น่ายินดีที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 และต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 วุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1 รับหลักการ ส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในขั้นตอนอื่นๆ ดังที่ได้ทราบกัน
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่มีการหยิบยกและโต้แย้งในชั้นสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมาสู่วุฒิสภาคือ ประเด็นคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ซึ่งเป็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่มาจากภาคประชาชนกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก และท้ายที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้เห็นด้วยกับฝั่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อย หากแต่เห็นด้วยกับฝั่งกรรมาธิการเสียงข้างมากที่เห็นว่า ไม่ควรบรรจุคำดังกล่าวไว้ในกฎหมาย อันเนื่องมาจากไม่เคยปรากฏคำนี้ (คำว่าบุพการีลำดับแรก) ในระบบกฎหมายมาก่อน และอาจต้องศึกษากฎหมายทั้งระบบที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก
คำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ จึงเป็นอันจบไปในชั้นสภาผู้แทนราษฎร
คุณค่าที่คู่ควร?
จบในสภาผู้แทนราษฎร แต่ทว่าไม่จบในสังคม เพราะการจุดประเด็นเกี่ยวกับคำนี้โดยภาคประชาชน ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า ‘บุพการี’ คืออะไร และในเมื่อระบบกฎหมายกำลังสนใจที่จะกำหนดสถานะสมรสของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้เป็น ‘คู่สมรสตามกฎหมาย’ ได้ ซึ่งหมายความว่าเป็นจุดกำเนิดการเป็นครอบครัวในสายตาของกฎหมาย คำถามจึงมีอยู่ว่า คู่สมรสที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันจะมี ‘ลูก’ ที่พวกเขาทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายและทางศีลธรรมสังคมที่จะอุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่ และเช่นนั้นในสายตาของกฎหมาย จะยอมให้พวกเขาเป็น ‘บุพการี’ ได้หรือไม่
พูดง่ายๆ มีลูกได้ไหม และเมื่อมีลูกแล้วจะนับว่าพวกเขาเป็นบุพการีของใครสักคนหนึ่งได้หรือยัง
การที่ใครสักคนหนึ่งจะกลายเป็น ‘บุพการี’ ของใครสักคนเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่ผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในมิติของคำในกฎหมาย แต่ขอกล่าวในฐานที่เป็น ‘คำในทางวัฒนธรรม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของสังคมไทย ที่การเป็นบุพการีไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เนื่องจากมีสถานะเป็นพิเศษที่จะได้รับความเคารพและสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าระหว่างบุคคล
การที่ระบบกฎหมายไม่นับว่าคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเป็นบุพการีของเด็กคนหนึ่งในครอบครัวของเขา และเฉพาะแต่คู่สมรสต่างเพศเท่านั้นที่จะเป็นบุพการีตามกฎหมายของเด็ก จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า นี่จะเป็น ‘ความไม่เท่าเทียมในกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ หรือไม่
คำว่าบุพการีผู้เขียนมองว่า ผู้คนในสังคมไทยสัมผัสได้ถึงความลึกซึ้งและละเอียดอ่อนของคำคำนี้
สำรวจนิยามของคำว่าบุพการี
ขอวกเข้ามาสำรวจประเด็นทางกฎหมาย
แม้คำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ จะไม่ปรากฏตัวในระบบกฎหมาย แต่คำว่า ‘บุพการี’ มีอยู่ทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายอื่น
อย่างไรก็ตาม คำว่าบุพการีไม่มีคำจำกัดความในกฎหมายอย่างจะแจ้ง ดังนั้นเมื่อมีการใช้ตัวบทกฎหมายใดที่เอ่ยถึงคำนี้ จึงต้องอาศัยการตีความคำว่าบุพการีนั่นเอง
ทั้งนี้ ถ้าใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภาเป็นเครื่องมือในการตีความคำดังกล่าวจะพบว่า พจนานุกรมเก็บความหมายของคำดังกล่าว ไว้ 2 ประการ
ประการแรกคือ หมายถึงผู้ที่ทำอุปการะมาก่อน
ประการที่ 2 หมายถึงญาติทางสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป โดยการให้ความหมายในประการที่ 2 นี้มีการระบุกำกับไว้ด้วยว่า เป็นการให้ความหมายในทางกฎหมาย
การเก็บคำดังกล่าวของพจนานุกรมกำลังบอกอะไรเรา
ผู้เขียนคิดว่าน่าจะสะท้อนว่า ความหมายโดยทั่วไปก็อย่างหนึ่ง ความหมายเจาะจงในทางกฎหมายก็อย่างหนึ่ง
แต่เราก็จะสังเกตได้ว่า ความหมายเจาะจงในทางกฎหมายดังที่ราชบัณฑิตยสภาระบุไว้เป็นประการที่ 2 นี้ดูจะแคบ เพราะมุ่งหมายแค่บุคคลทางสายเลือดขึ้นไป ส่วนบุคคลทางสายเลือดนั้นจะเคยหรือไม่เคยมีอุปการคุณก็ไม่สำคัญ
ดังนั้นจึงเป็นการให้ความหมายที่ตัดเรื่องบุคคลที่เป็นผู้มีพระคุณในทางข้อเท็จจริงออกไป ป้า, น้า, ลุง, พี่สาว ที่เลี้ยงดูคนใดคนหนึ่งมาตั้งแต่น้อย หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์ที่มีอบรมสั่งสอน ก็จะไม่อาจเรียกว่าเป็น ‘บุพการี’ ได้ในความหมายประการที่ 2 นี้
เด็กในครอบครัว LGBTQIA+
การวางขีดจำกัดของการเป็นบุพการีในความหมายทางกฎหมาย จึงส่งผลต่อการคาดการณ์ต่อไป เมื่อระบบกฎหมายไทยกำลังจะก่อตั้งให้บุคคลเพศเดียวกันเป็นคู่สมรส และอาจมีเด็กในการอุปการะ ‘ร่วมกัน’ ในชีวิตคู่สมรส
เราอาจคาดได้ว่า สถานการณ์ในการที่คู่สมรสเพศเดียวกันจะมีเด็กในอุปการะมี 2 กรณี ได้แก่ หนึ่ง กรณีอุ้มบุญ สอง กรณีรับบุตรบุญธรรม
กรณีอุ้มบุญดูเหมือนจะไม่มีข้อที่น่ากังวลแล้ว เพราะร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดให้บรรดากฎหมายใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีหรือภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย เป็นตัวบทที่เหมือนไม้กายสิทธิ์เสกให้คู่รักเพศเดียวกันได้อานิสงส์จากบรรดากฎหมายที่เคยเขียนใช้เฉพาะคู่สามีภริยาชายหญิงด้วยนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.อุ้มบุญ เปิดช่องให้สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถอุ้มบุญได้ และบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สามีภริยานั้น ก็ทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันอุ้มบุญได้ และให้ถือว่าบุตรที่เกิดจากการอุ้มบุญเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสเพศเดียวกัน เพราะฉะนั้นโดยนัยนี้ คู่สมรสเพศเดียวกันจึงกลายเป็นบุพการี ‘ร่วมกันโดยผลของกฎหมาย’ (ซึ่งในกรณีอุ้มบุญ เด็กอาจไม่ได้มาจากสายเลือดคนใดคนหนึ่งก็ได้ เช่น นายดำสมรสกับนายแดง ทั้งคู่ตกลงกันใช้เซลล์อสุจิของนายดำไปผสมกับไข่ของนางสาวขาว หญิงที่รับอุ้มบุญ)
แต่กรณีรับบุตรบุญธรรมดูจะเป็นปัญหา เนื่องจากแม้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ หมายความว่า บุตรบุญธรรมนั้นถือเสมือนบุตรของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถูกนับว่าเป็น ‘บุพการี’
คำถามคือทำไม
ทำไมผู้อุปการคุณที่ยอมให้คนคนหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว มีอำนาจปกครองคนคนนั้นในกรณีที่ยังเป็นผู้เยาว์ และคนคนนั้นมีสิทธิรับมรดกของตน โดยที่ผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมหากบุตรบุญธรรมตายก่อน แต่ท้ายที่สุดผู้รับบุตรบุญธรรมไม่อาจอยู่ในฐานะ ‘บุพการี’
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคำพิพากษาศาลตัดสินว่า คำว่า ‘บุพการี’ ไม่รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ถือเป็นบุพการีของบุตรบุญธรรม ส่งผลลุกลามต่อไปว่า ดังนั้นคำใดในระบบกฎหมายที่ใช้คำว่าบุพการี ย่อมไม่รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรมในทุกกรณี
รากของคำถามคือเรื่องความยุติธรรม
การตีความคำของนักกฎหมายในกรณีนี้ทำให้เกิดคำถามว่า สวนทางกับสามัญสำนึกของชาวบ้านหรือไม่?
และเช่นนี้จึงน่าเป็นเหตุให้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภาเก็บความหมายไว้ทั้งสองแนวดังที่ได้กล่าวมาโดยไม่ต้องสงสัย
การที่ภาคประชาชนเรียกร้องการบรรจุคำว่า ‘บุพการี’ สำหรับคู่สมรส LGBTQIA+ จึงเป็นการกระทุ้งต่อสามัญสำนึกในทางวัฒนธรรม เป็นการปลุกให้นักกฎหมายหรือนักร่างกฎหมายได้สังเกตถึงความไม่ยุติธรรมในการตีความกฎหมาย
กล่าวตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากมองด้วยสามัญสำนึกแบบชาวบ้าน ถ้าคู่สมรสเพศเดียวกันร่วมรับเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม อบรมดูแล ให้ความรักและเอาใจใส่ แต่ไม่เรียกว่าบุพการี แล้วจะเรียกอะไร เป็นหัวหลักหัวตอในครอบครัวหรือ คำถามเย้ยจะเกิดขึ้นกระทุ้งสามัญสำนึกวิธีตอบแบบนักกฎหมายทันที
ที่สำคัญการเป็นหรือไม่อาจเป็นบุพการีในทางกฎหมาย ส่งผลทางกฎหมายตามมาอีกนานัปการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าภาคประชาชนได้คิดไปไกลถึงผลทางกฎหมายที่จะตามมาของการตีความคำว่า ‘บุพการี’ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผลเช่นนั้นมีอยู่จริง
เนื่องจากคำว่าบุพการีแทรกตัวอยู่ในระบบกฎหมายหลายที่ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะปล่อยผ่านโดยไม่ฉุกคิด ไม่ว่าจะเป็น
- สิทธิในการขอต่อศาลของคนที่เป็น ‘บุพการี’ ที่จะให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตที่ตนเป็นบุพการีอยู่นั้นตกเป็นคนไร้ความสามารถ (ข้อสังเกต: ตัวบทเขียนตัวอย่างบีบแบบชัดเจนว่า เฉพาะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และทวด เท่านั้นที่จะเป็นบุพการีตามตัวบท)
- เรื่องคดีอุทลุมที่กฎหมายห้ามฟ้องคนที่อยู่ในฐานะ ‘บุพการี’ เว้นแต่ขออัยการทำให้
- ข้อยกเว้นการไม่ถูกกำจัดให้รับมรดก ในกรณีไม่ยอมแจ้งความคนฆ่าเจ้ามรดก หากคนลงมือฆ่าเป็น ‘บุพการี’
- กรณีในประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดเป็นบทฉกรรจ์สำหรับบุคคลที่ฆ่าหรือทำร้าย ‘บุพการี’ และเป็นบทลดหย่อนผ่อนโทษหรือให้ยอมความได้ถ้าเป็นเรื่องความผิดต่อทรัพย์ที่เกิดเกี่ยวกับ ‘บุพการี’
- กรณีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้คนที่อยู่ในสถานะ ‘บุพการี’ จัดการแทนผู้เสียหายได้ ถ้าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเรื่องคดีเอง
ทั้งหมดทั้งมวลต้องตระหนักว่า ‘ผู้รับบุตรบุญธรรม’ ไม่อยู่ในข่ายที่จะเป็น ‘บุพการี’ ในการตีความทางกฎหมายที่ผ่านมาโดยตลอด เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่มาก่อนนานมากแล้ว และแน่นอนว่ามีมาก่อนที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าสภา
ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ไม่เคยได้ยินเสียงลุกขึ้นต่อสู้ว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมควรที่จะได้รับสถานะเป็นบุพการี
แต่กระบวนการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้จุดประเด็นนี้ขึ้น แม้จะเพียงเริ่มต้นจากการเสนอขึ้นเพื่อประสงค์ให้ใช้คำดังกล่าวเนื่องจากเป็นกลางทางเพศ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการขยับขยายทางความคิดคือ การเรียกร้องให้ฉุกคิดผลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบกฎหมายไทย
ผู้สนใจการถกประเด็นนี้ในสภา ขอให้ไปลองดูบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ประชุมในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ครับ
ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะชี้ให้เห็นว่า การร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาหนนี้ ไม่เพียงแต่การพิจารณาเรื่องความเสมอภาคกันในสถานะคู่สมรสของผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่ยังแตะประเด็นที่ชวนให้ขยับขยายคำถามฉุกคิดไปยังเรื่องอื่นๆ ในทางครอบครัวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ‘บุพการี’
(น่าสนใจตรงที่ในต่างประเทศต่อสู้กันเรื่องสิทธิที่คู่สมรส LGBTQIA+ จะเป็นผู้ปกครองของเด็ก แต่ของไทยกระเถิบประเด็นออกไปเรื่องสิทธิที่จะใช้คำว่าบุพการีหรือเป็นบุพการีที่ผมยังไม่เคยเห็นในที่อื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะในต่างประเทศไม่ได้มีประเด็นกันในเรื่องนี้)
โดยส่วนตัวผู้เขียนเสนอว่า กฎหมายควรแก้ไขให้ผู้รับบุตรบุญธรรมถือเป็นบุพการีด้วย เพราะเป็นผู้รับบุคคลเข้ามามีสถานะเป็นส่วนหนึ่งในสายสัมพันธ์ของตน เปรียบเสมือนกับลูกในไส้ ทั้งยังมอบความไว้ใจให้เป็นคนในครอบครัว และเชื่อว่าในสายตาชาวบ้านก็มองว่าผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้มีอุปการะต่อบุตรบุญธรรมอยู่นั่นเอง
(อนึ่ง หากแก้เช่นนี้แล้ว ผลดีก็จะเกิดขึ้นกับผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่ได้เป็นคู่สมรส LGBTQIA+ ด้วย รวมไปถึงคนที่ไม่มีคู่สมรส แต่รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเช่นกัน)
ท้ายที่สุด แก่นแกนของข้อเรียกร้องในชั้นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเด็นนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องความเท่าเทียม ที่สะท้อนผ่านถ้อยคำทางวัฒนธรรมอย่างคำว่า ‘บุพการี’
ผู้เขียนขอสนับสนุนให้ทบทวนการตีความคำว่า ‘บุพการี’ ที่ตีความแค่ให้จำกัดเพียงบุคคลตามสายเลือดเท่านั้น บุพการีควรรวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรม
ครอบครัวไม่ว่าจะเป็นครอบครัวทางสายเลือดหรือครอบครัวโดยการรับบุตรบุญธรรม ไม่ควรแตกต่างกันในประเด็นเรื่องบุพการี