×

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ทายท้าร้านสะดวกซื้อ

08.11.2024
  • LOADING...

​​​​คำว่า ‘ทายท้า’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปแข่งขันเอาชนะใคร ไปทำให้ใครพ่ายแพ้อะไร แต่เป็นการนำเสนอให้เห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจฐานรากชุมชนมีทั้งมูลค่าและคุณค่าที่สามารถสร้าง พัฒนา และยั่งยืนได้ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาคท้องถิ่น และภาควิชาการ ก็จะกลายเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจชาวบ้านที่มีอานุภาพเหนือกว่าตัวเลข GDP อันเป็นภาพลวงตามาโดยตลอด

 

​20 ปีของตลาดน้ำคลองลัดมะยมไม่ใช่เกิดขึ้นเองแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดของ ชวน ชูจันทร์ ชาวนาชาวสวนพื้นบ้านร่วมกับชุมชนท้องถิ่นช่วยกันเสกสรรปั้นแต่ง จนนอกจากตลาดแห่งนี้จะเป็นเส้นเลือดของการหาอยู่หากินของคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นชุมชนเศรษฐกิจที่มีเสน่ห์ต้องตาต้องใจนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เป็น ‘พื้นที่เสน่ห์ไทย’ (Amazing Thailand) ที่กระฉ่อนไปทั้งในเอเชีย, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, แอฟริกา, ออสเตรเลีย และทั่วทั้งสากล

 

 

คนบ้าเก็บขยะ

 

​“ผมทำตลาดพร้อมกับเก็บขยะไปด้วย ปี 2534-2535 บนผิวน้ำคลองลัดมะยมมีขวด, ถุงพลาสติก, เศษไม้, เสื้อผ้า, หมอน, ที่นอน, ผ้าห่มก็ยังมี เป็นขยะเกลื่อนกลบพื้นผิวน้ำ มองแทบไม่เห็นผิวน้ำทั้งๆ ที่น้ำก็ต้องหายใจเหมือนกัน”

 

ชวนเล่าสู่กันฟังและชี้ว่าคลองเป็นวิถีวัฒนธรรมของคนไทยมาแต่โบราณที่เลือกอยู่อาศัยใกล้น้ำ อาศัยน้ำเป็นฐานการกินการอยู่มาตลอด คนเก่าก่อนจะทำสะพานข้ามคลองยังยกสะพานเป็นทรงโค้งเพื่อให้เรือลอดผ่าน แต่รัฐสมัยใหม่เอาใจรถยนต์ พอทำถนนก็สร้างสะพานเสมอถนนให้รถวิ่งง่าย ไม่เห็นหัวคนใช้เรือในลำคลอง พอรถยนต์มา ถนนมา รัฐทิ้งคลองไปประจบถนน คลองกลายเป็นธารขยะขวางทางเรือพาย น้ำก็เน่าเหม็นไปทั่ว

 

“ผมทนไม่ได้ จึงคิดว่าตลาดนั่นแหละเป็นทั้งเศรษฐกิจชาวบ้านและเป็นหนทางกำจัดขยะไปพร้อมกัน ตลาดจะอยู่อย่างไร ถ้าขยะเต็มคลองจะไปบอกให้ชาวบ้านช่วยกันเก็บคงไม่ได้ผล ผมจึงเอาตัวเองเข้าแลก ลงมือเก็บขยะในคลองด้วยตัวเอง”

 

 

ปี 2547 ชวนมีที่ดินของตัวเอง 2 งานติดน้ำคลองลัดมะยม จึงตัดสินใจสร้างตลาดบกติดน้ำ บอกญาติและเพื่อนบ้านใกล้ตัวราว 40-50 คนมาเปิดตลาดขายของกัน หลักคิดก็คือให้ตลาดเป็นของชาวบ้าน “ใครอยากค้าผักค้า ใครอยากค้าข้าวแกงค้า ใครอยากค้าขนมค้า” ทำให้เป็นตลาดชาวบ้าน ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ไม่ต้องมีค่าป่วยการใดๆ ขณะนั้นร้านสะดวกซื้อของทุนนิยมเสรีเข้ามากลืนกินตลาดของชาวบ้านไปมากแล้ว จะไปตั้งร้านค้าสู้กับ 7-Eleven ก็ไม่ไหว

 

​“พร้อมๆ กับการเปิดตลาด ผมพายเรือเก็บขยะอยู่ในคลองคนเดียว เอากะละมังใส่เรือแล้วหยิบขวด ถุงพลาสติก ขยะทุกอย่างบนผิวน้ำ ทีละชิ้นสองชิ้นแล้วเอาใส่กะละมังไปเข้าสู่กระบวนการกำจัดขยะ คนหาว่าผมบ้า เพราะคนทิ้งขยะมีเป็นร้อยคนเก็บมีคนเดียว มันจะเก็บหมดได้อย่างไร คนแก่บ้าริมคลองคนนี้ก็ได้แต่อดทน คิดเสียว่าถ้าเราไม่เก็บแล้วใครจะมาเก็บ ถ้าอยากค้าอยากขายแล้วน้ำยังเน่าใครจะมาเป็นลูกค้าในตลาด เวลาผ่านไปมีชาวบ้านมาบ้าเก็บขยะตามผม จนเดี๋ยวนี้ไม่มีใครไปพายเรือเก็บขยะแล้ว เพราะคลองสะอาด มีปลาเต็มไปหมด ตอนนั้นมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กรุณาช่วยจัดซื้อและติดตั้งถังดักไขมัน 100 ชุด ไว้ทุกบ้านเพื่อช่วยกรองน้ำก่อนทิ้งลงคลอง ตอนนี้ไม่มีใครว่าผมบ้าแล้ว” ชวนพูดพร้อมกับหัวเราะร่า

 

​จากโซนหนึ่ง เนื้อที่ 2 งานมีร้านค้า 25 ร้าน เพราะเห็นว่าตลาดเดินหน้าไปได้ จึงมีการซื้อขายที่ดินที่ติดกัน แล้วต่างก็ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีก 7 โซน ขณะนี้มีร้านค้าราว 800 ร้านที่ขายสินค้าในชุมชน มี 8 เจ้าของพื้นที่ร่วมตลาด มีกติการ่วมกันว่าจะไม่ขายเหล้าและบุหรี่ ไม่ค้ากำไรเกินควร และทุกคนช่วยกันรักษาความสะอาด เจ้าของพื้นที่ต่างจัดบริการพื้นที่สาธารณะด้วยตนเอง เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำสะอาด และมุมพักผ่อน 

 

ใครจะจัดพื้นที่เป็นเวทีศิลปวัฒนธรรม ต้อนรับการแสดงของเด็ก, นักเรียน, เยาวชน และชาวบ้าน ก็สามารถจัดได้ตามอัธยาศัย ภาระส่วนกลางจึงมีน้อย เพราะเจ้าของพื้นที่ต่างรับผิดชอบพื้นที่สาธารณะกันไปแล้ว ใครอยากรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายก็ทำได้ เช่น เครือข่ายกล้วยไม้, กลุ่มเรือหางยาวและเรือพายพานักท่องเที่ยวล่องเรือในคลอง, กลุ่มโฮมสเตย์, กลุ่มจัดการเรื่องพลังงานโดยเฉพาะขยะและปุ๋ย และธนาคารชุมชน ตลาดน้ำคลองลัดมะยมจึงไม่เป็นเพียงพื้นที่ขายของกินของใช้เท่านั้น แต่เป็นเครือข่ายจัดการตนเองของแต่ละกลุ่ม อาชีพ และความสนใจ ภายในชุมชน

 

​2 วันที่ผู้เขียนไปเยือนตลาด โดยมีชวนพาเดินดูร้านค้า บรรดาพ่อค้าแม่ขายต่างทักทาย “ลุงชวน, น้าชวน, พี่ชวน” กันอย่างมีไมตรีจิต ทุกคนตระหนักดีว่าไม่มีชวนก็จะไม่มีตลาดดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น

 

​ทุกวันนี้ชวน ผู้ริเริ่ม วางหลัก และจัดการ จึงบริหารโดยไม่ได้บริหาร เพราะเจ้าของพื้นที่และกลุ่มเครือข่ายต่างออกเหงื่อออกแรงทำกันเองบนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าและคุณค่าพร้อมๆ กันไป

 

ตลาดน้ำติดลมบน

 

​ใครไปเยือนตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลิ่งชัน ในวันเสาร์-อาทิตย์จะพบความคึกคักมีชีวิตชีวาทั้งพ่อค้าแม่ขาย และนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศไปที่นั่นวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ทั้งซื้อของ, ล่องเรือ, พักผ่อน, พักโฮมสเตย์, ร่วมกิจกรรม และอีกจิปาถะ

 

​ผู้เขียนคุยกับหลายร้านค้า ถ้าเป็นร้านขายอาหารมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 บาท พอๆ กันกับเรือหางยาวรับจ้าง, ร้านขายปลาเผามีรายได้วันละ 20,000 บาท, ร้านไอศกรีมมีรายได้วันละ 6,000 บาท, ร้านขายผักและผลไม้มีรายได้วันละ 6,000-8,000 บาท

 

​ประเมินว่าแต่ละวันตลาดแห่งนี้มีเงินรายได้ราว 4 ล้านบาท คูณ 8 วัน เท่ากับเดือนละ 32 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินหมุนเวียนปีละ 360 ล้านบาท

 

 

ชวนบอกว่า ปริมาณข้าวของที่ขายได้เป็นเศรษฐกิจในครัวเรือนด้วย คนขายข้าวต้มมัดจะต้องมีกะทิมะพร้าว มีคนจักตอก เก็บใบตอง เก็บกล้วยมาผสม นึ่งข้าวเหนียว ขนมจีนน้ำยาก็ต้องมีคนทำเส้น จัดหาเครื่องปรุง เตรียมผักเครื่องเคียง แปลว่ารายได้กระจายในครอบครัวทั้งคนปลูกผักและคนปรุง

 

กล้วยขายได้วันละ 500 กว่าหวี หวีละ 20 บาท เป็นอาหารคนรายได้น้อย หัวปลีก็เอามาขายกินได้ ขายดีด้วย มีอยู่คราวหนึ่งมีคนไปรับลูกชิ้นเยาวราชมาขาย เป็นสินค้ามีชื่อ กะว่าจะขายดิบขายดี ปรากฏว่าวางขายได้ 3 สัปดาห์ขายไม่ออก ต้องม้วนเสื่อกลับไป เพราะลูกค้าบอกว่ามาถึงถิ่นแล้วต้องกินลูกชิ้นท้องถิ่นถึงจะได้รสชาติที่แท้

 

ลองคิดดูเถิดว่าชาวบ้านเก็บผักบุ้งมา ทำขนมครกร้อนๆ ทอดกล้วยแขกอร่อยๆ จะเอาเข้าไปขายในร้าน 7-Eleven เขาจะวางขายให้ไหม

 

“ผมไม่ได้ต่อต้านร้านสะดวกซื้อ เราต้องกินต้องใช้ก็ซื้อเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องใช้ชีวิตสุดขั้ว ตลาดน้ำของเรา เรารู้จักคนขาย เขาปลูกเอง ปรุงเอง ไม่ใช้สารพิษปนเปื้อนในผัก ผลไม้ และอาหาร ตลาดจึงเป็นแหล่งของสดสะอาดจากสวน อาหารและขนมอร่อยร้อนๆ จากเตา”

 

 

ดีแล้วที่ตลาดแห่งนี้จัดการโดยชุมชน กระทรวงพาณิชย์ อำเภอ หรือจังหวัด ไม่ต้องเข้ามาจัดแจงใดๆ เพราะภาครัฐถนัดทำตลาดธงฟ้า ตลาดลดราคา เป็นตลาดอีเวนต์ที่มุ่งผลโฆษณามากกว่าความยั่งยืน ภาครัฐเข้ามาอำนวยความสะดวกได้ แต่อย่ามาจัดการ ให้ภาครัฐทำตลาดรวมการเฉพาะกิจ (Event Marketing) ต่อไปจะดีกว่า

 

เราอาจเรียกตลาดน้ำคลองลัดมะยมว่าเป็นตลาดทะนงตนก็ยังได้ มันเป็นภาพสะท้อนกลับที่เห็นได้ว่าชุมชนไม่สยบยอมให้แก่ทุนเสรีของร้านสะดวกซื้อ เป็นการประกาศความเป็นอิสระโดยไม่ไปละเมิดอะไรใคร รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าความจริงแล้วเพราะความใหญ่ไร้ขีดจำกัดของทุนเสรีนั้นเองทำให้เกิดการผูกขาด เปรียบเหมือนเสรีของหมาป่าท่ามกลางฝูงแกะ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมร้านโชห่วยจึงถึงกาลอวสานเพราะถูกเบียดขับออกไปแล้วมากกว่า 300,000 ร้าน โดยที่ต่างเข้าใจกันดีว่าร้านโชห่วยในอดีตนั้นเองเป็นสถานศึกษา เป็นโรงเรียนสร้างเถ้าแก่ขึ้นมามากมายเต็มบ้านเต็มเมือง

 

การประกาศความเป็นไทของชุมชนตลาดน้ำคลองลัดมะยมแสดงออกด้วยการที่ผู้ผลิตและผู้ขายเป็นคนเดียวกันหรืออยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งมอบผักสด ผลไม้ และอาหารคาวหวาน ไปถึงมือผู้ซื้อโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่มีค่าการตลาด, ค่าเอาสินค้าเข้าร้าน, ค่าหีบห่อ, ค่าโฆษณา, ค่าขนส่ง ไม่ไยดีต่อชั้นวางของที่มีแอร์เย็นๆ ในร้านสะดวกซื้อ เป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ลูกค้า

 

นี่คือเศรษฐกิจชุมชนตัวจริงเสียงจริงที่ทุนเสรีของร้านสะดวกซื้อจำต้องหลีกทางให้ และเป็นการหาอยู่หากินของชาวบ้านที่ตัวเลข GDP อาจไม่ไยดีอะไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising