×

Jensen Huang เด็กล้างจาน สู่ซีอีโอ ผู้ชนะโลกใหม่ AI

โดย THE STANDARD TEAM
01.04.2024
  • LOADING...

The Secret Sauce สรุปเส้นทางชีวิต Jensen Huang ซีอีโอแห่งบริษัท Top 3 โลก NVIDIA ผู้ที่มีดวงตาทั้งสองไว้มองการณ์ไกล มีมือทั้งสองไว้คอยแผ้วถางเส้นทาง พาธุรกิจมุ่งสู่อนาคต จนมูลค่าบริษัทปัจจุบันทะลุ 2 ล้านล้านไปแล้ว 

 

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ อดีตของเขาคือเด็กล้างจานในร้านอาหาร 

 

🟡จากเด็กล้างจานสู่ซีอีโอ

 

Jensen Huang มีพื้นเพเป็นคนเมืองไถหนาน ไต้หวัน ที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาในช่วงของสงครามเวียดนาม เขาเคยทำงานเป็นเด็กล้างจาน บริกรที่คอยเช็ดโต๊ะในร้านอาหาร Denny’s จนมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

 

การทำงานที่ LSI Logic Corp. บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ คืองานสุดท้ายก่อนที่เขาจะผันตัวมาเป็นซีอีโอที่ NVIDIA 

 

ในปี 1992 ไอเดียในการก่อร่างสร้างบริษัท NVIDIA ของเขาและผองเพื่อนเริ่มต้นขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อ ‘แก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์ปกติไม่สามารถทำได้’ 

 

🟡อดีตที่ดีนำไปสู่อนาคตที่ดี 

 

ไอเดียมีพร้อม แต่เงินทุนมีจำกัด ไม่เพียงพอจะทำให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ 

 

ช่วงนั้น Jensen มีโอกาสได้เล่าถึงแผนธุรกิจให้เจ้านายเก่าที่ LSI Logic ฟัง ถึงแม้ไอเดียของเขาดูจะยังไม่เข้าท่านัก แต่สิ่งที่เจ้านายเก่าของเขาทำคือการยกหูหา Don Valentine แห่ง Sequoia Capital บริษัท VC ระดับโลก พร้อมบอกว่า 

 

Don, I’m going to send a kid over,

I want you to give him a money, 

He’s one of the best employees LSI Logic ever had.

 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเงินทุนก้อนสำคัญที่ทำให้ NVIDIA มาถึงวันนี้ 

 

Jensen เคยให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ไว้ว่า

 

You can make up a great interview,

You can even have a bad interview.

But you can’t run away from your past,

And so have a good past.

 

🟡ถอดแนวคิดพา NVIDIA สู่องค์กร Top 3 โลก  

 

1. สร้างเทคโนโลยีไม่พอ ต้องสร้างตลาดด้วย  

 

ย้อนกลับไปต้นทศวรรษ 1990 ต้องบอกว่าสิ่งที่ NVIDIA คิดจะทำเป็นฝันที่ล้ำหน้าไปไกล การจะทำให้สำเร็จเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก Jensen จึงต้องเลือกว่าอะไรคือไม้เด็ดที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด?

 

แล้วเขาก็มองไปที่การทำ GPU หรือการ์ดจอเกม แต่ปัญหาก็คือ อุตสาหกรรมเกมที่จะเป็นลูกค้ารายสำคัญของเขาตอนนั้นยังมีมูลค่าน้อยมาก เป็นตลาดที่มีค่าไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ  

 

ตอนนั้นเอง Don ผู้ที่ให้เงินทุนก้อนแรก ได้บอกกับเขาว่า การที่ NVIDIA จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องทำให้สตาร์ทอัพรายอื่นๆ ในวงการสำเร็จเช่นกัน Jensen จึงได้เข้าใจว่า 

 

“เขาไม่เพียงแค่ต้องสร้างเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังจำเป็นจะต้องสร้างตลาดวิดีโอเกมขึ้นมาด้วย”  

 

2. เราทุกคนสามารถสร้างอนาคตได้ 

 

ในการพัฒนาเทคโนโลยีกราฟิกจะมีสิ่งที่เรียกว่า Graphic API เอาไว้ใช้สั่งการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ NVIDIA กำลังเติบโตก็คือ เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมาในตอนนั้นไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Graphic API ของลูกค้ารายใหญ่ๆ อย่างเช่น Microsoft ได้ 

 

แทนที่จะปล่อยโอกาสให้หลุดลอย Jensen เลือกที่จะเดินเข้าร้านหนังสือ จนได้ไปพบกับหนังสือที่ช่วยไขคำตอบในการพัฒนาเทคโนโลยีของ NVIDIA นำไปสู่การปลดล็อกข้อจำกัดที่ไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จ 

 

บทเรียนที่ Jensen ได้รับจากความพยายามนี้คือ “เราไม่ควรหันหลังให้กับสิ่งที่เรายังไม่รู้ และเราทุกคนสามารถสร้าง ‘อนาคต’ ได้ แม้ว่าเราจะไม่รู้จักมันเลยก็ตาม” 

 

3. ตัวชี้วัดอนาคต ไม่ใช่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน 

 

หลังจากที่ NVIDIA พัฒนาเทคโนโลยีด้านกราฟิกขึ้นมาได้สำเร็จ Jensen Huang รู้ได้อย่างไรว่าบริษัทจะต้องปรับตัวมาสู่การทำชิปสำหรับ AI ในวันนี้? 

 

ประเด็นสำคัญคือ ต้องมีตัวชี้วัดที่เรียกว่า EIOFS ซึ่งย่อมาจาก Early Indicators of Future Success 

 

Jensen บอกว่า คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิด คิดว่าอัตรากำไรคือตัวชี้วัดที่สำคัญ แต่เขามองว่านั่นไม่ใช่ตัวชี้วัด แต่คือผลลัพธ์ต่างหาก 

 

สิ่งที่บริษัทควรทำคือการหา Early Indicators เพื่อเป็นเครื่องประกันว่าเรากำลังมุ่งไปสู่การมีผลลัพธ์ที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ในหลายๆ ครั้งที่ตลาดยังไม่เกิดขึ้น แต่บริษัทได้แก้ปัญหาต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรได้สำเร็จ นั่นเท่ากับว่าเราได้บรรลุ EIOFS แล้ว 

 

“เพราะขนาดของตลาดที่เห็นในวันนี้อาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้อนาคต แต่ความสำคัญของปัญหาที่บริษัทได้เข้าไปแก้ต่างหากที่เป็น EIOFS ไปสู่ความสำเร็จ” Jensen Huang ทิ้งท้าย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising