เมื่อตอนกลางวันได้เห็นคลิปสั้นๆ ของสำนักข่าว THE STANDARD ที่ท่านทูตไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้กล่าวถ้อยคำเป็นกำลังใจต่อการส่งเสริมความเป็นธรรมทางเพศและยุติความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQIA + เนื่องในวัน International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia ผมก็อดไม่ได้ที่อยากจะบอกเล่าเรื่องราว ข้อสังเกต และความหวังต่อการยุติการเกลียดกลัวบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย
เหตุใดต้องเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม
ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม ในทางสากลให้การยอมรับว่าทุกๆ ปี ถือเป็นวัน International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia หรือที่อาจแปลเป็นไทยว่า วันสากลว่าด้วยการยุติการเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ บุคคลผู้รักทั้งสองเพศ และบุคคลข้ามเพศ ในที่นี้ขอเรียกสั้นๆ ว่าวันยุติโฮโมโฟเบียสากล
เหตุที่เป็นวันดังกล่าวเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1990 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศลบการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Homosexuality) ออกจากบัญชีว่าด้วยโรค เพราะฉะนั้นการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่ความเจ็บป่วย โรค หรือปัญหาสุขภาพอีกต่อไป ดังนั้นมุมมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนป่วย หรือต้องบำบัด หรือเป็นความผิดปกติของมนุษยชาติ จึงเป็นเรื่องต้องห้ามและไม่อาจยอมรับได้ในทางสากล
ข้อที่น่าสนใจคือคำประกาศขององค์การอนามัยโลกดังกล่าว เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นคดีในศาลไทย คดีนั้นเกิดที่ศาลปกครอง จากการที่ ใบ สด. ระบุว่าหญิงข้ามเพศรายหนึ่ง ‘เป็นโรคจิตถาวร’ จากสภาวะของการเป็นหญิงข้ามเพศ
การใช้คำดังกล่าวในเอกสารราชการนั้นสร้างความไม่พอใจแก่หญิงข้ามเพศรายนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วการใช้คำดังกล่าวในใบ สด. ก็มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเป็นคำที่ใช้สำหรับตัดบุคคลข้ามเพศออกจากการคัดเลือกทหารเกณฑ์
คดีนี้จบลงที่เธอผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะคดี ฝั่งกลาโหมแพ้ โดยศาลปกครองตัดสินห้ามใช้คำว่า ‘เป็นโรคจิตถาวร’ อีกต่อไป และให้ปรับใช้คำใหม่ว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ซึ่งถือเป็นการกำจัดอคติทางเพศในเอกสารราชการอย่างน่าชื่นชม
ข้อที่น่าสนใจในคดีนั้นคือ หญิงข้ามเพศผู้ฟ้องคดีได้อ้างเรื่องที่องค์การอนามัยโลกไม่ระบุว่าความหลากหลายทางเพศเป็นโรคให้ศาลได้พิจารณา และศาลปกครองก็ได้รับฟังข้อมูลมุมมองดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกด้วย คดีนี้สะท้อนโลกทัศน์ของศาลปกครองเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศได้เป็นอย่างดี และถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการยุติความเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศในประวัติศาสตร์ไทย (คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 1540/2554 ตัดสินเมื่อเดือนกันยายน 2554 ฝั่งกลาโหมผู้แพ้คดีไม่อุทธรณ์)
เหตุใดถึงเกลียดกลัว
อาการเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัจจัยเกิดขึ้นได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้ในสภาวะความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต อคติยึดมั่นถือมั่นว่าเพศมีแค่สองชนิดเท่านั้นบนโลกใบนี้ โดยไม่อาจมีเป็นอื่นได้ และเรียกร้องหรือบังคับให้มนุษย์สามารถแสดงออกทางเพศได้แค่สองมิติ คือชายแท้หรือหญิงแท้ตามทัศนะแคบๆ ของผู้มองเช่นนั้น รวมไปถึงความพยายามในการสร้างกติกาหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกติกาในสังคม บนฐานคิดของความไม่รู้หรือรักษาอำนาจหรือสถานะเหนือบางอย่าง
อีกทั้งการมองว่าหากเปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิบางประการจะนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ทางกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เช่น หากเปิดโอกาสให้มีการสมรส ก็จะทำให้จดทะเบียนสมรสหลอกๆ เพื่อไปรับสวัสดิการในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย (ทำไมไม่คิดบ้างว่าคู่สมรสชายแท้หญิงแท้ในทัศนะของผู้ต่อต้านเรื่องนี้ก็อาศัยโอกาสเช่นนั้นได้เหมือนกัน) พูดง่ายๆ คือการตั้งแง่ รวมถึงข้ออ้างที่ไปไกลแม้กระทั่งการนำเสนอว่าความหลากหลายทางเพศคือหายนะของมนุษยชาติ เช่น ธรรมชาติจะลงโทษหรือจะสิ้นเผ่าพันธุ์
ปรากฏการณ์ว่าด้วยการเกลียดกลัว
บางคนกลัวผี บางคนไม่กลัวผี สุดแต่ว่าจะเชื่อเรื่องผีหรือไม่ และเชื่อแล้วกลัวหรือไม่ ความหลากหลายทางเพศก็เช่นกัน ประวัติศาสตร์มนุษยชาติบอกเล่าเรื่องราวในห้วงเวลาตลอดหลายพันปีที่บันทึกมาได้ความว่า มีทั้งช่วงที่กลัวและช่วงที่ไม่กลัว และมีพื้นที่ที่กลัวและไม่กลัวในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ข้อนี้อาจทำให้เรา ณ โลกปัจจุบันได้ตระหนัก
ย้อนไปประมาณหนึ่งพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้วในโลกตะวันตก พบว่าเคยมีมุมมองเรื่องการเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศจากคัมภีร์ของศาสนาที่ถูกตีความบอกเล่าเรื่องราวตำนานเมือง ซึ่งต้องล่มสลายจากห่าฝนเพลิงพิโรธของพระเจ้า เพราะเหตุที่บุคคลเพศเดียวกันมีความสัมพันธ์เชิงความรัก บุคคลเช่นนี้ถือเป็นคนบาป
หรือตัดมาในยุคจักรวรรดิอังกฤษ ที่มีกฎหมายกำหนดให้ความสัมพันธ์ทางเพศของบุคคลเพศเดียวกันเป็นเรื่อง ‘ผิดธรรมชาติ’ ถึงขนาดมีโทษทางอาญา แนวคิดนี้แผ่ไปยังประเทศอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษด้วย อลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ที่มีบทบาทในการถอดรหัสลับของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่โดนคดีและต้องรับโทษตามกฎหมายเพราะไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย เหตุเกิดในปี 1952 กว่าจะได้รับการพระราชทานล้างมลทินโดยควีนเอลิซาเบธก็ล่วงเข้าปี 2013
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดังระดับโลกคือการก่อวินาศกรรมในปี 2016 ที่ผับชื่อเดอะพัลส์ (The Pulse) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ก่อการร้ายเพราะการเกลียดกลัวทางเพศ (Homophobic Terrorism) ครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์โลก เหตุการณ์คราวนั้นผู้ร้ายได้เข้าไปยิงคนในผับดังกล่าวที่แน่นขนัด ณ ช่วงเวลาประมาณตีสอง มีเหยื่อผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 49 ราย ไม่รวมที่บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
การที่ผับของผู้มีความหลากหลายทางเพศตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง นำไปสู่การตระหนักถึงการยุติความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงมีท่าทีจากทางสหประชาชาติด้วย
มองว่าผู้คนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน
หัวใจของการยุติความเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศคือการทำความเข้าใจในความแตกต่างของเพศวิถีหรือการแสดงออกทางเพศของผู้คน ไม่ตีตราหรือจำกัดกรอบวิถีชีวิต ไม่ลงโทษหรือตั้งแง่เพียงเพราะเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรที่จะสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ตามปรารถนา และได้รับความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทั้งในด้านโอกาสและความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมในสายตาของกฎหมาย ที่สะท้อนว่าสังคมจะรับรองและคุ้มครองให้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ก้าวต่อไปของสังคมไทย
มีอีกหลายต่อหลายเรื่องในสังคมไทยที่จำเป็นต้องขบคิดและพัฒนาต่อไป ภายใต้กรอบการยุติความเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรับรองเพศ กฎหมายว่าด้วยคำนำหน้านาม การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเรื่องราวที่ในต่างประเทศเริ่มขยับปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่สังคมไทยยังคงรอคอยข้อสรุปอย่างเช่นข้อห้ามชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายบริจาคโลหิต ซึ่งเป็นประเด็นในต่างประเทศแล้วว่าข้อห้ามนี้ตั้งอยู่บนอคติมากกว่าข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือการป้องกันการติดเชื้อในทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าสังคมไทยจะค่อยๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ความเกลียดกลัวทางเพศน่าจะลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมไทย ณ เวลานี้ และความพยายามผลักดันจากทุกภาคส่วน ทั้งนักการเมือง ระบบราชการ และประชาชน