×

ไม่สายที่จะลงทุนใน หุ้นอินเดีย เปิดรับโอกาสการเติบโตที่สูงสุดในโลกในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

15.05.2024
  • LOADING...

 

หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียในปี 1991 มีการยกเลิกระบบควบคุมธุรกิจอย่างเข้มงวดและการแทรกแซงของรัฐผ่านใบอนุญาต (Licence Raj) ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 6.4% และเติบโต 5.6% ต่อปี ภายใต้การบริหารของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่สูง และในปี 2021 อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกที่ 6.5% มากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 2 เท่า นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อเนื่องราว 6% ต่อปี และ Goldman Sachs คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดเป็นอันดับสามของโลกภายในทศวรรษนี้ และอาจเป็นอันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2070

 

 

มุมมองของ Goldman Sachs ในนิตยสาร The Economist สอดคล้องกับ Jefferies ในบทวิเคราะห์ ‘India’s March onto the Global Stage’ ที่มีการเผยแพร่ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียโต +5.7% ทบต้นต่อปี (CAGR) และคาดการณ์ว่าอินเดียกำลังจะกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตสูงที่สุดในโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือโตปีละ 6.3% ซึ่งจะทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในปี 2027 ขณะที่ในระยะสั้น เศรษฐกิจอินเดียยังคงเติบโตอย่างโดดเด่น โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียปี 2024 เป็น 6.8% ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เดือนเมษายน 2024 จาก 6.5% ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเดือนมกราคม 2024 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและจำนวนวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ เพื่อให้อินเดียบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในระยะยาว อินเดียจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive Sector) ไปจนถึงการเพิ่มความสามารถในภาคเทคโนโลยีชั้นสูง เร่งการพัฒนาธุรกิจในประเทศและเพิ่มการส่งออกนวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนบริการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอของรัฐบาล

 

สำรวจผลงานรัฐบาลของโมดี 2 สมัย เปลี่ยนอินเดียไปอย่างไร

 

 

ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นเรนทรา โมดี ในช่วง 2 สมัยที่ผ่านมา เกิดการปฏิรูปภาคการเงิน ส่งผลให้ภาคการเงินมีความน่าเชื่อถือในระดับโลกเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ของบริษัทอินเดียสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก สะท้อนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นในประเทศ รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีระบบ GST (Goods and Services Tax) ในปี 2017 ที่ตั้งอัตราภาษีสินค้าและบริการให้มีอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ประกอบกับการยกเลิกภาษีทางอ้อมต่างๆ ซึ่งช่วยขยายฐานภาษีของรัฐและลดการขาดดุลงบประมาณ ขณะเดียวกัน ธุรกิจและประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากต้นทุนสินค้าที่ถูกลง นอกจากนี้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้น โดยโครงข่ายทางหลวงเพิ่มขึ้น 60% ในช่วงทศวรรษผ่านมา เป็นสองเท่าของอัตราที่เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ในด้านของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลได้รับการพัฒนาเช่นกัน ในสมัยรัฐบาลของโมดีมีการพัฒนา Unified Payment Interface (UPI) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินดิจิทัล สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลาย และปัจจุบันมีการใช้งานโดยชาวอินเดียราว 300 ล้านคนต่อเดือน โดย UPI เป็นการต่อยอดจาก ‘Aadhaar System’ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกลางแห่งชาติที่รวบรวมข้อมูลประจำตัวบุคคล รวมถึงข้อมูลอัตลักษณ์ทางชีวภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นในรัฐบาลชุดก่อน โดยข้อมูลใน Aadhaar เป็นฐานข้อมูลในการเปิดบัญชีธนาคาร และทำให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นับตั้งแต่ปี 2015

 

ระบบสถาบันการเงินอินเดียมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

 

ในปี 2013 หนึ่งปีก่อนหน้าที่ นเรนทรา โมดี จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย Morgan Stanley จัดให้อินเดียเป็นประเทศที่มีความเปราะบางทางการเงิน เช่นเดียวกับบราซิล, แอฟริกาใต้, อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งที่รู้จักกันในนามกลุ่มประเทศ ‘Fragile Five’ โดยตลาดทุนที่อ่อนแอของอินเดียนำมาซึ่งความไร้เสถียรภาพทางการเงินและดุลการชำระเงิน ประชาชนขาดเงินออม และต้นทุนทางการเงินที่สูงในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันอินเดียเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงและปัญหาหนี้เสียของธนาคารที่ดำเนินการโดยรัฐบาลที่พุ่งขึ้น ขณะที่ปัจจุบันระดับราคาในอินเดียมีเสถียรภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงสูงเล็กน้อยและเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติน้อยลง นอกจากนี้อินเดียมีระดับเงินออมภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งสถาบันการเงินรวมถึงประเทศอินเดียได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น

 

ในปี 2016 มีการออกกฎหมายล้มละลายใหม่ในอินเดีย (IBC) ส่งผลให้มีการจำหน่ายหนี้สูญ (Write-Off) มูลค่าราว 1.06 แสนล้านดอลลาร์ มีการอัดฉีดเงินของรัฐบาล และบังคับบริษัทจัดทำงบการเงินรวมใหม่ ต่อมาระหว่างปี 2017-2019 รัฐบาลมีการควบรวมกิจการธนาคารของรัฐจาก 27 แห่ง เหลือ 12 แห่ง รวมถึงมีการอนุญาตให้ DBS ซึ่งเป็นธนาคารต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการธนาคารในประเทศ และด้วยระบบการรายงานงบการเงินที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้มีสถาบันการเงินในประเทศล้มละลายถึง 5 แห่ง แต่หนี้เสียในระบบลดลง โดยระดับหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ของธนาคารของรัฐลดลงจาก 15% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในปี 2018 เหลือ 4% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของเอกชนในอินเดียเติบโตอย่างมาก อย่างธนาคาร HDFC ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1994 แต่ปัจจุบันเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) 16% ขณะที่ J.P. Morgan มี ROE เพียง 12% ส่วนธนาคารในยุโรปโดยเฉลี่ยมี ROE เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

 

ระบบสถาบันการเงินที่แข็งแรงช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภค สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจได้มากขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2015 ธนาคารเอกชนมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นถึง 60% แตะระดับ 1.63 แสนสาขา จำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชนต่ำลง จากการกู้หนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสัปดาห์ละ 10% เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี รวมถึงช่วยให้คนยากจนเข้าถึงการออมมากขึ้น โดยมีการผลักดันให้เกิดการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวน 520 ล้านบัญชี นับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมียอดเงินฝากรวมกันสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ตลาดหุ้นอินเดียให้ผลตอบแทนโดดเด่น สะท้อนความสำเร็จในการระดมทุนและธุรกิจอินเดียที่เติบโต

 

 

นอกจากระบบสถาบันการเงินที่ได้รับการพัฒนา ตลาดหุ้นอินเดียก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยในปัจจุบัน มูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหุ้นอินเดียเป็นรองเพียงญี่ปุ่น, จีน และสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งตามการคาดการณ์ของ Boston Consulting Group (BCG) ตลาดหุ้นอินเดียจะมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2036

 

เมื่อพิจารณาในมุมของผลตอบแทน ตลาดหุ้นอินเดียให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ โดย 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียให้ผลตอบแทนในรูปของดอลลาร์สหรัฐ +13% ทบต้นต่อปี (CAGR) เทียบกับตลาดหุ้นจีน -7.6% ทบต้นต่อปี (CAGR) ตลาดหุ้น Asia ex Japan +1.1% ทบต้นต่อปี (CAGR) ตลาดหุ้น EM +0.7% ทบต้นต่อปี (CAGR) และตลาดหุ้น DM +10.3% ทบต้นต่อปี (CAGR) ขณะที่ชาวอินเดียเข้าถึงการลงทุนมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2019 จำนวนประชากรที่ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 9% ของประชากรทั้งหมดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด และมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนรวมในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 600% ระหว่างปี 2010-2023 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของครัวเรือนของอินเดียยังคงต่ำเพียง 4.7% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

 

ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์: ถึงแม้ว่าอินเดียจะโดนปิดล้อมโดยจีน แต่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

 

 

จากงานสัมมนา Investing in India’s Growth: Leveraging Geopolitical Stability for Equity Success จัดโดย Pine Wealth Solution ณ วันที่ 30 เมษายน 2024 ได้มีการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ในช่วงแรกของการเสวนา ได้แก่

 

  • รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
  • รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน พิธีกรพอดแคสต์ประวัติศาสตร์ 8 Minute History และ THE STANDARD WEALTH

 

ช่วงหนึ่งของการเสวนาได้มีการพูดถึงความยุ่งเหยิงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลกของมหาอำนาจการเมืองโลก โดยจีนยังคงสร้างแรงกดดันต่ออินเดีย เนื่องจากจีนต้องการสร้างยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก (The String of Pearls) ซึ่งเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ทางทะเลและท่าเรือ และโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งทั้งสองยุทธศาสตร์เป็นการปิดล้อมและทอนกำลังอินเดียโดยจีน อย่างไรก็ตาม อินเดียมีความโดดเด่นในยุทธศาสตร์ทางทะเลโดยได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) ที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการลดทอนบทบาทของจีน ขณะที่นโยบายบริหารประเทศของอินเดียยึดมั่นบนผลประโยชน์ของรัฐ ไม่แทรกแซงกิจการภายในและหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยอิทธิพลของอินเดียในภูมิภาคในมหาสมุทรอินเดีย คุมทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอล จึงมีความสามารถในการต่อรองและมีความสัมพันธ์ที่ดีได้กับทุกประเทศบนหลักการที่โลกยอมรับ

 

เลือกตั้งอินเดียเริ่มแล้ว: ไม่สายที่จะเข้าลงทุนในหุ้นอินเดีย แนะนำเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดมีการย่อตัวท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มขึ้น

 

 

การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียปี 2024 เริ่มต้นขึ้นแล้ว จะจัดขึ้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 1 มิถุนายน 2024 โดยมีวันเข้าคูหาทั้งหมด 7 วัน จะมีการนับคะแนนและคาดว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งในวันเดียวกันในวันที่ 4 มิถุนายน 2024

 

 

จากบทวิเคราะห์ของ J.P. Morgan ‘India Equity Strategy : Navigating the 2024 General Election – Key Themes to Play’ เผยแพร่ ณ วันที่ 19 เมษายน 2024 ให้มุมมองการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียและตลาดหุ้นอินเดียใน 2 ประเด็น ดังนี้

 

  1. ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ขณะที่ความผันผวนของตลาดมีแนวโน้มลดลงหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง
  2. ดัชนี Nifty จะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย +9.0% และ +8.4% ในช่วง 3 เดือน และ 6 เดือน หลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยคำนวณจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1991 จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019

 

จากผลสำรวจความเห็นล่าสุดในเดือนเมษายน 2024 พรรคชาตินิยมของชาวฮินดู ภารติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party: BJP) ของโมดีและพันธมิตรจะชนะการเลือกตั้งโลกสภาหรือสภาล่างของรัฐสภาอินเดียเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีที่นั่งเฉลี่ยจากผลสำรวจที่ 384 ที่นั่ง (โลกสภามี สส. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 543 คน และพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องรวมเสียงในโลกสภาให้ได้อย่างน้อย 272 ที่นั่ง)

 

เรามองว่าความผันผวนของตลาดหุ้นอินเดียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดมีการย่อตัว โดยเชื่อมั่นว่าในปัจจุบันยังสามารถลงทุนในอินเดียได้ และคาดว่าอินเดียมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในระยะยาว ขณะที่นโยบายของพรรค BJP ที่คาดว่าจะได้รับการเลือกตั้ง ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความต่อเนื่องและเสถียรภาพของนโยบายและการปฏิรูปในทุกปัจจัยการผลิต เพื่อส่งเสริมการผลิต เพื่อผลักดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก รวมถึงกระตุ้นการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอินเดียต่อไป

 

ไม่สายที่จะเข้าลงทุนในหุ้นอินเดีย และพิจารณาจาก PEG Ratio ตลาดหุ้นอินเดีย ‘ถูก’ กว่าหลายประเทศ

 

 

เรามองว่าการลงทุนหุ้นอินเดียในปัจจุบันยังไม่สายเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีมูลค่า (Valuation) ที่สูง (MSCI India 12m forward PE 22.6 เท่า คิดเป็น +1.7 s.d. เทียบค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง) แต่หากพิจารณาจาก Price to Earnings Growth Rate (PEG Ratio) ของอินเดียอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป สะท้อนว่าเมื่อเทียบกับการเติบโตของผลประกอบการแล้ว หุ้นอินเดียถือว่ามีมูลค่าต่ำกว่าหุ้นในหลายประเทศ ดังนั้นด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในระยะยาว เราจึงแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย โดยในระยะสั้นอาจใช้ความผันผวนของตลาดในช่วงเลือกตั้งเป็นประโยชน์ในการเข้าลงทุนเมื่อตลาดย่อตัว ขณะที่ในระยะยาวเราแนะนำทยอยซื้อสะสม หรือพิจารณา DCA เพื่อเฉลี่ยต้นทุนในการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising