×

ลาออกดีไหม ถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน? ค้นหาปัจจัยเพิ่ม-ลดความสุขกับงานที่ทำอยู่

19.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ถ้าเงินเดือนของเราขึ้น 1% พร้อมๆ กันกับการขึ้นเงินเดือนของคนอื่นๆ ความสุขที่เราได้มาจากเงินเดือนที่ขึ้นนั้นกลับไม่มีค่าอะไรเลยกับความสุขในการทำงานของเรา
  • การสำรวจในอเมริกาโดย Gallup Poll พบว่า 30% ของคนทำงานรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีความหมาย และการหาความหมายในงานที่เราทำไม่เจอเป็นตัวสำคัญที่ทำให้คนเงินเดือนสูงหลายๆ คนกลับรู้สึกไม่พอใจในงานที่ตัวเองทำอยู่
  • การมีเจ้านายที่ไร้ความสามารถ หรือมีความสามารถด้อยกว่าเรา ทำให้ความสุขในการทำงานของเราลดลงมากกว่าการถูกลดเงินเดือนเยอะมาก

     คุณผู้อ่านเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมครับว่า ‘อืม นี่เราควรจะลาออกจากงานที่กำลังทำอยู่ดีไหมเนี่ย’
     ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็อาจจะเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองมาก่อน แต่เราจะเอาอะไรมาวัดล่ะว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะตัดสินใจลาออก ถ้าเงินมันดี มีความมั่นคง ถึงแม้ว่าจะไม่มีความสุขในการทำงานก็ควรที่จะทนอยู่ต่อไป จริงไหม
     ตัวผมเองก็คงจะตอบคำถามนี้แทนตัวคุณผู้อ่านไม่ได้นะครับ แต่สิ่งที่ผมสามารถทำได้ก็คือการนำผลการวิจัยเกี่ยวกับตัวแปรต่างๆ นานาของความสุขในการทำงานมาเขียนเป็นไกด์ไลน์ให้คุณผู้อ่านลองไตร่ตรองกันดูว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่สักที



1. เงินเดือนไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อความสุขในการทำงาน
     สำหรับคุณผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินใคร และไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินจนทำให้ต้องเป็นทุกข์เพราะไม่มีเงินเลย หรือมีเงินไม่พอใช้ในแต่ละวัน ผลการวิจัยของพวกเราพบว่า เงินเดือนสามารถซื้อความสุขในการทำงานได้จริงๆ นะครับ ยิ่งเงินเราเพิ่มมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เราจะตอบว่ามีความสุขจากการทำงานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ในกรณีที่ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น เวลาที่ต้องใช้อยู่ในออฟฟิศ หรือนิสัยของเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยนะครับ
     แต่ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เราพบก็คือ เงินเดือนของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ สามารถลดความสุขจากการได้เงินเดือนขึ้นของเราเกือบทั้งหมด กรณีที่เพื่อนร่วมงานมีอายุพอๆ กัน มีการศึกษาเท่าๆ กัน และมีเพศเดียวกันกับเรา 

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเดือนเราขึ้น 1% พร้อมๆ กับการขึ้นเงินเดือนของคนอื่น ความสุขที่ได้จากเงินเดือนขึ้นกลับไม่มีค่าอะไรเลย
     ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าเงินเดือนจะซื้อความสุขในการทำงานของเราได้ แต่ค่าความสุขที่มันซื้อให้เราได้นั้นมันช่างน้อยเหลือเกินเวลาเรานำมันมาเทียบกับปัจจัยตัวอื่นๆ



2. งานที่ทำมีความหมายสำคัญกว่าเงินเดือนที่ได้
     ปัจจัยที่สำคัญกว่าเงินเดือนที่เราได้รับก็คือ ความรู้สึกว่างานที่เราทำอยู่นี้มีความหมายมากกว่าตัวเราเอง (meaningfulness)
จากการสำรวจในอเมริกาโดย Gallup Poll พบว่า 30% ของคนทำงานรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีความหมาย (พูดอีกอย่างก็คือ 70% ของคนทำงานในอเมริกาไม่รู้สึกผูกพันกับงานที่ตัวเองทำ) และการหาความหมายในงานที่เราทำไม่เจอนี่เอง เป็นตัวสำคัญที่ทำให้คนเงินเดือนสูงหลายๆ คนกลับรู้สึกไม่พอใจในงานที่ตัวเองทำอยู่
     แล้วความหมายของการทำงานมาจากไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะครับ เราอาจจะมองว่าคนทำงานก่อสร้างไม่มีความสุขจากงานที่เขาทำเลย แต่ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำสามารถทำให้คนอื่นๆ มีความสุข มีบ้านดีๆ อยู่อาศัยได้ เขาก็มีความสุขจากงานที่ทำได้



3. การมีเจ้านายที่ดีเป็นศรีกับตัวเอง
     อีกปัจจัยหนึ่งก็คือความสามารถในการทำงานของเจ้านาย (boss competency) พวกเราพบว่าการมีเจ้านายที่เป็นผู้นำที่ดี พูดง่ายๆ ก็คือมีความสามารถในการทำงานที่เราทำได้ หรือ/และเจ้านายของเราโตขึ้นในบริษัทหรือองค์กรด้วยฝีมือของตัวเองล้วนๆ (ไม่ได้มาจากการเลียแข้งเลียขาใคร หรือจากการใช้เส้น) มีผลต่อความสุขในการทำงานของเรามาก และการมีเจ้านายที่ไร้ความสามารถ หรือมีความสามารถที่ด้อยกว่าเรา ทำให้ความสุขในการทำงานของเราลดลงมากกว่าการถูกลดเงินเดือนเยอะมาก



4. อิสระในการทำงานคือสิ่งที่เงินเดือนซื้อไม่ได้
     ปัจจัยหลักๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อความสุขในการทำงานของเราก็คือ ความรู้สึกถึงความมีอิสระทางด้านความคิดในที่ทำงาน หรือความมีอิสระในการวางตารางเวลาทำงานของตัวเอง (perceived job autonomy) ถึงแม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วเราอาจจะไม่ได้มีอิสระในการทำงานอย่างที่คิดจริงๆ ก็ได้



5. การมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตร และงานที่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง
     ปัจจัยที่ตามมาติดๆ กันก็คือ การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี และความรู้สึกว่าเรามีโอกาสโตในงานที่เรากำลังทำอยู่

     ที่จริงยังมีอีกหลายปัจจัยเลยที่มีผลกระทบต่อความสุขในการทำงานของคนเรา (ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงมีความสุขในการทำงานมากกว่าผู้ชาย ยิ่งเรียนสูง ความสุขจากการทำงานก็อาจจะยิ่งต่ำ ถ้าเทียบระหว่างคนที่มีเงินเดือนเท่ากัน แต่การศึกษาต่างกัน และเวลาที่เราใช้ในที่ทำงานมีผลกระทบด้านลบต่อความสุขในการทำงาน เป็นต้น) แต่ถ้าให้ผมสรุปกันตรงนี้ก็คือ ถ้าคุณหาความหมายจากงานที่คุณทำไม่เจอ หรือถ้าคุณมีเจ้านายที่ห่วยแตก หรือถ้าคุณไม่มีอิสระในการทำงานเลย ถึงแม้ว่าคุณจะมีเงินเดือนสูงขนาดไหน งานที่คุณกำลังทำอยู่นั้นอาจจะไม่ใช่งานที่คุณควรจมปลักอยู่กับมันนานเกินไป
     ชีวิตคนเรานั้นสั้นมากนะครับ ถ้าเราจำเป็นต้องใช้เวลาเกือบ 70% ของชีวิตที่เรามีในที่ทำงานล่ะก็ ผมว่าเราเลือกทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เราต้องทุกข์เพราะความจนมากจนเกินไป แต่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมีความหมายมากกว่าการเอาเงินใส่กระเป๋าตัวเอง จะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าสำหรับชีวิตของเราทั้งชีวิตนะครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X