×

พักการบ่น-ก่นด่าประเทศ ด้วยการสะกิดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • พฤติกรรมไม่ดีๆ ที่มีผลกระทบกับตัวของคนที่มีพฤติกรรมนั้นๆ คนเดียว เรียกว่า private problem หรือปัญหาส่วนตัว ส่วนปัญหาพฤติกรรมประเภทที่สองคือพฤติกรรมไม่ดีๆ ที่มีผลกระทบกับส่วนรวม ซึ่งเรียกว่า social problem หรือปัญหาส่วนรวม
  • วิธีการเเก้ปัญหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทุกๆ พฤติกรรมมีไม่กี่ขั้นตอน อย่างเเรกเลยก็คือการเข้าใจ ‘เเรงจูงใจ’ ของพฤติกรรมเเต่ละอย่างของคน ส่วนขั้นตอนที่สองคือทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีๆ ที่เราไม่อยากให้คนส่วนใหญ่ทำทำยากขึ้น และทำให้พฤติกรรมที่ดีๆ ที่เราอยากให้เขาทำทำกันง่ายขึ้น
  • ขั้นตอนเหล่านี้คือบทเรียนเเบบ 101 ของการ nudge หรือสะกิดให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะดีขึ้นสำหรับตัวเอง หรือสำหรับส่วนรวมก็ตาม

     เบื่อไหมครับที่ทุกครั้งเวลาเราเปิดอ่านข่าวหรือดูนิวส์ฟีดในโซเชียลมีเดียทีไรมีเเต่เรื่องดราม่าต่างๆ นานาเกี่ยวกับประเทศไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนด่าเรื่องรถเมล์มาช้าบ้าง เรื่องรถติดบ้าง เรื่องไม่มีเงินเก็บพอใช้บ้าง เรื่องไม่รักประเทศก็ออกไปอยู่ที่อื่นซะไปบ้าง เป็นต้น

     ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะอดเบื่อกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เเล้วพอเบื่อเเล้วพวกเราส่วนใหญ่ทำอย่างไรกันบ้างครับ อืม ก็บ่นไง บ่น บ่น ด่า บ่นเเละบ่นเป็นกิจกรรมธรรมชาติที่คนเราส่วนใหญ่ทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นมานิดหนึ่งกับเหตุการณ์ที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมได้

     ส่วนตัวผมเอง ผมก็รู้สึกเบื่อเหมือนกัน (‘ไม่อยากอยู่ที่นี่ ไม่รักชาติ ก็ไปอยู่ที่อื่นซะไป’ … กำลังอยู่ที่อื่นอยู่ครับ ไม่ต้องห่วง เเต่ถ้าไม่รักกันจริงผมก็คงจะไม่เขียนในสิ่งที่ผมอยากจะเขียนเเนะนำนี้นะครับ)

     เเต่เเทนที่จะเขียนบ่น หรือด่าประเทศ ผมขออนุญาตเขียนเเนะนำในเรื่องวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนในประเทศของเราดีกว่า เผื่อว่าอนาคตคนไทยเราจะมีโอกาสเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง (!) เเละเผื่ออีกว่าอนาคตเราจะมีพรรคการเมืองที่เห็นใจประชาชนจริงๆ เเละสามารถนำคำเเนะนำเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้จริงๆ (ซึ่งผมก็ยอมรับว่ามันเป็น wishful thinking ทั้งสองอย่างในขณะนี้นะครับ)

     เราต้องมาเเยกประเภทของปัญหาพฤติกรรมทั้งหลายกันก่อน อย่างเเรกเลยก็คือพฤติกรรมไม่ดีๆ ที่มีผลกระทบกับตัวของคนที่มีพฤติกรรมนั้นๆ คนเดียว อย่างเช่น การออมไม่พอใช้ในอนาคต หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ดีกับสุขภาพร่างกายของตัวเองในอนาคต เราเรียกปัญหาเหล่านี้ว่า private problem หรือปัญหาส่วนตัว (คือถ้าทุกข์เพราะพฤติกรรมตัวเอง ก็ทุกข์อยู่เเค่คนเดียว)

     ปัญหาพฤติกรรมประเภทที่สองก็คือพฤติกรรมไม่ดีๆ ที่มีผลกระทบกับส่วนรวม ซึ่งเราเรียกปัญหาเหล่านี้ว่า social problem หรือปัญหาส่วนรวม อย่างเช่นการตัดสินใจขับรถเวลาเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดปัญหารถติด หรือไม่ก็การทิ้งขยะเรี่ยราด เป็นต้น ซึ่งปัญหาส่วนรวมนี้ส่วนใหญ่มีต้นเหตุมาจาก coordination problems หรือการที่คนเราไม่รู้ว่าคนอื่นจะเลือกปฏิบัติตนยังไงถ้าคนอื่นมีทางเลือกคล้ายๆ กับเรา อย่างเช่นที่เราทิ้งขยะเรี่ยราดก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราต่างคนมักคิดว่า ก็เเค่เราคนเดียวที่ทิ้งขยะ ไม่สกปรกหรอก เเต่ถ้าทุกๆ คนคิดอย่างนี้เหมือนกัน ทุกคนก็จะทิ้งขยะเหมือนๆ กัน

 

การเเก้ปัญหา

     วิธีการเเก้ปัญหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทุกๆ พฤติกรรมมีไม่กี่ขั้นตอนนะครับ อย่างเเรกเลยก็คือการเข้าใจ ‘เเรงจูงใจ’ ของพฤติกรรมเเต่ละอย่างของคน ว่าอะไรเป็นเเรงจูงใจให้เขาทำอย่างนั้น อะไรเป็นเเรงจูงใจให้คนออมกันไม่พอ อะไรเป็นเเรงจูงใจให้คนเลือกที่จะขับรถออกไปตอนรถติดๆ เป็นต้น

     ส่วนใหญ่เเล้ว เเรงจูงใจของพฤติกรรมที่ไม่ดีเกือบๆ ทุกพฤติกรรมก็คือ ‘ก็มันง่ายในการที่จะทำอย่างนี้นี่’ (เเละสำหรับ social problem ‘ก็ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็จะทำ ก็เลยไม่ทำไม่ได้’

     เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่เเล้วล่ะก็ ขั้นตอนที่สองก็คือ

ทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีๆ ที่เราไม่อยากให้คนส่วนใหญ่ทำทำยากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือสร้าง friction ให้กับพฤติกรรมนั้นๆ นั่นเอง

     ไม่อยากให้รถติดเเถวๆ สาทรตอนช่วงเย็นๆ ใช่ไหม ก็เก็บค่าธรรมเนียมรถติดตรงถนนสาทรระหว่าง 4 โมงเย็นจนถึง 1 ทุ่มสิ คนที่ไม่อยากจะเสียเงินค่าธรรมเนียมจะได้เลือกไปขับเวลาอื่นๆ หรือเลือกเส้นทางอื่นๆ ขับ

     อยากลดจำนวนถุงพลาสติกที่คนใช้ๆ กันอยู่นี้ใช่ไหม ก็ให้ซูเปอร์มาเก็ตเก็บเงินเพิ่มถุงละสองบาททุกครั้ง คนที่ไม่อยากเสียเงินสองบาทเพิ่มทุกๆ ครั้งที่มาซื้อของ เขาก็เก็บถุงพลาสติกอันเดิมมาใช้ใหม่

     ไม่อยากให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำซากบนท้องถนนของเราใช่ไหม ก็ทำให้การสอบใบขับขี่ที่เมืองไทยยากขึ้น และบังคับให้คนที่เคยถูกตำรวจจับข้อหาดื่มแล้วขับทุกคนให้ติดตั้งระบบเครื่องเป่าตรวจจับแอลกอฮอล์ในรถ (คือถ้าเป่าเเล้วมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินลิมิตจะสตาร์ทรถไม่ได้) เป็นต้น

     ทำให้พฤติกรรมที่ดีๆ ที่เราอยากให้เขาทำทำกันง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อยากจะให้คนบริจาคเงินเพื่อการกุศลมากขึ้นใช่ไหม ทุกครั้งที่คนไปซื้อของข้างนอก หรือว่าทานข้าวข้างนอก ให้พนักงานที่เก็บเงินบอกกับลูกค้าตอนที่เก็บเงินว่า “ทั้งหมดราคา (สมมติว่า) 598 บาทค่ะ อยากจะปัดเงินขึ้นอีกสองบาทเป็น 600 บาทไหมคะ ส่วนเงินที่ปัดขึ้นนี้เราจะนำไปบริจาคให้กับ…” อะไรก็ว่าไป

     อยากจะให้คนออมเงินให้อนาคตตัวเองให้มากกว่านี้ใช่ไหม ก็เปลี่ยนระบบการออมให้ง่ายขึ้นกว่านี้โดยการให้ตัวเลือกที่เป็น default คือการออม (เเล้วถ้าไม่อยากออมก็ให้ opt-out จากระบบเอง)

     อยากให้คนจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นใช่ไหม ก็ทำให้การจ่ายภาษีง่ายขึ้น ลดการบรรยายถึงวิธีการจ่ายภาษีในเเบบฟอร์ม ให้มีการส่งเป็นเท็กซ์เพื่อเตือนให้เสียภาษีโดยใช้วิธีง่ายๆ ออนไลน์

     อยากให้คนขับรถช้าลงใช่ไหม ก็ทำให้การขับรถช้าลงสนุกขึ้น ยกตัวอย่างการใช้ลอตเตอรีความเร็วของรถมาเป็นเครื่องช่วยให้การขับรถในพิกัดความเร็วนั้นสนุก (คือมีการทดลองบนถนนในสวีเดนโดยใช้กล้องถ่ายความเร็วของรถ สำหรับรถที่ขับเกินพิกัด พวกเขาก็จะโดนเรียกเก็บเงินเป็นค่าขับรถเร็ว ส่วนคนที่ขับรถตามพิกัดความเร็วนั้น ทุกๆ สิ้นเดือนก็จะมีการจับฉลากทะเบียนรถเพื่อเเจกเงินรางวัล -ซึ่งเงินรางวัลนี้มาจากพวกที่ขับรถเร็วนี่เเหละ- ให้กับคนที่ขับรถตามระเบียบกันนะครับ: www.thefuntheory.com/speed-camera-lottery-0) เป็นต้น   

     ทั้งสองขั้นตอนข้างบนนี้เป็นบทเรียนเเบบ 101 ของการ nudge หรือสะกิดให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะดีขึ้นสำหรับตัวเอง หรือสำหรับส่วนรวมก็ตาม

     มันถึงเวลากันเเล้วหรือยังครับ (มันถึงมาตั้งนานเเล้วโว้ย) ที่เราควรจะเลิกบ่น เเล้วพยายามเปลี่ยนสังคมไทยเเทนกันเสียที

     หรือไม่ก็ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษด้วยกันก็ได้นะครับ เเต่ต้องมาก่อน Brexit เขาจะเริ่มจริงๆ จังๆ นะครับ ไม่อย่างนั้นมันจะยากขึ้นมากเลย

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X