×

จากเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ปัจจัยความสุขของคนเราคืออะไร และรัฐควรออกนโยบายอย่างไรให้คนมีความสุข

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ข้อมูลความสุขถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักนโยบายที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้ว่านโยบายไหนดี นโยบายไหนไม่ดีในการเพิ่มความสุขของประชาชน
  • จากการศึกษาตัวแปรของ ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ ของผู้ใหญ่ชาวอังกฤษพบว่าตัวแปรที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุดคือ สุขภาพจิตที่ดี รองลงมาคือการมีคู่ครอง สุขภาพกาย รายได้ของครอบครัว การมีงานทำ การไม่มีประวัติอาชญากรรม และการศึกษา
  • ส่วนตัวแปรที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในวัยเด็กมากที่สุดคือสุขภาพจิต รองลงมาคือผลการเรียน และรั้งท้ายด้วยความประพฤติทั่วไป นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ‘สุขภาพจิตของแม่’ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมในวัยเด็กมากที่สุด
  • การบำบัดสุขภาพจิตของคนใช้เงินน้อยกว่าการบำบัดความทุกข์ แต่กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนมีความสุขมากขึ้นคือการป้องกัน และการป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

     ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เคยกล่าวในสุนทรพจน์ของเขาเอาไว้ว่า “The care of human life and happiness… is the only legitimate object of good government” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยคือ “การดูแลชีวิตและความสุขของคนเป็นเป้าหมายที่สำคัญเพียงเป้าหมายเดียวของรัฐบาลที่ดี”       

     แต่ในการออกนโยบายแต่ละนโยบายของรัฐบาลนั้น ข้อมูลความสุขถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักนโยบายทั้งหลาย เพราะข้อมูลความสุขเป็นสิ่งเดียวที่สามารถช่วยชี้แนะให้เรารู้ว่านโยบายไหนดี นโยบายไหนไม่ดีในการเพิ่มความสุขของมวลชน (พูดง่ายๆ ก็คือนักนโยบายที่ดีไม่ควรที่จะใช้แค่ความรู้สึก หรือ gut feelings ของตัวเองในการออกนโยบายอย่างเดียว)       

 

‘สุขภาพจิต’ ที่ดีสำคัญกว่า ‘รายได้’

     ผมและเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน — ริชาร์ด เลยาร์ด (Richard Layard) และ ซาราห์ เฟลช (Sarah Fleche) จาก London School of Economics, แอนดรูว์ คลาก (Andrew Clark) จาก Paris School of Economics และจอร์จ วอร์ด (George Ward) จาก Massachusetts Institute of Technology — ได้ลงมือทำการวิจัยข้อมูลความสุขของคนที่เกิดในเกาะอังกฤษที่เก็บตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังอยู่ในครรภ์แม่จนอายุ 42 ปี โดยได้ทำการศึกษาตัวแปรของ ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ ของผู้ใหญ่ที่วัดตั้งแต่ตอนที่พวกเขายังเป็นเด็กไปจนถึงตอนที่พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ผลลัพธ์ที่ได้อาจห่างไกลจากสิ่งที่ทุกคนเคยคิดไว้

     จากโมเดลเศรษฐมิติของเราพบว่า ตัวแปรที่สำคัญที่สุดของความพึงพอใจในชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่คือ สุขภาพจิต — การเพิ่มขึ้น 1% ของคะแนนสุขภาพจิตสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความพึงพอใจได้ถึง 0.2% — รองลงมาก็คือการมีคู่ครอง (ซึ่งการมีครอบครัวสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความพึงพอใจได้ 0.11%) รองลงมาอีกคือสุขภาพกาย (0.1%) รายได้ของครอบครัว (0.09%) การมีงานทำ (0.06%) การไม่มีประวัติอาชญากรรม — หรือการไม่เคยกระทำผิดกฎหมาย (0.06%) และรั้งท้ายสุดก็คือการศึกษา (0.02%)

     พูดง่ายๆ ก็คือตัวแปรที่ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจ (non-economic factors) อย่างเช่น สุขภาพจิต และการมีคู่ครอง มีพลังในการอธิบายความพึงพอใจในชีวิตของคนตอนอายุ 42 มากกว่าตัวแปรที่เป็นปัจจัยเศรษฐกิจ อย่างเช่นรายได้ หรือการมีงานทำค่อนข้างเยอะ

 

บำบัดสุขภาพจิตต้นทุนถูกกว่าบำบัดความทุกข์

     สำหรับรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนนั้น ผลการวิจัยของเราบอกว่ามีอยู่หลายวิธีในการเพิ่มความสุข หรือลดความทุกข์ของประชาชน เพียงแค่แต่ละวิธีมีรายจ่าย หรือ cost ที่แตกต่างกันออกไป (ยกตัวอย่างเช่น การลดปัญหาความยากจน การลดอัตราการว่างงาน การบำบัดรักษาคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น)

     พวกเราพบว่าถ้าอยากจะบำบัดให้คนในประเทศอังกฤษพ้นทุกข์ (จากการไม่มีความพึงพอใจในชีวิตเลยให้มีความสุขในชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป) เราจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเป็นจำนวน 180,000 ยูโรต่อคนต่อปี (หรือประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งจะเป็นนโยบายที่แพงมากๆ

     แต่ถ้าจุดมุ่งหมายคือการทำให้คนพ้นทุกข์ให้ได้ แล้วออกนโยบายที่เกี่ยวกับการบำบัดสุขภาพจิต อย่างเช่น Cognitive Behavioral Therapy (CBT) แทนละก็ รัฐบาลอังกฤษใช้เงินเพียงแค่ 10,000 ยูโร (หรือ 400,000 กว่าบาท) ต่อคนต่อปีในการรักษาคนที่ไม่มีความสุขในชีวิต (ซึ่งถ้าปรับเป็นค่าใช้จ่ายในประเทศไทยก็คงจะถูกกว่านี้เยอะมาก)       

 

ปัจจัยในวัยเด็กและการป้องกันความทุกข์ในอนาคต       

     แต่กลยุทธ์ที่ดีกว่าการรักษาคนที่ทุกข์ให้มีความสุขมากขึ้นก็คือการป้องกัน   และการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ คำถามก็คือปัจจัยในวัยเด็กอะไรบ้างที่สำคัญต่อการอธิบายความสุขของเราในตอนที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว   

     พวกเราได้ทำการเปรียบเทียบระหว่าง 3 ปัจจัยสำคัญที่สามารถวัดได้ตอนที่พวกเขาอายุ 16 ปี คือ หนึ่ง ผลการเรียน สอง ความประพฤติทั่วไป และสาม สุขภาพจิต

     ผลการเปรียบเทียบพบว่า ตัวแปรสุขภาพจิตตอนที่พวกเขาอายุ 16 ปีสามารถอธิบายความพึงพอใจในชีวิตตอนที่พวกเขาอายุ 42 ปีได้มากที่สุด รองลงมาก็คือผลการเรียน และรั้งท้ายก็คือความประพฤติทั่วไป   

 

ตัวแปรตอนอายุ 16 ปี ของความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction) ตอนที่มีอายุ 42 ปี   

 

     สรุปก็คือถ้าคุณอยากจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขในชีวิตสูง การมีสุขภาพจิตที่ดีในวัยเด็ก/วัยรุ่นนั้นสำคัญกว่าการมีผลการเรียนที่ดีหรือการมีความประพฤติที่ดี

     คำถามต่อไปก็คือ แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก

     พวกเราพบว่าตัวแปรที่สำคัญและมีผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมในวัยเด็กมากที่สุดก็คือ สุขภาพจิตของแม่ (สุขภาพจิตของพ่อก็มีส่วนแต่ไม่ได้สำคัญมากต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมของเด็ก) ส่วนตัวแปรสำคัญและมีผลต่อผลการเรียนในวัยเด็กมากที่สุดคือ รายได้ของครอบครัว

 

ตัวแปรของค่าเฉลี่ยสุขภาพจิต พฤติกรรม และผลการเรียนของเด็ก (5, 11, และ 16 ปี)         

ที่มา: ALSPAC data    

 

ความสุขของแม่ คือความสุขของประชากรในอนาคต

     สรุปก็คืองานวิจัยของพวกเราบอกว่า ถ้าคุณอยากทำให้ผู้ใหญ่ธรรมดาทั่วไปมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น ทางออกที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพอาจจะไม่ใช่การเพิ่มรายได้ให้กับพวกเขา (ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเงินซื้อความสุขได้น้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน) และถ้ารัฐบาลต้องการที่จะลดความทุกข์ของประชาชนจริงๆ รัฐบาลก็ควรที่จะเปลี่ยนจุดโฟกัสจากการเจริญเติบโตของรายได้มาเป็นการเพิ่มการดูแลบำบัดสุขภาพจิตของคนที่ทุกข์จริงๆ (การเพิ่มการกระจายการบำบัดสุขภาพจิต CBT ก็เป็นวิธีหนึ่งนะครับ)

     แต่การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการรักษา และการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลสุขภาพจิตของคนตั้งแต่เขายังเป็นเด็กอยู่ และตัวแปรที่สำคัญที่สุดของสุขภาพจิตของเด็กก็คือ สุขภาพจิตของแม่นั่นเองนะครับ

 

อ่านเพิ่มเติม:

  • Clark, A. E., Flèche, S., Layard, R., Powdthavee, N. and Ward, G. (forthcoming), The Origins of Happiness, Princeton University Press.
  • Easterlin, R. A. (1974), ‘Does Economic Growth Improve the Human Lot? Some Empirical Evidence’, in David, R. and Reder, R. (eds), Nations and Households in Economic Growth: Essays in Honor of Moses Abramovitz, New York: Academic Press: 89–125.
  • Flèche, S. (2016), Teacher Quality, Test Scores and Non-Cognitive Skills: Evidence from Primary School Teachers in the UK, CEP mimeo.
  • Layard, R. and Clark, D. M. (2014), Thrive: The Power of Evidence-based Psychological Therapies, London: Penguin.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising